เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 4 - 9 มิถุนายน 2560



12 มิถุนายน 2560

เรียน ผู้บริหาร เพื่อนครูและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2560 อาการไม่ดีมาแต่เมื่อวาน รู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลีย สมองเบลอ แต่ก็พยายามอดทน ตื่นขึ้นแต่งตัวตั้งแต่ตี 4 เพราะเขานัดหมายรถออกเวลา 06.00 น. เพื่อไปชมเทศกาลกุหลาบที่ลือชื่อของบัลแกเรีย ที่เมือง Kazanlak ระยะทาง 200 กม จาก Burgas สมาชิกเห็นแล้วต่างเห็นตรงกันว่าให้พักผ่อนที่โรงแรม ลุงปราโมทย์ ขจรภัย รับอาสาอยู่เป็นเพื่อน การเจ็บป่วยในต่างแดนเป็นเรื่องลำบาก เพราะการสื่อภาษา คุณภาพทางการแพทย์ ล้วนเป็นเรื่องให้วิตกกังวลทั้งสิ้น กลับขึ้นนอนพักจน 08:30 น. ลงไปทานอาหารที่ชั้น 2 ของโรงแรม วันนี้ทานขนมปังแผ่นหนึ่ง มะเขือเทศและแตงกวา พร้อมโยเกิต 1 ถ้วย กลับขึ้นไปนอนต่อจน 11:30 น. ลงมากินข้าวกับลุงปราโมทย์ ที่ห้องอาหาร Happy หลังโรงแรม กลับขึ้นไปนอนอีกรอบนั่งอ่านหนังสือการจัดการศึกษาของบัลแกเรียแบบนั่งแกะภาษาบัลแกเรียเป็นอังกฤษและจากอังกฤษเป็นไทยแบบทุลักทุเลพอสมควร เรื่องระบบการศึกษาของประเทศบัลแกเรีย การศึกษาในบัลแกเรียได้รับการสนับสนุนโดยรัฐส่วนใหญ่ผ่านกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ การศึกษาในโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กตั้งแต่อายุเจ็ดถึงสิบหกปี ระบบการศึกษาของบัลแกเรียอยู่ภายใต้ประเพณีของทวีปยุโรป ประเภทของโรงเรียนมัธยมศึกษา คือโรงเรียนการศึกษาทั่วไป โรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนต่างประเทศ โรงเรียนเอกชนยังมีการจัดตั้งและพวกเขากำลังเริ่มต้นในการแข่งขันประสบความสำเร็จกับโรงเรียนของรัฐ มีสถาบันการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าห้าสิบแห่งในบัลแกเรียที่เสนอหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา ปีการศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยบัลแกเรียส่วนใหญ่จะเริ่มประมาณวันที่ 1 ตุลาคมและประกอบด้วยภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ ปีการศึกษาครอบคลุมถึง 30 สัปดาห์ เรียนมักพบสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 75 นาทีหรือสองช่วงเวลา 45 นาทีโดยแบ่งเป็นช่วง 15 นาที

แค่นี้ก็เพลียสมองหนักขึ้นอีก จนเวลา 15:00 น. ไปเดินถนนด้านหลังโรงแรมไปจนถึงร้าน Rose Bulgaria เจอลุงปราโมทย์พอดี เข้าไปซื้อของฝากจำพวกที่เป็นผลิตภัณฑ์ดอกกุหลาบจนคิดว่าน่าจะจบรายการ กลับมาแวะทานน้ำชากาแฟ นั่งคุยพักผ่อนแบบชาว Burgasรุ่นปู่คุยกัน สิ่งที่รบกวนความสุขคือควันบุหรี่ คนบัลแกเรียสูบบุหรี่ทุกเพศทุกวัย ใครเป็นภูมิแพ้จะสู้ไม่ไหว เดินกลับห้องพัก เย็นนี้ต้มมาม่ากินเพราะเลี่ยนอาหารฝรั่งเต็มที สมาชิกที่ไปชมงานเทศกาลกุหลาบกลับกันมาแบบหมดเรี่ยวแรง บอกว่าดีแล้วที่ไม่ไป ทั้งร้อนทั้งเหม็นควันบุหรี่ แต่ดูภาพที่ถ่ายกันมาก็สนุกดี

















วันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2560 โปรแกรมไปชมหมู่บ้านวัฒนธรรม แต่งตัวลงมากินข้าวและเตรียมพร้อมจะไปกับเขา แต่ประเมินอาการตัวเองจะเสี่ยงเกินไป เดี๋ยวเป็นภาระคนอื่นเขา อีกประการหนึ่งเมืองนี้ ผมเที่ยวทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ปี 2013 เลยอยู่แถวๆโรงแรม ไปหาของจำเป็นจำพวกถุงเท้าชุดชั้นในที่ร้าน 1 ยูโร จากนั้นเดินเก็บภาพถนนหน้าโรงแรม ไปจนถึงสถานีรถไฟ กลับที่พักนั่งแกะภาษาบัลแกเรียต่อจากเมื่อวาน วันนี้เป็นเรื่อง การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา: ทั่วไป ผู้มีอำนาจ: กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ เว็บไซต์ในบัลแกเรีย: www.minedu.government.bg กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ สร้างและใช้นโยบายการศึกษาแห่งชาติและวางแผนและจัดการพัฒนาด้านการศึกษาด้วยการรวมโครงการระยะยาวและโครงการด้านการดำเนินงานการศึกษาในประเทศบัลแกเรีย เป็นภาคบังคับตั้งแต่อายุ 7 ถึง 16 ปีเด็ก ๆ จะต้องเรียนจบในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โครงสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เกรด 1-8) ในบัลแกเรียประกอบด้วยโรงเรียนประถม (ระดับ 1-4) และโรงเรียนระดับก่อนมัธยมศึกษา (ระดับ 5-8) ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีอายุ 4 หรือ 5 ปีหลังจากได้รับใบประกาศนียบัตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีโรงเรียนสามประเภทคือโรงเรียนมัธยมปลาย (ทั่วไป) โรงเรียนที่เน้นรายละเอียดและโรงเรียนอาชีวศึกษาด้านเทคนิค เกณฑ์การรับเข้าศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) ฟรียกเว้นในโรงเรียนเอกชน นักเรียนสามารถเข้าสู่โรงเรียนที่มีรายละเอียดได้เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 หรือ 8 หลังจากผ่านการสอบเข้าโรงเรียนตามหลักเกณฑ์ของโรงเรียน (ภาษาแม่ / วรรณคดีคณิตศาสตร์มนุษยศาสตร์เป็นต้น) หลักสูตรเป็นแบบครบวงจรสำหรับทุกโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยวิชาต่างๆเช่นวรรณคดี (บัลแกเรีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน) คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ประวัติภูมิศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จิตวิทยาจริยธรรมและกฎหมาย ปรัชญา ดนตรีศิลปะการฝึกอาชีพและ พลศึกษา ระดับหลักสูตรสั้น ๆได้แก่ A.P. หรือ Honor Courses ในระบบการศึกษาของบัลแกเรีย อย่างไรก็ตามในสองปีสุดท้ายของการศึกษานักเรียนจะต้องเรียนหลักสูตรขั้นสูงสองหรือสามวิชา ปีการศึกษา ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคคือช่วงกลางเดือนกันยายนถึงปลายเดือนมกราคมและช่วงที่สอง - ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนมิถุนายน ในตอนท้ายของแต่ละเทอมนักเรียนจะได้รับคะแนนในแต่ละวิชาและในตอนท้ายของปีการศึกษาพวกเขาได้รับคะแนนสุดท้ายในวิชาเอกสารภาคนิพนธ์ เวลาเที่ยงวันนี้ อาศัยร้าน Happy หลังโรงแรม สเต็กคอหมูกับข้าวเปล่า บ่ายเดินเล่นถนนหลังโรงแรมตลอดสายจะไปดูร้านของเก่ามาคราวก่อนมีมีดติดปลายปืน ปลยบ 88 จำหน่าย กะว่าถ้าเจออีกจะซื้อ แต่ก็ไม่เจออีกจึงไม่ได้ซื้ออะไรเพิ่ม เพราะน้ำหนักกระเป๋า 23 ก.ก. กว่าแล้ว เดินผ่านร้านพิชซ่าเห็นคนรุมซื้อจึงซื้อมาลอง1 ชิ้น 1.2 levสมราคา ตรงข้ามมีร้าน ไอศกริม 0.8 lev(1 lev = 20 บาท)ใส่ถ้วยแบบกินได้อร่อยมาก อิ่มแล้ว ขึ้นห้องพักจัดกระเป๋า พกตาชั่งแบบหิ้วได้ของไทยแอร์เอเซีย มาทดลองชั่งน้ำหนัก ยังเกินอยู่หน่อย





วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2560 ตื่นตี 3 มาอาบน้ำแต่งตัว ตี 4 ลากกระเป๋า ลงมาที่ล็อปบี้โรงแรม สมาชิกทยอยกันมาจนครบยกเว้น ฟิลิปปินส์ 2 ท่าน ไปขึ้นเครื่องตอนตี 3 จาก Burgas ไป Sofia คงทนนั่งรถนานไม่ไหวเพราะ ดร.ไซมอนด์ไม่ค่อยสบายเหมือนกัน ผมเองสมาชิกก็ถามแต่เมื่อคืนว่าจะบินไปไหม บอกว่าไปไหว ค่าโดยสารเครื่องบินแค่ 25 US$ แต่ไม่อยากแยกกลุ่ม จนเวลา 5:00 น. เริ่มออกเดินทางใช้ทางด่วนเส้นทางเดียวกับขามา ที่ต้องรีบ เพราะอินเดีย 4 ท่านต้องขึ้นเครื่องที่ Sofia เวลา 10:30 น. เดินทางกลับ Lucknow รถฝ่าสายหมอกที่ลงทึบจนมองเห็นไม่เกิน 20 เมตร ดีที่เป็นบางช่วงของถนน สองข้างทางเป็นพืชไร่สุดสายตา จะหาชุมชนติดทางด่วนยากเต็มที รถแวะให้เข้าห้องน้ำเป็นระยะๆ เขาสามารถทำเวลาถึงสนามบิน 10:00 น. พวกเราจะเดินทางเวลา 18.45 น. แต่สายการบินยอมให้เช็คอินก่อนได้ กำลังลุ้นว่าจะต้องเอาของในกระเป๋าใบใหญ่ทิ้งบ้างหรือไม่ เพราะเขาให้ 23 กก. ของผม 24 กก.กว่า เขาใจดีให้ผ่าน มีเวลาหลายชั่วโมงในการรอเครื่อง รถคันเดิมไปส่งพวกเราไปชมความงดงามของ มหาวิหารอเล็กซานเดอร์ เนฟสกี (Alexander Nevsky Cathedral) ซึ่งถือเป็นมหาวิหารคริสตจักรนิกายออร์โธด๊อกซ์ที่ใหญ่อันดับต้นๆของภูมิภาคนี้ มหาวิหารอเล็กซานเดอร์ เนฟสกี เป็นมหาวิหารที่การก่อสร้างในแบบโดมหลังคาทรงกลมสีเขียว ตกแต่งด้วยหินอ่อนที่วิจิตรตระการตา คนขับรถบอกว่า 4 โมงเย็นจะมารับ วิหารแห่งนี้มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมที่ลงตัว ด้านในมีการตกแต่งสวยงาม ออกจากวิหารพวกเราเดินหาร้านอาหา เขาจะเปิดสายเกือบเที่ยง เดินลัดเลาะไปรอบอนุสาวรีย์สี่แยกสมัชชาแห่งชาติ(The National Assembly Square) บริเวณนี้จะมีตึก Bulgarian National Assembly ตั้งเป็นสง่า เขียนสโลแกนไว้ว่า "Unity makes strength" เดินเลี้ยวขวาและตรงไปสุดซอยจนพบร้านเสต็ก และร้านสปาเก็ตตี้ ผม รองดำ พึ่ง เลือกร้านสปาร์เก็ตตี้ ที่เหลือไปร้านสเต็ก ความจริงทุกร้านก็มีให้สั่งได้ทั้ง 2 อย่าง ผมเลี้ยงไป 24 ยูโรสมาชิกเดินหาร้านค้าซื้อของต่อ ผมประเมินกำลังตัวเองแล้ว ไม่ควรเดินมาก กลับไปสนามบินดีกว่า เดินออกมาถึงถนนสายหลักสี่แยกสมัชชาแห่งชาติเรียกแท็กซี่มิเตอร์ไปสนามบินโซเฟีย เทอร์มินอล 2 คนขับหนุ่มมากคุยสนุกเราบอกว่ามาจากไทยแลนด์เขาฟังเป็นไต้หวัน มิเตอร์ขึ้น 12 Lev ผมแถมให้ไป 20 Lev. เขาบอกว่า Good money ที่สนามบิน มี wifi ฟรีให้ใช้ พอแก้เหงาไปได้ เดินอ่านป้ายอ่านแผ่นปลิวทำใหทราบว่า ชื่อเต็มของบัลแกเรีย คือ THE REPUBLIC OF BULGARIA ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกของคาบสมุทรบอลข่าน มีประเทศโรมาเนียอยู่ทางเหนือ มีแม่น้ำดานูบกั้นพรมแดน ทางตอนทิศใต้จรดตุรกีและกรีซ ทางตะวันตกมี ยูโกสลาฟ มาซิโดเนีย และเซอร์เบีย ส่วนตะวันออกก็จรดทะเลดำ ธงชาติของเขาเรียงสขาว สีเขียว และสีแดงลงมาตามลำดับ ตราสัญญลักษณ์ เป็นมงกุฏทองคำและสิงโตทองคำยืนอยู่บนขาหลังของมันปกป้องโล่สีแดงเข้ม สิงโตขนาบข้างด้วยสิงโตอีกสองตัวถือโล่ที่มีมงกุฏขนาดใหญ่เหนือมันและมีคำขวัญว่า "Unity produces power." การปกครองของเขาเป็นระบบรัฐสภาแบบประธานาธิบดี มี Sofia เป็นเมืองหลวง มีพื้นที่ 110,993 ตร.กม. ภูมิประเทศแตกต่างกันความสูงเฉลี่ย 470 เมตร ประชากร 7,364,570 คน(ค.ศ.2011) การนับถือศาสนา Eastern Orthodox 76% Islam 10% Roman Catholicism 12.8% อื่นๆ 1.2% ก่อนเวลาสมาชิกกลับกันมาผ่านเข้าไปด้านในแล้ว ผมจึงตามไป คนน้อยไม่ยุ่งยาก เครื่องบินไปเวียนนาเป็นสายการบินเดียวกับที่เราจะกลับกรุงเทพฯ จึงโหลดกระเป๋าต่อเนื่องกันไป เวลา 18:15 น. ผ่าน Gate A1 ขึ้นรถบัสไปขึ้นเครื่องที่กลางลานจอด ใช้เวลาบินประมาณชั่วโมงครึ่งก็ถึงสนามบินเวียนนา ดูเวลา 20:30 น. ขึ้นเครื่อง 23:15 น. มีเวลาซื้อของ และนั่งเล่นของที่นับว่าถูกกว่าบ้านเราคือช็อกโกเล็ต แวะดูกระเป๋าสตางค์ยี่ห้อ PICARD ของเยอรมัน ใบใหญ่หนังนิ่ม มีที่ใส่บัตรเยอะตัดใจซื้อมา 1 ใบ 149 ยูโร นั่งเตร่หน้า Gate จนถึงเวลา 23:30 เขาเรียกขึ้นเครื่องทาง Gate G3 เที่ยวนี้คนน้อยตีตั๋วนอนได้ สบายใจ









วันพุธที่ 7 มิถุนายน 2560 การข้ามเส้นเวลาทำให้อายุคนเราหนุ่มขึ้นหรือแก่ลงเพียงชั่วยาม อยู่บัลแกเรีย 1 ทุ่ม เท่ากับเวียนนา 6 โมงเย็น แต่เมืองไทย 5 ทุ่มแล้ว นี่คือเรื่องของเวลา เที่ยวบิน OS25 ออกจากเวียนนาเกือบเที่ยงคืน ตรงกับเวลาบ้านเราตี 5 บินตรงมากรุงเทพฯ ถึงสุวรรณภูมิเวลา 14:20 น. ใช้เวลา 9 ชั่วโมง บนเครื่องบินทำอะไรในเวลา 9 ชั่วโมง การรับประทานอาหารย่อมเป็นไปตามเวลาที่เขาบริการทั้งเครื่องดื่มและอาหาร เครื่องดื่มมีทั้งไวน์ เบียร์ น้ำอ้ดลม น้ำผลไม้ ชา และกาแฟ อาหารหลักมีให้เลือกแค่ไก่ หรือปลา ขนมปังหยิบเอาเท่าที่กินหมด อิ่มแล้วนั่งดูหนัง ฟังเพลง จากจอที่อยู่ตรงหน้า เขาแจกหูฟังให้ด้วย หรือหากต้องการรู้ว่าเราบินมาถึงจุดไหน ก็มีช้อมูลการบินแสดงให้ดูได้ นาน ๆ ก็เดินไปเข้าห้องน้ำเสียครั้งหนึ่ง ส่วนการนอนบนเที่ยวบินนี้ เนื่องจากผู้โดยสารน้อย ทำให้นอนยาวไปตามแถวเก้าอี้ สำหรับความบันเทิงผ่านจอมีหนังให้ดูหลายรูปแบบ เพลงหลายแนว ต้องเรียกว่ากิน ๆ นอน ๆ ไปเรื่อย ๆ เรื่อง wifi บนเครื่องบินเคยเห็นแต่ NokAir บางเที่ยวบอกว่ามีบริการเมื่อลองต่อก็กลายเป็นเว็บไซด์โฆษณาของนกแอร์ นั่งเครื่องระหว่างประเทศยังไม่เคยเห็นใครประชาสัมพันธ์ว่าบริการ wifi มาถึงสุวรรณภูมิ 14 นาฬิกาเศษ หลังผ่าน ตม. รอกระเป๋า รถมารับใหม่กับบาส นั่งทวนเวลาเป็นของไทย ผมออกเดินทางกลับวันที่ 6 มิถุนายน 2560 เวลา(บ้านเรา) 09:00 น. ถึงสุวรรณภูมิ เวลา 14:20 น. วันที่ 7 มิถุนายน 2560 รวมเวลาเดินทางแบบไม่ได้อาบน้ำเลย 17 ชั่วโมง การอาบน้ำน่าจะเป็นกอจกรรมต้น ๆ เมื่อกลับถึงบ้าน

วันพฤหหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2560 ภาคเช้ามีภารกิจส่วนตัวที่ปทุมธานี ทั้งที่มีเรื่องให้ต้องมาตัดสินใจหลายเรื่องเกี่ยวกับคำขอของศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี เท่าที่ฟังมามีสับสนหลายเรื่อง แต่ไม่เป็นไรค่อย ๆ แก้กันไป ความจริงที่ไม่สมัครคัดเลือกเป็นศึกษาธิการจังหวัด เพราะไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความยุ่งเหยิงทั้งปวง แต่เมื่ออยู่ในระบบก็หลีกหนีคงไม่พ้นไปทุกเรื่อง คนที่อยากเป็นใหญ่เป็นโตก็ควรจะนีกภาพอนาคตออกจะเผชิญกับอะไรบ้าง ตัวเองจะแก้ปัญหาในหน่วยงานตัวเองอย่างไร การขอก็ต้องมีไมตรีแบบกัลยาณมิตรเพราะไม่ใช่จะสั่งเอาได้ทุกเรื่อง หลายเรื่องมีระเบียบให้ต้องปฏิบัติก็ต้องมีขั้นตอน ผมจะไม่ยอมกระทำผิดในปีสุดท้ายของอายุราชการ อำนาจเรื่องนี้ตามคำสั่ง สพฐ.ที่ 108/2547 เรื่อง มอบอำนาจการมอบโอนพัสดุ สั่ง ณ วันที่ 9 มกราคม 2547 สมัยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นเลขาธิการ กพฐ. มอบอำนาจให้ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจในการมอบพัสดุในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้หน่วยงานในสังกัด สพฐ. จึงช้ดเจนว่า อำนาจการโอนพัสดุไปให้ สนง.ศธจ.ไม่ใช่ของ ผอ.เขต ส่วนการให้ยืมต้องค้นหากันอีก เรื่องนี้เหล่านี้ถ้าทำไปโดยไม่มีอำนาจอาจติดคุกเหมือนอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาลฯ ที่ศาลตัดสินจำคัก5 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท หลังเอาทรัพย์สินพร้อมรถยนต์ 4 คัน ไปใช้ในงานแต่งบุตรสาวทั้งที่บ้านพักและโรงแรม เจ้าตัวรับสารภาพไม่สู้คดีรวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายคืนรัฐ ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท โดยรอลงอาญา 2 ปี หมู มาลี โภชนาทาน หน้าห้องสมัยอยู่ สพป.ปทุมธานี เขต 1 มากราบลาย้ายกลับชุมพร ก็อวยพรให้มีความสุขกับการทำงาน ได้อยู่กับพ่อแม่นับว่าประเสริฐนัก งาน สช.ยังมีปัญหาเพราะคำสั่งโอนคนไปแล้ว อำนาจยังไม่ไป ศธจ.ต้องบันทึกมาให้ ผอ.เขต ลงนามแต่ดูแล้วเขาคงไม่ลง เพราะคิดว่าบิ๊กกว่า ก็แล้วแต่จะตัดสินใจเอา เสียหาย จะโทษใครดี ไม่ทราบครับเจ้านาย






วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560 ตื่นเช้าตรู่เพราะเป็นวันที่มีนัดสำคัญ ศึกษาธิการจังหวัดอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น จะมาลงนาม Framework of Agreement ในความร่วมมือทางวิชาการภายใต้งานวิจัย AKITA ACTION เรามีโรงเรียนประชาอุปภัมภ์เข้าร่วมโครงการ 1 โรง เคยไปดูผ่านไปหลายปีคงมีอะไรให้ดูชม ฤดูหนาว หนาวจนติดลบ เช่นเดียวกับปีนี้ หิมะกำลังลง หลังพิธีลงนาม ท่านศึกษาธิการจังหวัดอะคิตะ Mr. SUSUMU YONETA ได้บรรยายทฤษฎีและข้อค้นพบในการปฏิบัติการเรียนการสอนแบบ AKITA ACTION ต้องชมเชยว่าชายวัย 65 ปีท่านนี้มีความเก่งในทางวิชาการในระดับที่น่ายกย่อง เกือบ 2 ชั่วโมงที่ผู้บริหารโรงเรียนทั้งเขต ได้ทำความเข้าใจกับนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ถือเอาตัวเด็กเป็นสำคัญ อย่างที่เราเขียนไว้ในหลักสูตร แต่ของเขาอยู่ในการเรียนการสอนประจำวันเป็นปกติวิสัย 4 ขั้นตอน คือ (1) รู้จักตั้งข้อสังเกตในการเรียนรู้ (2) มีความคิดเป็นของตนเอง (3) อภิปรายกันเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม (4) ทบทวนเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ เที่ยงจัดเลี้ยงตามธรรมเนียม อิ่มแล้วส่งแขกเพราะท่านจะไปเยี่ยมสาธิตการเรียนการสอนที่โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ แบะคืนนี้จะกลับญี่ปุ่น ส่วนทีมงานยังอยู่จนถึงวันเสาร์ บ่ายเป็นการประชุมผู้บริหารประจำเดือนมิถุนายน 2560 ต่อเนื่องกันไป ได้เชิญท่านปราโมทย์ ขจรภัย มาบรรยายการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างไทยกับนานาชาติ ได้เสียงตอบรับด้วยดี จากนั้นเป็นการแจ้งข้อราชการ







เลิกประชุมกลับเขต ปรับเครื่องแต่งกายเล็กน้อยเพื่อไปงานเลี้ยงรับรองคณะจากญี่ปุ่นที่ห้องอาหารระเบียงน้ำ ใกล้วัดแคนอก กำหนดเดิมจะลงเรือล่องเจ้าพระยา รถติดคณะมาถึงช้า ฝนเริ่มลงเม็ด จึงเหลือการกินกันที่ร้านอาหาร รายการอาหารสั่งของอร่อยแบบไทย ๆ มาให้กิน เช่น กุ้งแม่น้ำเผา ต้มยำกุ้ง ผลไม้มีทุเรียนหมอนทอง มังคุด เรียกว่ากินกันจนอิ่มหนำสำราญ และประทับใจ มิตรภาพมั่นคงและยั่งยืน 友情の持続可能性

นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1

หมายเลขบันทึก: 629623เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2017 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2017 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท