การศึกษาที่แท้จริง คือ การยกระดับจิตใจของตนเองให้สูงขึ้น


การทำงานในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ทำให้ได้มีโอกาสพบเรื่องราวมากมาย
ได้พบอาจารย์ต่างคณะที่ไม่ได้พบกันมานาน เพราะถึงแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ
มีการเปิดคณะที่เรียนน้อย ๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไหร่ ต่างคนต่างสอน ต่างคน
ต่างทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบ

อาจารย์หลายท่าน น้อง ๆ พี่ ๆ เพื่อน ๆ ก็มารู้จักกันก็จากการมาทำงานงานนี้แหละ
อีกทั้งก็ยังเจอบรรดาลูกศิษย์ ลูกไม่ศิษย์ กลับมาที่มหาวิทยาลัยอีกคร้ง
หลังจากจบและแยกย้ายกันออกไปทำงานสู่สังคมภายนอกกันหมด



ลูกศิษย์รุ่นแรกที่สอน เรียนจนจบ ป.โท ก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์
นาน ๆ ก็เจอกันที เจอกันปีนี้ บอกว่า "อยู่ระหว่างการอกหักรอบสอง ผู้ชายเขาให้ความหวังหนู"
คือ หนัก ไม่หนัก ก็ต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการซึมเศร้า ต้องกินยาต่อเนื่อง

ฟังแล้วก็หดหู่หัวใจที่ความรักสามารถทำร้ายคนได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ

ซึ่งในความเป็นจริงที่ค้นพบ ไม่ใช่ "ความรัก" หรอกที่ทำร้าย แต่เป็น "ความคาดหวัง" มากกว่า
"ความคาดหวัง" นั้น เมื่อผิดหวัง ใครภูมิคุ้มกันชีวิตต่ำ ก็ย่อมเสียใจได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า

บางทีก็ต้องกลับมานั่งนึกว่า "ปัจจุบัน การศึกษาไม่ได้ช่วยให้คนมีภูมิคุ้มกันชีวิตมากขึ้นเลยหรือ"
เรียนมาก็สูง แต่กลับบางเรื่องกลับหาวิธีคิด หรือ หาทางออกไม่ได้ จนกลายเป็นทำร้ายตัวเองไป


มีสิ่งค้นพบต่อไปอีกว่า อาจารย์บางคณะที่เป็นวิชาชีพทางตรรกะและโลกสมัยใหม่ประสบความล้มเหลว
ในการชีวิตครอบครัว บางคู่คบกันมาตั้งแต่เรียน ป.ตรี จนเมื่อได้มาเป็นอาจารย์แล้วก็แต่งงานกัน
มีลูก มีครอบครัว เหมือนจะอบอุ่น แต่กลายเป็นความเย็นชาที่มีให้ต่อกัน ฝ่ายชายไม่ได้ทำหน้าที่พ่อบ้าน
ฝ่ายหญิงแสนเหงา ก็มีกิ๊ก มีกั๊ก ไปเรื่อย ๆ เพื่อบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจากครอบครัว

อาจารย์ผู้ชายบางคนมีครอบครัว มีลูกเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อย้ายที่ทำงานไปยังวิทยาเขตอื่น
ก็กลับมีเรื่องชู้สาว ตามมาจนมีชื่อเสียโด่งดัง รู้กันไปทั่วมหาวิทยาลัย
จนในที่สุดก็ต้องถูกออกทั้งสองคน เสียครอบครัว เสียชื่อเสียง ชื่ออนาคต
ผลกระทบ คือ ลูกและอดีตภรรยาจะรู้สึกอย่างไร

นี่คงอาจจะเป็นปัญหาสังคมที่ไม่เลือกชั้นวรรณะในการเกิดขึ้น ไม่เลือกระดับการศึกษาว่าสูงแค่ไหน
หากจิตใจไม่สูงตามการศึกษา ปัญหาก็เกิดได้โดยไม่เลือกหน้าเช่นกัน


หลายเคสกลับพบว่า การเลือกใครสักคนจะเป็นคู่ครองนั้น จะต้องใช้เวลาเลือกว่า รัก หรือ หลง
ในระยะเวลาขณะนั้น พร้อมไหมที่จะใช้ชีวิตคู่กับใครสักคนจริง ๆ
ไม่ใช่มาจากแรงกดดันว่า ถึงเวลาแล้ว ใช่แล้วจากคนภายนอกที่ไม่ใช่ใจของตัวเอง

บางที "วุฒิภาวะ" ความอ่อนต่อโลกก็มีผลต่อการตัดสินใจดังกล่าวเช่นกัน

แต่นั่นเป็นเพียงคำตอบเล็ก ๆ คำตอบเดียวที่อาจจะถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด



ระดับการศึกษาเป็นเพียงเปลือกนอกของมนุษย์ที่สมมติว่า ถ้าจบตามหลักสูตรนั้นแล้ว คุณคือคนที่เก่งที่สุด
ตัวสูงที่สุด ดีเด่นที่สุด สำเร็จที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ จิตใจที่อยู่ภายในของเราแต่ละคนหรือ


ดังนั้น การศึกษาที่แท้จริง คือ การยกระดับจิตใจให้สูงสุดต่างหาก
การมองโลกให้เป็น การแก้ไขปัญหาด้วยสติสัมปัญชัญญะ
การมีศีลมีธรรมเป็นเครื่องกำกับจิตใจของตนเอง
ไม่ใช่ใบปริญญา ไม่ใช่ชุดครุยที่สวมใส่ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมยกย่องแบบผิด ๆ




ดังนั้น ไม่ต้องมาบอกว่า เรียนจบโน้นนั่นนี่มา เมืองโน้น เมืองนี้มา
แต่ให้ถามกลับมาที่ตัวเอง “ความรู้ที่ได้มา ได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นบ้างหรือยัง”
และ “จิตใจของตนเองถูกยกระดับขึ้นมากแค่ไหนแล้ว” หรือว่าต่ำตม ตาบอดยิ่งกว่าเดิม

นั่นก็เป็นแค่สิ่งที่คิด คิดแล้วเขียนออกมาอย่างนั้น …

รู้ได้ว่า “การยกระดับจิตใจนั้นสำคัญแค่ไหน”

บุญรักษา ทุกท่าน ;)…

หมายเลขบันทึก: 640696เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2017 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Yes, it is another time to ask ourselves - what have we learned? The correct answer is not a 'piece of paper' but more like a 'peace of mind' - a confidence that we can live with others - fellow 'Earthlings'.

-สวัสดีครับครู

-การศึกษา หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ยังคงเป็นคำตอบที่ใช้ได้ดีนะครับ

-ขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกๆ ท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยนะครับ

-ชมข่าวทางทีวี ปลื้มใจกับบัณฑิตทุกๆท่านครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท