โซโก โชฉะ, กลุ่มนักคิดเวียนนา และ สำนักคิดเกียวโต กับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยใหม่


อาทิตย์ก่อน พูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์การเมืองกับ หน่วยงานวิจัยและนโยบายของโซโก โชฉะ (Sōgō Shōsha, 総合商社) แห่งหนึ่งที่เป็น 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น ปกติผมจะไม่พูดคุยเรื่องสถานการณ์การเมืองกับใครหรือสื่อฉบับใดก็ตามไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศมาสักพักใหญ่แล้ว และคงไม่พูดต่อไป แต่ที่นี่ต้องถือเป็นข้อยกเว้น

หลายปีก่อน เคยจัดทัศนศึกษาให้กับองค์กรมหาชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีตัวเลือกให้เลือกระหว่าง ไปญี่ปุ่น และ ไปเกาหลีใต้ (เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง) ตอนนั้นผมตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมผมถึงต้อง พยายามชักจูงหน่วยงานนั้นให้เลือกญี่ปุ่นแทนที่จะเป็นเกาหลีใต้ (ปัญหาใหญ่คือญี่ปุ่นมีขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ลึกซึ้งอย่างนี้อยู่มาก แต่เขาจะไม่โพทนาคุยโตโอ้อวดใคร ต้องเป็นคนญี่ปุ่นเองที่อยู่ในหัวข้อเฉพาะนับเป็นสิบ ๆ ปี เอง ถึงจะเข้าใจและสามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร)

ภาพที่ 1: ภาพตอนเข้าเยี่ยมชม Not TV และเอกสารบรรยายสรุปข้อมูล Not TV


แน่นอนเราทราบกันดีว่าในระยะหลังแชโบลชั้นนำของเกาหลีอย่างซัมซุงตีตลาดโลกขึ้นมาได้มากขึ้น และแซงแชมป์เก่าอย่างโซนี่ไปมาก แต่ intuition (ศัพท์ภาษาไทยจะใช้คำว่า "ปัญญาญาณ") ผมบอกว่า ญี่ปุ่น มีความ "ลึก" เหนือกว่าเกาหลี ที่ผมยังสัมผัสและยังอธิบายไม่ได้ ตอนไปเยี่ยมชมกิจการอย่าง Not TV เห็นการดิ้นรนต่อสู้อย่างเต็มกำลังจนแทบเอาตัวไม่รอด หลังจากเผชิญ "singularity" อย่างไอโฟนในปี 2007 (ลักษณะโมเดลทางธุรกิจ และเทคโนโลยีของ Not TV มีความละเอียดซับซ้อน และสร้างเกราะป้องกันคู่แข่งขันใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ก็ยังไม่พอการป้องกันการรุกของไอโฟนได้ เนื่องจากลักษณะพิเศษในระดับ "singularity" ไม่ใช่แค่ "disruptive" ธรรมดา) ในขณะที่ซัมซุงเพียงแต่ฉวยเอาโอกาสจากแอนดรอยด์มาต่อยอด (ในมุมมองผม นี่ไม่ต่างจากยุทธศาสตร์ "Me too" ของเอเซอร์จากไต้หวันเท่าไหร่ ไอเดียแบบนี้ในไม่ช้าจะเผชิญการรุกรานจากคู่แข่งที่ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเปิดแบบนี้ แต่ต้นทุนต่ำกว่าจากจีนได้)

(ศัพท์สองคำนี้ "singularity" และ "disruptive" ดูยังไม่มีคนแปลเป็นภาษาไทย คำหลังมีผู้แปลแล้วบ้างเช่น disruptive technology ก็แปลว่า "เทคโนโลยีป่วนและก้าวกระโดด" ในฐานะที่เป็นนักเทคโนโลยีและคุ้นเคยกับเรื่องพวกนี้นับเป็นสิบปีผมเห็นว่ายังไม่อมความดี จะขอไม่ "แปล" ในตอนนี้ แต่ขอให้ความหมายในทำนองว่า singularity = การเปลี่ยนแปลงระดับมูลฐานครั้งใหญ่ ที่มีมาจากปัจจัยเปลี่ยนแปลงเพียงชนิดเดียว แล้วก่อกำเนิดสิ่งใหม่ หรือยุคใหม่และสภาพแวดล้อมใหม่มากมายเต็มไปหมด ส่วน disruptive ผมขอให้ความหมายว่า การตลบม้วนสภาวะการแข่งขันไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีหรือยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ)

ภาพที่ 2: ขนมคุกกี้ที่ผู้มาเยือนจากโซโก โชฉะ นำมาฝากเป็นของขวัญในโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกัน


ตอนคุยกับ โซโก โชฉะ เมื่ออาทิตย์ก่อน ผมก็เล่าให้ฟังว่า พื้นฐานความขัดแย้งในไทยส่วนหนึ่งมีปัญหามาจาก การตีความของ มาร์กซิสต์/เหมาอิสต์ โบราณในสมัย พคท "กึ่งทุนนิยมกึ่งศักดินา" ที่แตกต่างกันระหว่าง คอมเหลือง/คอมแดง ที่ "รู้จักกันดี" เขาก็อุทานขึ้นมาว่า "โอ้ นั่นมันวิธีคิดแบบ pre-modern นี่" แน่นอนว่าตัวผมเองไม่ได้สมาทานวิธีคิดแบบนี้ แต่ก็ยังอดหน้าชาไม่ได้ที่เขาวิจารณ์แบบนี้มาตรง ๆ (ส่วนตัวเขาไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็น insulting แต่ผมก็แซวเขาว่า นี่มันเท่ากับ insult สังคมไทยทั้งสังคมเลยนะ)

การเปลี่ยนผ่านจาก pre-modern เข้าสู่ modern ไม่ใช่ทำกันได้ง่าย ๆ ในตะวันตก ศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้อยู่ที่ กลุ่มนักคิดเวียนนา (Vienna circle) และอาจจะรวมไปถึง "เวียนนาแดง" (Red Vienna) ในขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่สำนักคิดเกียวโต (Kyoto school) เสียดายที่วิธีคิดที่พยายามข้ามพ้นขีดจำกัดแห่งยุคสมัยอย่างทั้งสองเครือข่ายนักคิดนี้ ไม่เคยเยี่ยมกรายเข้ามาในสังคมไทยเลย คงไม่ต้องพูดถึงพวก "ผู้ใหญ่" ที่กุมอำนาจอยู่ตอนนี้ ถ้าไม่ฉาบฉวยก็ใช้วิธี copy & paste ราคาถูกอย่าง "เสิ่นเจิ้น" มาตลอด (ถ้าเป็นเสิ่นเจิ้นจริงก็ดี เพราะยังมีโอกาสผลิต startup ในระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าตลาดเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐบ้าง แต่ของไทยก็งั้น ๆ ทำไม่ได้ แล้วก็ประกาศว่าไม่จำเป็นต้องทำไปเสียอย่างนั้น)


ภาพที่ 3: กลุ่มปัญญาชนในสำนักคิดเกียวโต



ข้อโต้แย้ง "โง่ ๆ" อันหนึ่ง ที่มีให้เห็นดาษดื่นในสังคมไทย (ปกติผมจะไม่อยากใช้คำนี้ แต่อันนี้ต้องขออนุญาตใช้) คือ ไอเดีย หรือความคิดบางอย่าง เป็นของตะวันตก เพ้อเจ้อ อะไรทำนองแบบนั้น และไม่เคยสนใจ "รากคิดของตะวันออก หรือของไทย" แต่ร้อยทั้งร้อย เวลาผมสนทนาลงไปลึก ๆ กับคนที่พูดอะไรแบบนี้ออกมา ผมพบว่าเขาไม่เคยอ่านตัวบท อย่าง "โลกุปปัติ อรุณวดีสูตร ปฐมมูล ปฐมกัป และ มูลตันไตรย" (ตอนนี้เก็บไว้ในชั้นหนังสือสำรองที่หอสมุดกลางจุฬา) อย่าพูดถึงความเข้าใจเรื่อง คลื่นอารยธรรมอินเดียสามยุค : โมริยะ / กุษาณะ / คุปตะ อย่าเพิ่งไปพูดถึงองค์ความรู้สมัยใหม่อย่างกลุ่มนักคิดเวียนนา หรือ ความพยายามที่จะขุดไปถึงรากความคิด-และ-พยายามผสมผสานระหว่างตะวันตก/ออก อย่างสำนักคิดเกียวโต พอพูดถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ขออภัยที่ขี้เกียจลิสต์รายชื่อ) ก็ตื้นเขินแต่สามารถพูดไปได้เรื่อยเปื่อยอย่างไม่น่าเชื่อ

ปล. ขออภัยที่เขียนเรื่องนี้แรงและมีลักษณะระบายอารมณ์นิดหน่อย ปกติผมไม่ใช่คนประเภท "คลั่งชาติ" (Chauvinism) แต่เห็นคนที่เผยแพร่บทความ นักสร้างภาพยนตร์จากเกาหลีมาวิจารณ์สังคมไทย ในประชาไท แล้วอดไม่ได้; สำหรับผม เกาหลีมีระดับพัฒนาการทางสังคมเหนือกว่าไทยถ้ามองจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) แต่ไม่ใช่ตัวแบบที่น่าสนใจในหลายมิตินัก สำหรับผมตัวแบบญี่ปุ่น "น่าสนใจกว่า" ถ้ามองจากความพยายามต่อสู้ดิ้นรนในการเมืองระดับโลก (ต่อสู้กับจีน, รัสเซีย, สงครามโลกครั้งที่สองและนิวเคลียร์, วิกฤตฟองสบู่และพลาซ่าแอคคอร์ด, etc) แต่เราก็มีเส้นทางของเราเอง ปัญหาคือเราได้พยายามพอหรือเปล่า หรือเป็นแค่ another bullshit?


มีผู้มาแลกเปลี่ยนในกระทู้ที่ผมเผยแพร่เรื่องนี้ในเฟสบุ๊คอยู่ ขอยกมาไว้ที่นี้
(1)  ถาม: หากผมสนใจ "รากความคิดตะวันออก หรือของไทย" จริง ๆ แนะนำให้เริ่มจากเล่มไหนครับ

ตอบ: รากความคิดแบบตะวันออก ผมเห็นว่าทางสำนักคิดเกียวโตทำไว้ได้ดีแล้ว ลองอ่านจากหนังสือเล่มนี้ดูครับ https://terebess.hu/zen/mesterek/Heisig-Nothingness.pdf 

ส่วนรากความคิด "แบบไทย" เท่าที่ผมเข้าใจมันไม่มีการทบทวนวรรณกรรม (literature review) ที่เป็นระบบอย่างที่ผมพอใจนัก (หรืออาจจะมี แต่ผมยังไม่เห็น) คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเข้าไปอ่านงานต้นฉบับ อย่างที่ผมลิสต์ไว้ข้างบน "โลกุปปัติ อรุณวดีสูตร ปฐมมูล ปฐมกัป และ มูลตันไตรย" และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ช่วง รัชกาลที่ 4 ที่ตัดไอเดียหลายอย่างที่มีลักษณะไม่มีเหตุผล หรือเป็นปาฏิหาริย์ออก ในขณะที่ช่วง "ยุคมืด" คือช่วงเปลี่ยนผ่านจากอาณาจักรขอม เข้าสู่ สุโขทัย อยุธยา ก็มีการตัดไอเดียแบบโพธิสัตว์ออก แล้วเน้นไปที่เถรวาทแบบลังกา ถ้าจะเข้าไปที่รากลึกกว่านั้น คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปอ่านฤคเวทโดยตรงครับ โดยเฉพาะท่อนที่ 10 ตอนที่ 90


(2) ถาม: ผมเพิ่งอ่านจากฉบับแปลของ Jamison และ Brereton ระบบวรรณะมีที่มาจาก ฤคเวทตอนที่ 90 นี่หรือเปล่าครับ

ตอบ: ความจริงที่ผมใช้คำว่า "ท่อนที่ 10 ตอนที่ 90" ภาษาทางการเขาจะใช้ว่า "มัณฑละที่ 10 สูกตะที่ 90" มันมีคำบรรยายเรื่องการกำเนิดของระบบวรรณะเหมือนกัน แต่อยู่ตรงส่วนไหน กระทันหันผมจำไม่ได้แล้ว ไม่ได้จดเอาไว้เสียด้วย แต่เข้าใจว่าถ้าคนงานวิจัยเรื่องระบบวรรณะน่าจะมีอ้างอิงเอาไว้ ส่วนตัวผมยังไม่แน่ใจว่าไอเดียเรื่องวรรณะมันมีที่มาจากฤคเวทอย่างเดียวหรือเปล่า หรือมีไอเดียอื่นที่เก่าแก่กว่านั้น แต่ในขณะนี้ผมก็รับความเห็นว่ามันมีที่มาจากฤคเวทเอาไว้ก่อน

ส่วนความสำคัญของฤคเวท "มัณฑละที่ 10 สูกตะที่ 90" นี้ ชี้เอาไว้โดย (ผมเข้าใจว่าคงจะเป็น) ท่านวรรณ คือไอเดียเรื่องพระโพธิสัตว์ซึ่งถูกโปรโมตเอาไว้มากในสมัยกุษาณะ ถูกตัดหายไป ตอนเราตั้ง สุโขทัย - อโยธยา แต่ความจริงคติที่เก่าแก่กว่านั้นก็ยังมีอยู่ ความคิดเรื่อง "คนดี" ผมว่ามีที่มาโดยตรงจากคติเรื่องพระโพธิสัตว์นี้ มีงานวิจัยบางงานชี้ว่าคติความเชื่อเก่าของเปอร์เซีย ส่งผลโดยตรงต่อราชวงศ์กุษาณะ ในการพัฒนาไอเดียแบบมหายาน และจึงมีที่มาต่อไอเดียเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้น แต่พอค้นกลับไปที่ฤคเวท มัณฑละที่ 10 สูกตะที่ 90 จะเห็นว่ามันมีความคล้ายกันอยู่ระหว่างสองเรื่องนี้ เพียงแต่ว่ามันสามารถจะแปรไปเป็น ไอเดียแบบพระเจ้าของฮินดูก็ได้ หรือ พระโพธิสัตว์แบบมหายานก็ได้ แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างมากขึ้นวิธีคิดแบบแรกมองว่ามันมี "บุคคลาธิษฐาน" บางอย่าง govern "จักรวาล" อยู่, ในขณะที่ไอเดียแบบหลัง มันไม่ได้บอกชัดว่ามี "ใคร" หรือ "อะไร" govern "จักรวาล" อยู่ เพียงแต่ว่ามันมีระดับของ "จักรวาล" ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ตามไอเดียพุทธก็คือ ชั้น พรหม สวรรค์ นรก อะไรต่าง ๆ ชั้นสูงสุดก็คือชั้นอกนิฎฐาพรหม ในแต่ละชั้นก็จะมี "บุคคล" ที่เป็นใหญ่หรือควบคุมชั้นนั้น ๆ อยู่ แต่ไม่มีใครบอกว่าอะไรควบคุมทั้งหมด หรือสร้าง "จักรวาล" พวกนี้ขึ้น ส่วนพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ จะเป็นบุคคลพิเศษที่มีสถานะแยกออกไป และเหนือกว่า "บุคคล" ที่ควบคุม "จักรวาล" ในแต่ละชั้น อันนี้ตามความเข้าใจของผม ไอเดียเรื่องวรรณะของ ฮินดู และของพุทธไม่ว่าจะเป็นเถรวาท หรือมหายาน จึงมีลักษณะต่างกันมาก และผมเข้าใจว่าไม่ตรงกัน แต่จุดกำเนิด "จักรวาล" หรือ "กำเนิดโลก" นี้ ทั้งสองความเชื่อ กลับมองตรงกัน อันนี้จึงเป็นความสำคัญของ ฤคเวท มัณฑละที่ 10 สูกตะที่ 90

ถ้าอ่านงาน "ภาษาศาสตร์" ของท่านวรรณ จัดพิมพ์โดย โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เมื่อ 25 สิงหาคม 2514 ท่านวรรณจะชี้ความเก่าแก่ของฤคเวทโดยอ้างอิงจากภาษาที่ใช้บันทึกเอกสารต่าง ๆ อย่างฤคเวทนี้ ที่มองว่าเก่าแก่ เพราะบันทึกเอาไว้โดย ภาษาไวทิกะ ต่อมาไวทิกะนี้ก็แตกแขนงออกเป็นอีกหลายตระกูล แต่ที่สำคัญคือ สันสกฤตสืบทอดมาจากไวทิกะโดยตรง ส่วนอีกพวกหนึ่งคือปรากฤตถือเป็นภาษาพูดมีวิวัฒนาการแยกออกมาต่างหาก ภาษาปรากฤตตอนหลังก็วิวัฒน์ออกไปหลายตระกูลเช่น มาคธี อารษ เศารเสนี มหาราษฎรี ไปศาจี อปภรังศ ฯลฯ แต่พวกนี้ถือเป็นภาษาตลาด หรือพูดตรง ๆ ก็คือเป็นภาษาต่ำชั้นกว่าภาษาสันสกฤต (พระอรรถกถาจารย์ลงความเห็นว่า ภาษาบาลี พัฒนามาจากภาษามาคธี)

คนไทยเราจะมองว่าภาษาสันสกฤตมีความคุ้นเคยกว่า มีความไพเราะกว่า ภาษาบาลี หรือภาษาไทยเดิมซึ่งเป็นภาษาคำโดด มีที่มาจากจีนตอนใต้ในสมัยโบราณ ก็เพราะสาเหตุนี้ ทั้งที่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ถ้าลองยกคำเปรียบเทียบที่มีความหมายเดียวกันระหว่าง ภาษาสันสกฤต และภาษาบาลี เราอยากจะเลือกภาษาสันสกฤตเพราะฟังแล้วไพเราะกว่า สง่างามกว่า

ภาษาสันสกฤตเคยเป็นภาษาทางการของราชวงศ์คุปตะ ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างอาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรขอมโบราณ อินเดียสมัยคุปตะก็คืออเมริกาสมัยนี้ หรืออังกฤษสมัยวิคตอเรีย ถือเป็นยุคทอง และเป็นจุดศูนย์กลางอารยธรรมโลก ในสมัยนั้นอินเดียสามารถคิดคณิตศาสตร์ วิศวกรรม การทหารชั้นสูงได้ ฯลฯ แต่เขาจะมองโมริยะ (หรือเมาริยะ อย่างสมัยพระเจ้าอโศก เป็นอุดมคติ เหมือนโรมัน มองกรีก อะไรทำนองนั้น) มันจึงมีความลักลั่นระหว่าง การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นจริง (คุปตะ) กับอุดมคติที่อยากเป็น (โมริยะ) ทับซ้อนอยู่

ส่วนคัมภีร์ โลกุปปัติ อรุณวดีสูตร ปฐมมูล ปฐมกัป และ มูลตันไตรย พวกนี้เป็นคัมภีร์ที่อธิบาย "การกำเนิดโลก" ของพุทธศาสนา พวกนี้ต้องถือเป็นคัมภีร์ "รุ่นใหม่" เกิดขึ้นหลัง ฤคเวท นับเป็นพันปี แต่จะบอกได้ว่าในแต่ละช่วงที่มีการแต่งคัมภีร์พวกนี้ขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย มันมีการตัด หรือเพิ่มไอเดียอะไรแตกต่างไปจากฤคเวทแบบโบราณบ้าง

คัมภีร์รุ่นใหม่พวกนี้จัดเป็นคัมภีร์โลกศาสตร์ เป็นภาษาบาลีมีทั้งหมด มีจํานวน 12 ฉบับ เรียงลําดับตามสมัยที่รจนาได้ดังนี้
ก. โลกบัญญัติ(คาดว่ารจนาในช่วงพุทธศตวรรษที่16)
ข. โลกุปปัตติ(คาดว่ารจนาราวพ.ศ.1716)
ค. ฉคติทีปนี(คาดว่ารจนาในช่วงพุทธศตวรรษที่16-17)
ง. ปัญจคติทีปนี (คาดว่า รจนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-19)
จ. อรุณวตีสูตร (คาดว่า รจนาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงครึ่งแรก ของพุทธศตวรรษที่ 19)
ฉ. โลกัปปทีปกสาร หรือ โลกทีปกสาร (รจนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 โดย พระสังฆราชเมธังกรของพม่า ผู้เป็นอาจารย์ของพระมหาธรรมราชาลิไท)
ช. มหากัปปโลกสัณฐานบัญญัติ(คาดว่ารจนาก่อนพุทธศตวรรษที่ 19)
ซ. โอกาสโลกทีปนี (รจนาในราวพุทธศตวรรษที่ 20 โดยพระสังฆราชปตูจี ของพม่า)
ฌ. โลกทีปนี (รจนาในราวพุทธศตวรรษที่ 20 โดยพระสังฆราชปตูจีของพม่า)
ญ. จันทสุริยคติทีปนี (รจนาในช่วงระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้น พุทธศตวรรษที่ 20)
ฎ. จักกวาฬทีปนี11 (รจนาในปี พ.ศ. 2063 โดยพระสิริมังคลาจารย์)
ฏ. โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี (คาดว่ารจนาในช่วงปี พ.ศ. 2063 - 2290)


(3) ถาม: เราต้องรู้กันก่อนว่าจริงๆแล้วรากเหง้า-รากฐานแท้ๆในแง่ภูมิปัญญาของไทยคืออะไร และมันส่งผลยังไงกับการพัฒนาทางการเมืองในภาพรวมๆ ผมยังนึกไม่ออกจะเริ่มการศึกษาเรืีองนี้ตรงไหน ผมควร literature review อันไหนบ้างครับ

ตอบ: ขึ้นอยู่กับเป้าหมายว่าจะทำอะไรนะ เฉพาะเรื่องปรัชญาการเมืองผมว่ารายการหนังสือต้องอ่านที่มีอยู่ในหนังสือ ประวัติปรัชญาการเมืองเล่ม 1-3 ของ Leo Strauss และ Joseph Cropsey ที่แปลโดย อ สมบัติ นี่ก็น่าจะพอ คุณคงจะคุ้นเคยอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะอ่านตัวบทประเภท ต้องอ่าน และ แนะนำอ่าน ที่มีอยู่ท้ายบทของนักปรัชญาแต่ละคนในหนังสือจริงหรือเปล่า ถ้าจะให้ผมแนะนำเพิ่มเติมก็คือ งานชิ้นสำคัญ ๆ ของ เพลโต และ อริสโตเติล ควรอ่านให้หมด

ประเด็นสำคัญกว่าการอ่านหนังสือ คือการตั้งเป้าหมาย "การวิจัย" และการพยายามทำความเข้าใจหัวข้อของเราอย่างเต็มที่ แล้วพยายามบันทึก "ประวัติการวิจัย" นั้นออกมา อย่างที่ผมทำอยู่ คือผมสนใจหัวข้อเรื่อง การผสานแนวคิดระหว่างสมัยเก่าและสมัยใหม่ การทำให้ทันสมัย และรากคิดตะวันตกตะวันออก ผมก็เขียนออกมาเป็นบทความ มันยังต้องตามอัพเดตอยู่เรื่อย ๆ ตามการค้นพบใหม่ ๆ และความเข้าใจใหม่ ๆ ของตัวผมเอง นานเข้าตัวบทความที่ผมเขียนที่เคยมีเป้าหมายในการ แสดงอำนาจพยากรณ์ (ซึ่งก็ยังใช้ได้อยู่) กลับกลายมาเป็นการทบทวนวรรณกรรมไปเสียอย่างนั้น แต่โครงหลักของเรื่องก็ไม่ได้กระทบไปมาก ถ้าคุณมองออกคุณจะเข้าใจว่าโครงร่างพื้นฐานทฤษฎีหลัก ที่ผม reject ทฤษฎีต่าง ๆ ของทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาแบบถ้วนหน้า มันมีโครงหลักอย่างไอเดียของ Complex Adaptive Dynamical Systems รองรับไว้อยู่ ถึงแม้จะไม่แสดงออกมาเด่นชัดมาก ๆ

ส่วนเรื่อง การเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำมาหากิน ผมว่าก็อีกคนละเรื่องหนึ่ง การผจญภัยทางปัญญาแบบนี้ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรแบบนี้เท่าไหร่ บางคนก็ใช้เป็น decorate อวดสถานะตัวเอง แต่สำหรับผมเอาไว้เคลียร์ความ upset และคุ้มกันความทุกข์จากการอ่านความเห็นแย่ ๆ ของปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้ contribute อะไรให้กับสังคม แต่เข้าใจว่าตัวเองทำ โดยเฉพาะพวกที่มีลักษณะ delusion of grandeur 

(4) ถามส่วนตัวผมไม่ได้เอาไป "หาเงิน" อยู่แล้วฮะ แค่มันเป็นความอยากตอบคำถามอะไรหลายๆอย่างที่ผมยังตอบมันไม่ได้ในทางการเมืองยุคที่ผ่านมา 10 ปีหลังนี้ มันคล้ายๆกับสิ่งที่ ค้านท์ พูดเอาไว้ว่า "อะไรคือทางออก" (Beantwortung der Frage: Was ist Aufklärung?) (คือผมไม่รู้ตีความถูกรึเปล่านะฮะว่า essay นี้ของ ค้านท์ มันหมายถึงทางออกแห่งยุคสมัยของเขาทั้งๆที่กำลังพูดถึง enlightenment น่ะครับ) คือหงุดหงิดมากๆที่ไม่รู้ว่าทางออกของยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ 10 ปีมานี้ มันควรจะไปทางไหนกันแน่ และคำตอบที่น่าพอใจที่สุดคือคำตอบแบบไหน practical แบบไหนถึงจะเรียกได้เต็มปากว่าถูกต้อง ในการที่จะเอาไทยออกจากสภาพแบบที่เป็นอยู่นี้ให้ได้

ตอบ: ไอเดียของค้านท์ก็มีปัญหาเยอะยังไม่ complete เหมือนกัน ถึงแม้เขาพยายามจะทำความเข้าใจ สถานะความสัมพันธ์ระหว่าง noumena vs phenomena ที่มีรากมาจากความเข้าใจของ Socrates เรื่องความสามารถการแสวงหาความรู้ความจริงของมนุษย์ ที่เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว และสามารถทำความเข้าใจได้ จึงเป็นที่มาของ วิธีการสนทนาแบบ dialectic ที่เขาใช้อยู่ ดูเหมือนค้านท์ไม่เห็นด้วย และแยกแยะออกมาว่ามันมีความรู้ "ก่อน" และ "หลัง" ประสบการณ์ จนกระทั่งออกมาเป็น The Critique of Pure Reason

ถ้าคุณอ่านบทความที่ผมเขียน คุณก็จะเห็นแล้วว่า กรอบการวิจารณ์ค้านท์มันจะออกมาจากหลายมุมด้วยกัน เช่นงานชิ้นสำคัญเลยของโชเปนฮาวร์ "The World as Will and Representation" ซึ่งงานชิ้นนี้เขาได้รับอิทธิพลจากพุทธ (มหายาน) และฮินดูมามาก ไอเดียอย่าง "มายา" ทำให้เขาเห็นว่า เป็น "will" (จะแปลแบบไทยว่ากิเลส ก็ได้) ต่างหากที่เป็นตัวขับเคลื่อนมนุษย์ไม่ใช่เหตุผล หลายครั้ง will ก็ไม่มีเหตุผล แล้วเรื่องนี้ นิตเช่ ถึงเอาไอเดียของโชเปนฮาวร์มาใช้ทีหลัง ช่วงแรกนิตเช่นับถือโชเปนฮาวร์อยู่มาก ถึงกับเขียนบทความเชิดชูภูมิปัญญาของโชเปนฮาวร์ แต่ภายหลังเขาก็แยกทาง (ทางปัญญา) กับโชเปนฮาวร์ และพัฒนาปรัชญาของเขาเองขึ้นมา เพราะเขาเห็นว่าวิธีคิดของโชเปนฮาวร์มีลักษณะ defeatism (ยอมจำนน) มากเกินไป อันนี้เป็นผลจากวิธีคิดแบบพุทธ

ไอเดียแบบนิตเช่มีการแพร่หลายในเยอรมนีในเวลาต่อมา มีนักปรัชญาหลายคนเอาไอเดียของนิตเช่มาใช้ โดยเฉพาะไอเดียเรื่อง On the Genealogy of Morality อย่างไฮเด็กเกอร์ก็ใช่ แต่ไฮเด็กเกอร์พัฒนาตัวเองไปมากกว่านั้น โดยย้อนกลับไปตั้งคำถามสำคัญเรื่อง อะไรคือ "being" คำถามนี้ไม่เคยถูกใครตั้งขึ้นมาก่อนนับแต่ยุคกรีก คือทุกคน treat มันเหมือนกับว่า เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่


(5) ถาม: โห ไม่เคยรู้ เรื่อง vienna circle คงต้องขอความรู้อีกมาก

ตอบ: ลองหาอ่านเพิ่มเติมจากบทความนี้ https://plato.stanford.edu/entries/vienna-circle/

หมายเลขบันทึก: 649486เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2018 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2018 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท