เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 3 - 7 เมษายน 2560



9 เมษายน 2560

เรียน ผู้บริหาร เพื่อนครูและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2560 เช้าไปเปิดการอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ขั้นความรู้เบื้องต้น ที่ค่ายลูกเสือชั่วคราวโรงเรียนวัดลานนาบุญ วิทยากรหลักมี อ.สมาน สมานศักดิ์ศิริ อ.กฤษณ์ โกศัยานนท์ ทำพิธีเสร็จเดินทางไปประชุมศึกษาธิการจังหวัดและ ผอ.เขต ที่โรงแรมปริ้นพาเลซ เนื้อหาก็อธิบายเหตุผลการตั้งศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด ผมพบการเปลี่ยนแปลงมามาก บางจังหวะก็เข้าไปมีบทบาทเป็นตัวละครสำคัญของการเปลี่ยนแปลง บางครั้งเป็นแค่คนดู ในช่วงเวลา 18 เดือนก่อนเกษียณอายุราชการจะนำพาตัวเองให้ห่างไกลการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง วันนี้น้องๆ ผอ เขต หลายคนไม่สบายใจในการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบบทบาทอำนาจหน้าที่ของเขา มาปรึกษาหารือ แต่ผอ.เขตหลายคนก็มองตำแหน่งศธจ.นี้ด้วยแววตาประกายและหมายมั่น เมื่อคนกลุ่มเดียวกันต่างเป้าหมายอำนาจต่อรองจึงไม่มี ยังไงก็สู้เขาไม่ได้ ต้องสู้ด้วยหลักกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน หลักการบริหารงานบุคคลระดับปรมาจารย์มาอ้างถึงจะทำให้เขาฟัง คสช ฟัง ท้ายสุดทุกคนก็รู้ว่าถูกหลอกมาฟังเพราะ ได้มีคำสั่ง คสช ที่ 19/2560 ออกมาเรียบร้อยและประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในวันนี้แล้วเช่นกัน แต่เขาบอกว่าจะประกาศคืนนี้ จบข่าว

วันอังคารที่ 4 เมษายน 2560 เช้านัดประชุมกรรมการกลั่นกรองระดับสำนักงาน พิจารณากลั่นกรองการเลื่อนเงินเดือนของ ข้าราชการในสำนักงานเขตและ ผอ รร ในสำนักงาน 38 ค(2) ประเมินดีเด่นกันทุกคน ขอให้จริงตามนั้น งานเร็วคนชม งานช้าคนคอย และตำหนิเราแรงๆ ส่วน ท่านรองและศน ก็ได้ตามโควตา ผู้บริหารก็เป็นตามโควตา บ่ายประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองระดับเขตพื้นที่การศึกษา ของครูคืนเศษไปครู ก็ง่ายๆไม่ซับซ้อน เย็นไปฟังสวดพระอภิธรรมศพ พี่สาวของคุณยุพา ที่วัดหัวลำโพง


วันพุธที่ 5 เมษายน 2560 เช้าเตรียมวาระประชุม อกศจ.กลั่นกรองการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน เพื่อให้ กศจ เห็นชอบ เห็นเพียงเขตเดียวคือของตัวเอง สพป นนทบุรี เขต 2 และ สพม 3 ยังไม่มา คงเสนอที่ประชุมเอง บ่ายการประชุม อกศจ มีกรรมการขาดประชุมบ้างเนื่องจากได้บอกเลิกไปรอบหนึ่ง เพราะ คสช ออกคำสั่งที่ 19/2560 มายกเลิก กศจ แต่ต่อมา กรรมการ กขค มีมติตามข้อ 23 ให้คณะเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าคณะใหม่จะเข้ารับหน้าที่ต่อเนื่องกันไป แต่ก็ครบองค์ประชุม ใช้เวลานำเสนอและตรวจสอบรายละเอียดกันเป็นรายเขต ก็ให้นำเสนอ กศจ ต่อไปเพื่อให้ความเห็นชอบ

วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2560 เป็นวันวันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขี้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี ในวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พวกเราชาวไทยควรให้ความระลึกถึง กว่าจะมาเป็นสยามได้ในทุกวันนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ได้ส่งทีมงานไปร่วมพิธีกับจังหวัดทุกปี สาย ๆ นำรถไป Autoboy ราชพฤกษ์ เพื่อเปลี่ยนลมยางรถยนต์จากธรรมดาเป็นลมไนโตรเจน

ข้อดีในการเติมลม ไนโตรเจน ตามที่ผู้รู้บอกไว้

1. ลดอัตราการระเบิดของลมยาง เพราะก๊าซไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อย การยึดติดกันของโมเลกุลคล้ายวุ้น ทำให้การขยับตัวเคลื่อนที่ช้า โมเลกุลเสียดสีกันน้อย จึงทำให้ลมภายในยางเกิดความร้อนสะสมน้อย แรงดันลมในยางจึงเปลี่ยนแปลงไม่มาก ทำให้ยางมีโอกาสระเบิดน้อย (ส่วนมากยางที่ระเบิดเกิดจากแรงดันลมในยางเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับโครงผ้าใบเริ่มเสื่อมคุณภาพจึงเกิดการระเบิด) ล้อที่เติมลมไนโตรเจนแล้วยังมีความร้อนอยู่บ้าง เนื่องจากการเสียดสีของลูกปืนล้อ เบรก ที่ส่งผ่านกระทะล้อมาสู่ยาง และเกิดจากยางเสียดสีกับพื้นถนน ถ้ารถวิ่งทางตรงยางจะเสียดสีกับถนนน้อยกว่าในขณะเลี้ยว แต่ 80% ของการขับขี่คือการหักเลี้ยวตามโค้งถนนหรือแซงและหลบ

2. นุ่มนวลและลดเสียงดังจากยางกระทบพื้น เพราะก๊าซไนโตรเจนมีกายึดติดของโมเลกุลคล้ายวุ้น ทำให้เคลื่อนที่ช้า เมื่อยางกระทบกับคลื่นตะเข็บของถนน ยางจะเคลื่อนที่ยืดหยุ่นตัวช้าลง ทำให้การขับขี่นุ่มนวลขึ้น และลดเสียงดังของยางไปได้มาก (ถ้ายางซีรี่ส์ต่ำจะเห็นผลน้อย ถ้ายางซีรี่ส์สูงๆ จะเห็นผลได้มาก หรือถ้ายางที่ร่องดอกยางห่างๆ จะเห็นผลและเงียบลงไปมาก)

3. ไม่ทำให้กระทะล้อเป็นสนิมและแป้งที่เคลื่อบยางก็ไม่เป็นก้อนในท้องยาง เพราะในการเติมลมยางด้วยไนโตรเจนทำให้ในยางมีปริมาณออกซิจนอยู่น้อย ถ้าออกซิเจนไปรวมตัวทำปฏิกิริยากับเหล็กหรืออลูมิเนียมจะทำให้เกิดสนิมที่ บริเวณกระทะล้อได้ และถ้าออกซิเจนไปรวมตัวกับไฮโดรเจนซึ่งปะปนอยู่ในลมยาง จะทำให้เกิดเป็นหยดน้ำ H2O หยดน้ำนี้เมื่อกลิ้งอยู่ในท้องยางจะทำให้แป้งที่อยู่ในท้องยางรวมตัวกันเป็น ก้อนกลิ้งอยู่ในท้องยาง และขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ถ้าก้อนแป้งนี้มีมากหรือขนาดใหญ่พอที่จะทำให้พวงมาลัยรถสั่นได้ ต้องถ่วงล้อใหม่ แต่มักจะถ่วงไม่ลง ถ้าหากไม่นำเอาก้อนนี้ออกก่อน

4. ไม่ต้องเติมลมหรือเชคลมยางบ่อยๆ เพราะอะตอมของไนโตรเจนมีขนาดโตกว่าออกซิเจน ซึ่งออกซิเจนสามารถซึมเข้าออกเนื้อยางได้ แต่ไนโตรเจนไม่สามารถซึมผ่านได้ ดังนั้นเมื่อเติมไนโตรเจนจึงทำให้ลมยางไม่ค่อยลดลง จากที่เคยทดลอง 3 เดือน มีการลดลงประมาณ 1 ปอนด์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ในการเติมลมยางเราไม่เติมลมไนโตรเจนเข้าไป 100% เพราะออกซิเจนจากภายนอกจะซึมเข้าหาภายในยาง ทำให้แรงดันลมยางเพิ่มขึ้น โดยปกติจะเติมไนโตรเจนเข้าไป 95% - 97% ให้ออกซิเจนเหลือภายในยางเพื่อต้านออกซิเจนที่จะแทรกจากอากาศภายนอก เพราะฉะนั้นถ้านำไนโตรเจนแบบถังไนโตรเจน 100% มาเติมลมยาง พอใช้ไปออกซิเจนจากภายนอกจะแทรกเข้าไปทำให้ลมยางเพิ่มขึ้นเอง (คุมแรงดันลมไม่ได้)

5. ยืดอายุยาง เพราะในยางรถยนต์ประกอบด้วยสารเคมี ถ้ามีออกซิเจนอยู่มาก ออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับเคมีทำให้เนื้อยางเสื่อมสภาพเร็ว และเนื่องจากไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อย ทำให้ยางมีความร้อนน้อย มีผลให้ยางสึกหรอน้อยตามไปด้วย

ออกจากร้าน Autoboy ไปแวะทานข้าวร้านยอร์ก ปตท.ถนนเลี่ยงเมืองฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมุ่งถนนราชพฤกษ์ ไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม จอดร้าน Rs superbike ตรงข้ามห้างเดอะมอลล์ บางแค เปลี่ยนแตรเสียงหล่อให้รถ เป็น PIAA จากญี่ปุ่น เสียงดังเหมือนรถบัส ของติดรถคนฟังแล้วไม่สะดุ้งหลบ กลับที่พักเป็นนักรบหน้าจอ i pad


วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560 ตื่นเช้าขึ้นมามีอาการปวดลิ้นปี่ด้านขวา ปวดหน่วง ๆ มีอาการเหมือนจะเป็นไข้ ย้อนอดีตไปเมื่อเดือนเดียวกันใน พ.ศ. 2558 มีอาการคล้ายนัก ทนอยู่ 2 วัน ไปหาหมอกลายเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องฉีดยาฆ่าเชื้อวันละเข็นถึง 14 วัน เช้านี้มีภารกิจจะเข้ากระทรวงเช้าก็ต้องงด ทั้งที่นัดน้องๆจะไปช่วยเจรจาถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาในระดับจังหวัด เป็นนักรบบนไลน์จนดึกดื่นอาจเป็นสาเหตุให้อาการป่วยหนักขึ้นก็ได้ เข้าที่ทำงานประสานเรื่องการรับเด็กเข้าเรียนที่ติดค้างอยู่บ้างส่วนใหญ่ระดับ ม.1และม.4 แถมมากับการปฏิบัติหน้าที่ ศธจ. ตั้งใจจะไปหาหมอที่วัชระคลีนิก สอบถามแล้วไม่มีเครื่องอัลซ่าซาวน์ รพ.ของเทศบาลนครนนทบุรีมีครบ แต่ไม่มั่นใจเรื่องหมอ ตัดสินใจไปโรงพยาบาลรามาธิบดี ห้องฉุกเฉิน ได้ผลทั้งหมอทั้งพยาบาลกุลีกุจอกันดี จับดูดเลือด ใส่น้ำเกลือ พ่นยาขยายหลอดลม วางเรียงกันเป็นแถวกับผู้ป่วยรายอื่น ๆ สารพัดโรคทางอายุรกรรม ถูกย้ายเข้าข้างในเรียกห้องรอดูอาการ ทีม 2 พยาบาลและหมอขยันขันแข็ง พูดจาดี สรุปว่าต้องค้างดูอาการหนึ่งคืนเพราะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95% นอนทั้งชุดที่ไปไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะผู้ป่วยฉุกเฉินอาการพ้นขีดอันตรายตอนไหนเขาก็ให้กลับบ้านได้ มีเวลามองระบบการทำงานของผู้มีใบประกอบวิชาชีพอีก 2 อาชีพประสานกันคือ หมอกับพยาบาล ว่าทำไมเขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประการเแรก ห้องปฏิบัติการ เขาจัดเตรียมไว้ครบถ้วนทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและช่วยชีวิต ประการที่สอง แบ่งงานกันเป็นระบบสอดรับกันเชื่อมโยง ประการที่สาม หน้าที่ใครใครทำชัดเจน ไม่บกพร่อง ประการที่สี่ พระเอกตัวจริง หมอ มีหน้าที่ใช้ความรู้ความสามารถทางการแพทย์ในการวินิจฉัยสั่งการ สั่งแล้วมีคนรับงานไปทำจนเสร็จ หมอจึงกลับมาประเมินใหม่ เมื่อเทียบกับครูผู้มีใบประกอบวิชาชีพเหมือนกัน ต้องทำด้วยตนเองทุกเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ โอกาสที่จะมาคิดไตร่ตรองในการสอนศิษย์รายคนจึงไม่มี ทำไมโรงเรียนไม่มีคนช่วยเตรียมให้ครูอย่างหมอ เพราะทั้งครูและสังคมไม่ได้มองว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ผูกขาดอย่างหมอ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ คิดสร้างโรงเรียนอย่างโรงพยาบาลทำได้ไหม ทำได้สบายมากเพียงตัดโครงการไม่จำเป็นออกไป ผมว่าเงินเหลือเฟือ มีเพื่อนนอกราชการท่านหนึ่งส่งไลน์มาให้อ่านยามดึกอ่านแล้วต้องหยุดเพราะอาการหนักขึ้นท่านช่วยอ่านและตอบเขาก็แล้วกัน " - ตั้งศธจ./ภาค ทำไมในเมื่อหัวใจการศึกษา อยู่โรงเรียน -เป็นศธจ./ภาค แล้วเด็กได้อะไร? ในเมื่อคนจัดการศึกษาคือครูและผอ.ที่อยู่โรงเรียน -มีกศจ.ทำไม?ในเมื่อที่ รร.ก็มี กก.รร.อยู่แล้ว -มีศธจ. ไว้ทำไม?ในเมื่อยังมีผอ สพป./สพม. -จะมีศธ./สพฐ.ไว้ทำไมในเมื่อจะให้ รร.ไปอยู่กับมหาดไทยแล้ว -จะให้ด็กเรียนครูไปทำไมในเมื่อเรียนอะไรก็เป็นครูได้แล้ว -จะอ้างสิทธิกระทรวงครูไทยทำไม?เพราะกระทรวงไหนก็เป็นนายครูอยู่แล้ว..(แม้แต่นายทุนใหญ่ของจังหวัด)....อากาศมันร้อน..ปิดเทอมเลยบ่น..ๆๆ" ตกดึกมีเพื่อนอีกคนส่งมาอีก 2 นัด นัดที่หนึ่ง "เคยพยายามถามคนที่น่าจะมีส่วนร่วมในคำสั่ง 2 ประเด็น 1. ทราบไหมว่าผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 , ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง , ผู้บังคับบัญชา ตามกฎหมายที่ใช้อยู่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันกี่เรื่อง ถ้าคำสั่งกับกฎหมายไม่ชัดเจนในการปฏิบัติผลจะเป็นอย่างไร - ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้ , เสนอว่าเพื่อความชัดเจนของผู้ปฏิบัติขอให้เขียนแผนภูมิโครงสร้างและระบบบริหารที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานและขั้นตอนการปฏิบัติงานทั้งภาพรวมและแต่ละเรื่อง ทั้งส่วนกลาง จังหวัด เขตและสถานศึกษา เพื่อเป็นคู่มือปฏิบัติงาน -ยังไม่มีการตอบสนองข้อเสนอนี้

2. ถามว่าคิดยังไงที่กำหนดให้ศธจ.มีอำนาจในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ทั้งจังหวัด (บางจังหวัดมีมากกว่าหนึ่งหมื่นคน) แต่ข้าราชการในสนง.ศธจ.เองที่มีประมาณ 40 คน ศธจ.ไม่มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้ง ไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัย ไม่มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือน ฯ ในสำนักงานตัวเองเพราะเป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการ (ป.ศธ.) โดยอนุมัติอ.ก.ค.ศ.สป.ศธ. ถ้าการบริหารงานบุคคลในสำนักงานฯ ต้องส่งมาให้ส่วนกลางพิจารณา ถือเป็นเรื่องปกติที่ควรเป็นอย่างนี้หรือควรแก้ไขให้ดีกว่านี้ , ถ้าคนใต้ชายคายังไม่สามารถบรรจุและแต่งตั้งได้ จะไปสั่งบรรจุและแต่งตั้งคนอื่นๆที่อยู่นอกชายคาเพื่ออะไร - ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้

นัดที่สอง คำถามที่ควรหาคำตอบ

- ระบบบริหารงานบุคคลในกระทรวง กรม ใดในประเทศไทย ตั้งแต่มีประเทศไทยมา เคยมีกฎหมาย ระเบียบ แนวปฏิบัติใดกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจและหน้าที่บริหารงานบุคคลต่างสังกัดได้ เช่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนี้ ที่ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน , ถ้าทำเช่นนี้แล้วเชื่อมั่นได้หรือไม่ว่าจะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดีกว่าให้ข้าราชการในสังกัดเดียวกันเป็นผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้ง ซึ่งจะเกี่ยวพันเชื่อมโยงไปถึงการบริหารงานบุคคลเรื่องอื่นๆตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกือบทั้งฉบับ

ผมป่วยคิดไม่ออกอ่านหนังสือไม่ได้ พิมพ์ไลน์สายน้ำเกลือขยับตัวควบคุมส่งเสียงร้องบ่อยพยาบาลต้องดุ เลยนอนฟังเพื่อนคนป่วยครวญครางไปทั้งคืน

นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1


หมายเลขบันทึก: 627310เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2017 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2017 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท