nobita
นาย ชัยพร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

มากกว่าการเป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรม


การเป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละครั้ง แต่ละเรื่องที่ได้เรียนรู้ นอกจากสาระสำคัญที่เป็นความรู้จากวิทยากรแล้วนั้น สิ่งที่ผมได้จากการเข้ารับการฝึกอบรมเหล่านั้น คือ การได้เห็นรูปแบบของการบริหารจัดการโครงการจัดฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ แล้วนำมาพิจารณาเขาทำได้ดีอย่างไร มีข้อบกพร่อง หรือจุดด้อยตรงไหน ถ้าเป็นเรา จะทำกิจกรรมต้องนั้นให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร…

อย่างล่าสุด ได้เข้าอบรมเกี่ยวกับเส้นทางความก้าวหน้าของวิชาชีพทรัพยากรบุคคล เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ ผมก็ได้บทเรียนจากการเป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรม ที่อยากนำมาบันทึกไว้สอนตัวเองเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการนี้

อย่างแรกคือ การเป็นเจ้าของโครงการ ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่จัดอบรม มีการปิดประกาศเรื่องราวต่าง ๆ ให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทราบเป็นข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบลงทะเบียนผู้เข้าอบรม จำเป็นจะต้องเดินทางมารอผู้เข้ารับการอบรม ต้องมารอรับวิทยากรและทีมงานของวิทยากร

ต่อมา การแนะนำวิทยากร ต้องเรียกชื่อตำแหน่งทางวิชาการ ตำแหน่งทางการศึกษา ชื่อตัว นามสกุล และประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ผลงานเด่น หรือรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจน ถูกต้อง และพยายามพูดโปรโมทในตัวของวิทยากรให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสนใจ ตลอดจนต้องแนะนำทั้งวิทยากรหลักและวิทยากรร่วมให้ครบถ้วน อันนี้ นับว่าเป็นเรื่องสำหรับยิ่งสำหรับผู้ทำหน้าที่พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ มีศิลปะในการพูดคุยทักทายผู้เข้ารับการฝึกอบรม และพูดดึงดูดให้คนสนใจที่จะฟังเรื่องราวต่าง ๆ ต่อไป

หลังจากวิทยากรให้ความรู้เสร็จแล้ว การขอบคุณวิทยากร ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนให้ดี จะให้ใครเป็นผู้กล่าวขอบคุณต้องแจ้งให้เขาทราบล่วงหน้า พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน เช่น ชื่อเรื่องที่รับการฝึกอบรม ชื่อวิทยากรที่ถูกต้อง เมื่อถึงเวลาขอบคุณวิทยากร ผู้ทำหน้าที่จะได้ลดความประหม่า และสามารถขอบคุณวิทยากรได้อย่างดี และไม่กล่าวชื่อและตำแหน่งวิทยากรผิด

สำหรับสิ่งที่พึงระวังอีกอย่างที่มักจะโดนมองข้าม คือ การต่อเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุค หลายครั้งไม่ได้ต่อสายไฟ AC ไว้ ทำให้เมื่อถึงช่วงท้าย ๆ ของการฝึกอบรม โน๊ตบุคดับ และเกิดความไม่ต่อเนื่องในการบรรยาย หรือการทำ workshop และอาจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ได้แก่ การจัดหมายเพื่อไปทัศนศึกษา/ดูงาน ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ต้องนัดหมายกันให้ชัดเจนว่า ใครจะเดินทางไปอย่างไร ไปพร้อมกัน เวลานัดกี่โมง เจอกันที่ไหน ถ้าไปด้วยตนเอง มีจุดนัดพบกัน ณ จุดใด เวลาใด เพื่อให้สะดวกในการรวมตัวกัน และเดินทางไป ณ สถานที่ต่าง ๆ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นทีมเดียวกัน และให้เกียรติสถานที่ เคารพกฎระเบียบการเข้าพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ ควรบอกจุดประสงค์หรือเป้าหมายในการไปทัศนศึกษา ว่าจะไปเพื่อดูงานด้านใด อย่างไร วิธีไหน ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีโอกาสเตรียมตัวศึกษาหาข้อมูลสำหรับการไปค้นหาสิ่งที่มีอยู่ในหน่วยงานนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

แว่บแรกผมมีความตั้งใจว่าจะเดินเข้าไปพูดคุยให้คำแนะนำแก่เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่รับผิดชอบโครงการนี้ แต่เมื่อมาคิดดูอย่างรอบคอบแล้ว คิดว่าไม่น่าจะเป็นผลดีต่อตัวเองเท่าใด (แม้จะเป็นความหวังดีก็ตาม) เลยเปลี่ยนมาเป็นบันทึกเพื่อสอนตัวเอง และเอาไว้เป็นบทเรียนให้น้อง ๆ ที่สนใจได้เข้ามาเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดีกว่า

สอนใคร ๆ เป็นเรื่องไม่ยาก แต่การสอนตัวเองนี่แหละ ยากยิ่งกว่า…บันทึกนี้ ผมได้เรียนรู้การใช้งาน GotoKnow Desktop เพื่อใช้บันทึกเรื่องราว จากบันทึกของ อ.จันทวรรณ (https://www.gotoknow.org/posts/645605) ฝากขอบคุณ อ.จัน ผ่านบันทึกนี้ด้วยครับผม

หมายเลขบันทึก: 645653เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2018 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2018 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลายครั้งคราที่ผมไปเป็นวิทยากร ทีมเจ้าภาพสืบค้นประวัติเรามาละเอียดเลย จนเราก็เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า “เราเป็น-เคนเป็น-เคยได้” อะไรมาบ้าง

นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า “ทีมงาน” ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี กระตุกกระตุ้นตัวเราให้ทบทวนตัวเราไปโดยปริยายเหมือนกัน ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท