จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๗ : ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๗ : ความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility)

เข้าใจว่าคุณสมบัติข้อนี้ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตหรือเป็นวัตถุประสงค์การเรียน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะคุณลักษณะข้อนี้ (ความอ่อนน้อมถ่อมตน) ประกอบด้วยทั้งคุณงามความดีในตัวมันเอง และยังทำงานเป็นภูมิคุ้มกันต่อพยาธิสภาพที่น่ากลัวหลายๆประการ ที่จ้องจะคืบคลานมาเกาะกุมควบคุมจิตใจเราทุกๆครั้งที่มีโอกาสนั่นเลยทีเดียว เพราะเนื้อหาสำคัญ (essence) ของความอ่อนน้อมถ่อมตนคือ การควบคุมอัตตา (self or ego-restraint) ไม่ให้มันพองโต ให้มันมีขนาดพอดีๆ

๑) ความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) คือการจัดการตนเองให้มีขนาดย่อม ซึ่งผมอยากจะรวมไปถึง "ทัศนคติที่จะจัดการตนเองให้มีขนาดย่อม" ด้วย คือไม่เพียงแค่กระทำเท่านั้น แต่หล่อหลอมไปถึงระดับทัศนคติเลยทีเดียว ไม่ง่าย แต่จำเป็นและต้องการการฝึกฝนด้วย

ความหมายของ humility เชิงศาสนามักจะเป็นสำนึกว่าเรานั้น "เล็กกว่า ด้อยกว่า เด็กกว่า รู้น้อยกว่า" entity ที่เหนือกว่าเรา ซึ่งเป็นได้ทั้ง God พระผู้เป็นเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนในเชิงสังคมศาสตร์หรือจริยศาสตร์นั้น จะออกไปในทางสำนึกหรือมีสติรับรู้ว่าตัวเรา "เป็นเพียง" ส่วนหนึ่งของส่วนใหญ่ ตัวเรามีความสำคัญแต่ก็มีเรื่องที่สำคัญกว่า และที่สำคัญก็คือ ยิ่งเราตระหนักถึง "ส่วนใหญ่อื่นๆ ที่สำคัญกว่าเท่าไหร่ เรายิ่งจะสามารถทำความสำคัญของตัวเราเองเป็นประโยชน์หรือมีค่าต่อส่วนใหญ่ได้มากขึ้นเท่านั้นด้วย

๒) เมื่อเราอาราธนาความอ่อนน้อมถ่อมตนมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จะเกิดประโยชน์หลายประการ
@ เราจะถาม "คนอื่นเขารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร" มากกว่าถามว่าเรารู้สึกอยากได้อะไร ต้องการอะไร
@ เราจะเริ่มไวต่อ "ความรู้สึกของผู้อื่น" มากขึ้น ถ้าเราไวและรับรู้ความรู้สึกด้านทุกข์ของผู้อื่น เรากำลังหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตาและกรุณา ถ้าเราไวและรับรู้ความรู้สึกด้านสุขของผู้อื่น เรากำลังหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมุทิตา
@ สองประการแรกนั้นเป็นการจัดการภายใน ถ้าเราทำได้ดีแล้ว จะเกิดคำถามออกจากปากเราในทำนอง "What can I do for you?" "What can I be any help?" เราจะช่วยอะไรคุณได้บ้าง? มากขึ้น คำถามเหล่านี้มาจากพื้นฐานของความอ่อนน้อมถ่อมตนทั้งสิ้น และพูดออกมาจากคนที่มีอำนาจก็ได้ (และยิ่งดี) Supervisor หลายคนของผม พอเจอหน้าที่ไรท่านก็จะเริ่มด้วยคำถามนี้เสมอ และทำให้ผมรู้สึกดีมากๆ เลยอยากเลียนแบบ และผมคิดว่าเป็นคำถามที่หว่านเพาะนิสัยที่ดีของคนที่กำลังจะเป็นแพทย์ด้วย
@ We are here to serve สุดท้ายเราจะเกิดคุณค่าของตัวเองถ้าได้ "บริการ (to serve or service) เพราะการบริการนั้นหมายถึง เรารับรู้ความต้องการ ความจำเป็นของผู้อื่น และเรารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้คนอื่นนั้นสมปราถนา to serve หรือ to service จึงเป็นธรรมะที่สูง เป็นการกระทำที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และข้อสำคัญคือเพราะ humility ทำให้เราเอื้อมถึงศักยภาพแห่ง humanity (ความเป็นมนุษย์) ในภาษาอังกฤษคำ Servicemen จะใช้กับวิชาชีพทหาร ตำรวจ เสียด้วยซ้ำ เพราะงานหน้าที่เหล่านี้ไม่ง่าย มีความเสี่ยงสูง และอันตราย แต่ด้วย "สำนึกในหน้าที่" คนเหล่านี้รักษาเกียรติของตนด้วยการให้บริการผู้อื่น

๓) ตัวตนหรือ ego นั้น เวลามัน "ใหญ่" มักจะไปเกะกะตรงทวาร ทวารคือประตู เป็นทางเข้าออกสื่อสารระหว่าง "ภายใน" กับ "โลกภายนอก" ไม่ว่าเราจะมีพื้นที่ภายในใหญ่โต หรือเล็กสักเพียงไร แต่ตัวตนหรือ ego นั้นมันจะไปอยู่ตรงทวารเสมอ ผลก็คือกระทบต่อทั้งขาเข้า และขาออก

การกระทบต่อขาเข้า ก็คือ ego จะไปจุ้นจ้านคัดกรองข้อมูลภายนอก อะไรที่มันไม่ชอบก็จะกีดกันไม่ให้เข้ามา ดังนั้น ego จะเป็นตัวคุมกำเนิดความรอบรู้ หรือการเจริญเติบโตทางปัญญาทุกชนิดที่ต้องอาศัย "ปัจจัยภายนอก" เป็นองค์ประกอบ ego ที่รุนแรง (หรือเข้าระดับหวาดระแวง paranoid) จะชังการแตกต่างว่าเป็นศัตรู ชังการเปลี่ยนแปลง (ที่ไม่ได้เกิดจากภายในตนเอง) ชังอะไรก็ตามที่จะบอกเขาว่า "ขอทางเข้าไปหน่อย" เพราะ ego จะเกะกะแถวๆประตูของ self อยู่ตลอดเวลา

การกระทบต่อขาออก ก็คือ เนื่องจาก ego ยืนประจำอยู่ตรงนี้ อะไรที่สื่อออกไปจะเน้นที่ "ข้าฯเป็นใหญ่" เป็นหลัก ต้องการจะหมุนโลก หรือหมุนจักรวาลรอบๆตัวตนเอง หนักๆเข้าถ้าที่ทางชักจะคับแคบ ego จะสั่งให้ขยายตัวตนออกไปเพื้อเพิ่มพื้นที่ จนกระทั่งไปเบียดบัง self ของคนอื่น ความอยากขยายตัวของ ego นี้เป็น insatiable appetite (แปลว่าความกระหายใคร่อยากที่ไม่เคยมีวันอิ่มหรือเพียงพอ)

๔) Ego ที่ใหญ่โตคับประตูนั้น จะทำหน้าที่ "บริการ" ไม่ได้ หรือทำได้ก็ทำไม่ได้ดี เพราะไม่มีอะไรไป feed ตัวเอง เพราะคนอื่นๆนั้น "เล็กกว่า" หมด สำคัญน้อยกว่าไปหมด หรือถ้าจะทำก็จะทำก็ต่อเมื่อตนเองได้รับสิ่งตอบแทนเท่านั้น และสิ่งตอบแทนนั้นมาสนอง ego ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นคำชมเชย คำยกย่องบูชา หรือเป็นอามิส

๕) Ego ที่ใหญ่คับประตูนั้น จะทำงาน "ร่วมกับผู้อื่นยาก" เพราะเมื่อตัวเราใหญ่มาก ตัวเราสำคัญมาก ตัวคนอื่นก็เล็กลง ความสำคัญของคนอื่นก็เล็กลง เวลาเราเขียนโครงการอะไรต่อมิอะไร เราก็จะเขียนว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จมันเป็น "เพราะเรา" ทัศนคติแบบนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานที่ต้องอาศัย Partners อื่นๆสหสาขาวิชาชีพ เพราะเราจะไม่เคยเห็นหัวคนอื่นว่าสำคัญ

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การในเรียนการสอนนั้น อะไรที่ไม่ได้อยู่ใน "วัตถุประสงค์การเรียน" มันจะไม่ค่อยจะได้ไปอยู่ในขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนด้วย และสุดท้ายก็คือ เรื่องราวนั้นๆ คุณค่านั้นๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น งอกงามขึ้น ในตัวบัณฑิต หรือถ้าเกิด ก็เป็นเพราะบัณฑิตคนนั้นมีภูมิธรรมที่ดีแข็งแกร่งของเขาเอง ไม่ได้เกิดเพราะหลักสูตร และที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เราแน่ใจหรือไม่ว่าหลักสูตรของเรา วิธีเรียน วิธีสอน ของเรา ไม่ได้ไปสร้าง Ego ให้ใหญ่คับบ้าน คับเมือง คับฟ้า คับจักรวาล?

รำพึงรำพัน

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๓ นาที
วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 617911เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2016 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2016 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กำลังถูกทำให้เป็นค่านิยมของชาวกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้

อ่านบันทึกของอาจารย์ได้ความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นค่ะ ฝึกปฏิบัติการรู้ตัวและ React อย่างที่ไม่พองลมต่อไป

ขอบพระคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท