ทุกข์เพราะรัก : กรรมเก่าหรือเราเองก่อ (ภาคปลาย)


ได้รับอีเมล์จากผู้ที่ดิฉันเข้าใจคงมีทุกข์เพราะรักท่านหนึ่ง แจ้งว่าท่านอ่านเรื่องเกี่ยวกับการแอบรักคนที่มีคู่แล้ว ที่ดิฉันเคยโพสต์เหตุไว้ในภาคต้นของเรื่อง “ทุกข์เพราะรัก:กรรมเก่าหรือเราเองก่อ (ภาคต้น)” https://www.gotoknow.org/posts/426063 แต่ภาคปลายที่นำไปโพสต์ไว้ในเวบ portal นั้นกลับไม่สามารถเปิดอ่านได้ ท่านบอกอยากอ่านการแก้ไขตามที่ได้โพสต์ไว้ในเวบนั้นมาก


เรื่องนี้ดิฉันเขียนเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วค่ะ แล้วก็บังเอิญข้อมูลเดิมไไม่สามารถค้นได้ จึงต้องขออภัยที่ไม่สามารถนำบทความเดิมมาโพสต์ใหม

จึงขอเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมดดังต่อไปนี้ค่ะ

ก่อนอื่นอยากเรียนก่อนค่ะว่า การที่เรามีความรู้สึกดีๆซึ่งในที่นี้คือรักเมตตาคนที่มีคู่แล้ว ไม่ใช่ความผิด เพราะเมื่อได้รับรู้ความดีของใครๆ เราก็อดนำมาชื่นชมเขาในใจไม่ได้ อดที่จะปรารถนาสิ่งดีๆให้เกิดแก่เขา อดที่จะช่วยเหลือในยามที่เขาทุกข์ร้อนไม่ได้ เพียงแต่ในขณะที่เราชื่นชมความดีงาม ที่เราขวนขวายช่วยเหลือเขานั้น เราหลงลืมกำหนดด้วยสติ จึงทำให้เมตตาที่เรามีให้ต่อผู้ที่เราชื่นชมเป็นเมตตาที่ไม่บริสุทธิ์ คือไม่ได้หวังความงดงาม ความสุข จะเกิดแก่เขาอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีความเป็นเราเข้าไปร่วมรับผลประโยชน์ด้วย เป็นเมตตาที่ถูกเหตุใกล้คือ เสน่หา เข้าแทรก

บุคลลผู้งดงาม หรือความงดงามที่เราได้พบเห็น จึงไม่เป็นเพียงสิ่งดีๆที่เราได้พบเห็นแล้วเป็นสุข เป็นสิ่งที่เห็นแล้ว และการเห็นก็จบลงแล้ว ได้ชื่นชมว่าเป็นความดีงามในโลกที่เราควรใช้เป็นแบบอย่าง ได้ช่วยสนับสนุนให้คงความงามหรือยิ่งงดงามเพื่อตัวเขาเอง แต่กลับกลายเป็นสิ่งดีๆที่เราอยากได้เสพสุขจากการเห็นอีก กลายเป็นสิ่งดีๆที่เราอยากจะครอบครอง เป็นเจ้าของ

ความผิดจึงอยู่ตรงนี้ค่ะ ตรงที่ละเลยการกำหนด จนทำให้กุศลเป็นปัจจัยให้อกุศล ก่อให้เกิดทุกข์ตามมา

จึงต้องมีการแก้ไขค่ะ ด้วย”กรรม” หรือก็คือ”การกระทำ” ด้วยตัวเราเองค่ะ เพื่อผลคือการหมดไปของทุกข์ (ขอให้สังเกตว่า กรรมในที่นี้คือเหตุนะคะไม่ใช่ผล)

ซึ่งก่อนที่จะทำอะไร เราต้องเชื่อก่อนค่ะ ว่าทุกอย่างในโลกเป็นสภาพเกิดดับ เกิดจากเหตุปัจจัย เราสร้างเหตุอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องไปอ้อนวอนขอจากอะไรที่ไหน ว่าขอให้ทุกข์ดับ ทุกข์เกิดเพราะความขาดสติของเรา ก็ต้องแก้ไขโดยใช้สติเป็นตัวนำด้วยตัวเราเอง

ความตริตรึกที่ไม่ดี อันนำทุกข์มาให้นั้นก็คืออกุศลวิตก เราต้องทำความเชื่อว่า อกุศลวิตกอันก่อให้เกิดความคิดในแง่มุมต่างๆตามมานั้นไม่เป็นตนเที่ยงแท้ถาวร มันเพียงจรเข้ามาแล้วก็จรจากไป เพราะหากเราไม่มีความเห็นอย่างนี้ แต่มีความเห็นว่าเป็นตนและยึดถือไว้มั่นเช่น คิดว่า "นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความทุกข์ของฉัน ฉันจะต้องกำจัดมันออกไปให้ได้" ก็กลับจะยิ่งทำให้เรื่องราวที่เป็นอดีตไปแล้วมาตั้งเป็นตนถาวรอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งผูกพันกับเรื่องราว บุคคลในเรื่องราว และยิ่งทุกข์มากขึ้น

เพราะเมื่อมีตนผู้ละ ก็ต้องมีของตนให้ละ หรือในทางกลับกัน มีของตนให้ละ ก็ต้องมีตนผู้ละสิ่งที่เป็นของตนนั้น จึงยิ่งยึดถือมั่นในตัวตนและของตนมากยิ่งขึ้น

แล้วเราก็ต้องเมตตาตนเองด้วยค่ะ เมตตาตน อยากให้ตนมีความสุข ด้วยการไม่ปล่อยใจตนให้ไหลไปตามความปรารถนาที่เป็นไปไม่ได้จนกลายเป็นทุกข์ จนใจอาจไหลไปสู่ที่ต่ำด้วยการแสดงออกทางกายวาจาที่ไม่สมควร เช่น แสดงอาการหรือพูดบอกความในใจเป็นนัยๆจนเขาหวั่นไหว จนเขาเสียหาย เพราะทุกข์ที่ใจต้องแบ่งเป็นสอง หรือเมื่อผู้อื่นรับรู้ เรานอกจากจะทุกข์เพราะความปรารถนาที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังทุกข์พราะถูกติฉินอีกด้วย เลยกลายเป็นทุกข์ซ้ำซ้อน

เมื่อปลูกฝังทัศนคติและเมตตาอย่างนี้แล้ว จึงทำตามขั้นตอนที่ พระพุทธทรงแนะนำไว้เป็นขั้นๆดังนี้

ขั้นที่ 1 เปลี่ยนนิมิตที่เป็นอกุศล ให้เป็นกุศล

ขั้นที่ 2 พิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตกนั้น

ขั้นที่ 3 ไม่ใส่ใจนิมิตที่เป็นอกุศลนั้นๆ

ขั้นที่ 4 พิจารณาสัณฐานของวิตก

ขั้นที่ 5 กัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต

มาดูกันทีละขั้นนะคะ

ขั้นที่ 1 เปลี่ยนนิมิต

คำว่า นิมิต ในที่นี้หมายถึงเครื่องกำหนดหมาย ลักษณะ เหตุ เค้ามูล เช่น นิมิตว่าชาย นิมิตว่าหญิง นิมิตว่าภูเขา นิมิตว่าต้นไม้ เป็นต้น เมื่อตริถึงเรื่องที่ทำให้ใจต่ำดังที่กล่าวไว้แล้วคิดตามไปในทางที่ไม่ดีจนยิ่งทุกข์ ก็เปลี่ยนไปคิดในทางความคิดที่ทำให้ไม่ทุกข์ คิดตรองหาเหตุผลเพื่อแก้ไขใจตน เข้าใจความเป็นไปที่แท้จริง

เช่น หญิงสาวคนหนึ่งขอหย่าสามีที่มีภรรยาน้อย เธอพาตัวเองออกไปจากบ้าน แยกตัวจากสามีอละลูกไปอยู่ตามลำพังด้วยความทุกข์ ต่อมา เมื่อเธอเห็นว่าลูกมีความสุขกับแม่เลี้ยง เธอพลันมีความคิดที่น่าสรรเสริญว่า เวลาแห่งความสุขระหว่างเธอกับอดีตสามีได้หมดลงแล้ว ขณะนี้เป็นเวลาของหญิงคนใหม่ที่จะมีความสุขอย่างที่เธอเคยมีบ้าง พอคิดได้อย่างนี้ เธอถึงกับดีใจกับความสุขของทุกคนที่เธอได้เห็น หายทุกข์กับการแยกทาง

ดังนั้น หลักในการเปลี่ยนนิมิต คือ ให้คิดไปในทางที่ดี ที่เป็นทางตรงข้าม ที่เป็นไตรลักษณ์ อันนำไปสู่การหมดเหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง คงความรู้สึกที่ดีกับตนไว้ได้ เป็นต้นว่า

-ธรรมชาติของกามภพ

กามภพคือภพที่จิตได้ความสุขจากกาม คือความสุขที่ได้เสพจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตาได้เสพรูปที่น่ารัก น่ายินดี หูได้ฟังเสียงที่ไพเราะ มีความหมายน่าฟัง จมูก ลิ้น กาย ก็ได้เสพสุขในทำนองเดียวกัน แต่เพราะสิ่งที่ตาหูเป็นต้นรับรู้เปลี่ยนแปลงได้ หรือตาหูเป็นต้นเองก็เสื่อมถอยได้ ความสุขและทุกข์จึงไม่ยั่งยืน และเพราะกามภพยังดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความต้องการที่เป็นตัณหา เมื่อยังไม่มีการปฏิบัติตนให้พ้นจากกามภพ ก็ต้องคอยระวังความสุขจากการเสพทางตาหูเป็นต้นเหล่านี้

แต่แม้จะคอยระวัง ก็ไม่ได้รับประกันว่าทุกข์จะไม่เกิดขึ้น เพราะความที่ไม่มีใครสามารถมีสติไม่สมบูรณ์ตลอดเวลานั่นเองค่ะ ไม่มีใครเลยค่ะเป็นคนสมบูรณ์แบบ

เพียงแต่ว่าเมื่อใดที่สติระลึกได้ว่าอะไรเป็นอกุศล ก็ไม่ควรรับอกุศลธรรมนั้นไว้ แต่ควรละ หาทางบรรเทา เพื่อให้สิ้นไปในที่สุด

อยากเรียนว่าความไม่สมบูรณ์นี่เองค่ะ เป็นอีกเหตุที่สร้างความสมบูรณ์ให้ชีวิต หากเราคิดหาประโยชน์จากความไม่สมบูรณ์นั้น เพราะทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ดังนั้น ในความไม่ดีจึงมีความดีแทรกอยู่เสมอเช่นกัน เพราะความไม่สมบูรณ์ของตัวเราหรือ ความไม่สมบูรณ์ของชีวิตที่ผ่านมา จึงทำให้เราต้องมีการข่มกลั้นการแสดงออก มีกระบวนการคิดที่ทำให้ใจเราผ่องใสขึ้น เราจึงค่อยๆคลายความเห็นผิดลง เห็นตรงสภาวะมาขึ้น เข้มแข็งขึ้น

ชีวิตที่เหลือของเราจึงค่อยๆสมบูรณ์ขึ้น อยู่เป็นสุขมากขึ้น

ในทางพุทธศาสนา ทุกข์ เป็นจุดเริ่มของศรัทธา เมื่อพบทุกข์ อาจเป็นโอกาสดีที่ทำให้เราหันเข้าหาความสุขทางใจที่ไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งหรือบุคคลอื่น เช่นการฝึกสมาธิ แล้วนำวิธีการทำให้จิตเป็นสมาธิในขณะฝึกนั้น มาใช้ในชีวิตประจำวัน อันทำให้จิตเราค่อยๆสงบขึ้นเรื่อยๆ

-ตามระลึกด้วยอนุสสติ 10

ในยามที่ทุกข์ ท้อถอย จิตอยากจะคิดฟุ้งจนบังคับไม่ได้ เมื่อจิตอยากคิดก็ปล่อยให้คิดค่ะ แต่ให้หันไปคิดอย่างอื่น คิดไปในทางที่น้อมจิตลงให้สงบ เช่น คิดด้วยการตามระลึกถึงอันเป็นอนุสสติทั้ง 10 เป็นต้น พุทธานุสสติ การตามระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าที่นอกจากจะเป็นการทำให้จิตแช่มชื่น มีกำลังขึ้นด้วยศรัทธาแล้ว ยังอาจทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ยังสามารถนำจิตที่พร้อมใช้งานทางปัญญานั้น ไปพิจารณาธรรมใดๆได้อีกด้วย

อย่างนี้เป็นต้น

หากพิจารณาจากอกุศลให้เป็นกุศลแล้ว ความตริที่เป็นทุกข์ยังจรเข้ามาได้อีก ก็ต้องพิจารณาโทษของสิ่งต่างๆโดยรอบ อันเป็นการพิจารณาในขั้นต่อไปค่ะ

ขั้นที่ 2 พิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตก

สงสัยไหมคะ ทำไมเมื่อคิดที่ทำให้เกิดทุกข์แล้วเรายังอยากจะคิดถึงเรื่องนั้นอยู่เรื่อยๆทั้งๆที่คิดแล้วทำร้ายตัวเอง

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีความเพลินแฝงอยู่ในการคิดนั้นค่ะ ยิ่งเพลินก็ยิ่งย้อมติด ยิ่งย้อมติดก็ยิ่งเพลิน เลยเพลินไปในทุกข์ หลงใหลในทุกข์อยู่อย่างนั้น จึงต้องมีการคิดให้เห็นโทษที่เกิดจากการคิดทำร้ายตัวเองนี้ เช่น การใช้เวลาให้สูญไปโดยเปล่าประโยชน์ แค่เวลาที่จะขุดรากถอนโคนกิเลสก็มีไม่พออยู่แล้ว ยังจะเสียเวลาไปกับการทำกิเลสให้แน่นหนา ให้การทำงานทางจิตมากขึ้นไปอีก แถมความเครียด ความทุกข์ ยังมีโอกาสปรากฏออกทางกายเป็นโรคภัยต่างๆ เช่น เป็นโรคแผลในปาก อาการร้อนใน โรคกระเพาะ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ปวดหลัง ปวดท้อง

และเมื่อจิตเศร้าหมองก็ย่อมไม่มีความคิดดีๆเกิดขึ้น ความอดทนลดต่ำลง จึงแสดงกิริยากระทบกระทั่งกับบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น ผลเสียจึงเกิดแก่ตนทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัว การทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด จึงนอกจากจะเบียดเบียนตัวเองแล้ว ยังเบียดเบียนผู้อื่นอีกด้วย

อีกทั้งการคิดถึงอดีตด้วยความละห้อยอาลัยหา ทำให้หยิบเอาอดีตที่จบไปแล้วมาปรุงแต่งให้เป็นไปตามใจปรารถนาในปัจจุบัน สร้างอนาคตที่ไม่เป็นจริงให้อดีตอยู่ในปัจจุบัน จึงหลงอยู่ในกาลทั้งสามเพราะไม่สามารถแยกอดีต ปัจจุบัน อนาคต ออกจากกันได้ และหากผูกพันกับโลกในความฝันมากๆก็อาจหลงไปว่าโลกในความจริงเป็นอย่างโลกในความฝัน จนเผลอปฏิบัติกับโลกในความเป็นจริงผิดไปจากความเป็นจริง

อันนอกจากจะทำตนให้ชินกับหลงใหลแล้ว หากมีเหตุให้สิ้นชีวิตในขณะนั้น ก็เรียกว่า “หลงตาย” ทุคติก็เป็นที่ไป

เมื่อพิจารณาโทษในแง่ต่างๆ จะเห็นว่าผู้ที่รับผลของการไม่ยอมรับความจริง การไม่ยอมออกจากทุกข์ ผู้ที่รับผลก็คือตัวเราเอง ไม่ว่าจะในขณะปัจจุบันที่มองเห็นได้ และทั้งในขณะที่เลยตาเห็น

ก็จะสงบจากความเดือดร้อนลงได้เป็นขณะๆ

ซึ่งการที่ความเดือดร้อนหรือมทุกข์ดับลงเป็นพักๆนี้ เรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน หรือ นิพพานที่พึงเห็นได้ในปัจจุบัน แต่ความดับนี้เป็นนิพพานชั่วคราวนะคะ ไม่ได้หมายความว่าทุกข์จะดับได้อย่างถาวร เพราะความที่เราย้อมติดกับสิ่งต่างๆมานาน การพิจารณาให้ผ่านทุกข์เพียงไม่กี่ครั้ง จึงไม่สามารถทำให้ถ่ายถอนความเคยชินที่จะคิดไปในแนวทางเดิมได้ จนทำให้อกุศลวิตกไม่จรเข้ามา จนทำให้ทุกข์ไม่กำเริบได้

ดังนั้น หากใช้ทั้งสองวิธีนี้แล้ว อกุศลวิตกยังจรเข้ามาอีก จึงใช้การปฏิบัติในขั้นต่อไป

ขั้นที่ 3 ไม่ใส่ใจ

เมื่อทำทั้งสองวิธีแล้ว อกุศลวิตกยังจรเข้ามาได้อยู่ ก็ให้อย่าใส่ใจ ไปหางานอื่นทำ เช่น ทำงานฝีมือที่ต้องใช้สมาธิ วาดภาพ อ่านหนังสือ ถกเถียงด้านปรัชญา

อกุศลวิตกก็จะจรจากไป

บางท่านเมื่อมีทุกข์ ก็หันเหความสนใจไปหางานอื่นทำทันที การกระทำอย่างนี้ซึ่งไม่เกิดผลดีในระยะยาวค่ะ เพราะปัญหาไม่ได้รับการดูแล เพียงแค่เจ้าตัวหันเหความสนใจไปทางอื่นให้ไม่มีเวลาคิดถึงเท่านั้น ดังนั้นก่อนที่จะใช้วิธีนี้ ควรทำตามขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนจะดีกว่า

แต่เมื่อทำแล้ว ถ้าอกุศลวิตกยังจรเข้ามาอีก ก็คิดหรือพิจารณาในขั้นต่อไป

ขั้นที่ 4 พิจารณาสัณฐานของวิตก

คำว่า “สัณฐาน” หมายถึงการเป็นที่ตั้งอยู่ดี ซึ่งก็คือ เหตุปัจจัยต่างๆที่ทำให้วิตกนั้นยังคงอยู่ และเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้อกุศลวิตกนั้นดับนั่นเอง

อกุศลวิตกที่ยังจรเข้ามาอยู่เพราะรากเหง้าของตัณหายังอยู่ เพื่อให้ดับทุกข์ได้อย่างถาวร ก็ต้องพยายามพิจารณาให้ถึงความเห็นว่าไม่เป็นตน น้อมการพิจารณาว่ากายและใจเรานี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุต่างๆ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ที่แปรปรวนได้ ไม่สามารถมีใครยึดครองเป็นเจ้าของ เพราะความไม่เป็นตัวตนถาวรขององค์ประกอบนั้นๆ

หากพิจารณาอยู่บ่อยๆ จิตจะได้รับการอบรมด้วยสัญญาใหม่ (คือสัญญาว่าไม่เป็นตน) แทนที่สัญญาเก่า (คือสัญญาว่าเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา)อยู่เรื่อยๆ จิตจึงคล้อยตามสัญญาใหม่ไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่จิตถูกอบรมจนคล้อยตามเต็มที่ จึงจะโพล่งออกมาให้ได้รับรู้ จึงจะเรียกว่า “เห็นแจ้งด้วยจิต” จึงจะละความเห็นว่าเป็นตนได้อย่างถาวร

แต่ในขณะที่ยังไม่เห็นแจ้งด้วยจิต อกุศลวิตกก็ยังคงจรเข้ามาได้

จึงควรทำตามในขั้นสุดท้าย

ขั้นที่ 5 กัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต

ตรัสว่าถ้าพิจารณาสัณฐานของวิตกนั้นแล้ว ก็ยังละอกุศลวิตกไม่ได้ ให้ กัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต อกุศลวิตกต่างๆก็จะละคลายไป จิตกลับได้สมาธิ

เหล่านี้คือการดับทุกข์ที่เกิดจากความคิด ที่ไม่นำทุกข์ใหม่มาให้

แต่อย่างไรก็ดี การดับของทุกข์อาจไม่เกิดในระยะเวลาอันสั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่ามีกระบวนการคิดเป็นปกติอย่างไร ตนมีกำลังใจที่จะพาตนออกจากความคิดแบบเดิมแค่ไหน ที่จิตที่เข้มแข็งด้วยการอดกลั้น ทนต่อความเย้ายวนของการคิดไปตามความปรารถนาได้แค่ไหน มีความรู้และความพยายามที่จะนำความรู้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเพียงใด

ที่สำคัญ ยอมให้ตนเองทำตนในแบบเดิมแค่ไหน เช่น ฝืนข่มใจได้สักสองสามครั้ง แต่ยอมให้ใจคิดในแบบเดิมอีกสามสี่ครั้ง ก็จะทำให้เดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนี้

จนดีไม่ดี จะยิ่งถอยหลังมากกว่าที่จะเดินหน้าอันทำให้ปัญหาสร้างทุกข์ให้อย่างไม่มีวันจบสิ้น การเดินหน้าถอยหลังนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังมากค่ะ เพราะใจเรามักจะไม่ยอมทนทุกข์เพราะความข่มแม้ว่ามีสุขจากความดับเป็นปลายทาง แต่มักจะอยากได้สุขจากการคิดฝันทั้งๆที่รู้ว่ายิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์

หวังว่าสิ่งต่างๆที่เล่ามา จะพอเป็นประโยชน์บ้างนะคะ


หมายเลขบันทึก: 627238เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2017 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2017 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีประโยชน์มากเลยครับ

เป็นช่องทางเผยแพร่ธรรมมะที่ดีมาก

ขอบพระคุณพี่มากครับ

สบายดีไหมครับ

ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์

สบายดีค่ะ

อาจารย์ก็คงเช่นกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท