กำเนิดภูมิรัฐศาสตร์สำนักเยอรมัน (The origin of German School of Geopolitics) ตอนที่ 2: ว่าด้วยชีวภูมิ



แม้จะมีคนรู้จัก คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) นักกฎหมายปรัชญาซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถาปนิกหลักของระบอบนาซีเยอรมัน แต่เนื่องจากภูมิหลังของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับลัทธินาซีนี้เอง รวมไปถึงการที่เขาไม่ยอมปฏิเสธความถูกต้องทางปรัชญาที่เขาเข้าไปรับใช้ระบอบนาซี (de-Nazify) ทำให้ชมิตต์ถูกละเลยจากปัญญาชนรุ่นใหม่ไป โดยเฉพาะงานในช่วงหลังการไต่สวนที่นูเร็มเบิร์ก (Nuremberg trials) แต่กลับเป็นช่วงนี้เองที่งานของเขามีลักษณะตกผลึกขึ้นมาก แม้งานของเขาจะถูกปฏิเสธในโลกภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ แต่กลับไปได้รับความนิยมในโลกภาษาสเปน และในโลกละตินอเมริกาอย่างเช่นอาร์เจนตินา งานอย่าง “การสนทนาว่าด้วยอำนาจและพื้นที่” (Dialouges on Power and Space) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

Carl Schmitt (11 July 1888 – 7 April 1985)

งานชิ้นนี้ถูกแปลและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่ อันที่จริงเป็นการรวมงานเขียนสองชิ้นเข้าด้วยกัน คือ "การสนทนาว่าด้วยอำนาจและการเข้าถึงผู้ถืออำนาจ" (Gepräch über die Macht und den Zugang zum Machthaber หรือ Dialouge on Power and Access to the Holder of Power) งานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ขึ้นในปี 1954, 1994 และ 2008 ตามลำดับ และ "การสนทนาว่าด้วยพื้นที่ใหม่" (Gespräch über den Neuen Raum) งานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ขึ้นในปี 1955, 1958 และ 1994 ตามลำดับ

งานทั้งสองชิ้นนี้มีรูปแบบเป็นการ "สนทนา" ของตัวละครในเรื่องคล้ายกับงานของเพลโต งานชิ้นแรกเป็นการพูดถึง "วิภาษวิธี" ระหว่างผู้ใช้อำนาจและผู้อยู่ใต้อำนาจ ตัวละครจะประกอบไปด้วย Y. ซึ่งถือเป็นตัวแทนคนวัยหนุ่มที่ตั้งคำถาม ในขณะที่ผู้ตอบคือ C.S. อาจจะมองว่าเป็นตัวชมิตต์เองที่ระหว่างการเขียนงานชิ้นนี้นั้นทั้งตกผลึกในทางความคิดขึ้นมาก และทั้งอยู่ในสภาพที่หมดจากอำนาจกระทั่งโดนเล่นงานหลังจากลงจากอำนาจด้วยซ้ำ (โดยจะมี Intermezzo แทรกเข้ามาให้ความเห็นเล็กน้อย) ตัวบทของบทสนทนาในภาคนี้จะเริ่มที่การพูดถึงนิยามของอำนาจซึ่งในความหมายของชมิตต์ก็คืออำนาจไม่ได้เกิดจากพระเจ้าหรือธรรมชาติ แต่เกิดจากตัวมนุษย์นั้นเองที่ใช้อำนาจนั้นกับมนุษย์ผู้อื่น และตัวอำนาจนั้นก็จะทำให้มนุษย์ผู้ใช้อำนาจนั้นเกิดความแปลกแยกขึ้น ตัวบทจบลงที่การมองถึงอนาคตของมนุษย์ที่จะถูกแทนที่จากเครื่องจักร (technè) และในระบอบสมัยใหม่นั้นอำนาจมีความสามารถในการสำแดงโดยปราศจากการแปลกแยก ตัวบทนี้แสดงถึงความแหลมคมระหว่าง Y. ซึ่งถือเป็นตัวแทนของความคิดแบบอุดมคติในวัยเยาว์ ในขณะที่ C.S. ที่ผ่านประสบการณ์มามากจะแสดงถึง "ข้อจำกัด" ภายใต้กระบวนวิภาษวิธี ด้วยตัวบทฉบับนี้จะเห็นว่าความคิดของชมิตต์เดินห่างออกจากแนวคิดรัฐเผด็จการแบบที่เขาเคยแสดงความเห็นในช่วงยุคนาซีอยู่มาก (โดยผ่านไอเดียเรื่อง raison d'état ของเขา) ทั้งนี้เขาได้เน้นย้ำถึงระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจ

ในขณะที่อีกตัวบทนั้นเอง ซึ่งจะเป็นที่มาของบทความนี้ “การสนทนาว่าด้วยพื้นที่ใหม่” จะมีตัวละครอยู่สามตัวเช่นกันคือ A. หรือ Altmann เขาจะมีภูมิหลังเป็นนักประวัติศาสตร์อาวุโส และเป็นผู้ตั้งคำถาม ในขณะที่ N. หรือ Neumeyer นักเคมีฟิสิกส์จะเป็นผู้ตอบ และมี F. หรือ MacFuture หรือตัวแทนของอเมริกาเหนือเป็นความเห็นที่สาม ตัวบทนี้เห็นได้ชัดว่าพูดถึงเรื่อง “ชีวภูมิ” ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราสนใจอยู่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชมิตต์ได้อ้างถึงงานของแม็คคินเดอร์ (Sir Halford Mackinder) อยู่ด้วยอย่างชัดเจน (pg. 61) แต่การคลี่คลายของ “ชีวภูมิ” หรือพื้นภูมิประเทศที่สามารถดำรงอยู่ได้จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากบทสนทนาถึงไอเดียจากพระคัมภีร์ (pg. 54) ที่ว่าพระเจ้าทรงแบ่งแยกผืนดินและผืนน้ำออกจากกันและพื้นที่ที่มนุษย์อยู่อาศัยได้นั้นคือบนแผ่นดิน

Behemoth and Leviathan, William Blake (1825, reprinted 1874)

ตัวบทจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็น "วิภาษวิธี" ระหว่างอำนาจที่ครอบครองระหว่างมหาสมุทร (ลีเวียธัน หรือ Leviathan) และอำนาจที่ครอบครองพื้นดิน (เบฮีมอธ หรือ Behemoth) อำนาจทั้งสองชนิดนี้จะปะทะขัดแย้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะตลอดมา เริ่มจากสงครามโปโลปอนเนเซียน (The Peloponnesian War 431–404 BC) ระหว่างสปาร์ตาซึ่งเป็นมหาอำนาจภาคพื้นดิน และเอเธนส์ซึ่งเป็นมหาอำนาจภาคพื้นทะเลและจบลงด้วยชัยชนะของมหาอำนาจภาคพื้นดิน ต่อมาก็เป็นสงครามพิวนิค (Punic Wars 264 BC to 146 BC) ระหว่างโรมันซึ่งเป็นมหาอำนาจภาคพื้นดิน และคาร์เธจซึ่งเป็นมหาอำนาจภาคพื้นสมุทร ก็จบลงด้วยชัยชนะของมหาอำนาจภาคพื้นดินอีก ส่วนสงครามบนแผ่นดินยุโรปในยุคหลังนั้น มหาอำนาจภาคพื้นทะเลอย่างอังกฤษ ยืนหยัดต้านทานการท้าทายจากมหาอำนาจภาคพื้นทวีปมาได้ตลอดไม่ว่าจะเป็น สเปน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ชมิตต์ชี้ให้เราเห็นถึงวิภาษวิธีของมหาอำนาจสองประเภทนี้และเห็นว่าอเมริกาเป็นมหาอำนาจชนิดใหม่ที่เปิดการครองพื้นที่ใหม่ และเขาเห็นว่ามีแต่การครอบครอง "ชีวภูมิ" ในพื้นที่ใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาเท่านั้นจึงจะเป็นคำตอบของปัญหาวิภาษวิธีแบบนี้ได้ ด้วยความสามารถของพัฒนาการทางเทคโนโลยี ข้อสรุปของเขาอยู่ที่การบุกเบิกพื้นที่ใหม่ในอวกาศ

อันที่จริงประวัติของชมิตต์นั้นมีความน่าสนใจ ถ้าไม่นับงานชิ้นสำคัญของเขาอย่างเช่น Dictatorship (1921) หรือ Political Theology (1922) เขาเคยทะเลาะกับ สเตาสส์ (Levi Strauss) นักปรัชญาการเมืองชาวยิวที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ก่อตั้งสำนักการเมืองสเตราสส์ที่กลับไปบุกเบิกงานปรัชญาการเมืองคลาสสิกสมัยกรีกเป็นจำนวนมาก คำวิพากษ์สำคัญของสเตราสส์ทำให้เขาต้องปรับปรุงงานเขียนใน Political Theology ของเขาขึ้นใหม่ แต่เขาก็เป็นคนรับรองให้สเตราสส์ได้เดินทางออกจากเยอรมนีไปได้ ความคิดของชมิตต์ถือเป็นเสาหลักอันทรงอิทธิพลในเยอรมนีในช่วงยุคอาณาจักรไรซ์ที่สามของนาซี เคียงคู่กับไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) ซึ่งเป็นคนคิดไอเดียเรื่อง ดาไซน์ (Dasein) ในงาน Being and Time ที่มีชื่อเสียงของเขา แต่เราจะไม่พูดถึงความคิดของนักปรัชญาเสาหลักสำคัญสองคนในยุคนาซีนี้ในที่นี้ ผู้สนใจสามารถอ่านงานรวมบทความน่าสนใจเกี่ยวกับชมิตต์ที่เป็นภาษาไทยได้ที่ รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 35 (พ.ศ. 2557) ฉบับที่ 3 ณ ที่นี้ ชมิตต์ได้ทำหน้าที่บทเกริ่นนำเรื่องราวของ “ชีวภูมิ” ซึ่งอันที่จริงเป็นบทสรุปได้อย่างลงตัวแล้ว เราจะย้อนกลับไปหา “ชีวภูมิ” ที่จุดเริ่มต้นของมันดังต่อไปนี้.


ชีวภูมิ

แทนที่จะใช้เทคนิคแบบปรัชญาเชิงวิเคราะห์ (analytical philosophy) ที่ใช้วิธีวิทยาแบบปฏิฐานนิยมเป็นหลักนั้น ฟรีดิค รัทเซิล (Friedric Ratzel) ใช้วิธีวิทยาแบบการตีความเพื่อพิสูจน์ไอเดีย “ชีวภูมิ” ในความคิดของรัทเซล “ชีวภูมิ” คือพื้นผิวเชิงภูมิศาสตร์ที่เกื้อหนุนให้สิ่งมีชีวิต ณ จำนวนประชากรในขณะหนึ่ง ๆ รวมถึง “วิถีการดำรงอยู่” (mode of existence) ขอบเขตที่แน่นอนของชีวภูมิขึ้นกับความต้องการการเผาผลาญพลังงาน (metabolic) ของสมาชิกในชีวภูมินั้นและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจขยายตัวได้หากมีการเพิ่มจำนวนของประชากร เห็นได้ชัดว่า ชีวภูมินั้นได้รับอิทธิพลจากการคัดเลือกตามธรรมชาติแบบดาร์วิน ในมิติสภาพแวดล้อม และ พื้นผิว (spatial)

Friedrich Ratzel (August 30, 1844 – August 9, 1904)

เผ่าพันธ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมจะนำไปสู่การวิวัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไป หากไม่มีสิ่งกีดขวางเผ่าพันธ์และชีวภูมิจะแผ่ขยายไปครอบคลุมพื้นที่วงรอบที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ever widening circle) แต่ในความเป็นจริง ทิศทางการขยายตัวจะเป็นไปตามสภาพภูมิศาสตร์, การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม, และการเผชิญหน้ากับชีวิตรูปแบบอื่น

จะมีการปรับตัวตามกรณีต่าง ๆ สำหรับกรณีหลังสุด หากสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาใหม่ต้องการใช้ทรัพยากรทางกายภาพเดียวกัน จะถือเป็นมโนทัศน์ที่ใกล้เคียงกับการดิ้นรนเอาชีวิตรอดของดาร์วิน ประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมทั้งมนุษย์ในมุมมองของรัทเซิลจึงเป็นเรื่องราวของรูปแบบการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับชีวภูมิของมันเอง เครื่องมือหลักในการปรับตัวของมนุษย์คือวัฒนธรรม ซึ่งในความเห็นของรัสเซิลประกอบไปด้วย เทคโนโลยี คุณลักษณะทางปัญญา และการจัดรูปแบบองค์กร ทำให้ รัฐนั้นเป็นเพียงผลพวงของการปรับตัวของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อม รูปลักษณ์ของรัฐจึงเป็นความสัมพันธ์ของชีวภูมิและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาชีวภูมินั้นไว้ รัสเซิลมองว่ามนุษย์จะดำเนินตามรอยของเผ่าพันธ์สิ่งมีชีวิตนับร้อยนับพันที่ต้องเอาตัวรอดเช่นนั้นมา

หน่วยวิเคราะห์พื้นฐานของรัทเซลคือ “โฟล์ก” (Volk หรือ มวลชน) ซึ่งเป็นระดับหน่วยวิเคราะห์ที่ชาติพันธ์ (race) จะมีบทบาทรองลงไป เนื่องจาก “โฟล์เกอร์”(Vöker หรือ วิถีชน) จะประกอบขึ้นจากหลายชาติพันธ์ รัทเซิลวิจารณ์แนวคิดที่ใช้ชาติพันธ์เป็นปัจจัยพื้นฐานในการอธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่ามีปัญหาอยู่มาก อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของรัทเซิลก็คงอยู่ที่การเชื่อมโยงคำว่า “วิถี” นี้เข้ากับเผ่าพันธ์ทางชีววิทยาตามทฤษฎีของเขายังมีข้ออ่อนมากเกินไป

ฮันติงตัน (Samuel Huntington) จะมาแก้ปัญหานี้ด้วย “culture” (วัฒนธรรม) และ “civilization” (อารยธรรม) -- สองคำนี้ยังใช้คำภาษาไทยไม่ตรงกับนิยามของฮันติงตันนัก แต่จะขอใช้แทนไปพลางก่อน ซึ่งเขาจะนิยามและให้เหตุผลทางวิชาการและหลักฐานสนับสนุนด้วยความรัดกุมขึ้นมาก (ดูใน “Clash of Civilization” และ “Who are we?”)

ใน “Who are we?” นั้นฮันติงตันได้นิยามหน่วยวิเคราะห์มูลฐานของอารยธรรมซึ่งก็คืออัตลักษณ์เอาไว้ว่า “อัตลักษณ์เป็นความตระหนักรู้ถึงตัวตน ของปัจเจกชนหรือกลุ่มคน เป็นผลผลิตของสำนึกในตน ซึ่งจะทำให้รู้ได้ว่า ฉันหรือเรามีคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างไปจากคนอื่นและกลุ่มอื่นได้อย่างไร” (pg. 21)

การใช้คำอุปมาอุปมัยที่ไม่รัดกุมของรัทเซิลนี้เองยิ่งไปไกลมากขึ้นไปอีก เมื่อเขาอ้างอิงแนวคิดของ กุสตาฟ เฟชเนอร์ (Gustav Fechner) ที่ระบุว่า “โฟล์ก” ก็เป็นเสมือนต้นไม้ที่จะต้องเติบโตขึ้น และนั่นก็ทำให้ต้องขยาย “ชีวภูมิ” ออกไปด้วยไม่เช่นนั้น “โฟล์ก” ก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นึกถึงภาพการเพาะชำต้นไม้ในกระถาง ที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนกระถางใบใหญ่ขึ้น ตามขนาดของต้นไม้ที่เจริญเติบโตขึ้น

องค์ประกอบสำคัญสองข้อของชีวภูมิคือการย้ายถิ่นฐาน (migration) และการกสิกรรม รัทเซิลใช้คำว่าการย้ายถิ่นฐานสำหรับการขยาย “ชีวภูมิ” ในขณะที่การตั้งอาณานิคม (colonization) จะใช้กับการเข้ายึดครองและสำรวจพื้นที่ใหม่ แต่เฉพาะการสร้างอาณานิคมเท่านั้น จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ และเอื้อให้เกิดการพัฒนาและผสมผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน สำหรับมนุษย์แล้วการสร้างอาณานิคมจำจะต้องหมายรวมถึงการกสิกรรมด้วย การเข้าครอบครอง (conquest) จะประกอบด้วยการย้ายถิ่นฐานแต่ถ้ามีการกสิกรรมประกอบด้วยแล้ว นั่นจึงจะนับเป็นการตั้งอาณานิคมที่แท้จริง

ต่อมาแนวคิด “ชีวภูมิ” นี้จะถูกนำไปรวมกับไอเดียภูมิรัฐศาสตร์โดยชีเลียน (Johan Rudolf Kjellén) นักรัฐศาสตร์ชาวสวีเดน และจะเป็นเฮาส์โฮเฟอร์ (Karl Ernst Haushofer) ที่เป็นผู้รับไปพัฒนาต่อยอดความคิดด้านภูมิรัฐศาสตร์ของเขาเองอีกทอดหนึ่งในปี 1918 คำ ๆ นี้ยังได้รับการขยายความเพิ่มเติมโดย ฮานส์ กริม (Hans Grimm) นักเขียนนวนิยายและนักภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทำให้สารของเขาเข้าถึงคนจำนวนกว้างขวางมากขึ้นจนทำให้ “ชีวภูมิ” กลายเป็นคำติดตลาดขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1920 และถูกนำไปใช้ในการโจมตีความชอบธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซายลส์ ที่ถูกมองว่าได้แย่งชิง “ชีวภูมิ” ไปจาก วิถีชนเยอรมัน

รัทเซิลเคยมีพื้นเพในการทำกสิกรรมมาก่อน เขาเป็นบุตรชายของข้ารับใช้ของแกรนด์ดยุคแห่งบาเด็น ในช่วงวัยยี่สิบเขาทำงานเป็นหมอผสมยาในหมู่บ้านแถบเยอรมันตอนใต้และสวิส ด้วยพื้นเพเช่นนี้เองเขาจึงเน้นมโนทัศน์ของชีวภูมิว่าจำต้องมีพื้นฐานของการทำกสิกรรมประกอบอยู่ด้วย ส่วนการเลือกใช้คำว่า “การตั้งอาณานิคม” ของรัทเซิลไม่ได้เป็นไปอย่างบังเอิญ เพราะพื้นฐานของรัสเซลเป็นสมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหวอาณานิคมเยอรมัน มาอย่างยาวนาน

การมาถึงของทฤษฎีวิวัฒนาการ

หลังจากที่กัปตันรอเบิร์ต ฟิตซ์รอย นำเรือหลวงบีเกิลออกสำรวจรอบโลกเป็นเวลานานถึง 5 ปี ต้งแต่ปี ค.ศ. 1831 - 1836 ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ซึ่งลงเรือไปด้วย ก็ได้ทำการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและจดบันทึกรายละเอียดรวมไปถึงตั้งข้อสังเกตของการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเหล่านั้น อนึ่ง, ควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่าแรงบันดาลใจในการเดินทางสำรวจของดาร์วินนั้น ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากปัญญาชนชาวเยอรมันที่ชื่อว่า อเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบ็อลท์ โดยดาร์วินได้นำหนังสือ  Personal Narrative of Travels to the Equatorial Regions of the New Continent ของฮุมบ็อลท์ติดตัวไปด้วยขณะเดินทาง


นกฟินช์ขนาดต่าง ๆ ของดาร์วิน

จุดสำคัญที่สุดในการก่อรูปทางความคิดของดาร์วินคือการสำรวจที่เกาะกาลาปากอส นกฟินช์ของที่นี่แบ่งออกได้ถึง 13 สปีชี่ส์ แต่ละชนิดต่างก็มีลำตัวและจะงอยปากที่เหมาะแก่การหาอาหารต่างกัน เช่น นกกราวนด์ฟินช์ขนาดใหญ่จะมีจะงอยปากขนาดใหญ่จึงเหมาะแก่การกะเทาะเปลือกเมล็ดพืช ในขณะที่นกกราวนด์ฟินช์ขนาดกลางมีขนาดจะงอยปากเล็กลงมา ซึ่งจะเหมาะกับการกะเทาะเปลือกเมล็ดพืชขนาดย่อมลงมา ส่วนนกกราวนด์ฟินช์ขนาดเล็กจะมีจะงอยปากขนาดเล็กแต่แข็งแรง ก็จะสามารถใช้กะเทาะเปลือกเมล็ดพืชขนาดเล็กได้ ในขณะที่นกวอร์เบลอร์ฟินช์มีจะงอยปากแหลมเรียวยาวจึงเหมาะกับการสอดเข้าไปจับแมลงในเปลือกไม้

ดาร์วินเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตจะปรับตัวตามสภาพแวดล้อมเพื่อเอาชีวิตรอด และเมื่อคิดย้อนกลับไปก็จะได้ข้อสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งมีชีวิตนั้นดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอดนับแต่อดีตจนปัจจุบัน แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นบทบาทของพระผู้เป็นเจ้าที่ “สร้าง” สิ่งมีชีวิตนั้นอยู่ที่ใดกันเล่า? ปัญหาคือการเขียนข้อสรุป (ซึ่งเขาก็ได้ตัวอย่างมายืนยันจำนวนมากพอ) เช่นนี้จะนำไปสู่ปัญหาการตีความว่าสิ่งมีชีวิตมาจากพระผู้เป็นเจ้า ทั้งจากความคิดในหนังสือ “นิพนธ์เกี่ยวกับหลักการของประชากร” (An Essay on the Principle of Population) (1798) ของทอมัส มัลธัส ซึ่งเขาเห็นว่าจำนวนประชากรที่มากเกินไป [คำนี้ถูกใช้ในงานของรัทเซิลด้วย ซึ่งแน่นอนที่ว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากดาร์วิน Auswanderung - overpopulation (64)] จะทำให้โลกขาดอาหารสำหรับการหล่อเลี้ยงประชากร เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยก็จะกลายเป็นการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ปัจจัยที่จะทำให้ประชากรลดลงได้คือ ทุพภิกขภัย สงคราม และ โรคระบาด ; รวมไปถึงจดหมายจาก อัลเฟรด วอลเลซ ที่มีไอเดียในเรื่องวิวัฒนาการคล้ายกับดาร์วิน สิ่งมีชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาโดยมีธรรมชาติเป็นผู้คัดเลือก การสืบเผ่าพันธ์ปริมาณมากของสิ่งมีชีวิตก็เพื่อจะเผื่อ ให้ลูกหลานบางส่วนมีชีวิตรอดต่อไป และลูกหลานทุกตัวก็จะมีความผิดแผกแตกต่างเล็กน้อย (เช่นเดียวกับจะงอยและขนาดปากของนกฟินช์ของดาร์วินข้างต้น) คุณลักษณะที่โดดเด่นบางอย่างที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมจะคงอยู่และสืบทอดผ่านลูกหลานมาจนเป็นคุณสมบัติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในที่สุด ทั้งสองประการนี้ส่งผลให้ดาร์วินตีพิมพ์งานที่ชื่อ “จุดกำเนิดของสปีชีส์” (The Origin of Species) ออกมาในวันที่ 24 พฤศจิกายน 1859 และแน่นอนว่าเขาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ยังมีความเชื่อในเรื่องพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ในแบบเดิม

ปัจจุบันเราทราบแล้วว่า “ยีน” และ “ดีเอ็นเอ” เป็นตัวควบคุมการเปลี่ยนแปลงแบบผ่าเหล่าในกลุ่มลูกหลาน โดยปกติยีนเหล่านี้จะสืบทอดลักษณะที่ได้รับถ่ายทอดส่งผ่านมาจากพ่อแม่ แต่ด้วยสาเหตุบางประการมันจะมีความเปลี่ยนแปลงผิดเพี้ยนไปบ้าง

หนังสือ “จุดกำเนิดของสปีชีส์” นั้นได้รับการตีพิมพ์ในเยอรมนีในปีต่อมาหลังจากมีการพิมพ์เผยแพร่ในภาษาอังกฤษแล้ว นับเป็นการสะท้อนถึงความร้อนแรงของหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างดี และนับจากนั้นมันถูกนำไปประยุกต์เข้ากับหลักคิดต่าง ๆ ของสำนักเยอรมันเป็นจำนวนมาก โดยที่ไอเดียแบบ “ชีวภูมิ” หรือ “ภูมิรัฐศาสตร์” นี้ก็เป็นแขนงหนึ่ง จะเห็นว่าทั้งรัทเซิลและชีเลียนต่างก็รับแนวคิดของดาร์วินมาใช้ในงานของตนอย่างเต็มที่ (การที่มนุษย์ปรับตัวตามธรรมชาติที่อยู่แวดล้อม – แผ่นดิน หรือชีวภูมิ หรือการดิ้นรนต่อสู้เอาชีวิตรอด)

ความจริงเราพอจะอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้อีกอย่างคือ ในโลกความคิดของเยอรมันไอเดียการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแบบที่ดาร์วินใช้นั้น แทบไม่ต่างอะไรกับแนวคิดของเฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel ) เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะในงานเขียนเรื่อง “ปรากฎการณ์วิทยาแห่งจิตวิญญาณ” (Phänomenologie des Geistes หรือ Phenomenology of Spirit) (1807) เฮเกลพูดถึงการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ว่าเป็นผลมาจาก วิภาษวิธีระหว่าง สภาวะพื้นฐานและสภาวะขัดแย้ง กล่าวในเชิงกระบวนทัศน์แล้วทั้งเฮเกลและดาร์วินต่างก็พูดถึงเรื่อง “การเปลี่ยนแปลง” ของธรรมชาติที่ไม่ได้อยู่นิ่งตายตัวและมีลักษณะเป็นกลไกเหมือนที่นิวตันเสนอเอาไว้ใน “หลักการของคณิตศาสตร์และปรัชญาธรรมชาติ” (Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica หรือ Mathematical Principles of Natural Philosophy) (1686)

การรับชีวภูมิไปใช้ในภูมิรัฐศาสตร์

ในช่วงปี 1899 รูดอล์ฟ ชีเลียน เป็นคนแรกที่คิดค้นคำว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” (geopolitics)* และเป็นชีเลียนนี่เองที่รับเอาแนวคิดชีวภูมิที่ถูกพัฒนาขึ้นจากรัสเซิลไปใช้ในงานเขียนของเขา

เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1864 เรียนหนังสือในโกเตนเบิร์ก (Gothenburg) แล้วสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอุปซอลา (The University of Uppsala) ในปี 1890 ในปีถัดมาเขาก็เริ่มสอน “รัฐศาสตร์กับภูมิศาสตร์” ในวิทยาลัยที่เปิดขึ้นใหม่ในโกเตนเบิร์ก ในปี 1901 เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ “รัฐศาสตร์กับสถิติ” ในปี 1916 เขาก็ย้ายไปสอนที่อุปซอลา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ทางด้าน “โวหารและรัฐศาสตร์” ซึ่งเขาได้ดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี 1922

Johan Rudolf Kjellén (13 June 1864 – 14 November 1922)

ชีเลียนเป็น “นักรัฐสภาอนุรักษ์นิยม” เขาสนับสนุนการปกครองแบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เขายังเคยเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกและเคยไปเยือนสหรัฐอเมริกาอีกด้วย แนวคิดทางการเมืองของชีเลียนออกจะค้านความคิดเรื่อง “รัฐเล็ก” (หรือปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชน) ของฝ่ายเสรีนิยม แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการขยายบทบาทรัฐของฝ่ายสังคมนิยม แนวคิดของเขาจะออกไปทางสังคมประชาธิปไตย ความคิดของเขาได้รับอิทธิพลจากกุนนาร์ มีร์ดัล (Gunnar Myrdal) นักเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์สังคมประชาธิปไตยอย่างมาก เขาสนับสนุนแนวคิดแบบ สังคมนิยมประชาชาติ มากกว่าแนวคิดด้านสังคมนิยมแบบชนชั้น โดยเขาเห็นว่าแนวคิดแบบหลังจะนำมาซึ่งการสูญสิ้นชาติ

ผลงานของเขาแทบทุกชิ้นได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมันแสดงถึงอิทธิพลทางความคิดและการได้รับการยอมรับอย่างยิ่งในโลกภาษาเยอรมัน แต่ไม่เคยถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษเลย ผลงานชิ้นที่สำคัญของเขาได้แก่

รัฐในฐานะองค์อินทรีย์ที่มีชีวิต ถูกแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันในปี 1917

และเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายนี่เอง ที่ชีเลียนถือว่าเป็น “อนุสาวรีย์” (magnum opus) ชิ้นสำคัญของเขา ในขณะที่งานเขียนหรืองานค้นคว้าก่อนหน้านี่ก็เป็นเพียงเสมือนลำธารสายเล็ก ๆ ที่หลอมรวมจนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่เท่านั้นเอง

ชีเลียนมองรัฐเหมือนสิ่งมีชีวิต เขาบรรยายโดยใช้การเปรียบเปรยกับบทกวีที่ว่า รัฐอาจจะเสียแขนขาโดยไม่เสียชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์แต่ก็มีองคาพยพอื่นที่หากเสียไปแล้วรัฐอาจไม่สามารถมีชีวิตต่อไปได้ เพราะแม้แต่ตัวรัฐเองก็มี “หัวใจ” และ “จุดอ่อน” สำคัญ องคาพยพอันสำคัญยิ่งเหล่านี้ก็คือเมืองหลวงและเส้นทางหลวงในการสื่อสาร แต่ก็มีการประยุกต์แนวคิดนี้ในตัวอย่าง (ที่ผิด ๆ) เช่น นโปเลียนเชื่อว่าหากเขาสามารถโจมตีกรุงมอสโคว์ ก็เท่ากับเขาโจมตีหัวใจของรัสเซีย ซึ่งนี่เป็นการเปรียบเทียบที่ผิด ภายใต้ยุทธการทางทหารของเขา เพราะรัสเซียไม่มี “หัวใจ” ในความหมายแบบตะวันตก ในทางตรงข้ามธรรมเนียมแบบชนเผ่าของรัสเซีย ทำให้ชาวรัสเซียสามารถถอนตัวออกจากเมืองหลวงโดยปราศจากผลกระทบที่ต้องทำให้อาณาจักรแตกสลายลงไป

ชีเลียนเชื่อว่ารัฐเป็นสภาพซึ่งแยกไม่ได้ระหว่าง “ดินแดน” และ “ผู้คน” คำเรียกขานประเทศ ล้วนประกอบด้วยชื่อชนชาติและแผ่นดิน อย่าง Eng”land”, Fin”land”, Po”land”, Den”mark”, Russ”land”, “Grankreich” (ภาษาเยอรมัน) และ Sve”rige” (ภาษาสวีเดน) ชีเลียนยังอ้างถึงไอเดียของรัทเซลในข้อเขียน “Politiche Geographie” ว่า “รัฐทุกรัฐมีทั้งส่วนที่เป็นบุคคลาธิษฐาน และส่วนที่เป็นแผ่นดิน” (เช่นเราเรียก “Moder Svea” ว่าแม่สวีเดน และ “ลุงแซม” เป็นต้น ในภาษาไทยก็คงจะเข้ากับคำว่า “มาตุภูมิ” หรือ “ปิตุภูมิ”) ชีเลียนวิพากษ์แนวคิดฝ่ายเสรีนิยมว่า รัฐศาสตร์ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนอากาศ แต่จะต้องพูดถึงสภาพภูมิศาสตร์เชื่อมติดกับแผ่นดินด้วย

ดังนั้น “รัฐกายา” (the state-body) จึงเป็นเอกภาพขององค์อินทรีย์ระหว่าง “ดินแดน” และ “ผู้คน” และตัวรัฐนั้นยังมีสภาพเป็นสิ่งมีชีวิตปัจเจกที่มีองคาพยพสำคัญอย่าง “หัวใจ” และ “เส้นเลือดหลัก” อีกด้วย วิธีวิทยาของชีเลียนนั้นใช้การเปรียบเปรย ระหว่าง “คำ” และ “สภาพความเป็นจริง” เพื่อเชื่อมโยงเชิงตรรกะ มากกว่ามีความหมายตามตัวอักษร การเปรียบเปรยนี้ยังกินความหมายมากไปกว่าการสูญเสียดินแดนทรัพย์สินธรรมดา แต่ยังหมายถึง “อวัยวะที่มีเลือดเนื้อ” อีกด้วย ชีเลียนใช้บทกวีเปรียบเปรยการที่สวีเดนสูญเสียฟินแลนด์ ในสงครามกับรัสเซียเมื่อปี 1809 ในลักษณะดังกล่าว

ไอเดีย เฮเกล “the state offers the nation a spiritual content, which it in itself lacks”. The blind instincts of the nation are mitigated and controlled by juridical and rational ideas. Its force of nature has entered a higher level of consciousness giving it a rational form. Under the light of freedom, it has tied itself to historical responsibility. (p. 458)

similar to huntington 459

huntington’s criticism to fukuyama PP 22 - 49

- The state is characterized by eco-politics, demo-politics, socio-politics and krato-politics (laws and constitution, Herrschaftspolitik)

- Geopolitics itself is subdivided in topo-politics (location), morfo-politics (spatial shape or gestalt), and fysio-politics (resources)

- The autarky is only latent in the earth and needs to be released through a forceful and systematic labour... important contribution to state

*อ้างจาก Thermænius, ‘Geopolitik’, pp. 213-228; Sprengel, ‘Land und Meer’, pp. 61-84; Peter J. Taylor, ‘Geopolitische Weltordnung’, WeltTrends, 4(1994), pp. 25-37 , ทั้งหมดถูกอ้างใน Ola Tunander, Swedish-German Geopolitics for a New Century Rudolf Kjellén's 'The State as a Living Organism’, Review of International Studies Vol. 27, No. 3 (Jul., 2001),pp. 451-463

บรรณานุกรม

คำสำคัญ (Tags): #ชีวภูมิ
หมายเลขบันทึก: 622339เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2017 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2018 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท