Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่น้องบอสจะใช้สิทธิของคนต่างด้าว “เทียม” ที่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวรในประเทศไทย


กรณีศึกษา “น้องบอส”

: เขามีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นอย่างใด ? เพราะเหตุใด ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-------------

ข้อเท็จจริง

--------------

ปรากฏข้อเท็จจริงจากบันทึกของเภสัชกรหญิงปรียานุช กฤษณะประสิทธิ์ดังนี้

นายเซิง แซ่ตวง เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ที่จังหวัดยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเกิดจากนายหยูจิง แซ่ตวง และนางเชียงควง แซ่ลี คนเชื้อสายจีน และสัญชาติจีน ในขณะที่นายเซิงเกิด มีปัญหาความไม่สงบอย่างมากในพื้นที่ที่เขาเกิด เขาจึงไม่ได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐจีน และไม่เคยมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐจีนเช่นกัน

ในราวเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ นายเซิงได้เดินเท้าเข้ามาในประเทศไทย ผ่านเข้ามาทาง บ้านถ้ำง้อบ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้ามาอาศัยอยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และประกอบอาชีพรับจ้างทำสวนผลไม้เพื่อยังชีพ

โดยตระหนักในปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่นายเซิงประสบอยู่ กรมการปกครอง ซึ่งทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงได้เข้าสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้แก่นายเซิงเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ ซึ่งทะเบียนประวัติดังกล่าวมีชื่อว่า “จีนฮ่ออพยพ” และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้นายเซิงถือเพื่อแสดงตน เลขประจำตัวดังกล่าวขึ้นต้นด้วยเลข ๖ นอกจากนั้น กรมการปกครองไทยยังได้ออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่มีชื่อว่า “บัตรประจำตัวจีนฮ่ออพยพ” ให้ถือไว้อีกด้วย

ในราว พ.ศ.๒๕๓๒ นายเซิงได้เข้ามารับจ้างทำงานให้แก่ครอบครัวกฤษณะประสิทธิ์ในกิจการโต๊ะสนุกเกอร์ในโรงแรมไทยวารี ณ ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร

วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๘ นายเชิงได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยในสถานะคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ โดยสถานะบุคคลนี้ เขาได้รับการออกใบถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นอกจากนั้น เขาได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๘ ในปัจจุบัน นายเซิงมีทะเบียนบ้านอยู่ในความดูแลของเขตพระนคร

ใน พ.ศ.๒๕๔๔ นายเซิงได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวหรงชุน ลี่ โดยได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายไทย แต่หลังจากนั้นประมาณ ๑ ปีครึ่ง เขาจึงได้แยกทางกับนางสาวหรงชุน โดยไม่มีบุตรร่วมกัน

ใน พ.ศ.๒๕๔๕ นายเซิงได้เริ่มต้นเข้ามาดูแลกิจการร้านข้าวมันไก่ของเภสัชกรปรียานุช กฤษณะประสิทธิ์ เมื่อครอบครัวกฤษณะประสิทธิ์เลิกกิจการโต๊ะสนุกเกอร์

ใน พ.ศ. ๒๕๔๘ นายเซิงได้เริ่มต้นอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวเสี่ยวเอี้ยน เฉิน ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติจีน เธอถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวบ้าง หรือวีซ่าทำงานบ้าง สลับกันไป

ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ นายเซิงและนางสาวเสี่ยวเอี้ยน มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า เด็กชายณพวุฒิ แซ่ตวง หรือ “น้องบอส” ซึ่งเกิด ณ โรงพยาบาลหัวเฉียว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ น้องบอสได้รับการออกสูติบัตรประเภท ท.ร.๓ เพื่อบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในลักษณะชั่วคราว สูติบัตรนี้ระบุว่า น้องบอสไม่มีสัญชาติไทย และระบุว่า น้องบอสมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งทะเบียนบ้านนี้ซึ่งออกโดยเขตพระนครนี้ ก็ระบุว่า น้องบอสไม่มีสัญชาติไทย แต่ขอให้สังเกตว่า ทั้งสูติบัตรและทะเบียนบ้านนี้ต่างก็ระบุว่า นายเซิงเป็นคนสัญชาติจีน มิใช่คนไร้สัญชาติ ดังที่ปรากฏในใบถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

นอกจากนั้น ไม่ปรากฏว่า นางสาวเสี่ยวเอี้ยนได้เคยเพิ่มชื่อน้องบอสในทะเบียนราษฎรของรัฐจีนแต่อย่างใด

เมื่ออายุ ๓ ปี น้องบอสเริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล ที่ โรงเรียนภารตวิทยาลัย และยังคงเรียนในสถาบันนี้ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปแก่บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยอยู่มานานแล้วที่มิได้มีเชื้อสายไทยและเกิดในประเทศไทย หากบุพการีมีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยไว้แล้ว รวม ๑๔ กลุ่ม ได้แก่ (๑) กลุ่มชาวเขา ๙ เผ่า (๒.) กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนพื้นที่สูงที่อพยพเข้ามาก่อนและหลังวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ (๓.) กลุ่มอดีตทหารจีนคณะชาติ (๔.) กลุ่มจีนอพยพพลเรือน (๕) กลุ่มจีนฮ่ออิสระ (๖.) กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (๗.) กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า (๘.) กลุ่มชาวเวียดนามอพยพ (๙.) กลุ่มชาวลาวอพยพ (๑๐.) กลุ่มเนปาลอพยพ (๑๑.) กลุ่มอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (๑๒.) กลุ่มไทยลื้อ (๑๓.) กลุ่มม้งถ้ำกระบอกที่ทำคุณประโยชน์ และ (๑๔.) กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา ขอให้ตระหนักว่า บุคคลทั้ง ๑๔ กลุ่มนี้ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและมีเอกสารแสดงตน มาตั้งแต่ก่อนวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๘ โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง นอกจากนั้น บุตรของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง ๑๔ กลุ่มนี้ จะต้องมีข้อเท็จจริง ๗ ประการ ดังต่อไปนี้อีกด้วย (๑.) ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น (๒.) เกิดและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่อง โดยต้องมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร หรือมีเอกสารทางราชการที่แสดงว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย (๓.) สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นกรณีเด็กอายุต่ำกว่าเจ็ดปี (๔.) ต้องมีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย และเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๕.) มีความประพฤติดี ไม่เคยได้รับโทษคดีอาญา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ กรณีได้รับโทษในคดีอาญาต้องพ้นโทษแล้วอย่างน้อยห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้อง (๖.) ประกอบอาชีพสุจริต ยกเว้นพระภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่น ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติกิจมาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือผู้ยื่นคำร้องที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่ได้ประกอบอาชีพ และ (๗.) ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หลักเกณฑ์นี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประเภทที่อาศัยอยู่มานานซึ่งสำรวจภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๙ ถึงปี พ.ศ.๒๕๕๒

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เขตพระนคร กทม. ได้ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ประเภทบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยให้แก่น้องบอสเพื่อแสดงตน ตามคำขอของเภสัชกรปรียานุช ซึ่งทำการแทนนายเซิงและนางสาวเสี่ยวเอี้ยน

ใน พ.ศ.๒๕๕๙ นายเซิงได้เข้าทำงานเป็นพ่อครัวในร้านต้นตำรับไทยอีกด้วย ในขณะที่นางสาวเสี่ยวเอี้ยนก็ยังเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นปกติ

ในปีเดียวกัน เภสัชกรปรียานุชได้ยื่นขออนุญาตต่ออธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่จะรับน้องบอสเป็นบุตรบุญธรรม ด้วยว่า เธออยากที่จะอุปถัมภ์น้องบอสให้ได้รับการศึกษาให้ดีที่สุด ซึ่ง นายมานิตย์ มณีธรรม รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนก็ได้ลงนามในหนังสือที่ พม.๐๓๐๖/๙๒๑๑ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่ออนุมัติให้ทำการทดลองเลี้ยงดูเด็ก ก่อนที่จะมีกระบวนการตาม พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ เพื่ออนุญาตให้เป็นผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนครอบครัวบุญธรรมตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘

----------------------

ประเด็นพิจารณา

--------------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หากน้องบอสยังถูกถือเป็นคนไม่มีสัญชาติไทยในทะเบียนราฎรของรัฐไทย เขาจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นอย่างใด ? เพราะเหตุใด ?

----------------

แนวคำตอบ

----------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เรื่องของการกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายการเข้าเมืองของรัฐเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เพราะเรื่องการเข้าเมืองเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

โดยพิจารณาหลักกฎหมายสากลว่าด้วยการเข้าเมือง การเข้าเมืองของคนชาติเป็นสิทธิที่เด็ดขาด ในขณะที่การเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข

ในข้อเท็จจริงนี้ เมื่อคำถามก็คือว่า น้องบอสจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองเป็นอย่างใด คำตอบในประการแรกของคำถามนี้ย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี สำหรับกรณีนี้ จึงได้แก่ กฎหมายไทยว่าการเข้าเมืองไทย ซึ่งแยกออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) บทกฎหมายหลักสำหรับคนที่ได้รับการรับรองรองสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว ก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๕๗ และ (๒) บทกฎหมายหลักสำหรับคนที่ไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทย ก็ย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ดังจะเห็นว่า มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายถึงคนต่างด้าวเท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น้องบอสไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงต้องใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ในการพิจารณาปัญหาการเข้าเมืองไทยของน้องบอส

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องบอส เราก็พบว่า โดยหลักกฎหมายสัญชาติสากล เขาไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต ทั้งนี้ เพราะทั้งบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว

แต่เมื่อเขาเกิดในประเทศไทย จึงมีความเป็นได้ที่เขาจะมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้ เขาจึง “น่า” จะมิใช่คนต่างด้าวและคนเข้าเมืองในสายตาของรัฐไทย เขาจึง “น่า” จะมีสิทธิเข้าเมืองไทยแบบไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักกฎหมายสัญชาติสากลจะรับรองให้รัฐไทยรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนให้แก่น้องบอสก็ตาม แต่การร้องขอเพิ่มชื่อเขาในสถานะคนสัญชาติไทยก็ไม่อาจทำได้โดยพลัน เพราะเขายังไม่มีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ นี้ รับรองสิทธิในสัญชาติโดยหลักดินแดนของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบุพการีต่างด้าว ซึ่งมีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร ภายใต้เงื่อนไขตาม “หลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด” ดังนั้น เงื่อนไขในการใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้ของน้องบอสจึงมี ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) การมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทย และ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและสั่งให้ได้สัญชาติไทย ซึ่งอาจเป็นคำสั่งเฉพาะรายหรือทั่วไป ก็ได้

ในระหว่างที่เงื่อนไขทั้งสองยังไม่แล้วเสร็จ สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทยของน้องบอสย่อมเป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงสรุปได้ว่า

ในประการแรก ฐานะการอยู่ของคนที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยได้โดยพลัน อันเป็นผลอัตโนมัติของกฎหมาย ก็จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ นี้ ซึ่งกฎกระทรวงนี้จะต้องเป็นไปตาม “ข้อคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน” แต่โดยข้อเท็จจริงของปัจจุบัน แม้ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ก็มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งโดยหลักการของร่างกฎกระทรวงนี้ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยพลันมีสิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเช่นเดียวกับบิดาหรือมารดา ซึ่งก็เป็นไปตามหลักกฎหมายการเข้าเมืองสากลที่ปฏิบัติกันในนานาอารยประเทศ ตลอดจนปฏิบัติกันอยู่แล้วในประเทศไทยอย่างเป็นปกติประเพณีการปกครองของรัฐไทย

ในประการที่สอง ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ก็ให้ถือว่า “ผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ดังนั้น การปรับสถานะให้เป็น “ผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ก็จะต้องทำตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองที่มีผลในขณะที่มีการพิจารณา ในปัจจุบันนี้ ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องบอสอีกครั้ง เราก็จะสรุปได้ว่า

ในประการแรก ถ้ากฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ถูกประกาศใช้แล้ว ฐานะการอยู่ของเด็กชายน้องบอสก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎกระทรวงนี้

ในประการที่สอง ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ก็ให้ถือว่า น้องบอสย่อมมีสถานะเป็น “ผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ดังนั้น การปรับสถานะให้น้องบอสเป็น “ผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ก็จะต้องทำตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองที่มีผลในขณะที่มีการพิจารณา ประกอบกับหลักกฎหมายคนเข้าเมืองสากล

จะเห็นว่า ไม่ว่าจะมีกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ หรือไม่ รัฐไทยยอมรับหลักกฎหมายคนเข้าเมืองสากล ซึ่งโดยหลักกฎหมายนี้ บุตรผู้เยาว์ก็ย่อมต้องมีสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยในประเทศใดประเทศหนึ่งตามบุพการี เราคงต้องตระหนักว่า หลักการอยู่รวมกันของครอบครัว (Principle of Family Unification) เป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่ศักดิ์สิทธิ ซึ่งผูกพันรัฐไทยและนานารัฐในประชาคมระหว่างประเทศอย่างไม่มีข้อสงสัย หากบุพการีมีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยในประเทศไทย บุตรก็ย่อมมีสิทธิตามบุพการี โดยเฉพาะบุตรผู้เยาว์และบุตรที่ยังต้องพึ่งพิงบุพการี

ดังนั้น เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องบอสและบุพการีอีกครั้ง เราพบว่า นายเซิงผู้เป็นบิดา ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะถาวรตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ในขณะที่นางสาวเสี่ยวเอี้ยน ผู้เป็นมารดา มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย ในลักษณะของนักท่องเที่ยวบ้าง หรือคนทำงานบ้าง แล้วแต่สถานการณ์เป็นคราวๆ ไป

เราจึงอาจสรุปในส่วนของน้องบอสได้ว่า เมื่อนายเซิงได้รับอนุญาตให้มีสถานะคนเข้าเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ดังนั้น เด็กชายน้องบอสย่อมมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยตามบิดาด้วย ด้วยว่า น้องบอสมีสถานะเป็นบุตรผู้เยาว์ของบิดา และการถือสิทธิอาศัยตามบิดาย่อมเป็นคุณต่อน้องบอสมากกว่าที่จะให้ถือสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามมารดา ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๒๒ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งรัฐไทยจะต้องรับรองสิทธิที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก ซึ่งหลักการนี้เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยมีตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ ความเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวของมารดาจึงไม่อาจทำให้น้องบอสซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ประสบความด้อยสิทธิตามมารดา

โดยสรุป น้องบอสจึงมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกตามบิดา และมีสิทธิอาศัยอย่างถาวรในคุณภาพเดียวกับบิดา มิใช่มารดา เมื่อเขามิใช่คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เขาจึงไม่อาจถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางในประเทศไทย และเขาย่อมมีสิทธิอาศัยอยู่กับบิดาในประเทศไทยในลักษณะถาวร

ปัญหาที่จะต้องคิดต่อไป ก็คือ น้องบอสจะใช้เอกสารใดเพื่อรับรองสถานะผู้ทรงสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวรในประเทศไทย ?

เราพบว่า โดยหลักกฎหมายไทยว่าด้วยคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยย่อมจะต้องมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่คนต่างด้าวดังกล่าวใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ (๒) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตาม พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๙๓ (๓) สำเนาทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และ (๔) บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเอกสารทั้งสองประการหลังเป็นไปตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

จะเห็นว่า ในระหว่างที่น้องบอสยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ น้องบอสก็ยังจะถูกถือเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยตามบิดา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นไปตามหลักกฎหมายการเข้าเมืองของเด็กหรือกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ซึ่งจะออกมาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ก็ตาม

เมื่อน้องบอสยังไม่ได้รับการออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตลอดจนยังถูกบันทึกผิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนต่างด้าวประเภทคนอยู่ชั่วคราว น้องบอสก็อาจได้รับผลกระทบด้านลบของความไร้เอกสารและการบันทึกผิดในทะเบียนราษฎรในอนาคต และอาจเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิมนุษยชนของน้องบอส ซึ่งยังมีปัญหาความไร้สัญชาติอยู่อีกด้วย

ในท้ายที่สุด ประเทศไทยก็ไม่น่าจะปฏิเสธสิทธิที่น้องบอสจะใช้สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทยในลักษณะเดียวกับบิดาซึ่งเป็นสิทธิที่ดีที่สุด มิใช่หรือ ? ทั้งนี้ เพราะเรื่องนี้มิใช่เพียงเป็นสิทธิอันพึงมีตามกฎหมายภายในของรัฐไทย แต่หากยังเป็นสิทธิอันพึงมีตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ อีกด้วย

ดังนั้น ในระหว่างที่การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนของน้องบอสยังไม่แล้วเสร็จ เภสัชกรปรียานุชก็ควรจะต้องร้องขอให้มีการออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเพื่อน้องบอส แล้วจึงนำเอกสารดังกล่าวมาร้องขอให้เขตพระนครย้ายน้องบอสออกจากทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ไปบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยถาวร นอกจากนั้น เราหวังว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจะไม่ปฏิเสธสิทธิในเอกสารดังกล่าวของน้องบอส แต่อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิเสธคำขอของเภสัชกรปรียานุชเพื่อน้องบอส กฎหมายไทยก็รับรองสิทธิของน้องบอสที่จะร้องขอความยุติธรรมต่อไปยังศาลปกครองได้ต่อไป

-------------------------------------------------------------


หมายเลขบันทึก: 620290เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2016 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2016 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องละเอียดมากเลยครับอาจารย์

เป็นงานยาก จึงมีน้องบอสอีกหลายคนที่ถูกทอดทิ้งให้ไร้สัญชาติ

น้องบอสคนนี้โชคดี ที่มีเภสัชกรนุชมาให้ใจค่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท