จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๔: สังคมอุดม..ข้อมูล (ข่าวลือ vs ปัญญา)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๔: สังคมอุดม..ข้อมูล (ข่าวลือ vs ปัญญา)

เราอยากจะอยู่ในอุดมคติประเภท "สังคมอุดมปัญญา" กันมานานแสนนาน (รึเปล่าหนอ) หรือบางทีเราก็อยากอยู่ใน "สังคมอุดมความรัก" บ้างในยามที่เกิดอารมณ์สั่นสะเทือน อยากอยู่ใน "สังคมอุดมทรัพย์" บ้าง ในยามที่เห็นของที่อยากจะได้ อยากจะมี อยากจะใช้ แต่เราทำกันอย่างไรให้ได้สิ่งนั้นมา?

สองสามเดือนที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวมากระแทกจิตใจเราว่า "เด็กไทยฉลาดสู่เด็กชาติอื่นๆไม่ได้" จากการ ranking ประชันกันใน poll ในเวปไซด์ต่างๆ หูของเราไม่ได้ได้ยินแบบเดียวกันเสมอไป
บ้างได้ยินเป็น "เด็กไทยโง่กว่าเด็กชาติอื่นๆ"
บ้างได้ยินเป็น "ครูไทยสอนไม่เป็น"
บ้างได้ยินเป็น "โรงเรียนไทยมันห่วย"
รึอาจจะมีคนได้ยินเป็น "เด็กไทยน่าจะเก่งเรื่องอื่นที่มันไม่ได้วัด" บ้างไหม?
รึอาจจะมีคนได้ยินเป็น "ความฉลาดมีตั้งเยอะแบบ เออ.. แล้วเด็กไทยเก่งเรื่องอะไรหนอ?"
ข้อมูลสั้นๆประโยคเดียว แต่คนฟังพกพา agenda พกพาอารมณ์ พกพาประเด็นในชีวิตของตนเอง เข้าไปจับกับข้อมูลเหล่านั้น ออกมาเป็นความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม

และสุดท้ายก็คือ outcomes ปลาย ว่าสังคมรับข้อมูลเหล่านี้แล้วจะทำอะไรต่อไปดี? คนที่เก่งได้รับการพิสูจน์ว่าคิดถูก? คนที่คิดผิดถูกประจานในสังคมให้เข็ดหลาบ? พวกของเราได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกทำร้าย โจมตี? พวกของศัตรูของเราได้รับการโจมตีกลับอย่างสาสม? คนที่มีบุญคุณต่อเราได้รับประโยชน์จากงานนี้อย่างสมน้ำ สมเนื้อ?
?
?
?
หรือคนที่ทุกข์ที่สุด เปราะบางที่สุดในสังคม ได้รับการปกป้องดูแล?

outcomes แต่ละอย่างที่ยกมานั้น จะนำพาไปสู่สังคมที่แตกต่างกัน หรือไม่? อย่างไร?

สมมติฐานคือ แม่คนไหนๆก็รักลูกทั้งนั้น อยากให้ลูกรอดชีวิต อยากให้ลูกโต อยากให้ลูกแข็งแรง มนุษย์เป็นสัตว์ที่อ่อนแอทางกายภาพอย่างมาก (เมื่อเปรียบเทียบกับ species อื่นๆ) และเกิดมาแต่ละคนก็อยู่ในบริบทต่างกัน เจอปัญหาแตกต่างกัน และสุดท้ายก็อาจจะไม่สามารถ "รอคำตอบที่สมบูรณ์แบบ" แต่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ตอนที่เราทุกข์ เราก็รับรู้ทุกข์ของเรา เราไม่ได้รับรู้ทุกข์ของคนอื่นๆ
@ บางคนมีปัญหา จะปั๊มนมให้ลูกก็ไม่มีเวลา เพราะ บ้างต้องไปออกเรือประมง บ้างต้องเลี้ยงลูกอีกสิบคน บ้างต้องไปตรวจคนไข้ บ้างต้องไปกรีดยาง บ้างต้องไปตลาดหุ้น
@ บางคนมีปัญหาว่า paper ฉบับไหนที่ทำ meta-analysis ล่าสุดในเรื่องนมแม่ หรือมีปัญหา internet หลุดบ่อย เวลา search ข้อมูล ในขณะที่บางคนยังมีปัญหาว่าจะให้กล้วยบดได้รึยัง จะไปซื้อนมข้นหวานที่ไหนดี มีเงินอยู่ห้าบาท
@ บางคนมีปัญหาว่า catalogs นมผงทั้งสิบบริษัทนี้ อะไรดีที่สุด ขณะที่บางคนมีปัญหาว่ามีกล้วยห้าลูก แต่ลูกเจ็ดคน จะจัดการอย่างไรดี

งานวิจัยในสังคม เวลาออกมาเป็น paper ฉบับหนึ่ง ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ บางทีก็ไม่ได้บอกบรรยากาศข้างบน เพราะทุกๆ subject ทุกๆชีวิต ถูก reduced ลงเหลือหมึกดำบนกระดาษขาว ตัวอักษรดิจิตัลส่งไปมาในอากาศเท่านั้น และคนก็ถกเถียงกัน คนขายของก็กังวลว่าจะได้ขายหรือไม่ ถ้าขายได้จะกำไรเท่าไหร่ นักวิชาการก็ถกเถียงกันว่าใครถูก ใครผิด (บ้างก็ถึงขนาดเชื่อมโยงว่าถูกคือดี ผิดคือเลว) เถียงกันไปเถียงกันมาก็ลืมหลักการทางวิชาการ หันไปดูว่า "ใคร" พูด "ค่ายไหน" พูด "พวกใคร" พูด หรือมี bias อคติตั้งไว้ก่อนว่าจะแปลแบบนี้ ต้องไม่แปลแบบนั้น

"นมแม่มีประโยชน์แน่นอน มีสารอาหารมากมาย เสริมภูมิคุ้มกัน แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั้งหมด ไม่ได้เติบโต แข็งแรง และเฉลียวฉลาด จากอาหารเพียงอย่างเดียว มีปัจจัยมากมายมาเกี่ยวข้อง และนมจากแม่ก็จะช่วยได้ "ระยะหนึ่ง" เท่านั้น หลังจาก "ระยะหนึ่ง" ที่ว่านั้นก็ต้องกินอะไรเพิ่มเติม"

ข้อความข้างบน แม้ไม่ได้มีงานวิจัยระดับอะไรมากมายเพื่อพิสูจน์ แต่เป็น "วิถีชีวิต" ของคนธรรมดาๆกันอยู่แล้ว .... ในระดับ "รอดชีวิต" ต่อมาเราเริ่มค้นพบว่าการ "เติม" อะไรเข้าไป "อาจจะช่วยเร่ง" อะไรบางอย่างได้ ก็คืออาหารจากแหล่งอื่นๆ พืช ผัก ผลไม้ จากธรรมชาติ และจาก artificial สารสะกัดจากโรงงาน จากห้องแลป เพื่อจะได้ active ingredients เข้มข้นมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับความพยายามหรือเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น เงินที่จะเอาไปซื้อ เวลาที่จะใช้ และแบ่งสัดส่วนกับวิถีชีวิตของแต่ละคน แต่ละครอบครัว

สังคมเราจะ "ช่วย" คนที่ทุกข์ที่สุด ช่วยตัวเองได้น้อยที่สุด ในที่นี้ก็คือเด็กทารกที่ไร้เดียงสา ไม่รู้หรอกว่าตัวเองชั้น วรรณะ ฐานะอะไร และใครกำลังต่อสู้เพื่อเขาหรือไม่อย่างไร หรือต่อสู้เพื่อ ego เพื่อผลประโยชน์ เพื่อฐานะในสังคม เพื่อการได้เป็นคนถูก เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งผิด ฯลฯ

แต่ทารกเหล่านี้ ถูกปกป้อง ถูกดูแล และช่วยเหลือ หรือไม่อย่างไร?

หรือจะโทษมารดาเด็ก ที่ปัญหาแตกต่างกันมากมาย บ้างก็ไม่มีเวลา บ้างไม่มีเงิน บ้างมี internet แต่ไม่รู้จะแปลผลอย่างไร บ้างมีที่ pump นมไฟฟ้า แต่ต้องทำงานจนไม่มีเวลา แม่ทุกคนอาจจะได้ทำสิ่งที่ตนเองคิดว่าดีแล้ว สำหรับลูก สำหรับตนเอง และสำหรับทุกๆคนในบ้าน ข้อมูลวิจัยของเราควรจะนำไปใช้อย่างไรเพื่อให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้บ้าง?

ควรจะทำให้มารดาเหล่านี้ panic ตกใจ หรือรู้สึกผิดไหมว่าสิ่งที่เธอทำ ไม่ใช้ "สิ่งที่นักวิชาการคิดว่าดีที่สุด"? หรือเราควรจะดูแลอย่างไร

จะมีวิธีใดที่ดีที่สุด วิธีเดียวไหม ที่จะดูแล the most vulnerables เหล่านี้ได้?

ในประโยคที่เราใช้แลกเปลี่ยน ถกเถียงกันนั้น มี "เพื่อเด็ก" เหล่านี้สักกี่เปอร์เซนต์ ใน action, recommendation นั้น มี "เพื่อเด็ก" เหล่านี้สักกี่เปอร์เซนต์ มีเพื่อตัวกู เพื่อนกู ของกู สักกี่เปอร์เซนต์

เป็นไปตาม "ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับแรก" นั้นหรือไม่?

น่าจะมีคำตอบ แต่คำตอบของพวกเราก็คงจะไม่เหมือนกัน

น.พ.สกล สิงหะ
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๗ นาที
วันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 620265เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2016 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2016 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท