ความฝันกับชีวิตที่อิตาลี


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ.......

“ทิพย์” (นามสมมติ)

อายุ 38 ปี

แรงงานหญิง


“ชีวิต คือ ความฝัน หลายอย่างของความฝันกลายเป็นความจริงที่สวยงาม แต่หลายอย่างของความฝันกลับกลายเป็นความทรงจำที่โหดร้าย แต่ชีวิตเรายังคงต้องวิ่งตามความฝันของเราต่อไป จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย”

ถ้อยคำที่ผ่านจากบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตของ “ทิพย์” หญิงสาวที่อายุเกือบสี่สิบปี แต่หน้าตายิ้มแย้ม ร่างสูงโปร่ง ผิวเข้มเนียนละเอียด และบุคลิกสดใสอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทิพย์อ่อนวัยกว่าอายุมาก ๆ ทิพย์มาจากครอบครัวที่มีกิจการร้านอาหารตามสั่งที่มีชื่อเสียงในตัวอำเภอ จึงทำให้มีความสามารถและพรสวรรค์ด้านอาหารตั้งแต่วัยเด็ก พร้อมกับพี่สาวอีกคน ที่ใช้ชีวิตเป็นลูกมือของพ่อแม่

เมื่อเรียนจบ กศน. ชั้น ม.6 ทิพย์ได้แต่งงานกับคนในหมู่บ้านเดียวกัน การสร้างครอบครัวใหม่ทำให้ไขว่คว้าหาประสบการณ์ให้กับชีวิต และการสร้างฐานะครอบครัวตนเอง จึงตัดสินใจเดินทางมาทำงานที่กรุงเทพ ฯ ถึงแม้เป็นลูกสาวคนเล็กของบ้าน แต่ก็ไม่กังวลกับบ้านและกิจการร้านอาหาร เพราะพ่อแม่สามารถดูแลได้อยู่แล้ว

ทิพย์เริ่มต้นทำงานเป็นเชฟที่โรงแรมชื่อดังแถวสุขุมวิท ที่มีอาหารอิตาลี ฝรั่งเศส และนานาชาติ ตอนสมัครครั้งแรก ๆ ทำงานเป็นพนักงานภายในห้องอาหารธรรมดา “ตอนนั้นก็มีความฝันค่ะ ฝันว่าจะทำงานโรงแรม เป็นเชฟ ใส่ชุด ดูดี อะไรแบบนี้ค่ะ ก็เลยอยากไปอยู่ตรงนั้นบ้าง หนูไปสมัครกับ HR (ฝ่ายพัฒนาบุคลากร) เลยค่ะ ก็ได้ทำอาหารเลยค่ะ เราสมัครทำอาหารไทย เขาบอกว่าอาหารไทยไม่ว่าง เขาให้เราไปช่วยทำอาหารอิตาลี หนูร้องไห้ทุกวัน อันนี้คืออะไรนี่ ชีสคืออะไร น้ำมันมะกอกคืออะไร ปีกว่า ๆ จึงรู้เรื่อง ว่าเมนูนี่ทำนั่นนี่ เพราะหนูเป็นคนชอบเรียนรู้” และด้วยความสามารถโดดเด่นทิพย์เวลาไม่นาน ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเชฟ “จากประสบการณ์ล้วนๆ เมื่อเราไปสมัคร เชฟฝรั่งเห็นแวว แล้วก็เอาไปและเลื่อนชั้นเป็นเชฟทำอาหารอิตาลีเลย”

ด้วยความมุ่งมั่นและความรักด้านอาหาร ทำให้ทิพย์ทำงานไปด้วย ทั้งเรียนรู้ด้วยตนเองและลงเรียนการทำอาหารไปด้วย ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 16 ปีแล้ว ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้น

ชีวิตคู่ครองของทิพย์ เพียงเวลา 4 ปีเท่านั้น ต่างแยกย้ายกันคนละทิศคนละทาง ด้วยเหตุผลเรียนรู้ชีวิตคู่กันน้อยไป ไม่สามารถใช้ชีวิตไปข้างหน้าด้วยกันได้ ตั้งแต่นั้นมา ทิพย์ใช้ชีวิตโสด สนุกกับงาน และความฝันต้องการไปเป็นเชฟที่เมืองนอก เหมือนโชคชะตากำหนด ทิพย์ได้โอกาสนั้นใน พ.ศ. 2555 “มีเชฟผู้ชายชาวอิตาลี เขาเป็นเชฟที่ปรึกษาโรงแรมค่ะ มาออกเมนูอาหาร เป็นเชฟระดับโลกค่ะ ใช้ชื่อเสียงเป็นเมนูของเขาค่ะ คราวนี้เขามาทำงานที่นี่ ถูกชะตากัน เลยชวนไปที่เมืองนอก ก็เลยได้ไปค่ะ”

ทิพย์เล่าถึงการไปอิตาลีอย่างตื่นเต้นมีความสุขราวกับอยู่บ้านหลังที่สองของตนเองก็ว่าได้ “ตอนนั้นเราหลีกเลี่ยงวีซ่า และภาษีเนาะ เขาก็ให้ไปในนามเขา เหมือนเป็นนักเรียน นักศึกษาฝึกงาน แต่ไปจริง ๆ ก็เป็นเชฟเหมือนกันค่ะ พักอยู่ที่เดียวกับเชฟที่พาไป รายได้เขาให้เป็นรายเดือน ถ้าตามที่เขาจ้างก็เดือนละ ประมาณ 6-7 หมื่น แต่ว่าเขาก็ให้เป็นแสนค่ะ ไม่ได้เสียค่าอะไรเลย อยู่ฟรี กินฟรีค่ะ หนูฝันเลยว่าอยากไปอยู่นั่น ตึก และโบสถ์สวยงาม ไวน์ดีมากเลยค่ะ วางแผนว่าอยากไปอยู่ช่วงหน้าร้อนที่นู่น แล้วหน้าหนาวค่อยมาที่บ้านเรา คืออยู่นู่นหกเดือนนะ อยู่เมืองไทย หกเดือนนะ อากาศเขาดี อาหารเขาดี อาหารเขาไม่มีสารพิษนะ ก็แค่เกลือกับพริกไทย ผงชูรส รสดีนี่เขาไม่เอาเลยนะที่นู่น”

ความกตัญญูเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับลูกอีสาน “หนูเป็นคนที่ทำงานตั้งแต่เด็กไงค่ะ เป็นคนออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก แล้วก็ไม่เคยทำให้พ่อแม่เสียใจ ส่งเงินให้แม่มาตลอด ทำงานตั้งแต่เงินเดือน 6000 ค่ะ ตอนอยู่อิตาลีหนูก็ส่งมาให้พ่อกับแม่ใช้ปกติ หนูจะมีสมุดบัญชีให้พี่สาวไว้ ให้พ่อกับแม่ใช้ ก็ให้พี่สาวเป็นคนส่งมาทางไปรษณีย์ค่ะ”

ตอนแรก ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างทิพย์กับเชฟนั้น เป็นเพียงนายจ้างกับลูกจ้าง ต่อมากลับกลายเป็นความรัก “อ๋อ ตอนแรกไม่ได้เป็น พอไปนู่นถึงเป็น ไปอยู่นั่นไม่เห็นหน้าใครแล้วเห็นกันสองคน โอเคค่ะ (หัวเราะ)” ชีวิตประจำวันของทิพย์จะอยู่ในร้านอาหาร ส่วนใหญ่พบแต่ชาวต่างประเทศ คนไทยเจอน้อยมาก ๆ เพียงคนสองคน “เจอผู้หญิงไทยที่เขาแต่งกันคนที่นู่นไม่มาก ร้านเราอาจจะแพงเกินไป เลยไปกินไม่ได้ เป็นการคัดสรรแขกเนาะ เขาเห็นเราเขาทึ่งที่เห็นเป็นเชฟ เขาบอกว่าทำไมเก่งจังเลย นู่น นั่น นี่ เพราะส่วนมากผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับฝรั่งไปก็จะเป็นแบบนึงไง”

ช่วงแรก ๆ ในอิตาลี นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของทิพย์ ทั้งเรื่องความรัก การทำงาน และการเดินทางตามความฝัน “หนูมีโอกาสได้เปิดคอร์สสอนอาหารไทย เพราะร้านนี่จะเป็นโรงเรียนด้วย มีคน ทั่วไปมาเรียน ถ้าเป็นเครื่องปรุง ขนไปจากเมืองไทยเลยค่ะ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด แช่ช่องฟรีซไว้ ทำเมนูหลายอย่าง เช่น เขียวหวาน ผัดไท ส้มตำ ต้มยำ แกงเห็ด หนูพูดภาษาอิตาลีได้ เรียนรู้จากที่นั่นแหละค่ะ อย่างศัพท์อาหารนี่ต้องรู้ ร้านอาหารนี่เป็นร้านของเขา เป็นชื่อเสียงเขา เราก็แค่ไปช่วย คนอิตาลีก็ไปกินอาหารที่นี่แหละ เพราะเขาเป็นเชฟอันดับหนึ่งเลยค่ะ ของที่นั่น”

ทิพย์สามารถใช้ความรู้และประสบการณ์จากการทำงานโรงแรมในไทยมาพัฒนาร้านอาหารในอิตาลีอย่างน่าสนใจ “หนูเป็นผู้หญิงคนเดียวในครัว นอกนั้นเป็นผู้ชายหมดเลย หนูดูแลเขาได้ หนูก็สั่งงานเลย เพราะว่าเขาทำงานไม่เป็นระบบ หนูทำงานระบบโรงแรมมานาน หนูก็ช่วยให้ระบบของร้านอาหารเขาดีขึ้น จากร้านอาหารลำดับที่สี่ คือ ที่นี้เป็นเกาะซาดิเนีย เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี ต่อมาอยู่ได้ประมาณเจ็ดเดือนค่ะ เราเลื่อนมาอยู่ระดับสาม ก่อนหน้านี้อาหารจะออกช้ามากจะไม่ค่อยเป๊ะ แต่พอทิพย์ไป ทุกอย่างก็ดีขึ้น คุณภาพร้านอาหารก็ดีขึ้น เลื่อนชั้นมาเรื่อย ๆ จนเป็นอันดับหนึ่งขึ้นมาเลยค่ะจากอันดับสี่ค่ะ”

ด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจทำงานของทิพย์ ทำให้ไม่ได้สนใจกับแขกที่เข้ามาในร้านอาหารเท่าใดนัก แขกส่วนใหญ่ยอมรับในตัวทิพย์ แต่มีบางคนที่ดูถูกดูแคลนบ้าง “เขาจะมองเราแบบนี้(สายตาดูถูกดูแคลน) แหละค่ะ ประมาณว่า มาจากส่วนไหนของโลก เพราะว่าไปอยู่ที่นู่นก็ดำมาก ๆ ทั้งหัวดำไปอยู่เกาะ เราก็จะยิ้มธรรมดา มีคนทักผิดว่าเรามาเลเชียประจำเลยค่ะ มาจากไหนนะ เขาก็จะเดา ๆ ฟิลิปปินส์ อันดับหนึ่ง เพราะที่นู่นฟิลิปปินส์มาเยอะค่ะ ทำงานที่บ้าน แล้วก็คนจีน แต่ว่าคนจีนจะขาว คนจีนไม่น่าจะใช่ แต่ฟิลิปปินส์ก็ไม่น่าใช่นะ เพราะว่าเราผอม และสูงโปร่ง”

ความสุขกับความรักกับเชฟนายจ้าง “หนูเป็นแฟนเขา เพียงแต่ไม่ได้แต่งงานเป็นทางการ เขาดูแลดีมาก ๆ เงินทองให้ใช้ อะไรก็ให้ใช้ ทุกอย่างค่ะ เป็นผู้ชายที่ดีมากคนนึง” แต่โชคชะตาก็กลั่นแกล้งความรักของทิพย์อีกครั้ง เริ่มจากความแตกต่างทางความคิดระหว่างสาวไทยและหนุ่มอิตาลี “ก็ต้องโทษหนูเองที่ เวลาทำงานหนูจริงจังค่ะ แล้วเขาจะเป็นเชฟแบบ Artist ค่ะ อารมณ์ศิลปินหน่ะ คืออยู่คนละขั้ว หนูก็จะมาในสายโรงแรมไงคะ ถ้าแขกจะมากินนี่อาหารทุกอย่างต้องเสร็จก่อนหน้านี้แล้ว อันนี้เขาจะเป็นประมาณว่า แขกมาเขาถึงคิดออกว่าจะต้องทำอะไร มันก็เลยทะเลาะกันตลอด เรื่อย ๆ”

จากความคิดไม่ลงรอย มาสู่การชีวิตและการทำงานที่ไม่ลงตัวกันอีก “มันเป็นเรื่องของ Life Style ในการทำงานไม่ตรงกัน หนูเป็นคนทำงานซีเรียสจริงจัง ถึงหนูเป็นแฟนเจ้าของร้าน หนูก็ต้องทำงานหนักด้วย ทำงานมากกว่าเด็กในร้านอีก กลับบ้านทีหลัง ทุกคนต้องได้กลับบ้าน ที่หนูต้องเลิกกับเขาตรงนี้ เพราะเขาไม่ให้หนูทำ ไม่อยากให้เราเหมือนเด็กในร้าน เหมือนกับว่าเขาสั่งลูกน้องก็เหมือนสั่งเราด้วย จากปกติ เมื่อก่อนเขาเลิกกันตอนตีสี่ ตีห้าก็มี พอมีหนู ตีสองนี่ต้องกลับบ้านแล้ว เหมือนทำให้ระบบเข้าเสีย”

ทั้งคู่เริ่มทะเลาะกันบ่อยขึ้น ๆ เมื่อวีซ่าของทิพย์ใกล้หมดอายุในครั้งแรก พร้อม ๆกับพ่อของทิพย์ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็ง ทิพย์จึงได้เดินทางกลับมาเมืองไทย พร้อม ๆ กับชีวิตคู่ที่เริ่มเปราะบางและมีรอยร้าว “ช่วงที่กลับมาดูพ่อ เพราะวีซ่าหมด หมดตอนหนูอยู่ครบ 6 เดือน จึงกลับมาต่อวีซ่า และอยู่ต่อที่บ้าน 2 เดือน เขาเคยมีแฟนอยู่แล้วกับคนที่นู่นค่ะ ลูกเขาก็กำลังน่ารัก เขาก็ร้องหาแต่พ่ออะไรแบบนี้ค่ะ จากเมื่อก่อนเข้าไปหาลูกอาทิตย์ละสองครั้ง พอเขาไปอยู่นั่นได้ไปหาลูกเกือบทุกวันเลย ทิ้งงานไปได้เลย ทิ้งร้านไปได้เลย แล้วก็กลายเป็นว่าเขากับครอบครัวเริ่มดีขึ้น”

ความรักเริ่มค่อย ๆ แตกหัก ทิพย์ต้องอดทนอยู่ท่ามกลางมรสุมที่รุนแรงหนักหน่วง จนทำให้ต้องตัดใจตัดขาดความสัมพันธ์กับชีวิตรักครั้งนี้ เมื่อครั้งต้องกลับมาต่อวีซ่าครั้งที่สอง เมื่ออยู่ครบ 1 ปี “พอหนูกลับมาบ้านรอบสอง มาเยี่ยมพ่อ พ่อป่วยหนักเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายแล้ว มาดูพ่อประมาณ 2 เดือนนิดๆ พอกลับไป เขาก็เปลี่ยนไป หนูก็แปลกใจ ว่าเขาเปลี่ยนไปแล้วทำไมเขาถึงยังให้เรามาอยู่อะไรแบบนี้”

ถึงแม้ทิพย์จะเข้มแข็ง และเตรียมพร้อมรับมือกับความล้มเหลวกับความรัก เพราะทิพย์รู้ว่า เชฟอิตาลีเคยมีครอบครัวมาตั้งแต่เจอกันที่กรุงเทพฯ “เขาเล่าเรื่องของเขาให้ฟัง หนูเลยถามว่า เอ้า แล้วอย่างนี้ถ้าเกิดวันหนึ่งเธอคืนดีกันแล้วฉันจะทำยังไง เขาก็บอกว่า ไม่คืน ๆ เลิกกันนานแล้ว เขาก็เลิกกันนานจริง ๆ นะ สามสี่ปีนู้น อาจเป็นเรื่องผลประโยชน์ เขาอาจต้องติดตัวแดงในระบบภาษี เขาไม่ได้แต่งงานกันแต่เขาก็ต้องดูแลลูก”

เป้าหมายของทิพย์ คือ การเรียนรู้และสนุกกับการทำอาหารตามสิ่งที่ตนเองรัก และยืนยันกับตนเองว่า จะไม่หาหนุ่มชาวอิตาลีคนอื่นถึงแม้แฟนจะเป็นฝ่ายบอกเลิกความสัมพันธ์อย่างเจ็บปวด “หนูคิดไว้แล้วค่ะ ถึงไม่เลิกกัน ก็ต้องเลิกค่ะ ยังไงหนูนี่แหละจะเป็นคนเลิกเองถ้าเขาไม่เลิก หนูไม่คิดได้หาผู้ชายคนอื่นด้วย ทั้งๆที่ก็มีคนชวนแต่หนูไม่ไป ไม่เอา มันไม่ใช่สไตล์หนูค่ะ ไม่รู้เหมือนกันค่ะ หนูไม่ได้คิดเลย ทั้ง ๆ ที่ก็มีแขกมาเรียนทำอาหาร เขามาจีบเรา เขารู้ว่า พวกหนูก็จะหยุดงานสองวันครึ่งเนาะ เขาก็จะมาชวนว่าไปเที่ยวไหนไหม วันนั้นวันนี้ ไปด้วยกันกับคนที่มาเรียนด้วยกันนี่ ชวนกี่ครั้งหนูก็ไม่ไป เพราะเขารู้ว่าวันหยุดนี่แฟนหนูเขาจะไปหาลูก หนูไม่ได้ไปไหน หนูก็จะอยู่ร้านคนเดียวค่ะ”

แม้ว่าทิพย์สามารถอยู่อิตาลีต่อได้ เพราะวีซ่ายังไม่หมดอายุ แต่ด้วยหัวใจที่บอบซ้ำจากเหตุการณ์มากมายทำให้ทิพย์ตัดสินใจกลับมาเมืองไทย “ หนูรู้สึกว่า ทำไมหนูเหนื่อยจังเลย พ่อหนูเพิ่งตายอาทิตย์เดียว แล้วหนูกับแฟนก็มาเลิกกัน เหมือนจังหวะที่มันใกล้กัน มันอึดอัด แล้วหนูก็ทำงาน หนูเหนื่อยมาก บางครั้งพวกหนูก็มีงาน Event นะ พวกหนูนอนเก้าโมงเช้านะ ทำงาน 24 ชั่วโมง ทำงานหนักแหละ แต่หนูอยากให้เขามีเงิน หนูเพิ่งเสร็จงานศพพ่อไป แล้วหนูก็กลับไปอิตาลีอีกครั้ง แล้วก็ทนอยู่อีกสองเดือน ก่อนกลับเมืองไทย”

ชีวิตช่วง 2 เดือนสุดท้าย และเกือบ 2 ปีของทิพย์ในอิตาลี เป็นช่วงที่ทรมานใจที่สุดของทิพย์ แต่ก็ทำให้ได้ทบทวนชีวิตตนเองและการตัดสินใจอีกครั้ง “หนูทำงานปกติ แต่ว่าระหว่างเรานี่มันไม่เหมือนเดิมเลย ก่อนหนูจะออกจากชีวิตเขา หนูก็บอกว่า เธอจะช่วยฉันไหม ถ้าฉันกลับไปฉันก็อยากเปิดร้านฉันเอง เขาบอกว่าจะช่วย แต่เขาก็ให้ไม่เยอะ เขาก็บอกว่าฉันไม่มีเงินนะ หนูก็รู้ค่ะ หนูก็เข้าใจทุกอย่าง เราก็เลิกกันด้วยดี ก่อนหน้านี้ไม่ใช่ว่า เขาไม่อยากมีลูกกับหนูนะ แต่ไม่อยากผูกพันกับเขาด้วยการมีลูก หนูไม่ได้เป็นคนแบบนี้ และเขาก็ติดต่อให้หนูไปเป็นเชฟที่เกาหลี หนูกลับมาอยู่บ้านปีหนึ่ง แล้วเขาก็ให้หนูไปเกาหลีก็เขานี่แหละค่ะ เขาเป็นเชฟอยู่ที่นั่น ไปเปิดร้านอาหารอยู่ที่นั่น แล้วก็ให้หนูไปช่วย แต่ตอนที่อยู่เกาหลีกับเขา แทบไม่ได้คุยกันเลย ต่างคนต่างอยู่”

ทิพย์เป็นเชฟในเกาหลีใต้ไม่ถึงปี ด้วยปัญหากับระบบการทำงานที่เกิดขึ้น “หนูไม่ชอบคนเกาหลี คือหนูกับคนเกาหลีนี่ ถ้าอยู่อิตาลีหนูนี่เป็นเชฟคนเดียวนะ แต่พอมาอยู่เกาหลีนี่ มีหนูคนนึ่งกับเชฟบ้านเขาอีกคน ไม่ได้ค่ะ ตำแหน่งนี้ต้องมีคนเดียว ถามว่าไม่ถูกกันไหมเวลามาทำงาน มันก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้ขัดแย้ง แต่หนูไม่ชอบ”

เมื่อกลับมาเมืองไทย ทิพย์เล่าถึงบรรยากาศและมุมมองผู้คนที่มองมายังทิพย์ “หนูก็เจอตลอดคำนี้ตลอด ไปไหนมาไหนคนในหมู่บ้าน ว่าหนูเป็นเมียฝรั่ง ตอนแรกหนูก็รับไม่ได้ค่ะ แต่หนูก็ไม่ได้พูดอะไร คำว่า เมียฝรั่งนี่ คือ ต้องมีบ้านต้องมีรถ” แต่ทิพย์แอบภูมิใจกับตนเอง “บางคนเขาก็บอกว่าไปทำอาหาร เก่งมาก ๆ ศักยภาพหนูอยู่โรงแรม 5 ดาวค่ะ สุขุมวิท หนูไม่ต้องสมัครงานค่ะ มีแต่คนโทรมาเรียกไปทำงาน ร้านอาหารล่าสุดที่หนูออกเมื่อสี่เดือนที่แล้วเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสในกรุงเทพ ฯ”

ความใฝ่ฝันของทิพย์ตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ ยังยืนยันว่า ต้องการเป็นเจ้าของร้านอาหารเล็ก ๆ ทำอาหารให้แขกกิน แบบเรียบง่ายและมีความสุขเท่านั้น “หนูอยากจะเปิดร้านเล็กๆไปก่อน ร้านอาหาร อีสาน อินดี้ อาหารอีสานแท้ ๆ เช่น แกงไข่มดแดง ให้คนแถวบ้านเรากินนี่แหละ เพราะว่าร้านอาหารอีสานทำไมถึงมีแต่ต้มลาบน้ำตก มันมีเยอะเลย หมกนั่น หมกนี่ หมกแท้ๆ นอกนั้น มีอาหารยุโรปบ้าง ใครอยากกินสปาเก็ตตี้ สเต๊ก ก็มี อยากกินคะน้าหมูกรอบก็มี ไม่ได้มีแต่อาหารอีสาน เพราะว่าหนูเริ่มจากร้านอาหาร แล้วหนูก็ชอบ ตอนที่หนูทำร้านอาหารกับพ่อกับแม่ หนูก็ประสบความสำเร็จเป็นร้านอาหารอันดับหนึ่งของอำเภอเลย”

กวีท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “บางคนบอกว่า ความฝันเป็นสิ่งที่บอบบางและพร้อมจะแหลกลาญลงอย่างง่ายดาย แต่คนคนนั้นคงจะลืมนึกไปว่า ความจริงกลับเป็นสิ่งที่เปราะบางและง่ายต่อการแตกสลายยิ่งกว่า” เช่นเดียวกับความฝันกับชีวิตของทิพย์ที่อิตาลีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่พบเจอทั้งความสุขและความทุกข์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นสิ่งติดตัวและยึดเหนี่ยวกับชีวิตของทิพย์ทุกโมงยาม คือ ชีวิตที่ยังคงต้องวิ่งตามความฝัน จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย.

************

คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617175เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณเรื่องเล่า ดีดี แฝงด้วย คติ ข้อคิด นะคะ

ขอบคุณที่น้องทิมดาบ

นำมาแบ่งปันกันจ้

ชอบครับ เขียนคล้ายนิยาย หรือเรื่องสั้นเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท