​ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส


ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส

เป็นหลักการ ๓ ในโอวาทปาฎิโมกข์ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันมาฆบูชา (หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖) เป็นหลักการที่พึงนำมาใช้ นำมาศึกษา และนำมาใคร่ครวญให้ดี

ทั้งสามประการต้องการทัศนคติ เจตจำนงความมุ่งมั่น และความเพียรอย่างยิ่ง แต่สองประการแรกนั้นยังมีความชัดเจนเป็นพื้นฐาน ส่วนประการที่สามในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว อาจจะเป็นอะไรที่ยากที่สุด อาจจะเนื่องมาจากความเป็น "นามธรรม" เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำของสองประการแรก และเนื่องมาจากธรรมชาติของจิตที่มักจะกลิ้งไปมาอย่างรวดเร็ว จึงหลุดได้ ตกกรอบได้ แม้ว่าเราจะยังจดจำคำสั่งสอน และทฤษฎีพึงปฏิบัติได้หมดทุกกระบวนความ แต่สุดท้ายก็ตกม้าตายตรงที่สติไม่อยู่กับร่องกับรอย

ข้อสำคัญคือ สภาวะจิตตกนี้เกิดขึ้นได้แม้แต่ขณะที่เรา "กำลังทำความดี" หรือ "คิดว่ากำลังทำความดี"

สังโยชน์ ๑๐ หรืออุปสรรคแห่งการตื่นรู้ มีข้อๆหนึ่งชื่อ "มานะ" เป็นการติดดี เชื่ออย่างแรงกล้าว่าวิธีที่ตนกำลังเชื่อ กำลังทำนั้น เป็นความดี และไม่มีหนทางอื่นๆอีกแล้ว ติดมากๆ แทนที่จิตใจจะสดใส จะผ่องใส กับความดีที่ตนเองพึงอาราธนามาประดับ จิตใจกลับไปผูกมัดกับการรับรู้เรื่องราวของภายนอก เห็นคนอื่นที่ทำผิดแผกแตกต่างออกไป เกิดอารมณ์ด้านมืด โกรธ เคือง จี๊ด หงุดหงิด เริ่มอยากจะไปกระแนะ กระแหน อยากจะไปตำหนิติเตียน อยากจะไปแก้ความเชื่อ ความคิดที่ (ตนเองคิดว่า) ผิดๆนั้นให้ถูกต้อง (คือเหมือนของตน)

สิ่งสำคัญก็คือ ทั้งๆที่เรามีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า ทำ คิด พูด อย่างนี้ดี แต่ถ้าเราอยากจะสื่อสารและเผยแพร่ เราควรจะทำการสื่อสารและเผยแพร่โดยที่เรายังคง "ดูแลจิตใจของเราเอง" ให้ผ่องใสต่อไปให้ได้ด้วยไหม?

หลายปีก่อน คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.จัดทัศนศึกษาไปเยือนมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน มีบทเรียนมากมายที่ได้รับมาในครั้งนั้น เรื่องหนึ่งก็คือ มีคนปุจฉาต่อท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนว่า "ปากร้ายใจดีนั้นมีไหม?" นัยยะก็คือ เราสามารถจะพูดจาไม่ดี แต่ด้วยความหวังดีได้ไหม เพราะเราก็เป็นคนพูดอย่างนี้แหละ ปรากฏว่าท่านวิสัชนากลับมาว่า "ไม่มีหรอก ปากร้ายใจดี มีแต่ปากร้ายก็เพราะใจร้ายนั่นแหละ" ขยายความก็คือ ใจดี หรือมีความรักและเมตตานั้น มันต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมด้วย การที่เรา "ปากร้าย" นั้นเป็นการเพาะบารมีก้าวร้าวมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้ใคร่ครวญมองเห็นที่มาและผลลัพธ์ของการปากร้ายของเรามาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งติดตัว ครั้นมีธรรมที่ดีที่จะเผยแพร่ สั่งสอน แต่ก็ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะ "วิธีการเผยแพร่นั้นมันบกพร่อง" ไปแต่ต้นแล้ว

การทำความดี ละเว้นความชั่ว ถึงต้องถูกกำกับด้วยหลักการประการที่สามคือ ทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นหลักการที่สำคัญย่ิง

ทุกวันนี้มีคนโบกธงทำความดีมากมาย แต่ทว่าการสื่อสารล้มเหลว เพราะการขาดการบำเพ็ญด้านการทำจิตใจให้ผ่องใส มีความดี แต่ก็พกดาบ พกกระบี่ พกศาสตราวุธไปด้วย เป็นมาอย่างนี้ตั้งแต่มีสงครามในนามของศาสนาก็เพราะเหตุนี้

หลักการ ๓ แห่งโอวาทปาฏิโมกข์นี้ จึงไม่ได้เป็นตัวเลือก ให้เอาแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป อาจจะไม่ได้ทั้งหมดเลย หรือเกิดผลตรงกันข้ามไปได้เลย

ขอฝากให้ใคร่ครวญกันครับ

น.พ.สกล สิงหะ
หน้วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๒๒ นาที
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 617111เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท