KM Workshop ที่ รพ.พระนารายณ์มหาราช (2)


การอบรมครั้งนี้จะใช้ประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นตัวเดินเรื่อง ความรู้ 20 % จะมาจากวิทยากร แต่ 80 % จะมาจากผู้เข้าอบรมเอง

ตอนที่ 1

วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2560

ดิฉันตื่นขึ้นมาตอนเช้า ได้ยินเสียงนกร้องอยู่นอกห้อง เปิดม่านดูพบว่าด้านข้างของโรงแรมมีต้นไม้มากมาย เช้าวันนี้ไม่ค่อยมีแสงแดด ได้เห็นนกหลายชนิดแวะเวียนมาที่ต้นไม้ใกล้ ๆ ที่มีหลายตัวคือนกเขาใหญ่ นกเขาชวา นกปรอด ที่เห็นตัวเดียวและตัวเล็ก แต่ส่งเสียงดังคือนกกระจิบธรรมดา ที่เห็นโดยบังเอิญก่อนจะออกจากห้องไปทำงานคือนกบั้งรอกใหญ่ ใครชอบนกก็ไปแวะดูรูปได้ที่ Facebook


วิทยากรพร้อม นั่งรอรถมารับอยู่เป็นนาน รถก็มาคอยอยู่นานแล้วเช่นกัน แต่อยู่กันคนละที่จึงไม่เจอกันเสียที



พิธีเปิดโดย นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช


ในห้องประชุม


หลังพิธีเปิดการอบรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณธวัชให้ผู้เข้าอบรมทุกคน BAR เขียนความคาดหวัง 3 ข้อจากการอบรมครั้งนี้ ให้บางคนได้พูดบอกกันด้วย อ้อใหญ่ เปรมสุรีณ์ ทำกิจกรรมให้ผู้เข้าประชุมจากที่ต่าง ๆ ได้รู้จักกันด้วยวิธีให้สวัสดีกันแบบหลายชาติ (ไทย อินเดีย เกาหลี ฝรั่ง ฝรั่งเศศ) แล้วเช็คว่ามีคนจำเพื่อน 5 คนที่เพิ่งรู้จักกันได้ไหม ก่อนจะพัก 15 นาที


ผู้เข้าอบรมทำความรู้จักกัน


หลังพักอ้อใหญ่กระตุ้นผู้เข้าอบรมด้วยกิจกรรมออกกำลังกายและบวกเลข คุณธวัชบอกว่าจะมีกิจกรรมสนุก ๆ เป็นระยะ ๆ เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศสบาย ๆ และผ่อนคลาย การอบรมครั้งนี้จะใช้ประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นตัวเดินเรื่อง ความรู้ 20 % จะมาจากวิทยากร แต่ 80 % จะมาจากผู้เข้าอบรมเอง ช่วงแรกจะให้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ทีมวิทยากรเตรียมมาก่อน ให้ทุกคนนั่งตามสบายที่พื้นก็ได้ที่เก้าอี้ก็ได้

เราฉาย VDO เรื่องแรกของเครือข่ายเบาหวาน ที่เรียนรู้และเอา KM ไปใช้ สร้างความเปลี่ยนแปลงในการทำงานและคนทำงาน มีตัวอย่างที่ รพร.ธาตุพนม รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ สสจ.สกลนคร ที่มีทีมจาก รพร.ธาตุพนมและ รพ.ครบุรี ไปร่วมด้วย หลังจากนั้นเราให้ผู้เข้าประชุมสะท้อนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจาก VDO เรื่องนี้ สะท้อนได้ทั้งจากความรู้สึกและการจับประเด็น ผู้เข้าอบรมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


นั่งดู VDO อย่างตั้งใจ


ต่อจากนั้นคุณธวัชให้ผู้เข้าอบรมจับคู่กัน ฝึกเล่าเรื่องและฝึกฟัง โจทย์การคุยคือให้เอาเรื่องจริงมาแชร์กันรอบละ 4 นาที จะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็ได้ รอบแรกให้เล่า “เรื่องแย่ ๆ ที่ยังแก้ไขไม่ได้” รอบสองเป็นเรื่อง “เรื่องดี ๆ ที่ประทับใจ” แล้วให้ผู้เข้าอบรมบอกว่าการคุยกันสองแบบนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ผู้เข้าอบรมสะท้อนได้อย่างน่าสนใจว่าเวลาคุยเรื่องแย่ ๆ นั้นคนเล่ามีความรู้สึกอึดอัด ไม่อยากเล่า พูดไม่ค่อยออก แต่ถ้าเป็นเรื่องดี คนฟังเห็นว่าสีหน้าของคนเล่ามีความสุข ตาเป็นประกาย คนฟังรู้สึกประทับใจ อยากจะเล่าให้คนอื่นฟังด้วย เป็นต้น


ฝึกหัดการเล่าเรื่องและการฟัง


คุณธวัชให้ผู้เข้าอบรมให้คะแนนการฟังของตนเองในขณะที่เพื่อนเล่า ว่าอยู่กับความคิดของตนเองหรืออยู่กับเพื่อน พร้อมบอกเหตุผล ไม่มีผู้เข้าอบรมคนใดที่ให้คะแนนตนเองเต็มสิบ มีหลายเหตุผลที่ทำให้ได้คะแนนไม่เต็ม เช่น เผลอไปพูดเรื่องของตัวเอง ขณะฟังมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา คิดไปด้วย ทำให้การฟังลดลง มีเรื่องในหัวที่คล้ายกันจึงคิดไปด้วย เป็นต้น คุณธวัชอธิบายเพิ่มเติมว่าการที่ให้ทำกิจกรรมก็เพื่อจะบอกว่าการเรียนจากประสบการณ์เป็นการเรียนจากการพูดและการฟัง ถ้าการฟังไม่ดี ติดอยู่กับความคิดของตัวเอง จะมองไม่เห็นสิ่งดี ๆ ที่ออกมาจากเรื่องเล่า เราได้ฟังแต่ไม่ได้ยินความจริงนั้น จะไม่ได้อะไรใหม่ หากเราฟังด้วยใจเดี๋ยวก็จะปิ๊งแว๊บสิ่งดี ๆ สองวันนี้ผู้เข้าอบรมจะเรียนจากความสำเร็จเล็ก ๆ เรียนจากเพื่อน การเรียนที่หน้างานจริงมีผลต่อการพัฒนาทักษะมากกว่าการอบรม การเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ต้องใช้การพูดและการฟังอย่างมีสติ ความรู้จะไม่เข้าเราถ้าเราพูดมากกว่าฟัง

เราพักทานอาหารกลางวัน อาหารมื้อนี้มีเมนูน้ำพริกและผักด้วย แต่ตบท้ายด้วยทุเรียนหมอนทองที่คุณหมอนิพัธสั่งมา สาวสองอ้อกินไปบ่นไปเพราะถ้าน้ำหนักตัวขึ้น หัวหน้าหน่วยงานที่สังกัดจะปรับเป็นเงิน


เยี่ยมห้องทำงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาล


ภาคบ่าย เราให้ผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่มย่อยกลุ่มละ 6-7 คน โดยเอาตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ 6 ตัวเป็นเป้าหมายของงาน งานของใครตรงกับเป้าหมายข้อใดก็เข้าในกลุ่มนั้น เป้าหมายบางข้อมีคนเยอะมาก ก็ให้แบ่งเป็นหลายกลุ่ม ให้ผู้เข้าอบรมผลัดกันเล่าเรื่องการทำงาน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่าง ๆ คุณธวัชแนะนำสิ่งที่ผู้เล่าและผู้ฟังควรทำและไม่ควรทำ เมื่อเล่ากันครบทุกคนแล้วก็ให้ช่วยกันเขียนประเด็นความรู้ลงในแผ่นกระดาษที่เตรียมเอาไว้ให้ แล้วเอาประเด็นความรู้เหล่านั้นมาทำเป็นแผนที่ความคิดที่ประกอบด้วยแก่นแกน กิ่งแก้ว และกิ่งก้อย ตามลำดับความสำคัญของความรู้ (ดูจากผลกระทบต่อแก่นแกนและโอกาสในการนำไปใช้)


เขียนประเด็นความรู้จากเรื่องเล่า


ทำ mind map


กิจกรรมสุดท้ายในวันนี้คือให้แต่ละกลุ่มนำเสนอเรื่องเล่าที่กลุ่มประทับใจมากที่สุด กลุ่มละหนึ่งเรื่อง โดยบอกว่าความสำเร็จของเรื่องนั้นคืออะไร มีวิธีการ (how to) อะไรบ้างที่ทำแล้วส่งผลให้เกิดความสำเร็จ เหตุใดกลุ่มจึงเลือกเรื่องนี้ โดยคุณธวัชคอยสรุปประเด็นสำคัญของแต่ละเรื่องให้ด้วย คนที่ออกมานำเสนอมักเป็นเจ้าของเรื่องเล่านั้นเอง ทุกคนบอกว่าตื่นเต้นที่ได้ออกมาพูด แต่น้ำเสียงก็แฝงความดีใจ/ภูมิใจในผลงานของตนเอง

เรากลับที่พักไปพักผ่อน รอเวลาออกไปทานอาหารเย็น ระหว่างที่รอรถตู้มารับเราก็หารือเตรียมกิจกรรมและแบ่งหน้าที่กันสำหรับการอบรมในวันพรุ่งนี้เสร็จเรียบร้อย เย็นนี้คุณหมอนิพัธและคณะพาพวกเราไปทานข้าวต้ม (ข้าวสวยก็ได้) ที่มีกับข้าวหลายอย่างและปิดท้ายด้วยโรตีจากร้านใกล้ ๆ

วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560

หมายเลขบันทึก: 629193เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท