ย้อนรอยอดีตศึกษานิเทศก์ เมื่อคราแรกเริ่ม... อาจารย์สุเทพ โชคสกุล :ผู้ริเริ่มการสอนหนังสือด้วยเพลงเป็นคนแรกของเมืองไทย


        พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย  อาจารยางกูร)  เคยเขียนบทกลอนไว้ว่า  “อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว  แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล  อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์  ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี...”
       ผมได้อ่านประวัติของอดีตศึกษานิเทศก์ท่านหนึ่งจากหนังสือประวัติครู พ.ศ.2539 ซึ่งท่านมีวิถีชีวิตเช่นเดียวกับบทกลอนข้างต้น  ท่านเรียนจบการศึกษาในระบบแค่ชั้นประถมศึกษา แต่ท่านใฝ่ใจเรียนรู้ด้านเพลง ด้านดนตรีด้วยตนเองอย่างจริงจัง และลุ่มลึก จนทางการเห็นแววความสามารถจึงบรรจุให้เป็นครู ระหว่างเป็นครูก็ได้ศึกษาด้วยตนเองและสอบเพิ่มวุฒิทางครูมาโดยลำดับ จนสามารถสอบได้ประโยคครูมัธยม(พ.ม.) ท่านเป็นครูมา 15 ปี แล้วได้รับคัดเลือกให้เป็นศึกษานิเทศก์และอยู่ในตำแหน่งนี้ถึง 25 ปี
        อดีตศึกษานิเทศก์ท่านนี้ ท่านไม่มีปริญญา แต่ท่านได้สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ให้แก่วงการศึกษาจนได้รับยกย่องว่าเป็นราชาเพลงประกอบบทเรียน เป็นผู้ริเริ่มการสอนหนังสือด้วยเพลงเป็นคนแรกของเมืองไทย   ใครที่เคยได้ร้องและเคยได้ยินเพลง “ตรงต่อเวลา  พวกเราต้องมาให้ตรงเวลา...” “ความเกรงใจ  เป็นสมบัติของผู้ดี...” รวมทั้งเพลง “ความซื่อสัตย์” “อย่าเกียจคร้าน” ฯลฯ  ล้วนเป็นผลงานการประพันธ์ส่วนหนึงของท่าน  ...รวมถึงเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่ท่านแต่งและขึ้นต้นว่า “แสงเรืองๆที่ส่องประเทืองไปทั่วเมืองไทย” คงไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้ ... ท่านผู้นี้ก็คือ อาจารย์สุเทพ  โชคสกุล ที่ผมจะนำประวัติและผลงานท่านมาเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ
         อาจารย์สุเทพ  โชคสกุล  เดิมชื่อสงัด  เกิดเมื่อวันที่ 7  มีนาคม 2470  ที่บ้านตั้งใหม่ ริมแม่น้ำท่าจีน  ตำบลท่าพี่เลี้ยง  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายเวชและนางเม้า  โชคสกุล   ตอนอายุ 5-6 ขวบ ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดไชนาวาส จนอ่านออกเขียนได้  ต่อมาได้เข้าเรียนในระบบที่โรงเรียนวัดสารภี จบชั้นประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ .2478  อาจารย์สุเทพเรียนหนังสือเก่ง มีนิสัยชอบร้องเพลงมาตั้งแต่ยังเด็กและร้องได้ดีด้วย  จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้นำในการร้องเพลงชาติเวลาเคารพธงชาติตอนเช้าทุกวัน  และนำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในวันสุดสัปดาห์ทุกครั้ง  ผลการเรียนสอบได้เป็นที่ 1 ตลอดมา  ระหว่างเรียนชั้นประถม เมื่อวงแตรวงของพี่ชายมีงานก็จะมารับไปเป็นหางเครื่องตีฉาบใหญ่  ฉาบเล็ก  ฉิ่ง  กลองแทร็ก  ได้รับค่าแรงมากบ้างน้อยบ้างก็นำมาซื้อสมุดดินสอ  เสื้อผ้า  โดยไม่ได้รบกวนทางบ้าน  เมื่อออกจากโรงเรียน  พี่ชายให้หัดเป่าแตร  ต่อนิ้วให้ 2-3 เพลงก็เป่าได้  จึงไปเป่าแตรหน้าโรงภาพยนตร์ได้ค่าแรงคืนละสิบสตางค์  ตั้งแต่สมัยภาพยนตร์เงียบจนถึงภาพยนตร์เสียง  จบชั้นประถมก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ
          พ.ศ.2488 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา  อาจารย์สุเทพได้รับคัดเลือกจากกองทัพญี่ปุ่นให้เป็นกลาสีเรือเดินทะเล  ทำการฝึกอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย จังหวัดพระนคร  เมื่อเสร็จจากการฝึกในตอนเช้าก็ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น  การเรียนภาษาญี่ปุ่นใช้สอนด้วยเพลงมีเปียโนคลอขณะร้องเพลง  ทำให้เรียนภาษาญี่ปุ่นสนุกสนานเพลิดเพลินและได้รับความรู้ในเรื่องโน้ตดนตรีไปด้วย  ในระยะนั้นได้เกิดขบวนการเสรีไทยขึ้น  อาจารย์สุเทพจึงหนีจากเรือญี่ปุ่นไปอยู่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม  กลางคืนล่องเรือร้องเพลงไปกับครูโรงเรียนวัดงิ้วรายคนหนึ่งตามลำน้ำจนถึงตลาดนครชัยศรี  ได้รับความนิยมจากชาวบ้านนครชัยศรีเป็นอันมาก
           ปลาย พ.ศ. 2488 สงครามสงบ อาจารย์สุเทพกลับไปอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี  ต่อมาทางอำเภอประกาศรับผู้ที่มีความรู้ระดับประถมศึกษา และเป่าแตรเป็น ให้บรรจุเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อเป่าแตรวงของอำเภอ  อาจารย์สุเทพจึงไปสมัครและได้รับบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนวัดพิหารแดง  เมื่อ พ.ศ.2489  ได้รับเงินเดือนเดือนละ 8 บาท  เวลานั้นเป็นระยะหลังสงครามข้าวของเครื่องใช้ขาดแคลนและราคาแพง  ความเป็นอยู่ของอาจารย์สุเทพจึงค่อนข้างขัดสน  กลางคืนต้องออกเร่เรือขายอ้อยควั่น  ข้าวโพดคั่วตามลำน้ำท่าจีนได้กำไรคืนละ 2-2.50 บาท
            อาจารย์สุเทพเป็นคนมีสติปัญญาดี และขยันขันแข็ง  เมื่อมีครูบางคนในโรงเรียนปรามาสว่าอาจารย์สุเทพไม่มีความรู้ ที่ได้เป็นครูเพราะเป่าแตรเป็น  จึงมุมานะศึกษาหาความรู้  และสมัครสอบวิชาชุดครูจนได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมูล(พ.) ใน พ.ศ. 2493  ได้ประโยคครูพิเศษประถม(พ.ป.) ใน พ.ศ. 2498  และได้ประโยคครูพิเศษมัธยม(พ.ม.) ใน พ.ศ. 2500
            อาจารย์สุเทพมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับคือ  พ.ศ.2489-2491 เป็นครูจัตวาโรงเรียนวัดพิหารแดง  พ.ศ.2492-2496 เป็นครูจัตวาโรงเรียนวัดลาวทอง  พ.ศ.2497-2499 เป็นครูจัตวาโรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ  พ.ศ.2500 เป็นครูตรีโรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ  พ.ศ.2501-2503  เป็นครูตรีโรงเรียนลำปะซิว  พ.ศ.2504-2508  ทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์จังหวัดสุพรรณบุรี  พ.ศ.2509-2517 เป็นศึกษานิเทศก์โท  พ.ศ.2518-2519 เป็นศึกษานิเทศก์ 1  พ.ศ.2520 เป็นศึกษานิเทศก์ 2  พ.ศ.2521-2527 เป็นศึกษานิเทศก์ ระดับ 5  พ.ศ. 2528 เป็นศึกษานิเทศก์ ระดับ 6  ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายนิเทศการศึกษา  และ พ.ศ. 2529  ลาออกจากราชการ
            แม้อาจารย์สุเทพจะมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนเป็นเวลาอันเล็กน้อย  ต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ จนได้เป็นหัวหน้าฝ่ายนิเทศการศึกษาของจังหวัดสุพรรณบุรี   อาจารย์สุเทพก็ได้สร้างผลงานที่สำคัญให้แก่วงการศึกษาอย่างมาก คือเป็นผู้ริเริ่มการสอนหนังสือด้วยเพลงเป็นคนแรกของเมืองไทย  การเรียนการสอนแต่เดิมนั้น จะมีการร้องเพลงกันเพียงสัปดาห์ละครั้ง  ครั้งละชั่วโมงในวันสุดสัปดาห์  ถ้าร้องเพลงผิดเวลา  เพื่อนครูก็จะแสดงความไม่พอใจ  บางคนก็ต่อต้าน  บางคนก็เห็นด้วย  ทำให้อาจารย์สุเทพต้องใช้ความพยายายามสร้างความเข้าใจให้แก่เพื่อนครูมาโดยตลอด  จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่า  เพลงประกอบการเรียนสามารถใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้ในทุกขั้นตอน
           เนื่องจากอาจารย์สุเทพมีความรู้ทางด้านดนตรี  ขับร้อง และประพันธ์บทเพลง  จึงได้แต่งเพลงสั้นๆง่ายๆประกอบบทเรียนสะสมไว้เรื่อยๆ  เมื่อมีโอกาสก็แนะนำครูผู้สอนครั้งละเพลงสองเพลงเรื่อยมา  พอรวบรวมเนื้อเพลงที่ประพันธ์ไว้ได้กว่า 100 เพลง ในกลุ่มวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต  จึงได้ส่งให้วารสารวิทยาสารและวารสารมิตรครู ซึ่งขณะนั้นเป็นวารสารการศึกษาที่แพร่หลายไปยังสถานศึกษาทุกระดับ  นำไปลงตีพิมพ์ประกอบโน้ตสากลเพื่อเผยแพร่   ต่อมาได้แต่งเพลงในวิชาอื่นๆอีกหลายวิชา  และลงทุนทำแผ่นเสียงเพื่อให้กระจายความคิดไปทั่วประเทศ  แม้จะประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่อาจารย์สุเทพก็สามารถฝ่าฟันจนประสบผลสำเร็จ เป็นที่รู้จักไปจนถึงประเทศสหรัฐอเมริกา             
         เพลงที่นิยมกันมากไม่แต่เฉพาะวงการศึกษาเท่านั้น ยังแพร่หลายไปทั่วทุกวงการ เช่น วงการลูกเสือชาวบ้าน  เป็นต้น เช่น เพลงตรงต่อเวลา  เพลงความเกรงใจ  เพลงความซื่อสัตย์  เพลงอย่าเกียจคร้าน ฯลฯ  จากผลงานด้านงานเพลงเหล่านี้  ทำให้อาจารย์สุเทพได้รับการยกย่องว่า  เป็นราชาเพลงประกอบบทเรียน  และใน พ.ศ.2517 กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือชมเชยอาจารย์สุเทพว่า  “เพลงภาษาไทยและศีลธรรมที่จัดทำขึ้นนั้น  เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อการศึกษามาก”
          เพลงที่อาจารย์สุเทพแต่งเพื่อประกอบบทเรียนนั้น เป็นเพลงสั้นๆ  ใช้คำง่ายๆ  ใส่ทำนองสนุกสนานน่าฟัง  เด็กๆชอบและจดจำได้ง่าย ทำให้เรียนรู้บทเรียนได้เร็ว  เช่น  เพลง “อย่า  อยู่  อย่าง  อยาก”    เด็กๆที่จำ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ไม่ได้ เมื่อร้องเพลง “ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก” แล้วก็ไม่มีวันลืมพยัญชนะทั้ง 44 ตัว  เป็นต้น         
          อาจารย์สุเทพได้ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับชีวิตครูไว้เป็นอันมาก  เช่น เพลงครูโรงเรียนราษฎร์  ครูแถลงการณ์  แม่พิมพ์ใจพระ  มาร์ชครู  แม่พิมพ์ของชาติ ฯลฯ  ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้ผู้ฟังรู้ถึงชีวิตอันลำเค็ญของครูประชาบาลในสมัยนั้น  โดยเฉพาะเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ”  ที่ขับร้องโดยวงจันทร์  ไพโรจน์ เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ทำให้อาจารย์สุเทพได้รับรางวัลเพลงเกียรติยศในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย  จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ ใน พ.ศ.2512  ซึ่งเป็นเพลงอมตะตราบเท่าทุกวันนี้ และมีนักร้องนำไปร้องกันหลายคน
            ชื่อเสียงของอาจารย์สุเทพด้านการประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงเป็นที่เลื่องลือไปในวงการศึกษา  โดยเฉพาะบรรดาครูระดับประถมศึกษา  ได้ใช้เพลงประกอบการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา ทุกกลุ่มประสบการณ์ทั่วประเทศ  นอกจากจะมีความสามารถด้านการประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงแล้ว  อาจารย์สุเทพยังร้องเพลงได้ไพเราะ  น้ำเสียงนุ่มนวลชวนฟังเป็นที่ยิ่ง  ในการอบรมครูทุกครั้งที่อาจารย์สุเทพได้เป็นวิทยากร  บรรดาผู้เข้ารับการอบรมจะขอให้อาจารย์สุเทพร้องเพลงที่เขาเป็นผู้ประพันธ์ให้ฟังด้วยความพออกพอใจยิ่ง
           นอกจากนี้อาจารย์สุเทพยังเขียนตำรา “โน้ตสากลเบื้องต้น” ใช้ประกอบการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนทุกระดับ    และอาจารย์สุเทพยังได้ปฏิบัติงานต่างๆอีกมากมาย  งานที่สำคัญที่อาจารย์สุเทพเป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี  เช่น   นำวิธีสอบวัดจิตพิสัยมาใช้ในการสอบครั้งแรกกับเด็กนักเรียนชั้น ป.6   การนำวิธีพัฒนาจิตใจ  ด้วยการ “จุดเทียนแห่งปัญญา” มาใช้เป็นครั้งแรก ในการอบรมครูของจังหวัดสุพรรณบุรี  การ ฟื้นฟูการสอนโน้ตสากลเบื้องต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงเรียนประถมศึกษา  การนำวิธีการเดินหน้าขบวนวงดนตรี(Drum Major) และนำวิธีการเดินพาเหรด(Parade) มาใช้เป็นคนแรก  เป็นต้น
            อาจารย์สุเทพมีบุตร 5 คน คือ นางจริยา  นายชนะ  นายชนินทร์ นายสมโชค  และนางสาวสุนันท์  โชคสกุล  เมื่ออาจารย์สุเทพลาออกจากราชการแล้วได้ช่วยงานการศึกษาและงานสังคมอยู่มิได้ขาด  โดยเฉพาะบรรดาครูโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดสุพรรณบุรี จะมาขอคำปรึกษาแนะนำด้านการจัดการเรียนการสอนและด้านการปฏิบัติงานอยู่เสมอ
           อาจารย์สุเทพเป็นคนสูบบุหรี่จัด  เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจึงทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว  ในวันที่ 6  สิงหาคม 2530  เกิดอาการแน่นหน้าอก จึงไปตรวจพบว่าเป็นโรคถุงลมโป่งพอง  และต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งถึงแก่กรรม ในวันที่ 24  สิงหาคม  2530  สิริอายุได้  59 ปี  5 เดือน  17 วัน            
          ชีวิตของอาจารย์สุเทพนับเป็นตัวอย่างของครูและศึกษานิเทศก์คนหนึ่ง ที่มีพื้นความรู้น้อย  แต่ด้วยความมานะพยายาม  สู้บากบั่นศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง และพัฒนาพรสวรรค์ด้านเพลงและดนตรีที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จนประสบความสำเร็จในชีวิตตลอดมา


หมายเลขบันทึก: 631825เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประวัติชีวิตนายสุเทพโชคสกุล

ประวัติชีวิตนายสุเทพโชคสกุล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท