ซิ่นหัวคำตีนคำ : ผ้านุ่งเลอค่า


ผ้า มันมี Story เกริ่นแบบนี้ก็ทำให้อิป้าหอบผ้าวิ่งตามผู้รู้เรื่องผ้าไปง่ายๆ

ในประเทศนี้คนรู้เรื่องผ้าคงมีมากมาย เฉพาะเจาะจงลงมาที่ผ้านุ่ง หรือซิ่น ไม่ว่าจะเป็นเชิงวัฒนธรรม การผลิต textile engineering หรือแม้แต่ คนใช้ผ้า อิป้าอย่างฉันไม่รู้เรื่องผ้าเลย แต่ด้วยวัยที่มากขึ้น มีโอกาสได้ใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นบ้านมากขึ้น ทำให้ฉันสนใจในการเรียนรู้เรื่องราวกับผ้า ผู้หญิงบางทียอมจ่ายแพงๆกับผ้า หากมีเรื่องเล่าแถมมาด้วยจะได้ไม่รู้สึกว่าจ่ายเงินมากไป...คุ้มค่ากับของแถม

 จึงนับเป็นโอกาสดีที่ได้รู้จักผู้รัก(ษ์) ผ้า 2 ท่าน คนแรก คุณคมกริช ฤทธิ์ขจร เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชัยภูมิ และครูโอ่ง แห่งพิพิธภัณฑ์เฮือนผ้าไทจังหวัดหนองคาย

ณ ระหว่างทางไปเวียงคุก จังหวัดหนองคาย ที่คนรักษ์ผ้าทั้ง 2 คนชวนฉันไปร่วมทาง ด้วยมีภารกิจไปดูผ้าโบราณที่ตกทอดมายังลูกหลาน 

คนรักษ์ผ้าคนหนึ่งต้องการรวบรวมลายผ้าโบราณของหนองคาย อีกคนต้องการศึกษาความสัมพันธ์ของซิ่นเวียงที่มีมิติทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งหมดทั้งมวลของทั้ง 2 ท่านก็คงเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทยไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

หลายครอบครัวที่เวียงคุกมีผ้านุ่งเก่าแก่เหลืออยู่ ส่วนใหญ่เป็นผ้านุ่ง ที่เรียกว่า ซิ่นมูล หรือ ซิ่นมรดก ...ปกติถ้าไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว คงไม่ได้ชมกันง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นสมบัติประจำตระกูลและมีคุณค่าทางจิตใจ การใช้งานจริงก็คงดูตามสภาพ

คำ มีความหมายว่าทองคำ ซิ่นหัวคำตีนคำ ก็หมายความตรงตัว คือเอาดิ้นทองมาทองเป็นหัวซิ่นหรือตีนซิ่น ในกาลนี้หมายความถึง ดิ้นเงินด้วย

ปกติการนุ่งห่มจะแสดงถึงชนชั้น ซิ่นหัวคำตีนคำเช่นกันมักจะใช้ในสังคมชั้นสูง ทำให้น่าแปลกใจที่ว่าคนเวียงคุก ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของหนองคายและหลายๆ ตำบลแถบนั้นชาวบ้านธรรมดาในอดีตมีการใช้ซิ่นหัวคำตีนคำ  

จากคำบอกเล่าของผู้ที่ศึกษาว่า อาจจะเป็นไปได้ ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการย้ายถิ่นของเจ้าหลวงจากหลวงพระบางมาอยู่เวียงจันทน์พักหนึ่ง ก่อนจะถูกเชิญกลับไปที่หลวงพระบาง และเมืองหนองคายกับเวียงจันทน์ก็มีแม้น้ำโขงเป็นทางสัญจรแลกเปลี่ยนสินค้า  มันคงเป็นทฤษฏีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม และการหาซื้อวัสดุได้ง่าย  ทำให้เกิดทอซิ่นหัวคำตีนคำใช้ในสังคมชาวบ้าน  อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าที่ผู้รู้ทั้ง 2 ท่านเล่าให้ฟัง  หากจะใช้อ้างอิงให้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการทางด้านวัฒนธรรมก็แล้วกัน


ครูโอ่งพาเรามาชมผ้าของบ้านหลังหนึ่ง ที่มีซิ่นมูลตกทอดกันมาถึงทายาทรุ่นที่ 3

สิ่งที่อิป้าสังเกตเห็นคือ ผืนซิ่นมีขนาดเล็ก โถๆๆๆๆ หุ่นเต็มไม้เต็มมืออย่างอิป้าจะนุ่งได้อย่างไร คุณคมกฤชก็ได้เล่าถึงการต่อซิ่นด้วยผ้าลายอื่น แล้วเวลานุ่งก็พับซ่อนส่วนต่อให้อยู่ภายใน

แล้วฉันก็ได้คำตอบว่า ที่ผ้านุ่งโบราณมีขนาดเล็กนั้น เป็นไปตามขนาดของฟืมที่จัดทำให้การพุ่งกระสวยของเส้นพุ่งได้พอดีวงแขนของช่างทอ


ระหว่างทางไป-กลับเวียงคุก และการพูดคุยกันกับทายาทผ้า อิป้าได้ความรู้มากมายหลายประการ

  • การทำความสะอาดผ้า –นึ่งฆ่าเชื้อ ฆ่าแมลงทำลายผ้า / แช่น้ำมะพร้าวแล้วล้างน้ำสะอาด เพิ่มความสดใสของผ้า /การแช่นำส้มสายชู ทำให้สีของผ้าสดขึ้น  หากเป็นผ้าตีนคำหัวคำที่มีอายุนาน ห้าม!!! แช่น้ำ เพราะผ้าที่อุ้มน้ำแล้วจะมีน้ำหนัก จะทำให้ดิ้นเงินดิ้นทองฉีกขาดเสียหาย เหลือแต่ผืนผ้า
  • การเก็บรักษา  โดยเฉพาะผ้าทอดิ้นเงินดิ้นทอง ให้ม้วนเก็บโดยใช้วัสดุที่แข็งแรงเป็นแกนกลาง ม้วนเก็บเพื่อรักษาโครงสร้างผ้าไม่ให้ดิ้นเงินดิ้นทองหัก


  • การนับเข็ม อิป้าอาจจะเรียกไม่ถูก ครูโอ่งแสดงให้ดูถึงการนับแถวหรือการผูกลาย เพื่อใช้ประเมินความยาก-ง่ายในการทอ รวมถึงหากจะมีการตีราคาผ้า ครูโอ่งกระซิบว่า 1 เข็มคือ 100 บาท ผ้าที่จับมาแค่ค่าออกแบบลายในผืน ซึ่งมี 14 แถว ราคาเบื้องต้นต้องไม่ต่ำกว่า 1400 บาท  ยังไม่นับค่ารวมทอ ค่าวัสดุ

  • สุนทรียะในลายผ้า  คือ สี ลาย สัมผัส (วัสดุ) ซึ่งในด้านวัฒนธรรมจะปรากฏมิติทางสังคมจากสุนทรียะของผ้าด้วย ฉันเคยถามคุณคมกฤชว่า บางทีเห็นตีนซิ่นสีแตกต่างจากตัวผ้านุ่ง  ผู้รู้อธิบายว่า เป็นการคุมโทนในตัว โดยดูสีโดยรวมของผ้านุ่งว่าออกโทนสีอะไร คนทำผ้ามักจะเอาตีนสีโทนเดียวกัน  หากแต่ดูผ้านุ่งใกล้ๆ จะเห็นสีผ้านุ่งเป็นอีกสีหนึ่ง ตีนอีกสีหนึ่ง หากดูไกลๆ จะมีสีเหลือบที่เป็นสีเดียวกันโดยเฉพาะผ้าไหม


  • ดิ้นทอง ดิ้นเงิน มีวิธีการทำหลายแบบ ต้องตีให้แบนและนำมาห่อฝ้ายให้กลม  สมัยก่อนนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส 
  • การใช้ผ้าทอดิ้น เป็นภัตราภรณ์  พบเห็นการใช้ผ้าทอดิ้นในเสื้อเป้า หรือเสื้อปั๊ด  ดิ้นเงินดิ้นทองเป็นวัตถุดิบที่มีราคาสูง สมัยก่อนคงหาได้ยาก ดังนั้นสังคมชั้นสูง บางครั้งในชีวิตคนทั่วไปที่ทอดิ้นใช้เอง อาจจะมีตีนคำ 1 ตีน เวลาใช้งานใช้การเนาเข้ากับผ้านุ่ง  ใช้เสร็จค่อยเลาะออก และยังเป็นการเก็บรักษาตีนคำที่ดีอีกด้วย เพราะผ้านุ่ง กับตีนคำ เวลาการซักเก็บ ต้องทำวิธีการต่างกัน


  • ฉันสังเกตเองว่า ส่วนใหญ่ผ้านุ่ง หรือซิ่น ที่ชาวบ้านใช้นี่หัวยังไม่เป็นคำ หรือทอดิ้น เดาเอาเองว่า การเหน็บผ้า อาจจะทำให้หัวตีนชำรุดเสียหาย ไม่เหมาะกับการใช้งาน จึงใช้ผ้าธรรมดาทำเป็นหัวซิ่นแทน จะเห็นมากเฉพาะตีนคำ และบางทีผ้าธรรมดาอาจจะเหน็บเอวได้ดีกว่า ไม่ลื่นเหมือนหัวคำ ผู้หญิงสมัยก่อนอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เข็มขัดในการนุ่งซิ่น
  • ในด้านความเชื่อ การใช้ผ้าขิด คุณคมกฤช เล่าให้ฟังว่า คนโบราณจะไม่ใช้ผ้าขิดนุ่งต่ำกว่าเอว เพราะถือว่าผ้าขิดใช้เป็นผ้าห่อใบลาน และใช้รองกราบพระ ที่เรียกกันว่า ผ้ารองกราบ จึงไม่นิยมมาใช้เป็นผ้านุ่ง อาจจะใช้เป็นผ้าสไบ เสื้อ 
  • ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าให้ฟังว่า ซิ่นบางสี ชาวบ้านทอขึ้นมาเพื่อให้ในการเป็นนางรำในงานประเพณี ดังนั้นจะมีสีเดียวกันในหลายๆบ้าน 
  • ภูมิปัญญาในการแกะลายมีอยู่ใน DNA ของผู้หญิงสมัยก่อน คนหัวดี เห็นแค่ตีนผ้าถุงแว๊บๆ ก็แกะลายได้แล้ว

 

สุดท้ายก่อนจะลาจากกัน  คุณคมกริช โชว์การผูกผ้าที่นุ่งแล้วผอม น่าเสียดายที่แบตมือถือหมดเลยไม่ได้ถ่ายคลิปไว้

และยังเล่าบอกว่า ผ้าลายหมี่คั่น ส่วนใหญ่จะเป็นลายทาง หากเอามาตัดเสื้อ ต้องวางแนวผ้าให้ดี ไม่งั้นจะดูอ้วน

 ก็นะ  

- ผ้าไทยใส่ยังไงก็สวย

-เรื่องราวเรื่องเล่า เพิ่มคุณค่าในผืนผ้า

-ซิ่นมูล มีคุณค่า ควรเก็บรักษา อย่าทิ้งไว้ให้แมลงกินผ้า 

มีความสุขกับผ้านุ่งค่ะ ว่าแล้วก็อยากได้ผ้าหัวคำตีนคำสักผืน

ขอบคุณ พี่เอ๋(คมกฤช ฤิทธ์ขจร)  ครูโอ่ง คุณจ๊ะโอ๋ สำหรับการเดินทางสู่โลกใหม่ในเดือนสิงหาคม 2561

หมายเลขบันทึก: 650673เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2018 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2018 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท