ตั้งตนไว้ชอบ


ตั้งตนไว้ชอบ ด้วย “ศีล ศรัทธา จาคะ”


มีคำตรัสว่า ภูเขาทั้งลูกก็ไม่พอสำหรับความโลภของบุคคลเพียงคนเดียว

ความโลภเป็นสิ่งที่เกิดได้เสมอในใจเรา เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม จึงต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อการปกป้องซึ่งกันและกัน อันเป็นการป้องกันไม่ให้ความโลภของบุคคลใดบุคคลหนึ่งทำให้บุคคลอื่นๆเดือดร้อน กฎเกณฑ์เบื้องต้นที่เรารู้จักกันดีคือ ศีล ๕

ศีล ๕ มองในแง่หนึ่งแม้จะเป็นการป้องกันคนในสังคมจากการถูกเบียดเบียนด้วยความโลภของบุคคลอื่น เพราะคือข้อควรฝึกหรือสิกขาบท แต่เมื่อมองในแง่ผลของการฝึกอันเป็นตัวศีลโดยแท้ จึงเป็นผลจากการที่บุคคลในสังคมต่างอบรมตนด้วยเมตตา อบรมตนให้พอใจในสิ่งที่มีแล้ว ได้แล้ว หรือพึงมีพึงได้ตามกำลังตน จนไม่อยากให้ตนตกต่ำด้วยใจเบียดเบียน อันนำไปสู่การกระทำด้วยความเบียดเบียนทั้งตนเองผู้อื่น สังคมจึงสงบเรียบร้อย เป็นปกติ จึงเปิดโอกาสให้คนในสังคมใช้ความเป็นอยู่ที่เป็นปกติไปในการพัฒนาในด้านต่างๆ

สภาพสังคมอย่างนี้เอง ที่จัดได้ว่าเป็น ถิ่นอันสมควร หรือ ปฏิรูปเทสะ

ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี แสดงว่า คำสอนของพระศาสดารุ่งเรืองในประเทศใด ประเทศนั้นได้ชื่อว่าประเทศอันสมควร เพราะเป็นปัจจัยแก่การสร้างบุญของสัตว์ทั้งหลาย

เพราะมีศีล กิริยา วาจาจึงเรียบร้อย มีความเป็นปกติทางกายวาจา แต่อย่างไรก็ดี ใจเราอาจไม่เป็นปกติได้เพราะวุ่นวายคิดถึงเรื่องราว ถึงบุคคลใด ด้วยความหลงไปในทางใดทางหนึ่ง แม้กายวาจาจะเรียบร้อยเพราะการข่มกลั้น แต่ใจกลับร้อนรนเพราะความอยากทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ

แต่เพราะมีศรัทธาและน้อมนำคำสอนของพระผู้มีพระภาคมาสู่การปฏิบัติ จึงทำให้คอยตามระลึกเพื่อให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล เพียรระลึกถึงคุณโทษของกุศลและอกุศล จึงรู้ว่าความวุ่นวายในใจเกิดจากการที่ศีลยังไม่บริสุทธิ์ จึงเพียรสละหรือจาคะมูลเหตุที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในใจนั้นๆ

เนื่องจากฉันทะหรือความพอใจมี ๓ คือ ตัณหาฉันทะ (ความพอใจในการทำด้วยความอยากเสพเพื่อความสุขตน) กุศลฉันทะ (ความพอใจในการทำเพื่อความดีงาม ความงอกงามของกุศลธรรมทั้งหลาย) และกัตตุกัมมยตาฉันทะ (ความพอใจทำด้วยสักแต่ว่าเป็นการกระทำ ซึ่งความพอใจอย่างนี้มีแต่ในพระอรหันต์เท่านั้น) ฉันทะทั้ง ๓ ล้วนบรรลุได้ด้วยการกระทำ ดังนั้น ตัณหาฉันทะจึงเป็นฉันทะที่บรรลุได้ง่ายที่สุด เพราะเมื่ออยากเสพแล้วเสพตามอยากก็บรรลุทันที ได้สุขในทันที คนเราส่วนใหญ่จึงมีแต่สองฉันทะต้นนี้

แต่กุศลฉันทะนั้นจึงบรรลุได้ยาก เพราะมักเป็นการกระทำเพื่อดับตัณหา (ในเบื้องต้น ควรหัดดับตัณหาที่ไม่สอดคล้องกับกฏเกณฑ์อันดีงามของสังคม หรือที่ผิดศีลก่อน)เนื่องจากตัณหาเมื่อถูกขัดจะทำให้เกิดทุกข์ แม้การดับตัณหาอันเป็นกุศลฉันทะจะทำให้เกิดสุข แต่สุขจากการดับในครั้งแรกๆนั้นน้อยจนเราไม่รู้สึก เราจึงรู้แต่ทุกข์อันเกิดจากการที่ตัณหาถูกขัด ทุกข์เพราะความพยายามดับตัณหา ไม่รู้ถึงสุขอันเกิดจากการที่ตัณหาดับ

อีกทั้งจิตนี้ก็ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายาก เมื่อถูกดับด้วยเหตุผลหนึ่ง จิตก็ดิ้นรนก็หาเหตุผลอื่นมาอ้างเพื่อให้มีการกระทำเพื่อการเสพตามตัณหาฉันทะอย่างเดิม สติจึงต้องตามระลึกรู้แล้วหาเหตุผลที่ถูกต้องตามธรรมมาหักล้างอยู่เรื่อยๆ ใจเราจึงวุ่นวายทั้งในแง่ “วุ่นอยากเสพ” กับ “วุ่นอยากดับความอยากเสพ”

เราจึงต้องเพียรรักษาศรัทธาในคำสอนของพระผู้มีพระภาคไว้ เพียรประพฤติให้การบรรลุกุศลฉันทะมาแทนที่การบรรลุตัณหาฉันทะ เพียรจนกว่าระดับของความสุขจากการบรรลุกุศลฉันทะจะมากกว่าความทุกข์เพราะตัณหาฉันทะถูกขัด เมื่อใดที่สุขจากกุศลฉันทะมีระดับมากกว่าทุกข์เพราะตัณหาฉันทะ เมื่อนั้น เราจึงจะรู้ถึงสุขเพราะความดับของตัณหาได้

การกระทำด้วยความเพียรเพื่อละตัณหาฉันทะนี้เอง คือการกระทำที่ได้ชื่อว่า ปุปเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ที่ได้สร้างบุญไว้ก่อน เพราะสละส่วนแห่งบาปอกุศลธรรมไปบ้างแล้ว

เมื่อได้รับสุขจากความดับ ศรัทธาในพระรัตนตรัยจึงจะมั่นคง เพราะเห็นแจ้งด้วยตนว่าธรรมทั้งหลายเป็นสภาพเกิดดับ เกิดจากเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามปรารถนา หากสร้างและรักษาเหตุปัจจัยให้เหตุแห่งทุกข์เกิด ทุกข์ก็เกิด หากสร้างเหตุปัจจัยให้เห็นตรง สภาพใดๆในโลกล้วนไม่มีสิ่งใดมาดลบันดาลให้เกิดขึ้นได้ หากเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

จิตจึงสามารถเห็นตรงภาวะ จึงรู้ค่าของความตรงของจิต รู้คุณค่าของการปฏิบัติตรงต่อความดับอกุศลธรรม รู้ว่าที่แล้วมา บาปอกุศลธรรมนำความเดือดร้อนมาสู่ใจตนเพียงไร หากตนไม่ละ สิ่งที่ซ่อนเร้นในใจ อย่างไรเสียก็ต้องปรากฏออกทางกาย (เช่น สายตา กิริยา) ทางวาจา (เช่น พูดสรรเสริญด้วยฉันทาคติ เมื่อประจวบเรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ เฉพาะหน้า หรือตามพร่ำสรรเสริญ แม้ว่าเหตุการณ์นั้นๆจะจบไปแล้ว) จนการแสดงออกทางกายวาจาเป็นที่รู้เห็นของบุคคลอื่นอันเป็นการทำความเสียหายแก่ตนในทางโลก ทำให้ใจตกต่ำด้วยความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกอกุศลธรรมครอบงำบ่อยขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นความเสียหายแก่ตนในทางธรรม และทำให้ทั้งกาย วาจา ใจ ให้ไม่สามารถเป็นปกติได้ในที่สุด

เมื่อรู้ชัดอย่างนี้ จึงรังเกียจบาปทั้งปวง

เมื่อรังเกียจบาปทั้งปวง จึงเฝ้าพิจารณาธรรมที่ทำให้จิตเสมอและไม่เสมอ ธรรมที่ทำให้จิตวูบวาบ หวั่นไหว ด้วยสติ จึงเกิดสมาธิ ความสำรวมในอิริยาบถทั้ง ๔ จึงตามมา

จึงได้ชื่อว่าได้ตั้งตนไว้ชอบ หรือ อัตตสัมมาปณิธิ

นี่จึงเป็นมงคลอันสูงสุด

อันเป็นความประพฤติเบื้องต้นของกัลยาณชนตามคำตรัสของพระพุทธองค์

......

อ้างอิง

มงคลสูตร, มังคลัตถทีปนี, มุนิสูตร,ชัคควิสาณสุตตนิเทส

หมายเลขบันทึก: 626527เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2017 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2017 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณข้อเขียนที่สอนเรื่องดีๆครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

แวะมาเยี่ยมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท