เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 11 - 15 ธันวาคม 2560


17  ธันวาคม  2560

เรียน  ผู้บริหาร  เพื่อนครูและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2560 เป็นวันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์  เป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญสำคัญสำหรับเมืองไทยอย่างน้อยก็เป็นวันหยุดราชการ  วันนี้นัดหมายรถถมดินเพิ่มอีก 50 คัน สำหรับถมที่ปลูกกระท่อมสักหลังหนึ่งในสภาพแวดล้อมไปด้วยทุ่งนาในตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี การได้อยู่ท่ามกลางชาวบ้านที่ใช้กำลังกายในการทำงานสุจริตเลี้ยงชีพ มีน้ำใจดีงาม ทำให้รู้สึกสบาย สมองปลอดโปร่ง ยิ่งเรามีน้ำใจกับเขาก็จะได้น้ำใจตอบแทนมาทวีคูณ ลุงเทิอง ลุงทองใบ ในวัย 70 ปี ยังแข็งแรงสามารถขับรถแม็คโฮ ได้เป็นวัน เราเองเสียอีกเหมือนคนหัดเดินใหม่ แต่ก็ดีวันดีคืน บ่ายแดดร้อนจัด แต่ชดเชยด้วยลมที่แรงขึ้น เดินไปดูผืนนาอีกแปลงหนึ่งที่ซื้อไว้เพื่อเตรียมทำร่องปลูกไม้ผลแทน กล้วยน้ำว้าปลูกกันทั่วในพื้นเพแถวนี้  ราคาขายก็ไม่สูง แต่ก็เหมาะจะปลูกแซมไม้ผลอื่น ก่อนที่ไม้ผลหลักจะโต แดดร่มลมตกรถคันสุดท้ายก็ขนกินมาลง การเกลี่ยต้องทำในวันหลัง เพราะรอให้ดินแห้งกว่านี้ 

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2560 เช้าเข้าสำนักงานตามปกติ มีแฟ้มให้ลงชื่อ 2 - 3 แฟ้ม เวลา 09:30 . เข้าห้องประชุมสัมภาษณ์คัดเลือก 38 (2) ในสำนักงาน 2 ตำแหน่ง ก่อนเริ่มได้ดูกติกากันเพื่อกันผิดพลาด 2 ตำแหน่งที่ว่างมีนักวิชาการพัสดุ ชำนาญการพิเศษและนักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ตำแหน่งแรกแข่งกัน 2 คน ตำแหน่งที่ 2 มีสมัครเพียงคนเดียว ให้กรรมการแต่ละคน ห้คะแนนได้อย่างอิสระ ลงคะแนนแล้วส่งให้เลขานุการไปรวมเพื่อเตรียมประกาศผลการคัดเลือกโดยประธาน กศจ.นนทบุรี ต่อไป บ่ายมีงานเอกสารให้ลงชื่ออย่างต่อเนื่อง ก่อนเลิกงานนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาหาเพื่อขอสนับสนุนงานโฆษณาวันพ่อแห่งชาติที่เพิ่งผ่านไป ให้ไป 2000 บาท นอกนั้นนั่งคุยถึงการไปญี่ปุ่นปลายเดือนที่ผ่านมา เย็นกลับไปแวะซื้อของใช้ที่ห้างเซ็นทรัล เวสเกต 

 วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2560 ออกจากบ้านก่อน 08:00 . ไปโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 55 ว้ดโบสถ์ดอนพรหม วันนี้กรรมการจากมูลนิธิไทยรัฐจะมาประเมินโรงเรียน ความจริงนัดประชุมผู้บริหารโรงเรียนไว้ แต่เห็นว่าพอสับเวลาได้ จึงมารับกรรมการก่อน เพราะคณะที่มาเป็นคนคุ้นเคยกันมาก่อน เลขานุการมูลนิธิ นายวิเชน โพชนุกูล ประธานกรรมการประเมิน ผอ.เสน่ห์  โอฐกรรม กรรมการประเมินมาจากใต้หลายคน บางท่านเคยทำงานร่วมกันมา เรียกว่าล้วนแล้วแต่คนคุ้นเคย นักเรียนเป็นพิธีกรตั้งแต่เริ่มจนผมกลับ ต้องชมเชย ผอ.รร.และคุณครูที่เอาใจใส่ ขับรถกลับเข้าสำนักงานเขต ตั้งใจจะไปห้องประชุมผู้บริหารโรงเรียน แต่เจอชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมารุมมาตุ้ม บอกว่าอยากเจอ ผอ.เขต นานแล้ว มาสองครั้งไม่เจอกัน วัตถุประสงค์จะมาบอกให้ย้าย ผอ.รร. คนปัจจุบันไปให้พ้นโรงเรียน มีป้ายมาด้วยอยู่ในรถ เลยเปิดห้องประชุมชั้นล่างหลังกลุ่มการเงินฯ ให้นั่งคุยกันจิบน้ำชากาแฟ เขาก็เล่าถึงพฤติกรรม ผอ.รร.ที่เป็นสาเหตุแห่งการขับไล่ครั้งนี้ ผมซักค้านเป็นระยะ เขาบอกว่าถ้าไม่ดำเนินการจะขยายผลไปอีกระดับหนึ่ง ขอเวลาระยะหนึ่งแล้วจะดำเนินการแก้ปัญหาให้ ทุกคนพอใจกลับไปนอนรอผลที่บ้าน แรงกายแรงใจที่เตรียมการเพื่อประชุมวันนี้เหือดแห้งหายไปทันที  แต่ก็ต้องดำเนินการประชุมไปตามสาระ เลิกประชุม ผอ.รร. ที่พูดถึงมาขอพบและเล่ารายละเอียดให้ฟัง สรุปแล้วเขาไม่ได้ผิดและบกพร่องอะไร ชาวบ้านมายุ่งเอง ฟังแล้วก็อ่อนล้า การแก้ปัญหาให้คนที่ไม่ทราบว่าเกิดปัญหาเหมือนดาบสองคม เราคิดว่าช่วยเขา แต่เขาคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ขืนปล่อยให้ชาวบ้านถือป้ายเดินไล่ไปตามถนนหลวง เราก็จะบกพร่องเสียเอง  เที่ยงลงไปทานข้าวที่ห้องสโมสรกับผู้บริหารโรงเรียน แบบต่างคนต่างกิน อิ่มก็กลับกันไป เพราะต่างคนต่างมีงานที่ต้องรีบกลับไปทำ บ่าย ผอ.รร.ที่ให้มาประจำเขต มาคุยด้วยได้เล่าเหตุผลที่ต้องแก้ปัญหาให้ฟัง เขาก็ไม่ผิดไม่บกพร่องเหมือนกัน สรุปว่าชาวบ้านจังหวัดนนทบุรีชอบใส่ความเพื่อขับไล่ ผอ.รร. นี่สรุปเอาเองตามที่ ผอ.รร. 2 คน มาพบ เย็นไปตลาดซื้อสิ่งของจำเป็น

วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 เช้านี้มีภารกิจที่ โรงแรมตรัง นัดหมายทีมงาน ผอ.เขต 10 กว่าคนพูดคุยถึงแผนปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในประเทศญี่ปุ่น การศึกษานับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เด็กญี่ปุ่นทุกคนต้องเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และถูกกำหนดให้ต้องผ่านการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 9 ปี คือจบมัธยมศึกษาตอนต้น อย่างไรก็ตาม เด็กญี่ปุ่นมากกว่า 97% ศึกษาต่อจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยที่สามในสี่เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายสายสามัญ ในขณะที่หนึ่งในสี่ที่เหลือเข้าเรียนในสายอาชีพ เช่นวิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยอาชีวศึกษา 25.3% ของผู้เรียนจบชั้นมัธยมปลายจะไปศึกษาต่อในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย ในขณะที่อีกหลายคนเลือกที่จะไปศึกษาในวิทยาลัยระดับอนุปริญญา วิทยาลัยเทคนิค หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษา (หลักสูตรวิชาชีพชั้นสูง) ระบบการศึกษาในอินเดีย การศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียน แบ่งออกเป็น 2 ช่วงตามระบบ 10+2 โดยในช่วง 10 ปีแรกเน้นความรู้ทั่วไป ส่วนในช่วง 2 ปีหลังเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูง การศึกษาในระดับประถมศึกษา ใช้เวลา 8 ปี โดยแบ่งออกเป็นระดับประถมศึกษาตอนต้น 3 ปี (Standards I-III) ตอนกลาง 2 ปี (Standards IV-V) และตอนปลาย 3 ปี (Standards VI-VIII) การศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ใช้เวลา 2-4 ปี ผู้ที่ศึกษาจนจบปีที่ 10 (Standard X) จะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษา แต่หากต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ต้องศึกษาต่อในโรงเรียนอีก 2 ปี (Standards XI-XII) ตามหลักสูตรและระบบการวัดผลของคณะกรรมการกลางมัธยมศึกษา (Central Board of Secondary Education – CBSE) หรือสภาวัดผลการศึกษาในโรงเรียนอินเดีย (Council for the Indian School Certificate Examinations – CISCE) เพื่อนำผลการศึกษาไปยื่นสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูง นำข้อมูลประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนมาให้เห็นเพื่อยืนยันว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นความจำเป็นสำหรับพลเมืองไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ในกลุ่มใด และเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาของชาติในระยะยาวได้ การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีต้องยืนหยัดสร้างเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ของเยาวชนเพื่อจรรโลงความเป็นชาติไว้ให้ได้ ไม่ควรจะเป็นเครื่องทดลองความเชื่อส่วนบุคคลโดยเด็ดขาด บ่ายกลับมาทำงานเอกสารที่เขต มีผู้มาสวัสดีปีใหม่เป็นรายแรกในปี 2561 ที่จะมาถึงอีก 10 กว่าวันข้างหน้า เย็นไปแวะร้าน TOP MARKET เพื่อซื้อเครื่องมือช่างเป็นประแจขันน๊อต สมัยก่อนต้องใช้ประแนสวมหัวน๊อตจับเหลี่ยมแล้วขันให้แน่นหรือคลายออก ปัจจุบันมีอีกประเภทหนึ่งทำเหลี่ยมไว้ในหัวน๊อต ต้อง ใช้ประแจแบบที่แหย่ลงไปและมีเหลี่ยมด้านนอก เรียกว่าตรงข้ามกับแบบแรก 

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560 เช้าทำงานเอกสาร มีการประชุมหลายรายการมอบคนที่เหมาะสมไปประชุมแทน เพราะเป็นผู้ต้องมาลงมือปฏิบัติ เราอายุมากประชุมมายังไม่ถึงสำนักงานลืมซะแล้ว วันนี้คนเดินเข้าออกห้องการเงินมากเป็นพิเศษ ถามแล้วได้ความว่า เขามาลงชื่อในรายการขายทอดตลาดอาคารเรียนหลังเก่า ที่แนุญาตให้รื้อถอน โรงเรียนรื้อ ชาวบ้านมาแย่งกันซื้อ น่าคิดเหมือนกัน  วันก่อนไปเที่ยวบ้านบางเขน เขารื้ออาคารเรียนบ้านลำสนุ่น อำเภอคลองหลวง มาสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงของเก่าที่นี่ เช่นเดียวกับร้านอาหารเปลยวน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ก็รื้อมาสร้างใหม่จัดเครื่องใช้เหมือนห้องเรียน เวลาสั่งอาหารมาทานในห้องนี้ ทำให้คิดถึงตอนคดข้าวห่อมากินตอนเป็นนักเรียน  เที่ยงชวนเจ้าหน้าที่ 3 - 4 คนไปทานข้าวที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 เป็นเนื้อต้ม/หมูต้มบ้างสิงห์  สูตรใกล้เคียงกับเจ้าเก่าราชบุรี แต่เพิ่มต้มยำเล้งมาด้วย เล้งคือกระดูสันหลังที่มีเนื้อติดมาด้วย  ขากลับแวะไปดูหนังสือกฎหมายที่ร้านสวัสดิการ สำนักงานศาลปกครอง มีแต่เล่มที่เคยซื้อไปแล้ว บ่ายทำงานเอกสารที่ห้องกลุ่มอำนวยการชั้นล่าง  มีผู้มาสวัสดีปีใหม่รายที่ 2 นับต่อจากเมื่อวาน สมาชิกสอบถามเรื่องการจัดงานปีใหม่ ให้เลือกวันที่สะดวก ก็ได้วันที่ 28 ธันวาคม 2560 ปีใหม่ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายในชีวิตราชการ ปีแรกคือ .. 2520 นับว่ายาวนาน แต่ก็ยังรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก คงแปลว่าผมมีความสุขมากกว่าความทุกข์ การลงจอดหรือLanding ก็ต้องลดความเร็วลง และปล่อยวางในเรื่องที่ให้คนอื่นทำแทนได้ Retirement must be slow and slow.

นายกำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1

 

หมายเลขบันทึก: 643398เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผอ ซื้อที่ที่ลาดหลุมแก้วเอาไว้

ทำสวนน่าจะดี

แต่ต้องระวังน้ำท่วมครับ

มีงานตลอดเลยนะครับ

เอามาฝากครับ

http://www.gotoknow.org/posts/643231

21-23 ธค มีอบรมครู กศน นนทบุรีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท