Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อศึกษาเรื่องราวของครอบครัวเพิ่มพร เรามองเห็นความงดงามของคน ๕ กลุ่มด้วยกันค่ะ


ความงดงามที่เราเห็นผ่านคนที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวเพิ่มพร

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

งานเขียนอันเป็นผลมาจากการเข้าคลุกคลีเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติและคนมีรัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=10154588938598834

-----------------------------------

เรื่องย่อของครอบครัวเพิ่มพร[1]

-----------------------------------

เรื่องราวของครอบครัวเพิ่มพรเริ่มต้นจากผู้ชายลูกครึ่งเมียนมากะเหรี่ยงคนหนึ่ง ซึ่งเกิดในเมืองผาอันในประเทศพม่าหรือเมียนมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๗

ดังจะต้องตระหนักว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว การทะเบียนราษฎรในประเทศดังกล่าวก็ไม่เจริญเท่าที่ควร ประกอบกับเกิดความไม่สงบและการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลทหารและชนกลุ่มน้อยในประเทศดังกล่าว ผู้ชายคนนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “จูต๋อง” จึงตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของประเทศเมียนมา อันทำให้เขาประสบปัญหาความไร้รัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร อันทำให้เขาผู้นี้ไม่มีเอกสารใดเพื่อรับรองตัวบุคคล

เมื่ออพยพเข้ามาในประเทศไทย จูต๋อง หรือที่มวลมิตรได้ประเทศไทยเรียกว่า “เทา” ได้สมรสตามประเพณีนี้กับ “มะเอ” หรือ “เอ” เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ ซึ่งเอเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเติบโตที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เธอเชื่อว่า เธอเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ เธอไม่เคยทราบชื่อบิดาและมารดา เมื่อเธอจำความได้ เธออาศัยอยู่กับ “ป้ามะโอเมีย” ซึ่งมิใช่มารดาของเธอ เอก็ตกเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงเช่นกัน เพราะเธอไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก

เทาและเอมีบุตรด้วยกัน ๓ คน ซึ่งทุกคนเกิดในประเทศไทย กล่าวคือ (๑) นายหม่อง หรือเจริญ เพิ่มพร ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ (๒) นางสาวจาหรือจารุณี เพิ่มพร ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๘ และ (๓) นายดำ หรือดำรงฤทธิ์ เพิ่มพร ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ทุกคนเกิด ณ บ้านเลขที่ ๑๓๑ ถนนตากสิน ตำบลหนองหลวง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้นในบริเวณโรงงานไม้ อันเป็นที่พักของคนงาน โดยมีนายจ้างชื่อว่า นายทวีป เกิดหลำ มีพยานบุคคลหลายคนที่รู้เห็นการเกิดของคนทั้งสาม และล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ เป็นที่น่าเสียใจว่า บุตรทั้งสามคนก็ตกหล่นการจดทะเบียนคนอยู่และคนอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยตั้งแต่เกิด

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า คนในสถานการณ์ดังกล่าวควรจะได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ การพัฒนาสิทธิในความเป็นคนที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมืองในระดับแรกตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองก็น่าจะเป็นไปได้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นอย่างน้อยที่สุด

แต่นางสาวจารุณีและนายดำรงฤทธิ์เพิ่งได้รับการสำรวจและบันทึกรายการสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพียงในวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ อันทำให้ความไร้รัฐของบุคคลทั้งสองสิ้นสุดลง โดยการถือเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐

นางสาวจารุณีได้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายไปยังหลายหน่วยงาน ที่สำคัญ ก็คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนอกจากนั้น ก็มีคำขอมายังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย

ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ เจ้าหน้าที่กรมการปกครองได้แจ้งว่า มีนโยบายไม่อนุญาตให้นางสาวจารุณีขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อไปอาศัยอยู่กับสามีและบุตรใน กทม. นางสาวจารุณีจึงหารือมายังบางกอกคลินิกอีกครั้งหนึ่ง

ในครั้งนี้ บางกอกคลินิกฯ ตระหนักว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะนำมาซึ่งความอยุติธรรมต่อคนในครอบครัวเพิ่มพรอย่างแสนสาหัส จึงมีความเห็นที่จะทำกรณีศึกษาตากเรื่องราวของครอบครัวเพิ่มพรอย่างจริงจัง[2]

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นายเจริญ ซึ่งป่วยด้วยโรคจิตเพทมาก่อนแล้ว และขาดการรักษาพยาบาลมายาวนาน จึงล้มป่วยหนัก อันทำให้ต้องมีความช่วยเหลือทางกฎหมายสาธารณสุขอีกด้วย

ทุกภาวะทางกฎหมายและนโยบายที่จะต้องจัดการอย่างเร่งด้วยจึงมีอยู่ ๔ ประเด็นที่สำคัญ กล่าวคือ (๑) การจัดการสิทธิออกนอกพื้นที่เพื่ออาศัยอยู่กับครอบครัวของนางสาวจารุณีและนายดำรงฤทธิ์ ซึ่งก่อตั้งครอบครัวกับคนสัญชาติไทยใน กทม. (๒) การจัดการสิทธิในการรักษาพยาบาลและหลักประกันสุขภาพดีของนายเจริญที่ล้มป่วยลง (๓) สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของพ่อเทา/แม่เอ/นายเจริญ ซึ่งยังประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง (๔) สิทธิในการรับรองสถานะคนชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมืองของพ่อเทาและแม่เอ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว และ (๕) สิทธิในการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ของนายเจริญ/นางสาวจารุณี/นายดำรงฤทธิ์

การทำงานครั้งนี้ของบางกอกคลินิกฯเป็นความรับผิดชอบของ อ.ศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งศึกษาเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย เพื่อเสนอวิทยานิพนธ์ต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของหลายฝ่าย ที่สำคัญ ก็คือ (๑) มูลนิธิฮันส์ ไซเดล แห่งประเทศเยอรมันนี (๒) คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยาง (๓) คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลแม่ระมาด และ (๔) คลินิกกฎหมายแห่งลุ่มแม่น้ำโขง

นับแต่การลงมือทำงานอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ ก็มีความคืบหน้าในเรื่องของความชัดเจนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนข้อนโยบายที่เกี่ยวกับครอบครัวเพิ่มพร ท่ามกลางทุกขภาวะที่รุมล้อมครอบครัวเพิ่มพร การก้าวเข้ามาของเหล่าผู้รักษาการตามกฎหมายทั้งของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคลี่คลายทุกขภาวะของครอบครัวเพิ่มพร จึงทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นทีละน้อย และแสงสว่างที่อบอุ่นและงดงามนี้เริ่มสาดส่องและให้ความยุติธรรมแก่คนในครอบครัวเพิ่มพรแล้ว หลายประเด็นที่สำคัญ เราจึงควรจะมาวิเคราะห์ความงดงามที่เริ่มปรากฏตัวนี้กัน

-------------------------------------

ความงดงามที่ปรากฏตัวท่ามกลางทุกขภาวะของครอบครัวเพิ่มพร

------------------------------------

เรื่องราวที่งดงามของครอบครัวเพิ่มพร เป็น "แบบฝึกหัด" สำหรับใครหลายคน เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคนที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนในครอบครัวนี้ [3]

คนกลุ่มแรก ก็คือ คนในระบบราชการของกระทรวงมหาดไทยที่เข้ามารักษาการตามกฎหมายของตนในที่สุด แม้จะล่าช้าไปมากทีเดียว กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย "เอง" เป็นเรื่องที่สร้างความชื่นชมอย่างยิ่ง เมื่อความอยุติธรรมปรากฏชัดเจนอย่างยิ่งต่อคนในครอบครัวเพิ่มพร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องให้คนรากหญ้าที่น่าสงสารนี้ต้องลำบากไปฟ้องอำเภอที่ศาลปกครอง กระบวนการยุติธรรมในชั้นปกครองจึงออกมาจัดการความชอบด้วยกฎหมายให้แก่คนที่เข้าไม่ถึงความยุติธรรมนั้นเสียเอง ในความเป็นจริง ระบบกฎหมายของรัฐไทยก็งดงามอย่างนี้มาตั้งแต่ปลายสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๕ มีคนอย่างพ่อเทามากมายที่ไร้รัฐในประเทศต้นทาง และอพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือที่ประสบปัญหาความไร้รากเหง้าด้วยเหตุที่พลัดพรากจากบุพการี การจัดการปัญหาให้คนเหล่านี้กลับมารัฐนั้น เป็นความเชี่ยวชาญของรัฐไทยทีเดียว แต่เรื่องของพ่อเทาและแม่เอควรจะต้องเป็นเรื่องราวที่ฝ่ายปกครองในจังหวัดตากควรจะต้องทบทวนอย่างหนักมาก ๔๐ ปีของปัญหาความไร้รัฐของพ่อเทาและแม่เอในประเทศไทยเป็นคำถามใหญ่ที่ไม่ควรเพิกเฉย บทเรียนครั้งนี้จะนำไปสู่ "ภูมิปัญญาทางปกครอง" เพื่อการแก้ไขบุคคลในสถานการณ์เดียวกัน ในวันนี้ เทศบาลไม้งามได้ทำแบบฝึกหัดในส่วนพ่อเทาและแม่เอเสร็จสิ้ลง คงเหลือแบบฝึกหัดในส่วนของคุณเจริญ/คุณจารุณี/คุณดำรงฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยมาตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ และยื่นคำร้องมานานเกินกว่า ๖ เดือน กระบวนการเรียนรู้ของกระทรวงมหาดไทยในส่วนนี้คงยังมีอยู่ให้เราได้ศึกษาต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม ในประการที่สอง เราสังเห็นความงดงามของมนุษย์ในสังคมไทยที่แวดล้อมพ่อเทาและแม่เอ เราแสนจะชื่นชม "พ่อทวีป" ซึ่งเป็นนายจ้างของบุคคลทั้งสองที่เคียงข้างลูกจ้างที่น่าสงสารตลอดมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่มีสภาพการจ้างกันแล้วด้วยซ้ำไป เราชื่นชมเพื่อนบ้านที่คอยห่วงใย และไม่ลังเลที่จะแสดงตัวเป็นพยานบุคคล คนเหล่านี้เป็นความงดงามของสังคมไทยที่เอื้ออาทรต่อกัน เราคงสรุปได้อย่างลึกซึ้งลงไปอีกว่า กระบวนการยุติธรรมตามธรรมชาติที่สร้างโดยมนุษย์ด้วยกันเองเพื่อพ่อเทาและแม่เอ ตลอดจนบุตรทั้งสามจึงมีอยู่จริงตลอดมา

ความงดงามในประการที่สามที่สังเกตเห็น ก็คือ ความยุติธรรมทางสาธารณสุขที่ปรากฏตัวชัดเจนเพื่อรักษาพยาบาลคุณเจริญ ซึ่งตกเป็นผู้ป่วยหนักทางจิตเพท เราชื่นชม (๑) โรงพยาบาลศรีธัญญา (๒) โรงพยาบาลศิริราช (๓) โรงพยาบาลท่าสองยาง และ (๔) โรงพยาบาลตากสินมหาราช ทุกโรงพยาบาลดังกล่าวได้ทำแบบฝึกหัดเรื่อง Health for All ได้คะแนนสูงสุด หลังจากคุณเจรฺยมีอาการหนักอยู่หลายวัน ในวันนี้ เขากลับมามีสติที่จะรู้สึกสุขใจกับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และในเวลาไม่นาน ก็น่าจะได้ถือบัตรประชาชน ความป่วยหนักทางจิตเพทก็น่าจะมาจากความกดดันในชีวิตที่มีต่อตัวเขาตั้งแต่เด็กจนโต ความอยุติธรรมนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยน่าจะเยียวยาให้กับเขามิใช่หรือ ดังนั้น ความก้าวหน้าทางแพทยศาสตร์ก็คงจะทำให้คุณเจริญกลับมาหายดีได้ในเร็ววัน เรายังเห็นโรงพยาบาลทั้งหมดนี้ไม่เลิกที่จะรักษาคุณเจริญ เหลือแต่ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวทั้งหมดว่า จะยอมเข้ามาทำแบบฝึดหัดเกี่ยวกับคนป่วยจิตเพทไร้รัฐไร้สัญชาติในจังหวัด รวมตลอดถึงในประเทศไทยหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องมาตามศึกษากัน

ความงดงามประการที่สี่ที่คงไม่กล่าวถึง ก็คงไม่ได้ ก็คือ คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาจัดการความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวเพิ่มพร นั่นก็คือ เหล่านักกฎหมายทั้งวิชาชีพและตีนเปล่า ที่เข้ารวบรวมพยานหลักฐาน และเขียนคำร้องต่อผู้รักษาการตามกฎหมายเพื่อคนในครอบครัวเพิ่มพร ....(๑) อ.ศิวนุช สร้อยทอง เป็นนักศึกษาปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาเรื่องกระบวนการยุติธรรมเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และได้รับคำเชิญให้มาทำงานเป็นนักกฎหมายวิชาชีพประจำคลินิกกฎหมายโรงพยาบาลแม่ระมาด (๒) อ.อรษา ไตรโชค บัณฑิตทางนิติศาสตร์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีเชื้อสายกะเหรี่ยงอีกด้วย ในวันนี้ เธอทำหน้าที่นักกฎหมายวิชาชีพประจำโรงพยาบาลท่าสองยาง (๓) อ.ภูมิ วัชร เจริญผลิตผล คนสัญชาติไทยเชื้อสายม้ง ที่เข้ามาทำงานเป็นทนายความตีนเปล่าให้แก่ชาวเขาไร้รัฐไร้สัญชาติมานานนับสิบปี และ (๔) คุณเนาะดา พรชนก เหล่ารัตนเจริญ นักกฎหมายตีนเปล่าประจำคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลแม่ระมาด ซึ่งเธอผู้นี้ก็คือ อดีตคนกะเหรี่ยงไร้รัฐไร้สัญชาติอีกด้วย .... ความงดงามที่เราเห็นผ่านพวกเขาทั้งสี่คนมีหลายประการ อย่างแรก ก็คือ จิตอาสาที่อยากทำงาน โดยไม่คิดถึงค่าจ้างแม้แต่น้อย และอย่างที่สอง ก็คือ ความเชื่อและความมุ่งมั่นที่จะใช้กฎหมายทำงานอย่างไม่ย่อท้อ ความงดงามทั้งสองของคนทั้งสี่นี้ ก็คือ "แบบฝึกหัดทางจริยธรรม" ที่ทำให้เราคงอาจที่จะชื่นชมและสบายใจไม่ได้เลย หากสังคมไทยมีคนในลักษณะนี้มากๆ สังคมไทยก็จะมีสันติสุขอย่างมากมายทีเดียว เป็นวัคซีนที่ดีที่สุดเพื่อกำจัดความยุติธรรมให้หมดไปจากแผ่นดินไทย

ความงดงามในประการที่ห้าและเป็นประการสุดท้ายที่เราเห็นในวันนี้ ก็คือ ความงดงามที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติเอง ซึ่งเป็นฝ่ายเจ้าของปัญหา ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างสุดแรง โดยใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เราเห็นความพยายามของคุณจารุณี บุตรคนที่สองของครอบครัวเพิ่มพร ลุกขึ้นมาเขียนคำร้องถึงผู้รักษาการตามกฎหมายนับสิบฉบับ ด้วยลายมือของเธอเอง เธอเรียนกฎหมายอย่างจริงจัง และเธอได้แสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะปฏิบัติการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การเรียนรู้กฎหมายของเธอจึงเป็นการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง จากที่เคยพูดไม่รู้เรื่อง ใช้อารมณ์อย่างมากมาย กลับเป็นเข้าใจเร็ว คิดเป็นระบบ และใช้เหตุผลแทนที่อารมณ์ การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองของคุณจารุณีนั้น ทำให้คุณดำรงฤทธิ์ น้องชาย เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจัดการปัญหาเช่นกัน เราสังเกตว่า ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่ตกค้างมานานในครอบครัวนี้ น่าจะมาจากความไร้รู้หนังสือและความไร้การศึกษาในโลกสมัยใหม่ของพ่อเทาและแม่เอนั่นเอง แต่เมื่อคุณเจริญ คุณจารุณี และคุณดำรงฤทธิ์โตขึ้น มีโอกาสเรียนหนังสือ ความพยายามในการจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติจึงเริ่มต้นขึ้น และด้วยความรักความสามัคคีในครอบครัว เราจึงเห็นคนทั้งห้า รวมถึงครอบครัวในส่วนขยาย กล่าวคือ สามีของคุณจารุณี ภริยาของคุณดำรงฤทธิ์ ตลอดจนน้องนาวา บุตรชายตัวน้อยของคุณจารุณี เข้ามาช่วยกันทำแบบฝึกหัดว่าด้วยความรักในครอบครัวที่จะทำให้ปัญหาน้อยนิดนี้หมดไป

อยากจะย้ำอีกครั้งว่า ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดแก่ครอบครัวเพิ่มพรเป็นที่น้อยนิด และแก้ไขได้ในระบบกฎหมายของรัฐไทย เพียงแต่กระบวนการแก้ไขโดยกฎหมายอย่างจริงจังไม่ได้เกิดขึ้น ก็เท่านั้นเอง ความจริงจังที่ควรเกิดขึ้น ก็จะต้องเริ่มจากคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเองก่อนเลย ... นี่คือ แบบฝึกหัดที่ต้องทำขึ้นก่อนเลย


-----------------------------------------------

#BeautifulStoriesTelling

#เพื่อครอบครัวเพิ่มพร

#คนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายประเภทที่หนึ่งที่พบในประเทศไทย

#คนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายประเภทที่สองที่พบในประเทศไทย

---------------------------------------------

จา รุณี ดำรงฤทธิ์ เพิ่มพร วีนัส สีสุข Chamnanwit Terat Chuchart Jan Theeranun Chaimanun Tawatchai Yingtaweesak นพ ปองพล วรปาณิพล Somsak Chunharas Vicharn Panich Panpimol Wipulakorn Supat Hasuwannakit Supat Anatta Kmsabai Vijj Kasemsup Saipin Hathirat Chirapong Uthaisin Siwanoot Soitong Orrasa Traichok พรชนก เนาะดา (พรชนก เนาะดา เหล่ารัตนเจริญ) ภูมิ วชร เจริญผลิตผล Phunthip Saisoonthorn Puangrat Patomsirirak Papawadee Salakphet Phachern Tham Worawit Tontiwattanasap Wech Wongwaiphanich Wikarnda Pattiboon Sakbuncha Somchaimongkon กฤษกร หนานปินใจ จันทราภา จินดาทอง ชนินทร์ ไม่มีนามสกุล ยาว โนสกุล



[1] ศิวนุช สร้อยทอง, กรณีศึกษาครอบครัวเพิ่มพร : ครอบครัวคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งบุพการีอพยพมาแล้วยาวนานจากชายแดนเมียนมาเข้ามาอาศัยที่จังหวัดตากกว่า ๔๒ ปี แต่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติทั้งครอบครัว, เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙, ๑๐๙ หน้า https://drive.google.com/file/d/0B5jZ6_mm4SlOSnVmWEpQQWdDMjQ/view?usp=sharing

[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, แม่ไร้สัญชาติร้องนายอำเภอเมืองตากขอออกนอกพื้นที่เพื่อไปให้นมบุตรชายสามขวบ, งานเขียนเพื่อความเห็นทางกฎหมายต่อคำร้องทุกข์ของนางสาวจารุณี เพิ่มพร ต่อสาธารณชน, เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ https://www.facebook.com/archanwell/posts/10154414279921425

http://www.isranews.org/isra-news/item/50169-mom_50169.html

[3] https://www.facebook.com/archanwell/posts/10154504677336425


หมายเลขบันทึก: 617247เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2016 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2016 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท