การพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านม


 ระยะหลังผ่าตัด (post-operative phase) ระยะนี้นับตั้งแต่การผ่าตัดสิ้นสุดลง และนำผู้ป่วยมาดูแลต่อในห้องพักฟื้นจนกระทั่งปลอดภัยดีจึงส่งกลับหอผู้ป่วย และได้รับการดูแลต่อที่หอผู้ป่วย บทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยในผู้ป่วยมีดังนี้ (เรณู อาจสาลี, 2550)

1. ระยะหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง  กิจกรรมการพยาบาลมีดังนี้

1)  การประเมินระดับความรู้สึกตัว ลักษณะการหายใจ ความเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ การไหลเวียนโลหิต และค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดที่วัดโดย pulse oximetry และประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ แขน ข้างที่ผ่าตัด

2)  การประเมินแผลผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าอกข้างที่ผ่าตัดปิดทับด้วยผ้าปิดแผล ลักษณะแผลผ่าตัดเป็นแนวยาวตามขวาง มีสายยางเล็กๆต่อจากแผล   ลงสู่ขวดสุญญากาศเพื่อเป็นการระบายเลือดและน้ำเหลืองที่ออกจากแผล และเป็นการป้องกันการคั่งค้างของเลือดและน้ำเหลืองในแผล พยาบาลจะมีการดูแลให้ขวดสุญญากาศทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาโดยสังเกตจากหนวดที่อยู่บนฝาขวดต้องกางออกจากกันอย่างน้อย 20 องศา รวมทั้งมีการสังเกตและจดบันทึกลักษณะสี และปริมาณของเลือดและน้ำเหลืองที่ออกจากแผลผ่าตัดเพื่อประเมินภาวะเลือดออกที่ผิดปกติ

3)  การประเมินระดับความปวด โดยประเมินเป็นระดับคะแนน คือ 0 หมายถึงไม่ปวดเลย ถึง 10 หมายถึง ปวดมากที่สุด หากคะแนนความปวดน้อยกว่า 5 ผู้ป่วยจะได้รับการบรรเทาปวดด้วยยาแบบรับประทาน เช่น พาราเซตามอล หรือถ้าคะแนนความปวดมากกว่า 5 ผู้ป่วยจะได้รับการบรรเทาความปวดด้วยยาฉีดทางหลอดเลือดดำ เช่น มอร์ฟีนซึ่งจะช่วยบรรเทาความปวดได้ในเวลา 1-2 นาที

4)  หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรกผู้ป่วยจะยังคงได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ และได้รับยาปฏิชีวนะชนิดฉีด เมื่อผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ดี ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน พยาบาลจะเอาสารน้ำที่ให้ทางหลอดเลือดดำออก เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก มีการลุกเดินภายหลังการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว

2. ระยะหลังผ่าตัด 1-3 วัน  กิจกรรมการพยาบาลมีดังนี้

1)  ในระยะนี้ยังต้องมีการประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ แขน ข้างที่ผ่าตัด รวมทั้งอาการปวดบริเวณด้านหน้าของแขนข้างที่ผ่าตัดเพื่อประเมินการเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทบริเวณแขนข้างที่ผ่าตัด

2)  การประเมินภาวะเลือดออกใต้แผล (hematoma) และการประเมินการทำงานของขวดสุญญากาศในการระบายเลือดและน้ำเหลืองออกจากแผลให้ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อป้องกันภาวะแขนบวม

3)  การประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน       การรับประทานอาหาร อาการเจ็บคอ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างทันท่วงที  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายภายหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้น

4)  การประเมินระดับความปวด ซึ่งระยะนี้ผู้ป่วยจะมีระดับความปวดลดลงมาก หากพบว่าผู้ป่วยยังมีระดับความปวดมากกว่า 5 คะแนน และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ต้องมีการหาสาเหตุและแก้ไขต่อไป

5)  การกระตุ้นให้เริ่มบริหารแขนและข้อไหล่ภายหลังการผ่าตัดวันที่ 1 โดยเริ่มบริหารในท่าที่ง่ายก่อน และควรบริหารต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกวันเพื่อป้องกันแขนบวมและข้อไหล่ยึดติด (สมจิตร  ชัยยะสมุทร, 2536; Morimoto, Tamura, Ichihara, Minakawa, Kuwamura,  Miki & Sasa, 2003; Nesvold, Dahl, Lokkevik, Mengshoel & Fossa, 2008) 

 6)    การประเมินเกี่ยวกับการนอนหลับพักผ่อน หรือความเหนื่อยล้าของผู้ป่วย เพื่อวางแผนการให้การพยาบาลที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

Journal

หมายเลขบันทึก: 648451เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท