จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๙ : เกรดวัด (และไม่ได้วัด) อะไร?


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๙ : เกรดวัด (และไม่ได้วัด) อะไร?

การวัด (measure) เป็นบทเรียนแรกๆของวิชาวิทยาศาสตร์ มนุษย์ชอบประเมิน ชอบวัด ชอบตีราคา มันเป็นบทสรุปเล็กๆในสมองที่ถูกใช้ในการตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไปดี ใช้เป็นแนวทาง เป็นแผนที่บอกทาง หรือแม้กระทั่งพยากรณ์ว่าที่ตัดสินใจไปนั้นถ้าจะเพิ่มโอกาสตัดสินใจถูกมากกว่าผิด การวัดจึงมีประโยชน์มาก

ตราบใดที่มันสื่อคุณค่าที่เราต้องการจะทราบ คุณค่าที่เราต้องการจะใช้ (validity)

การเรียนก็มีการวัด วัดเพื่อเลื่อนชั้น อันนี้เป็นการวัดเพื่อการตัดสิน แบ่งกลุ่ม และก็มีการวัดเพื่อติดตราคุณค่า เช่น การจัด ranking ที่หนึ่ง ที่สอง ที่โหล่ ที่รองโหล่ (และเกิดผลตามจากการตัดสินมากมาย) เหตุผลทุกประการที่ว่ามานั้น นำมาสู่การตัดสินใจจะทำ/ไม่ทำอะไรต่อไปทั้งสิ้น เช่น สอบตก ก็ไม่ได้เลื่อนชั้น สอบได้ที่หนึ่งอาจจะได้ทุนการศึกษา หรือรับไว้เป็นครูบาอาจารย์ รับไว้ทำงาน ฯลฯ

คนที่จะใช้ตัววัด จึงต้องรู้จัก หรือรู้เป็นอย่างดีว่า ไอ้มาตราที่ใช้นั้น มัน "ตรง" กับคุณค่าที่เราต้องการ ถ้าจับคู่ผิด เช่น เอาคนที่สอบความจำดีที่สุดไปทำงานที่ต้องการทักษะด้ายการสื่อสาร ก็อาจจะพบว่าคนความจำดีไม่ได้จำเป็นต้องสื่อสารเก่งเสมอไป เผลอถ้าจำดีเพราะเอาเวลาทั้งหมดไปนั่งท่อง ก็อาจจะด้อยทักษะด้านการสื่อสารกว่าคนอื่นๆด้วยซ้ำไป

ประเด็นอยู่ที่ว่า พอคนเรารู้ว่าจะวัดเรื่องอะไร เพื่อนำไปใช้ตัดสินใจอะไรสำคัญๆ เราก็จะไปเน้นที่จะ "ทำคะแนน" ในเรื่องนั้นๆเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เวลาที่จะทุ่มเทไปด้านอื่นๆ (ที่ไม่ได้วัด หรือไม่ได้นำมาใช้วัด) พลอยลดหายไปด้วย (หรือไม่ได้ทำเลย)

ที่พูดเรื่องนี้ถือว่าต่อเนื่องมาจากบทความที่แล้ว (เรียนเพื่อวิวัฒน์) คือการเรียนสามแบบ informative, formative และ transformative learning ซึ่งต้องการ "ผลผลิต" ที่ไม่เหมือนกัน
ถ้าต้องการ "ผู้เชี่ยวชาญ" ก็จะเน้นวัดที่ รู้มาก/น้อย ทำเป็น/เชี่ยวชาญ
ถ้าต้องการ "มืออาชีพ" ก็ควรจะไปเน้นวัดที่ คุณค่าของงาน ทักษะมุมมองด้านคุณค่าของงาน ของวิชาชีพ
ถ้าต้องการ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ก็ยิ่งต้องมองหา "คุณสมบัติของผู้นำ (leadership attributes)"

คำถามในตอนนี้คือ ปัญหาหรืออุปสรรคของวิชาชีพแพทย์ในตอนนี้ มีเรื่องอะไรเป็นสำคัญ เพราะถ้าเรารู้ เราอาจจะแก้ไข ป้องกัน หรือเยียวยารักษาได้ด้วยการ "จัดหลักสูตรให้ตรงปัญหา"
@ หมอมีความรู้น้อย ก็ต้องมาดูว่าในหลักสูตรนั้น สิ่งที่ควรรู้ ต้องรู้ นั้นมีการถ่ายทอดครบถ้วนหรือไม่
@ หมอที่ทักษะน้อย ก็ต้องมาดูว่า ในหลักสูตรนั้น ได้ดู ได้เห็น ได้เรียน ได้ทำ เพียงพอหรือไม่
@ หมอขาดคุณลักษณะบางอย่างไป อาทิ การสื่อสารเพื่อการเยียวยา การสื่อสารอย่างมีเมตตากรุณา การทำงานเป็นทีม การดูแลเพื่อนร่วมงาน ก็ต้องมาดู "บริบทการเรียนรู้" ว่าในที่ที่ทำงาน ที่ที่มาเรียนนั้น สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อ values เหล่านี้จะงอกงาม เติบโตหรือไม่
@ หมอขาด leadership attributes ก็ต้องมาดูว่าในวัฒนธรรมองค์กรนั้น เราเอื้อให้คุณลักษณะข้อดีมันงอกงาม เติบโต แค่ไหน หรือว่าแคระแกร็นเป็นบอนไซถูกลวดดัด

หลักสูตรเราเน้นอะไร ดูจาก "สัดส่วน" ของตัววัดเหล่านี้ได้ ถ้าเกรดเราสะท้อนแต่รู้อะไร ทำอะไร มันก็จะสะท้อนมิติความเชี่ยวชาญ ถ้าเกรดเราสะท้อน values เราก็จะเห็นความเป็นมืออาชีพ (professional) ในผลผลิต อย่าไปฝันว่ามันจะข้ามมิติการวัดไปหากันได้ และจริงๆแล้วเนื่องจากทักษะทุกชนิด ทุกมิติ มันต้องใช้เวลาฝึกฝนทั้งนั้น อะไรที่เราไม่ได้เน้น ไม่ได้ทุ่มเท เรื่องนั้นก็จะอ่อนแอ หรือบกพร่อง หรือใช้ไม่ชำนาญไป

มาดูในหลักสูตร (ผมค่อนข้างมั่นใจว่าทุกที่ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ดังนั้น อันนี้เป็นเพียงตั้งข้อสังเกต ไม่ใช่ข้อสรุป เป็นเพียงสมมติฐาน ไม่ใช่แม้แต่ทฤษฎี)
@ ทักษะในการสื่อสารของนักศึกษา มีน้ำหนักแค่ไหนในการประเมิน?
@ ทักษะด้านความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ มีน้ำหนักแค่ไหน?
@ ทักษะด้านความไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น?
@ ทักษะด้านการห้อยแขวนไม่ด่วนตัดสิน?
@ ทักษะด้านอารมณ์ ความสุข ความทุกข์ ของชีวิตยามปกติ และยามป่วย?
@ ทักษะในการเรียนรู้ต่อเนื่อง และเจตคติที่จะเรียนรู้ต่อเนื่อง?
@ ทักษะในด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ?
@ ทักษะในการตั้งคำถามวิจัย และการตอบคำถามนั้นๆ?

ถ้า "เกรด" ของเราไม่ได้สะท้อน values เหล่านี้ ก็อย่าแปลกใจที่ "สุดยอดบัณฑิต" ของเราอาจจะไม่ได้สะท้อน values เหล่านี้ออกมาในการทำงาน เค้าก็จะสะท้อน "สุดยอด" ในด้านที่เราประเมิน ในด้านที่เราวัดเท่านั้นเอง

นพ.สกล สิงหะ
บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ หลังอ่างเก็บน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๕๑ นาที
วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 618038เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท