จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๗ : อึดอัดตึงเครียดคับข้องใจ


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๗: อึดอัดตึงเครียดคับข้องใจ

ในการเรียนแพทย์นั้น สาระทักษะที่สำคัญมากประการหนึ่งคือการรู้จักอารมณ์และจัดการอารมณ์ และบ่อยครั้งที่เรื่องนี้ครอบคลุมไปถึง "ระบบคิด" บางประการที่มีพื้นฐานมาจากคลื่นอารมณ์ด้วย

อึดอัด ตึง คับ เป็นกิริยาวิเศษณ์ที่ใช้กับทั้งทางกายและทางอารมณ์ มีความน่าสนใจคือพยาธิกำเนิดและการเยียวยาก็คล้ายๆกัน อึดอัด ตึง คับ เกิดจากการมี "พื้นที่ไม่พอ" ซึ่งเป็นได้ทั้งพื้นที่นั้นเล็ก หรือใส่ของใหญ่ๆลงไป คำว่า "ไม่พอ" จริงๆแล้วจึงเป็นสัมพัทธ์มากกว่าสัมบูรณ์ เช่น คนสิบคนเดินเข้าไปในลิฟท์ก็รู้สึกอึดอัด แต่พอออกมาในห้องโถงก็ปลอดโปร่งโล่งสบาย เรากินอาหารเข้าไปเยอะๆก็อึดอัดจนกว่าอะไรที่อยู่ในกระเพาะมันจะระบายออกไป เสื้อใส่แล้วคับ อะไรที่มันตึง ฯลฯ เป็นสัมพัทธ์ของ "พื้นที่" กับ "ของที่จุ" เท่านั้น พอเราปร้บสัดส่วนด้วยวิธีการใด วิธีการหนึ่ง ก็จะแก้ไขปัญหาได้

แต่อึดอัดตึงเครียดคับข้องใจ ซึ่งเป็นทางอารมณ์อาจจะจัดการยากกว่านั้นบ้าง แต่พยาธิกำเนิดก็หนีไม่พ้น "พื้นที่สัมพัทธ์ของภาชนะและของที่บรรจุ"

อึดอัดตึงเครียดคับข้องใจอาจจะเกิดจากอัตตาอันใหญ่โต สิ่งแวดล้อมที่บีบคั้น กรอบที่สั้นเกินไป ไม่มีผ่อนปรน ไม่มีผ่อนคลาย เงื่อนไขที่มีมากมายที่ส่วนหนึ่งเราเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง และตกเป็นทาสของอารมณ์และความคิดที่สร้างเครื่องพันธนาการนั้นขึ้นมาเอง

เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย พื้นที่รอบๆตัวจะดูเล็กลง เพราะ "ความยึดหยุ่น ความเป็นไปได้ของชีวิต เกิดข้อจำกัด" และถ้าได้มาเจอคนเยียวยาที่พร้อมจะเพิ่มเติมกรอบ เติมข้อจำกัด ข้อระมัดระวังต่างๆอีกมากมายโดยให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ "ชีวิตที่เล็กลง" จริงๆแล้วสิ่งที่แพทย์สามารถทำได้อีกแบบหนึ่งก็คือ เมื่อลู่ทางชีวิตปกติของผู้ป่วยมันเล็ก แคบ และลดลงด้านหนึ่ง เราอาจจะต้องหาทาง "ขยับขยาย" ลู่ทางอื่นๆให้มันมีพื่้นที่มากขึ้น ทักษะนี้คือ ทักษะการมองเห็นความเป็นไปได้

ต่อเมื่อเรามีทักษะการมองเห็นความเป็นไปได้ เราถึงจะสามารถมีจินตนาการ มีความฝัน และมีความหวัง

ดังนั้นผู้ที่มีจิตปฎิวัติ พลังสร้างสรรค์นวตกรรม พื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือการตระหนักว่า แม้ทางกายจะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขต่างๆ แต่ทางใจแล้วเรายังคงเป็นนาย เป็นผู้บงการ ได้อยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับ mentality ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมายทั้งที่จะทำและไม่กระทำ และเมื่อเราค้นพบความเป็นไปได้นี้ในตัวเรา เราจึงได้เห็นนวตกรรมที่มีผลต่อชีวิตมากมาย คนขาขาดก็มีขาเทียม ขาเทียมก็ไม่ได้เป็นเพียงท่อนไม้แข็งๆอีกต่อไป แต่มีเข่า มีพับได้ มีสปริง สามารถวิ่งได้ หรือแม้กระทั่งเดินแบบ ออกแบบให้สวยงาม เพราะชีวิตมีอิสระจากข้อจำกัดทางกายภาพได้

ในปัจจุบัน สิ่งที่เราฝึกๆกัน บางครั้งทำให้เรา "สร้างกรอบ" มากกว่าการ "สร้างพื้นที่" ทำให้เรา "สร้างเงื่อนไขที่จะทำไม่ได้" มากกว่าอยากรู้อยากเห็นว่ามันน่าจะทำได้

ดังนั้นหากเรามี "สติ awareness" ต่อระบบอารมณ์และความคิดของเรา เราอาจจะเริ่ม "ตั้งคำถาม"
@ ถ้าเรา "เพิ่มวัน" ให้แก่ชีวิตไม่ได้ เราสามารถจะ "เพิ่มชีวิต" ให้แก่วันที่เหลืออยู่ได้ไหม?
@ "เงื่อนไขที่จำกัดศักยภาพชีวิต" ของเราอยู่นั้น เป็นเงื่อนไขจริง หรือเราสร้างขึ้นมาเอง?

--- ทำไม่ได้ถ้าไม่มี ... ฯลฯ คนช่วย ห้องแอร์ กาแฟ กำลัง อารมณ์ ฯลฯ ปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขที่เราอ้างนั้น เป็นเงื่อนไขจริงๆ หรือว่าเราสร้างขึ้นเพื่้อมา "protect ความขาดอิสระของชีวิตของเราเอง" หรือเราสร้างขึ้นมาเพื่อ "ปกป้องความกลัวที่เรายึดมาครอบงำตัวเราเอง"?

คำตอบที่จะพิจารณาง่ายๆก็คือ เราอ้าง "ปัจจัยภายนอก" หรือ "ปัจจัยภายใน"

เพราะการอ้างปัจจัยภายนอกนั้น ก็เพื่อที่เราไม่ต้องทำอะไร ต้องรอปัจจัยภายนอกนั้นแก้ไขตัวมันเองก่อน ตราบใดที่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราก็จะไม่มีวันเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการแก้ไข

และเราก็จะมีเหตุผลประหลาดๆในการอยู่กับชีวิตรันทดของเราเอง เพราะอากาศร้อน เพราะน้ำท่วม เพราะลมพัด เพราะใส่เครื่องแบบ เพราะไม่ใส่เครื่องแบบ เพราะถูกบังคับให้มีมารยาท เพราะเพื่อนบังคับให้ไม่ต้องมีมารยาท เพราะต้อง conform กับความเชื่อต่างๆ เช่น ต้องสุภาพ ต้องกักขฬะ ต้องผู้ดี ต้องกเฬวราก ย่ิงมีเงื่อนไขประหลาดๆเหล่านี้มากเท่าไหร่ พื้นที่ก็ยิ่งน้อย เงื่อนไขก็แย่งพื้นที่เราไปเรื่อยๆ อัตตาอันประหลาดของเราก็ยึดครองระบบคิด คิดแต่เรื่องของตนเอง หมกมุ่นกับเรื่องของตนเอง คนอื่นมีแต่ความคิดที่ผิด ความคิดที่เราเห็นด้วยเท่านั้นคือความคิดที่ถูก

ก็เกิดความอึดอัดตึงเครียดคับข้องใจ เพราะมันแน่นไปหมด แคบไปหมด ผ่อนปรนไม่ได้ หย่อนไม่เป็น

จะไปเยียวยาคนอื่นคงจะยากอยู่ ถ้าเป็นแบบนี้

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๙ นาฬิกา ๒๙ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 623344เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดูจิต... คือหนทางที่น่าทดลองเดินครับ.. ขอแนะนำ

อ.เขัยนได้ดีมากๆค่ะ อ่านแล้วสบายใจค่ะ

ขอบคุณบทความดีๆในครั้งนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท