ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาในเว็บไซต์ GotoKnow


Can we trust social media?

ครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปนำเสนอ paper ในงานประชุมวิชาการแห่งหนึ่งค่ะ มีนักวิชาการท่านหนึ่งถามดิฉันขึ้นว่า งานวิจัยที่เกิดจากการสังเคราะห์เนื้อหาใน GotoKnow น่าเชื่อถือได้แค่ไหน?

คุณเชื่อถือข้อมูลที่ได้ในการทำ survey มากแค่ไหนค่ะ?

คุณเชื่อถือข้อมูลที่ forward มาต่อๆ กันใน social media ไหมค่ะ?

คุณเชื่อถือข้อมูลที่เขียนโดยใครสักคนใน social media มากแค่ไหน?

คุณเชื่อถือข้อมูลในเว็บไซต์ของใครสักคนมากแค่ไหนค่ะ?

คุณเชื่อถือข้อมูลในเว็บบอร์ดที่ไม่แสดงข้อมูลตัวตนของคนเขียนมากแค่ไหน?

ปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า ทำไมถึงเชื่อค่ะ??????

ฉันใดก็ฉันนั้น

ถ้าคุณไม่อคติกับ GotoKnow หรือถ้าคุณแค่ Google เข้ามาแล้วบังเอิญมาเจอข้อมูลใน GotoKnow คุณจะเชื่อข้อมูล ณ ที่แห่งนี้ มากแค่ไหน?

สำหรับตัวดิฉันเองแล้ว การจะเชื่อข้อมูลจากใครสักคนที่ได้มาจากอินเทอร์เน็ต หรือถ้าอยากจะทำให้ตนเองนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือในโลกอินเทอร์เน็ตมีหลายปัจจัยค่ะ และงานวิจัยเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลในโลกออนไลน์ก็มีอยู่มากมายนะคะ อาทิ Perceptions of Trustworthiness Online:The Role of Visual and Textual Information

ชื่อเสียงเรียงนามพร้อมประวัติ

GotoKnow เน้นการเปิดเผยตัวตนและประวัติย่อๆ มาตั้งแต่แรกเริ่มจนกลายเป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติในการเข้าสู่ชุมชนแห่งนี้ค่ะ แต่เราก็ยังเห็นเว็บบอร์ดหลายๆ ที่กลับไม่พยายามให้สมาชิกระบุตัวตน

ดิฉันกลับมองว่า ความรู้นั้นคู่กับตัวคนเขียนค่ะ ผู้เขียนก็ต้องกล้าแสดงความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ตนเผยแพร่ออกมา ส่วนผู้อ่านก็ควรรู้จักที่จะเลือกเนื้อหาที่น่าเชื่อถือมาใช้ต่อ

แน่นอนค่ะ เนื้อหาใน GotoKnow มีทั้งข้อเท็จจริงและแนวคิดความคิดเห็นของสมาชิกที่ถ่ายทอดออกมา แต่สำหรับดิฉันแล้ว ถ้าเราอยู่ในชุมชนนี้มานาน เราจะรู้ว่าแนวคิดของสมาชิกที่อยู่กันมานั้นมีคุณค่ายิ่งค่ะ เพราะเขาไม่ได้เขียนกันแค่หนึ่งครั้งแล้วจบกันไป แต่หลายความเห็นหลายแนวคิดที่ถ่ายทอดลงในสู่บันทึกต่อบันทึก ซึ่งต้องใช้มันสมองกลั่นสิ่งที่ปฏิบัติหรือครุ่นคิดจนตกผลึกออกมาค่ะ

อย่างที่บอกนะคะ สำหรับผู้อ่านที่เป็นนักวิจัยแล้วคิดว่าเนื้อหาใน GotoKnow น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนค่ะ ก็ต้องบอกว่า ลองติดตามอ่านค่ะ ติดตามในความเป็นตัวตนของผู้เขียนแต่ละคนค่ะ กดเลยค่ะ กดที่ชื่อผู้เขียนค่ะ จะได้รู้จักว่าเขาเป็นใคร

อย่างไรก็ตาม สมมุติเขายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยตัวตน แต่เราก็ยอมรับในเนื้อความที่มีความเป็นต้นฉบับสูงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดค่ะ

การระบุวันเวลาในการเผยแพร่บันทึก

GotoKnow ระบุวันเวลาในการแผยแพร่บันทึกให้ประกอบการนำไปใช้ค่ะ มีวันแก้ไขบันทึกด้วยค่ะ มีชื่อเรื่อง มีชื่อผู้แต่งพร้อมใช้ในการอ้างอิงค่ะ สำหรับหลักการในการเขียนอ้างอิงนั้นสามารถอ้างอิงงานจากสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่น เว็บไซต์ ได้นะคะ ตัวอย่างการอ้างอิงแบบ APA ดูได้จากที่นี่ค่ะ APA

การอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ได้จากการเขียน

ส่วนตัวแล้ว เนื้อหาที่ดิฉันจะเชื่อถือมากขึ้น คือเนื้อหาที่มีการอ้างอิงเนื้อหางานวิจัยมาประกอบด้วยค่ะ เหมือนเป็นคำยืนยันว่าฉันรู้ ฉันเข้าใจ และฉันได้ศึกษาเรื่องนี้มาพอสมควรแล้วนะ มีคนเคยศึกษาเรื่องนี้แล้วนะ และพบว่าเรื่องที่ฉันเขียนนั้นตรงหรือขัดแย้งกับเขาก็ตาม แต่ถ้าอ้างอิงไว้เยอะมากๆ อย่างนี้ก็น่าสงสัยค่ะ คุณทำ SEO ให้กับบริษัทใดค่ะ

ตัวอย่างหรือหลักฐานประกอบ เช่น ภาพถ่าย

การจะเชื่อเนื้อหาอะไรก็ตาม หากมีหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ มาประกอบ จะน่าเชื่อถือมากขึ้นทีเดียวค่ะ แต่ถ้าภาพถ่ายดีงามจนเกินไปนั่นคือคุณ copy งานคนอื่นมาเป็นของตนเองหรือเปล่าค่ะ แถมแหล่งที่มาก็ไม่บอกไว้ด้วยอีก

ถ้าบันทึกใดมีหลักฐานมีตัวอย่างประกอบนั้นคือข้อเท็จจริง แต่ถ้าไม่มีภาพประกอบไว้ก็อาจจะเป็นแนวคิดค่ะ แล้วคุณเชื่อในแนวคิดไหมค่ะ ก็ต้องถามว่า คุณเชื่อข้อมูลจากการทำ survey ต่างๆ มากน้อยแค่ไหนค่ะ ซึ่งนั่นคือความคิดเห็นใช่ไหมค่ะ Subjective ค่ะ แต่ถ้านำข้อมูลที่ subjective อย่างนี้มาเป็นพันๆ ข้อมูล ก็คงมั่นใจใน patterns อะไรบางอย่างจากความคิดของกลุ่มคนเหล่านี้ใช่ไหมค่ะ

การตรวจความถูกต้องของเนื้อหา

เนื้อหาที่นำมาเผยแพร่ถ้ามีการพิมพ์ผิดอยู่มากมาย อันนี้น่าสงสัยค่ะ เหมือนงาน copy หรืองานรีบทำส่งๆ ครู และเป็น spammer มาส่งงานทำ SEO ค่ะ (แต่ถ้าดิฉันเขียนผิด น่าจะเป็นเพราะวัยค่ะ เพราะไม่ได้ใส่แว่นตาเวลาพิมพ์บันทึก แต่พยายามจะตรวจค่ะ)

ทิ้งไว้นิดค่ะ แต่การเขียนบันทึกในบล็อกก็ดูเหมือนจะยากสำหรับผู้หญิงในการเขียนคำว่า ค่ะ คะ นะคะ โดนต่อว่ากันมาเยอะแล้วค่ะ แต่ก็เรียนรู้ยากจัง ไม่ใส่ได้ไหมค่ะ อิอิ

การได้อยู่หน้าแรกในเว็บไซต์ (Featured posts)

ข้อนี้ดิฉันถือว่าสำคัญมากค่ะ ในเว็บไซต์อันดับที่ 25 ของประเทศอย่าง GotoKnow ถ้าได้อยู่หน้าแรกอย่างชัดเจน บันทึกขึ้นมาสวยหรูเทียบเคียงกับอีกหลายๆ ท่าน ดิฉันถือว่าเป็นเกียรติทีเดียวค่ะ เพราะบันทึกเหล่านี้ได้ถูกเลือกนำมาอยู่เป็น Featured posts คือบันทึกที่ทีมงานได้กลั่นกรองมาแล้วค่ะด้วยปัจจัยที่ได้กล่าวมาทั้งหมด อาจจะมีอยู่บ้างบางบันทึกที่ทีมงานอยากจะให้เป็น Featured posts ด้วยเห็นในคุณค่าของบันทึกค่ะ สมมุติเขายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยตัวตน แต่เราก็ยอมรับในเนื้อความที่มีความเป็นต้นฉบับสูงค่ะ

หมายเลขบันทึก: 649308เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ไม่เปิดเผยหน้าตา แต่ยังมีตัวตนอยู่เสมอ ครับ อ.จัน ;)…

หัวใจนำพา ศรัทธา ตามที่ อ.แผ่นดินว่าไว้ ;)…

อย่าง อ.วัส นี้มีตัวตนชัดเจนค่ะ ถ้าได้อ่านจากบันทึกทั้งหมดของ อ.

“สมมุติเขายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยตัวตน แต่เราก็ยอมรับในเนื้อความที่มีความเป็นต้นฉบับสูงค่ะ”

นานาจิตตังค่ะ อาจารย์…ความคิดคนเราไม่เหมือนกัน เหมือนใครที่ไม่ได้คบกับเราเขาก็จะไม่ทราบหรอกค่ะ ว่าเราเป็นเช่นไร คนที่กล่าว คือ ไม่ได้ติดตามคนๆ นั้นแบบจริงจังไงคะ…หากติดตามจะทราบว่า ไม่มีใครมานั่งแต่งเรื่องของตัวเองได้จนเป็นเรื่องมากมายหรอกค่ะ…ของแบบนี้ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันค่ะ พี่เป็นกำลังใจให้ค่ะ ทำอะไรมิมีที่จะมีเรื่องให้เราต้องคิดค่ะ เว้นแต่อย่านำมาใส่ใจค่ะ

ยายธี..แวะมา..บอกว่า..ตั้งแต่เขียนมา….มันเป็น..ส่วนเกิน..ของคำว่า “จิตวิณญาณ”..มากว่า ตัวตน และ อักขระวิธี..เจ้า ค่ะ..แวะมา ขอบพระคุณ..โกทูโน ที่มีเนื้อที่..สำหรับ..คนไม่มีตัวตน..ประวัติ ความเป็นมา..หน้าตา..ให้ยังคงอยู่..ณ .ปัจจุบัน….กับ gotoknow นะเจ้าคะ

SEO คืออะไรหรือคะ เห็นอาจารย์พูดถึงบ่อยจริงๆ ก็นานอยู่กว่าจะใช้ ค่ะ คะ นะคะ ..อย่างที่ อ.จันว่า ก็ดี ไม่ใส่เลยก็ได้อ่ะ 555

ขอบคุณหมอ ป. ที่ถามประเด็นนี้ขึ้นมานะคะ SEO หรือ Search Engine Optimization มีหลายวิธีการค่ะซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามให้การดันเว็บไซต์ของเขาให้ติดอันดับสูงขึ้นใน Google ค่ะ

หนึ่งในวิธีที่เราพบบ่อย เรียกว่า Black hat SEO ซึ่งที่คนไทยชอบทำคือ เขามาปลอมตัวสมัครเป็นสมาชิกใน GotoKnow แล้วเขียนบันทึกมีเนื้อหา Copy มาซ้ำๆ แล้วก็ฝากลิงก์เว็บไซต์ของเขาไว้ในเนื้อหามากมายค่ะ

ประมาณว่าพยายามประหยัดต้นทุนโฆษณาเว็บไซต์ของเขาด้วยการแอบเข้าทำพื้นที่ดีๆ ของเว็บอื่นให้เสียหายค่ะ

เพราะหาก Google เจอ Black hat พวกนี้ในเว็บไซต์ GotoKnow แล้วผู้ดูแล GotoKnow ไม่ดำเนินการลบออก ก็จะทำให้ GotoKnow ตกอันดับลงค่ะ

สำหรับตัวผม นำชีวิตจริงล้วนๆมาบันทึก ความรู้ด้านวิชาการแทบเป็นศูนย์ หากจะนำลงต้องอ้างอิงเสมอ ดังนั้น บันทึกส่วนมากของผมจึงเป็นบันทึกของชีวิตจริง แม้จะมีบางครั้งออกแนวเพ้อฝันและจินตนาการวันนี้รู้สึกคิดถึงบ้านหลังนี้ จึงแวะเข้ามาไม่ผิดหวังและดีใจที่ยังคึกคักในความคิดเห็นเสมอขอบคุณครับอาจารย์จัน

-สวัสดีครับอาจารย์-วันนี้มีโอกาสได้อ่านบันทึกเรื่องราวต่างๆ มากมาย-เจอบันทึกนี้แล้วก็อดที่จะเข้ามาขอบคุณทีมงานทุกๆ ท่านที่เปิดโอกาสให้มีพื้นที่ส่งต่อเรื่องราวต่างๆ เอาไว้บนโลกออนไลน์-สำหรับตัวผมเองแล้ว พอได้รับโอกาสให้รู้จักกับ G2K จากผู้ใหญ่ใจดีทั้งสองท่าน คุณสิงห์ป่าสัก/คุณเขียวมรกต สมาชิกรุ่นแรกๆ ก็ได้พัฒนาการเขียนมาเรื่อยๆ ครับ -เริ่มจากการเขียนเรื่องการทำงาน ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร?-ต่อมาก็ได้เขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้น สัมผัสได้ พบเจอสิ่งไหนที่น่าสนใจก็นำมาเขียน-ณ วันนี้ได้รับโอกาสที่สะท้อนกลับมามากมายเลยครับ-และสิ่งที่ได้รับแบบเต็มๆ คือ”ความสุข”ที่ได้แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้คนที่ผ่านเข้ามาได้อ่านครับ-ตัวตนของเราเป็นอย่างไรก็จะถูกนำเสนอออกมาครับ-ผมเชื่อพลังในการเขียนแล้วครับ-วันนี้ผมมี”บ้านไร่”ผมมีกิจกรรมที่ฝันเอาไว้แบบ FarmSchool-เพิ่งเริ่มก้าวแต่ก็มีความสุขมากๆ ครับ-ขอบคุณสำหรับโอกาสจาก G2K มากๆ ครับ

พี่แก้วเขียนมา กว่าจะกลั่นประสบการณ์ตนเอง ผ่านการเขียนแต่ละบันทึกใช้เวลาประมาณชั่วโมง มาถึงวันนี้ทำให้เราได้ประโยชน์จากการอ่านและการเขียน จนทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงในทางบวก ถ้าใครไม่แน่ใจ ลองมาเขียนในโกทูโนแล้วจะรู้ว่า เราดีขึ้นหรือไม่อย่างแน่นอนค่ะ

เราจะลบ account ออกทันทีหากทำผิดกฎกติกาของเว็บค่ะ เช่น ห้ามไม่ให้โฆษณาขายสินค้า เป็นต้นนะคะ นอกจากนั้นไม่เคยลบ account โดยไม่มีเหตุผลนะคะ ไม่ทราบว่าคุณใช้ username อะไรค่ะ

เรียน อาจารย์ ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ในแง่มุมหนึ่ง ตอนเริ่ม บันทึกใน GotoKnow เพื่อใช้เป็นพื้นที่ฝึกฝน ทักษะการจัดการความรู้(ลปรร.โลกเสมือน) กำลังใจจากสมาชิกรุ่นพี่ มีคุณค่า และถือว่าต่างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่น่านับถือทั้งสิ้น (ของจริง) ผู้เขียนบล็อค ผู้สร้างก็มีโอกาสได้พบปะตัวตน ลปรร.แบบสัมผัสจริง ต่อมายังได้เห็นการพัฒนายกระดับในการใช้เครื่องมือนี้อย่างต่อเนื่อง โดยทีมสร้างเอง และสมาชิกทั้งเก่าและใหม่ ความเห็นที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น มีประโยชน์ใช้งานได้จริง (ไม่ได้มโน) ดังนั้นผู้ตั้งคำถาม อาจเข้าใจไม่ถูกต้อง ในหลายประเด็น ก่อนตั้งคำถาม (การสังเคราะห์งานวิจัย น่าจะเป็นเพียงซับเซตเล็กๆ ของการจัดการความรู้เท่านั้น) ชุมชนเสมือนนี้ ถูกวางโครงสร้างการใช้งานได้ดี ถือว่า มีการเริ่มต้นที่ดี สำเร็จไปกว่าครึ่ง แตกต่างกับ ชุมชนเสมือนรุ่นหลังๆ ที่เกิดตามกระแสนิยม เกิดปัญหาการใช้เทคโนโลยีกลายเป็นโทษ นักวิชาการไทยก็มักจะตีความเหมารวมด้วยคำพูดสวยหรูว่า “ไม่น่าเชื่อถือ” แต่ไม่สามารถเสนอแนวทางแก้ปัญหาจริงได้

ขอแสดงความนับถือคุณลิขิต

มีโอกาสอ่านข้อมูลหลายครั้ง ข้อมูลดีนะคะ หวังว่าจะมีโอกาสแชร์ข้อมูลใน gotoknow ค่ะ

เรียนอาจารย์ เขียนจากชีวิตจริง ประสบการณื งานที่ทำ เชิงเรื่องเรื่องเล่า บอกเรื่องราว ให้ค้นต่อ จากบันทึกอาจารย์ มีแรงผลักดันให้ฉันเขียนต่อในคืนนี้ (บันทึกเรื่องความเป็นมาของอำเภอทักษิณ (ปากพะยูน)

เรียน ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ผมต้องการเอาบทความเรื่อง “ทฤษฎีการตีความของฮันส์ -จอร์จ กาดาเมอร์ (Hans-Georg Gadamer):กรณีศึกษาการตีความวันวิสาขบูชา วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน บทพิเคราะห์การเข้าถึงความจริงของคัมภีร์และเรื่องราว” ไม่ทราบว่า จะเอาออกอย่าไรครับ หรือช่วยลบออกให้ผมได้ใหมครับ จอขอขอบพระคุณมากเลยครับ

ล็อกอินเข้าระบบ แล้วกดแจ้งลบมาได้เลยค่ะ ถ้าเป็นบันทึกของคุณเอง ทางทีมงานจะลบให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท