เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 12 - 16 มิถุนายน 2560




21 มิถุนายน 2560

เรียน ผู้บริหาร เพื่อนครูและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2560 วันนี้มอบหมายท่านรอง ฯ พีรากร บุนนาค ไปประชุมเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่จัดโดย สพร สพฐ. ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์เพราะในคำสั่งบอกว่า....หรือผู้แทน แปลว่าไม่ไปเองก็ได้ ที่ไม่ไปด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกสุขภาพไม่ค่อยดี ตั้งแต่กลับมาจากบัลแกเรียต้องเข้าโรงซ่อมใหญ่ ประการที่สอง ไม่ค่อยจะมีใจกับคลัสเตอร์มากนัก เพราะลึก ๆ รู้สึกได้ถึงความไม่จริงใจต่อกัน โดยเฉพาะจากคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เข้าสำนักงานเขตพบคุณหมอพรรษชล บุญคง กศจ.นนทบุรี แต่เช้า ได้มอบของฝากจากบัลแกเรียเล็กๆน้อย ๆ ให้ใช้สอย สาย ๆ ประชุมกรรมการจัดสรรเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้มาอย่างละชุด จัดสรรให้คนอาวุโสไป เลิกประชุมนั่งทำงานเอกสารจนเกือบเที่ยง ชวนสมาชิกไปทานข้าวหมกไก่สยามตรงข้ามโรงเรียนหอวังนนทบุรี เคยไปกินบ่อยตอนอยู่ปทุมธานี มีทั้งข้าวหมกไก่ หมกเนื้อ ซุปไก่ ซุปเนื้อ และซุปปลาหมึก นอกจากนั้นยังมีข้าวเหนียวปิ้งไส้เผือก ไส้หวาน ไส้เค็ม อีกสารพัด บ่ายกลับมาทำงานต่อจนเย็น

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2560 เช้านี้รถติดพอควรเลยแวะเยี่ยมพรรคพวกที่มาพักโรงแรมริชมอนด์ เขามาอบรมที่ ก.พ. สายๆเข้าที่ทำงาน ผอ.กลุ่มอำนวยการ บอกว่าจะไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินซึ่งป่วยร้กษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เลยให้เบิกเงินสวัสดิการไปเยี่ยม 3 พันบาท เท่าที่เจ้าตัวเคยเล่าให้ฟังเขาป่วยเนื่องจากระบบเลือด ต้องให้เลือดเป็นระยะ ๆ อาการคือหมดแรงอ่อนกำลัง หน้าซีดจนคล้ำ คงต้องพึ่งหมอและเตรียมเงินไว้เยอะๆ บ่ายทำงานเอกสาร แต่ก็เบาบางกว่าสมัยปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด

วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2560 เป็นวันแรกที่ต้องเข้าคอร์ทเตรียมตัวตรวจสุขภาพครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งในชีวิตหมอให้ทานอาหารอ่อน ๆ ต่อเนื่องจนถึงเช้าวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ห้ามทานผลไม้ นม ผัก เพราะเขาต้องการเตรียมระบบให้สะอาดที่สุด สาย ๆ ผอ.รร.อนุบาลบางกรวยหารือเรื่องผู้บริจาคสร้างอาคารเรียน มูลค่า 16 ล้านบาท มีเรื่องพิธีเปิดอาคาร และการลดหย่อนภาษี พอได้แนวทางเขาก็ลากลับกันไป ทำงานแฟ้มต่อทั้งเช้าและบ่าย

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2560 วันนี้เขียน comment ได้ 2 บท เพื่อออกสื่อออนไลน์ตามคำเรียกร้องของ ผอ.เขต รุ่นน้อง เรื่องแรกเกี่ยวกับหลักการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา "ทำไมกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลจึงให้อำนาจในการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการไว้ที่ผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชามีอำนาจต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในการตรวจสอบและแก้ไขการปฏิบัติราชการ 2 เรื่องใหญ่ คือ (1) ตรวจสอบและแก้ไขว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย อำนาจนี้เป็นหลักเบื้องต้นของการกระทำทางปกครองที่ต้องชอบด้วยกฎหมายเสมอ ผู้บังคับบัญชาทุกคนจึงได้อำนาจนี้ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งในการบังคับบัญชา รวมทั้งผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนดก็มีหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ด้วย (2) อำนาจ ดุลพินิจ เป็นอำนาจที่ผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่จะตรวจสอบและแก้ไขแทนผู้ใต้บังคับบัญชาได้ บุคคลอื่นหรือแม้แต่ศาลก็ไม่สามารถใช้แทนได้ การบรรจุแต่งข้าราชการสังกัดใดก็เป็นอำนาจผู้บังคับบัญชาตามลำดับที่กฎหมายกำหนดในสังกัดนั้น เช่น ข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง ระดับ 8 ลงมาเป็นอำนาจของอธิบดีกรมการปกครอง ระดับ 9 ขึ้นไปเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการทุกกรมในกระทรวงมหาดไทย สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ มีฐานะเป็น กรมขึ้นตรงต่อ รมว ศธ มีเลขาธิการ กพฐ เป็น ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ตำแหน่งและฐานะเทียบเท่าปลัดกระทรวง สป ศธ ก็มีฐานะเป็นกรม มีปลัดกระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการเฉพาะสังกัด สป ศธ ในการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการในสังกัด สพฐ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุกฎหมายก็กำหนดเป็นประเภทและระดับของข้าราชการ จากเลขาธิการ กพฐ ผอ เขต ผอ รร ตามลำดับ ซึ่งเป็นปกติวิสัยในการตรากฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ต่อมามีคำสั่ง คสช 19/2560 จึงเกิดวิปริตทางกฎหมายบริหารงานบุคคลครั้งแรกและจะเกิดผล กระทบต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นการยกอำนาจบรรจุแต่งตั้งไปให้ข้าราชการต่างกรมที่ไม่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้ดุลพินิจใดๆได้โดยชอบ ขณะเดียวกัน ผอ สพท/ผอ รร ซึ่งเป็นผู้บังคัญบัญชาตามกฎหมาย กลับไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ในคำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้ง ภาระการถูกฟ้องคดีปกครองหรืออาจรวมถึงความผิดทางอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ผลร้ายเหล่านี้จะไปตกที่ ศธจ.โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ความเสียหายความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการตรากฎหมายผิดฝาผิดตัว ย่อมส่งผลร้ายต่อบุคคลและระบบบริหารราชการซึ่งเป็นบริการสาธารณะที่ใช้เงินภาษีของประชาชน ควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักสากลโดยเร็ว"

         บทที่ 2 เรื่องหลักเอกภาพในการบังคับบัญชา "หลักเอกภาพในการบังคับบัญชา (UNITY OF COMMAND) นัยสำคัญของหลักเอกภาพในการบังคับบัญชา มีสาระ และนัยสำคัญเป็นหลักการสรุปได้ว่า “มีเอกภาพในการปฏิบัติภายใต้ผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบเพียงผู้เดียว” การที่เราจะทำให้ทีมงาน ซึ่งอาจจะอยู่ในหลากหลายรูปแบบ เช่น องค์กร, หน่วยงาน , กลุ่มคน (ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ) บรรลุวัตถุประสงค์ของตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ ทีมงาน หรือ องค์กร หรือ หน่วยงานใดๆ ก็ตาม จำเป็นจะต้องมีเอกภาพในการบริหารจัดการ หรือ เอกภาพในการบังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “การตัดสินใจ” หากขาดซึ่งความเป็นเอกภาพในเรื่อง “การตัดสินใจ” ว่าจะ “ทำอะไร (What), ใครเป็นคนทำ (Who), ทำเมื่อไร (When), ทำที่ไหน (Where), ทำไมต้องทำ (Why) และ ทำอย่างไร (How) ตอนผมเรียนหลักสูตรนักปกครองระดับสูง ได้เรียนรู้เรื่องคำสั่งยุทธการ ซึ่งมีด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ 1 สถานการณ์ (SITUATION), ข้อ 2 ภารกิจ (MISSION), ข้อ 3 การปฏิบัติ (EXECUTION), ข้อ 4 การช่วยรบ (SERVICE SUPPORT) หรือการสนับสนุนบริการ) และ ข้อ 5 การบังคับบัญชา และการสื่อสาร (COMMAND AND SIGNAL) ซึ่ง 1 ในหลายเรื่อง สำคัญในข้อ 5 ก็คือ การระบุการสืบทอดสายบังคับบัญชา หรือ (SUCCESSION OF COMMAND) ในกรณีที่ผู้บังคับหน่วยเกิดการสูญเสีย ก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือ สืบทอด ทั้งนี้เพื่อคง “เอกภาพในการบังคับบัญชา” ไว้ บทเรียนที่แสดงให้เห็นถึงความเสียหายใดๆ สามารถเกิดขึ้นได้หากขาด “เอกภาพในการบังคับบัญชา” หรือ “เอกภาพในการบริหารจัดการ” ก็คือการไร้เอกภาพนำมาสู่ความเสียหายกว่าแสนล้าน จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ความเสียหายครั้งยังมีน้ำร่วมเป็นจำเลยได้ แต่ความเสียหายในวงการศึกษาจากการทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานขาดเอกภาพในการบังตับบัญชาในปี 2560 เป็นฝีมือมนุษย์ล้วน ๆ ที่อ้างว่าทำเพื่อความหวังดี แต่ด้อยประสบการณ์ พกพระปิดหูปิดตา คงต้องรอประเมินความเสียหาย ตายแล้วเกิดใหม่สิบชาติก็ยังชดใช้ไม่หมด ความผิดพลาดจะถูกจารึกเป็นบทเรียนให้ชนรุ่นหลังอ่านไปชั่วกัปชั่วกัลป์" ข้อเขียนนี้เขียนเพื่อเหตุผลเชิงวิชาการล้วน ๆ และมีเจตนาสุจริตโดยแท้              

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2560 ทานข้าวต้มมื้อสุดท้ายตามหมอสั่ง เดินทางไปทำงานครึ่งวันเที่ยงทานน้ำซุป 1 ถ้วย บ่ายเดินทางกลับบ้านเพราะต้องทานยา 3 วาระใหญ่ ๆ ครั้งละ 1 ลิตร อาหารกินได้แต่น้ำหวานใส กินได้แค่เที่ยงคืน จากนั้นต้องงดจนกว่าจะพบแพทย์และตรวจเรียบร้อยในเวลา 07:00 พรุ่งนี้ "โรคยา ปรมาลาภา” =Health is wealth. = ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ องค์การอนามัยโลกระบุถึงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกในปี 2548 พบว่ามีถึง 35 ล้านคนที่เสียชีวิตจาก 6 โรคเรื้อรัง ดังรายละเอียดต่อไปนี้



6 โรคร้ายจากการกิน

1.โรคหัวใจและหลอดเลือด : เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้คนในโลก ปัจจัยหลักมาจากการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เช่น กินไขมันที่เป็นโทษต่อร่างกาย กินของมัน ของทอด ไม่กินผักผลไม้

2.โรคมะเร็ง : องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ทั่วโลกจะมีคนตายเพราะโรคมะเร็งมากกว่า 11 ล้านคน ปัจจัยหลัก นอกจากสารพิษปนเปื้อนและตกค้างในอาหาร การใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เช่น การอุ่นอาหารในไมโครเวฟ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ก็มีส่วนสำคัญ

3.โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ : ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอตั้งแต่วัยเด็กและสะสมเรื่อยมาและกลายเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากไม่ได้กินนมแม่ และกินอาหารช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

4.กระดูกเปราะ ฟันผุ : สาเหตุมาจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ทุกวันนี้พบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 3 ขวบฟันผุสูงขึ้น และยังทำให้ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ติดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของเชื้อโรคทุกชนิด

5.โรคอ้วน : แม้พันธุกรรมจะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของโรคอ้วน แต่สาเหตุใกล้ตัวอย่างการกินอาหารมากเกินไป กินไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่ออกกำลังกาย ก็ไม่ควรมองข้าม

6.โรคเบาหวาน : ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ 388,551 ราย เสียชีวิต 7,752 ราย ผู้ป่วย 50% ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน สาเหตุการป่วยมาจากการกินขนมหวาน ผลไม้รสหวานจัด ดื่มน้ำอัดลม เหล้า เบียร์ ฯลฯ

ทั้ง 6 โรค ล้วนมีสาเหตุจากการกินทั้งสิ้น ซึ่งคนส่วนมากมักมองข้าม!รวมทั้งตัวเราเองด้วย


นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1

         

 


หมายเลขบันทึก: 630168เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2017 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2017 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท