จิตตปัญญเวชศึกษา ๒๘๔: จะทำงานเป็นทีม ควรจะเรียนเป็นทีม


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๔: จะทำงานเป็นทีม ควรจะเรียนเป็นทีม

สามสี่ปีก่อนเคยไปร่วมประชุมสัมมนายุทธศาสตร์การศึกษา เกิดความคิดบางอย่างและได้นำเสนอไปในกลุ่มนั่นคือ "เราควรจะมีปริญญาอะไรสักอย่างที่ เรียนเป็นคู่เป็นทีม และได้ปริญญาก็ได้เป็นคู่หรือเป็นทีม"

หนึ่งใน competency ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ก็มักจะมีเรื่อง "ทำงานเป็นทีม" ติดโผมาด้วยเสมอ แต่ปัญหาก็คือ ถ้าเราไม่เคยปลูกฝัง sense ของการมีความสำเร็จแบบเป็นทีมมาตั้งแต่แรก เราจะเกิดทัศนะของความเป็นทีมได้ตอนไหน?

หลักสูตรสายสามัญ อนุบาล ๓ ปี ประถม ๖ ปี มัธยม ๖ ปี มหาวิทยาลัยอีกสัก ๔ ปี ร่วม ๑๙ ปีที่ตอนจบ "ต่างคน ต่างก็ได้ใบปริญญาของตนเองมาหนึ่งใบ" นั้น เราเกิดความรู้สึกว่าเราทำได้ก็เพราะตัวเรา เพื่อตัวเรา โดยตัวเราเอง หรือว่าเราได้ถูกปลูกฝังว่าที่เราทำได้มาถึงขนาดนี้ มีผู้คนมากมายที่ช่วยเหลือ เกื้อกูล และร่วมแรงร่วมใจกับเรา?

ผมทำงานในสายวิทยาศาสตร์สาธารณสุข เป็นงานบริการสุขภาพแก่ประชาชน พอจะบอกได้อย่างมั่นใจว่า เรื่องสุขภาพนั้นมีหลากหลายมิติ และหากเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ก็จะต้องเป็นศาสตร์ที่มีหลากหลายมิติ ต้องการความรู้ ทักษะ ที่มีการบูรณาการกันมากมายหลายเรื่อง ในโรงพยาบาลเราอาจจะเห็นหมอ หมอฟัน พยาบาล เภสัช แต่จริงๆแล้วงานของเราที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ยังอาศัยนักกายภาพ โภชนากร นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักอาชีวะบำบัด นักเทคนิกการแพทย์ และยังไม่รวมทีม back office และฝ่ายสนับสนุนอีกมากมาย

.....ในการดูแลคนหนึ่งคน (บวกครอบครัว)....

เคยเสนอ (น่าจะเป็นเพียงรำพึงรำพัน) ไปแย็บๆว่า เออ..นี่ นักเรียนแพทย์กับนักเรียนพยาบาลน่าจะมีการจัดการเรียนการสอนที่เรียนด้วยกันนะ เราอาจจะได้เห็นชัดขึ้นว่า องค์ความรู้และทักษะในการดูแลคนๆหนึ่งนั้น ของหมอ ของพยาบาล มันจะเสริมจะเอื้อและจะเชื่อมกันอย่างไร และเราน่าจะทำงานในลักษณะทีมที่มีความทัดเทียมกันพอสมควร จนกระทั่งเราจะได้เห็น ได้สัมผัสจริงๆว่าความสำเร็จสุดท้าย (คุณภาพชีวิตของคนไข้และครอบครัว) นั้น มาจาก "ทีม" ในการทำงานชีวิตจริง แต่ประเด็นดูจะจัดไม่ได้ ไม่ลงตัว ยากไปหมด เพราะหลักสูตรของทั้งแพทย์และพยาบาลนั้นแน่นเอียดในตัวมันเอง ขยับเขยื้อนได้ยากเย็น เป็นไปไม่ได้

ทั้งๆที่สุดท้าย เราก็หวังว่านักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลเมื่อเรียนจบ จะต้องออกมาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด!!

ในการศึกษาของผู้ใหญ่ (adult learning: andragogy) นั้น ส่วนสำคัญที่สุดที่เป็น characteristic หรือลักษณะพิเศษก็คือ "บริบทการเรียนรู้ที่เหมือนงานในชีวิตจริงๆ" ที่ตามทฤษฎีแล้วจะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่เรากลับไม่สามารถจัดการเรียนรู้แบบนั้นได้? หรือไม่แม้แต่จะหาทางให้เกิดขึ้น? แสดงว่าเราก็ยังไม่เชื่อในทฤษฎีที่ว่านี้ หรือว่าเราเชื่อแต่ปากบอกว่าเชื่อ ใจเรายังเป็นระบบ one-man show อยู่เหมือนเดิม?

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีปัญหาที่เกิดจากการทำงานไม่เป็นทีม ผมอยากจะชี้นิ้ว blame ไปที่ระบบการศึกษา หรืออะไรก็ตาม ที่ "หล่อหลอมทัศนะ" มาเป็นเวลานานที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น การทำงานเป็นทีมก็เป็นทักษะ ความรู้ และทัศนคติ ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด มีมาเพราะบ่มเพาะหล่อเลี้ยงประคบประหงมให้เพิ่มพูนงอกงาม ระบบการศึกษาแบบเน้นปัจเจก เรียนเดี่ยว ยิ่งเห็นแก่ตัวยิ่งสำเร็จ ยิ่งกีดกันคนอื่น เอาเปรียบคนอื่น ยิ่งขึ้นสูง จะไม่หล่อหลอมเพาะกล้าการทำงานเป็นทีมขึ้นมาได้เลย

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในชั้นคลินิก นักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลจะเรียนคนไข้เป็น case แทนการเรียนเป็นรายวิชา เรียนคนไข้เป็นคนๆหนึ่งที่มีครอบครัว มีสังคม แทนที่จะเรียนเป็นคนๆหนึ่งที่มีไตอยู่ระบบหนึ่ง มีตับอีกระบบหนึ่ง มีกระดูกและข้ออีกระบบหนึ่ง ที่แยกย้ายกันดูโดยหมอเฉพาะทาง?

ไปจนถึงได้ปริญญาที่เป็น co-achievement เป็นใบปริญญาร่วม เป็นใบปริญญาทีม

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๘ นาฬิกา ๕๗ นาที
วันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 621402เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2017 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2017 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท