แนะนำ ศพก.อ.เมืองชัยนาท เดินหน้าเพื่อเพื่อนเกษตรกร


แนะนำ ศพก.อ.เมืองชัยนาท เดินหน้าเพื่อเพื่อนเกษตรกร

นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดชัยนาท เยี่ยม ศพก.อำเภอเมืองชัยนาท

“ร้อนๆ เศรษฐกิจไม่ดี ของก็แพง ค่าครองชีพสูง ต้นทุนทำนาสูง ข้าวราคาถูก ไปหาเจ้าหน้าที่ก็ให้แต่คำแนะนำ ให้แต่ความรู้สอนให้แต่ลดต้นทุน จะลดอย่างไร่เมื่อของมันแพง สารพันปัญหา หลายคำที่พร่ำบ่นออกมาจากประชาชน รวมทั้งเกษตรกรที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ” เนื่องจากการถ่ายทอดความรู้ เป็นงานหลักของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรนี่ครับ หรือเรียกกันติดปากว่าเกษตรตำบล “แนะนำ ส่งเสริม เพิ่มพูนผลผลิต คือภารกิจของเกษตรตำบล” เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนจดจำไว้ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่การเป็นเกษตรตำบล(16 ธันวาคม พ.ศ.2534) ดังนั้นจึงต้องสอนและแนะนำ(เพราะไม่มีงบประมาณหรือของแจก) แต่ข้อจำกัดอยู่ที่สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่มีการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)”

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองชัยนาท เป็นอีกศูนย์หนึ่ง ใน 8 ศูนย์ ของจังหวัดชัยนาท ที่จะสร้างและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับชุมชน และเป็นศูนย์กลางการบริการ และแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานต่าง ๆ กับเกษตรกรในชุมชน โดยดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกรต้นแบบคือ นายวินัย จีนจัน (อดีตผู้ใหญ่บ้าน) หมู่ที่ 10 ตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จ.ชัยนาท ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชน ในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญของพื้นที่ ตั้งแต่การผลิต การบริหารจัดการ จนถึงการตลาดได้อย่างดี อีกทั้งจะได้เป็นสถานที่ที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรได้มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ การกำหนดพื้นที่นั้นได้พิจารณาจากความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน คือ สถานที่ที่มีการคมนาคมสะดวก ความพร้อมของเกษตรกรที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ เป็นเกษตรกรเจ้าของแปลงเรียนรู้ ที่มีความรู้ ทักษะและความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ และประสบความสำเร็จในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญของพื้นที่ ตั้งแต่การผลิต การบริหารจัดการ จนถึงการตลาด และเป็นที่ยอมรับสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ในชุมชน(Smart Farmer) มีแปลงเรียนรู้ ซึ่งเป็นแปลงของเกษตรกรต้นแบบเพื่อใช้ในการจัดทำสาธิตและเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนหรือที่เข้ามาเรียนรู้ได้


นายวินัย จีนจัน เกษตรกรต้นแบบ วัย 62 ปี กล่าวว่า ได้ทำอาชีพการเกษตรคือทำนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนางลือ-ท่าชัย จำนวน 15 ไร่มาโดยตลอด ควบคู่กับการเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 จนเกษียณอายุราชการ เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นแกนนำการจัดทำระบบเกษตรแปลงใหญ่(ข้าว) และ ศพก.เมือง แล้ว ได้พยายามปรับปรุงให้สถานที่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้มากยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ และปัจจัยบางส่วนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นกำลังใจในการดำเนินงานปรับปรุงแปลงสาธิตในพื้นที่ 1 ไร่ให้เป็นแปลงเรียนรู้ “ตามรอยพ่อสู่วิถีพอเพียง” โดยยึดการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การจัดทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักสมุนไพรด้วยสารเร่ง พด.7 น้ำหมักชีวภาพ การปลุกผักปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งเดิมได้ปลูกผักในมุ้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง เพิ่มจำนวนแปลงผักนอกมุ้งอีกจำนวน 3 แปลง กว้าง 6 เมตร ยาว 40 เมตร ปลุกมะระจีน พริกซูเปอร์ฮ๊อต บวบ และถั่วฝักยาว สลับสับเปลี่ยนไปตามฤดูกาลและความต้องการของตลาด ทุกชนิดปลอดภัยจากสารพิษใช้สมุนไพรและสารชีวภัณฑ์ อีกทั้งได้ขุดร่องน้ำด้วยแรงกายในยามเช้าตรู่ ได้ร่องน้ำสำหรับเลี้ยงปลาที่ปูด้วยผ้าพลาสติก กว้าง 1 เมตร ลึก 0.5 เมตร ยาว 40 เมตร เสียค่าผ้าพลาสติกจำนวน 1,000 บาท และตาข่ายกันนก จำนวน 4,200 บาท(ตาข่ายเชือกในร่อน 3,700 บาท ตาข่ายเอ็น 500 บาท เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มทุน) เลี้ยงปลาหมอชุมพร จำนวน 2 ร่อง ๆ ละ 250 ตัว ปลาดุกอุย 1 ร่อง 200 ตัว การจัดทำทุกอย่างจะทำบัญชีเพื่อการตรวจสอบและทบทวนเสมอ


สิ่งที่ต้องการให้เกษตรกรได้เข้าเรียนรู้คือการลดต้นทุนการผลิต จากการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ตั้งแต่การเตรียมดิน พันธุ์ การบริหารจัดการที่ถูกต้อง และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งการดำเนินงานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ของ ศพก. มีการจัดทำกิจกรรมปลูกข้าวแบบครบวงจร คือ ผลิต การแปรรูป การผลิตปัจจัยการผลิตสำหรับใช้ในการเกษตรด้วยปัจจัยที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สามารถลดต้นทุนได้อย่างมาก เช่นการจัดทำสารป้องกันแมลงศัตรูพืช ด้วยสารเร่ง พด.7 จากสถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักและย่อยสลายพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช ซึ่งในฤดูการปลูกข้าวปี 2560 นี้ ส่วนหนึ่งได้เตรียมสมุนไพรจากบอระเพ็ดไว้ ด้วยการเตรียมบอระเพ็ด 20 กก. ฝักคูณ หนอนตายหยาก 10 กก. รวมทั้งสิ้น 30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. น้ำ 50 ลิตร สารเร่ง พด.7 1 ซอง (25 กรัม) เพื่อใช้ป้องกันพวกเพลี้ย และหนอน


วิธีทำ สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็ก ทุบหรือตำให้แตก ก่อนนำพืชสมุนไพรและน้ำตาลใส่ลงในถังหมักผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แต่ต้องละลายสารเร่ง พด.7 ในน้ำ 50 ลิตร ผสมให้เข้ากันนาน 5 นาทีก่อนเทสารละลายสารเร่ง พด.7 ใส่ลงในถังหมักคลุกเคล้าหรือคนให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้ง ปิดฝาไม่ต้องสนิท และตั้งไว้ในที่ร่มใช้ระยะเวลาในการหมัก 1 เดือน ในการหมักควรหมั่นสังเกตุการเจริญของจุลินทรีย์ คือเกิดฝ้าของเชื้อจุลินทรีย์เจริญเต็มผิวหน้า หลังจากการหมัก 1-3 วัน จะเกิดฟองก๊าซ CO2 มีฟองก๊ซเกิดขึ้นบนผิวและใต้ผิววัสดุหมัก ได้กลิ่นแอลกอฮอล์ฉุนมาก ความใสของสารละลายที่เป็นของเหลวใสและมีสีเข้ม ในส่วนของการตัดสินใจนำไปใช้นั้น หลังจากการหมักแล้ว 1 เดือน สังเกตุดูว่าการหมักสมบูรณ์แล้วหรือยัง คือการเจริญของจุลินทรีย์ลดลง กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง กลิ่นเปรี้ยวเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ปรากฏฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ต่ำกว่า 4 อัตราการใช้ สารป้องกันแมลงศัตรูพืช 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตรสำหรับพืชไร่ ข้าว และไม้ผล 50 ลิตร สำหรับพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ โดยฉีดพ่นที่ใบ ลำต้น และรดลงดินทุก 20 วัน หรือในช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชระบาดให้ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง

นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวย้ำให้ ศพก.เมือง ดำเนินการตามนโยบายของทางราชการ เมื่อคราวเข้าตรวจเยี่ยมเยียนว่า ขอให้ ศพก.เป็นแหล่งเรียนรู้ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต ตลอดจนยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลผลิต ให้เป็นศูนย์กลางให้เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรต้นแบบ ในลักษณะของเกษตรกรสอนเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดจิตสำนึกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างเหมาะสม และนำองค์ความรู้ที่ได้รับจาก ศพก. ไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และมีระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นจุดที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารและบริการด้านการเกษตรต่าง ๆ กับเกษตรกร อีกทั้งยังใช้เป็นจุดนัดพบในการพบปะพูดคุยของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกร และเกษตรกรกับเกษตรกรด้วยกันเอง เป็นประจำ

ชัด ขำเอี่ยม/รายงาน

หมายเลขบันทึก: 627365เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2017 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2017 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท