พยาธิวิทยาของโรคหมั่นไส้


พยาธิวิทยาของโรคหมั่นไส้

ในภาษาอังกฤษมีคำสองคำคือ "envy" กับ "jeolous" แปลคล้ายๆกันแต่ต่างกันเล็กน้อย คือ envy จะเป็นอยากจะมี อยากจะได้ อยากจะเป็นในส่ิงที่คนอื่นเค้ามี/ได้/เป็น ภาษาไทยน่าจะตรงก้บคำว่า "อิจฉา" ส่วน jeolous อาจจะแปลเหมือน envy แต่เพิ่มอีกความหมายคือ รู้สึกปกป้องหวงแหนของที่ตนเองมี/ได้/เป็น เกรงว่าคนอื่นจะมาแย่งชิงเอาไป ในแบบหลังนี่น่าจะตรงกับภาษาไทยว่า "หึง + หวง"

ไทยยังมีคำว่า "ริษยา" คุ้นๆว่าน่าจะเป็นเรื่องของไม่อยากให้คนอื่นมี/ได้/เป็น อะไรที่ดีๆ คือมีดีกรีของความหงุดหงิดใส่คนอื่นมากกว่าอิจฉานิดนึง (อิจฉานี่หงุดหงิดตัวเอง ริษยานี่ร่ำๆจะไปตีหัวเพื่อน ทำนองนั้น)

แต่หมั่นไส้นี่ค่อนข้างจะ unique ของไทยๆ

หมั่นไส้เป็นความรู้สึกด้านลบ (เฉดไม่ชัดเจน ไม่ใช่โกรธ เกลียด มันตะหงิดๆจี๊ดๆ คันๆ) เวลาทีคนอื่นแสดงคุณลักษณะใดๆก็ตามที่เป็นเรื่อง "ดีๆ"

ขอบเขตของ "ดีๆ" นี้กว้างมาก และไม่ได้จำเป็นต้องหมายถึงความสุข ความสบาย ความรวย อะไรแบบดีชัดเจนอย่างนั้นเสมอไป แต่รวมไปถึง "ความยาก" ที่เป็นส่วนหนึ่งชองคุณสมบัติที่ดีๆได้ด้วย อาทิ การทำงานหนัก การทำงานยากๆ การขยันขันแข็งเหน็ดเหนื่อย ไม่ท้อถอย ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ ถ้าพยาธิสภาพของความหมั่นไส้รุนแรงพอ เราอาจจะรู้สึกหมั่นไส้อะไรก็ได้ที่คนอื่นกำลังพูดถึงเรื่อง "ของเขา" และ "อาจจะ" ทำให้เขามีความสำคัญขึ้นมาได้ เช่น คนบ่นถึงความโชคร้ายมากๆจนถึงจุดที่มีคนเห็นใจ มีคนสงสาร ต่อมหมั่นไส้ก็สามารถทำงานได้ทันที

ดังนั้น
@ หมั่นไส้ธรรมดา ก็เช่น คนโพสต์นั่งกินกาแฟ ไปเที่ยว ถ่ายรูปสวยๆ โชคดีในชีวิตต่างๆ เช่น เลื่อนตำแหน่ง สอบได้ ไปจนถึงแต่งงาน มีแฟน ฯลฯ
@ หมั่นไส้ขั้นกว่า ไม่ต้องเป็นบวกแบบพิเศษ แค่บรรยายชีวิตธรรมดาๆก็ถูกหมั่นไส้ได้ เช่น วันนี้ขับรถไปทำงาน (แค่นี้ก็จะโม้ว่ามีรถ หมั่นไส้!) วันนี้เงินเดือนออก (แค่นี้ก็ต้องมาเล่าให้ฟัง หมั่นไส้!) วันนี้เล่นกับลูก (จะคุยละสิว่าครอบครัวอบอุ่น หมั่นไส้!)
@ หมั่นไส้ขั้นสุด เวลาคนอื่นพูดถึงความ "ลำบาก" แต่พูดด้วยความภาคภูมิใจ หรืออยู่กับความลำบากนั้นได้ เช่น จนแต่ก็โอเคอยู่ได้ (หมั่นไส้!) เหนื่อยแต่ก็ทำได้นะ ไม่ลาออกหรอก (หมั่นไส้!) ท้อนะ แต่ก็อาจจะมีครั้งหน้าที่ทำได้ (หมั่นไส้!)
@ หมั่นไส้ระยะสุดท้าย เวลาที่คนอื่นลำบากจริง ทุกข์จริงๆ แต่ทำให้มีคนเห็นใจ สงสาร หรือเข้าไปดูแล ปลอบใจ ฯลฯ เช่น น้องเขาถูกรถเฉี่ยวตอนขายพวงมาลัยหลังเลิกเรียน ขาหัก คนแห่กันบริจาคช่วยเหลือกันเต็มไปหมด ยังกะไม่มีคนอื่นที่ลำบากยังงั้น เชอะ หมั่นไส้! เป็นหมอก็ต้องทนลำบากไปสิ รู้แล้วนี่ว่าจะต้องลำบาก ทำไมต้องบ่น ทำไมต้องพูดยังกะจะเป็นคนดีอะไรกันนักกันหนา อาชีพอื่นๆเค้าไม่เหนื่อย ไม่อะไรเหมือนกันเหรอ หมั่นไส้!

เกิดจากอะไร?

ไม่รู้เหมือนกัน แต่ "เดา" (เพราะไม่ได้ไปค้น ทบทวนวรรณกรรม) ว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวกับความมั่นคงของ "ตัวตน" เราเอง เพราะทุกเรื่อง ในหมั่นไส้ทุกๆดีกรีนั้น เป็นการ "ยอม" ให้เรื่องของ "คนอื่น" มากระทบกับเวทนาของตนเองทั้งสิ้น แต่เป็นการยอมที่ตรงกันข้ามกับ sympathy หรือ empathy ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ กลับกลายเป็นเรื่องราวของคนอื่นมาทำให้ self ของเราจี๊ดได้ ทั้งๆที่ "มันไม่ได้เกี่ยวกันเลย"

"หมั่นไส้" เป็น self-destructive action เป็นการทำร้ายตัวเอง ๑๐๐% ดังนั้นจะว่าไปแล้ว เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องนี้ได้ ๑๐๐% นั่นเอง แต่คงจะคล้ายๆกับโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับพฤติกรรม มันต้องอาศัยต้นทุนทางสติ คือมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสัมมาทิฎฐิ เป็นพื้นฐาน เพราะ protectors ของหมั่นไส้ระยะต่างๆที่บรรยายมานั้น ปกป้องได้ด้วย มุทิตา (ยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี) เมตตา (อยากให้คนอื่นมีสุข) กรุณา (อยากให้คนอื่นพ้นทุกข์)

ตัวการสำคัญคือการ "สร้าง self ตนเองให้แข็งแรง" อย่าเอาตัวเราเองเข้าไปเปรียบเทียบ หรือเข้าไปผูกพัน
คนอื่นเขากำลังสุข ก็ไม่ได้บอกว่า "สุขกว่าเรา"
คนอื่นเขากำลังลำบาก ก็ไม่ได้บอกว่า "ลำบากกว่าเรา"
คนอื่นเขาภาคภูมิใจในความลำบาก ก็ไม่ได้บอกว่า "เขาลำบากอยู่คนเดียว คนอื่นไม่ลำบากเท่าเขา"
คนอื่นเขาพูดถึงชีวิตของเขา ก็ไม่ได้บอกว่า "แล้วชีวิตของเอ็งมันห่วย"
เราจึงต้องมี "ตัวตนที่แข็งแรง" เราจะเลิกหมั่นไส้คนได้เอง ฝึกเมตตาอีกสักนิดก็พอแล้ว แต่ถ้า self เราเปราะบาง เราก็จะเปรียบเทียบ และรู้สึก vulnerable ตลอดเวลา

เขาก็คือเขา เราก็คือเรา และเราเองเป็นคนทำให้ชีวิตเราจี๊ดเอง ไม่มีคนอื่นเลย

คำสำคัญ (Tags): #หมั่นไส้
หมายเลขบันทึก: 622391เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2017 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2017 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุคยอด...รู้แจ้งแทงตลอด..อ่านแล้วมันส์...เจ้าค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท