"อธิวรรต" (disruption) และ "เอกปจิยสภาวะ" (singularity) (1)


การจัดเรียงตัวในธรรมชาติบางอย่าง ที่มีลำดับและส่วนผสมที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยกลับให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างมหาศาล


ประเด็นคือ 1) ดูเหมือนการจัดเรียง "พิเศษ" บางอย่างนั้นเป็นส่วนน้อย แต่พอเกิดขึ้นแล้ว บางทีเป็นกลไกสร้างปรากฎการณ์ใหม่ขึ้น (singularity) ผมยังหาคำแปลที่เหมาะกับคำนี้ไม่ได้ ขอใช้ศัพท์คำว่า "เอกปจิยสภาวะ" บรรเทาอาการอึดอัดทางปัญญาไปพลางก่อน เช่นเดียวกับคำว่า "disruption" มีคนแปลว่า "(เทคโนโลยี)ปั่นป่วน" บ้าง, "โลกพลิกผัน" บ้าง, ธงชัย วินิจจะกูล พูดถึงเรื่อง "disruption" นี้เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ที่ผ่านมา (ผมไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่เขาพูดหลายอย่าง และสะท้อนว่าความสามารถในการตีความของเขามีปัญหามากขึ้น และไม่ทันสถานการณ์เยอะ แต่เรื่องนี้จะขอผ่านไปก่อน แล้วจะมาอภิปรายภายหลังถ้ามีเวลา ในที่นี้จะขอโฟกัสเฉพาะคำว่า "disruption" ที่ธงชัยใช้ นี้) คือธงชัยใช้คำว่า "ความพลิกผัน" ซึ่งเขาเอามาจาก "คำแปล" ของนิสิตรัฐศาสตร์จุฬา ที่จัดงาน "นวัตกรรมรัฐศาสตร์ในโลกแห่งความพลิกผัน" (Disruptive World : Innovative Political Science?) แต่เขาก็ออกตัวว่าไม่เห็นด้วยกับคำแปลนี้

ผู้สื่อข่าวประชาไท, ทีแรก, ถอดความคำพูดนี้ #ผิด เป็น "destruction" ตอนนี้ประชาไทคงรู้ตัวและแก้ไปแล้ว ผมเห็นตั้งแต่วันก่อนว่าจะเข้าไปท้วง แต่ขี้เกียจ ตอนหลังมีดราม่า ว่าเป็นเรื่องผิดเล็กนิดหน่อย ใคร ๆ ก็ผิดกันได้ อะไรทำนองนั้น ไม่เห็นต้องวิจารณ์มากมาย แต่ความจริง ทั้งการที่เราไม่สามารถแปลมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือถึงขนาดถอดความพลาดไปอย่างประชาไท (แม้จะมาออกตัวทีหลัง) ผมถึงกับย้อนกลับไปฟังที่ธงชัยพูดสองสามครั้งว่า ผมไม่ได้ฟังผิดว่าเขาพูดว่า disruption แน่ ๆ ไม่ใช่ destruction อย่างที่ประชาไทถอดความออกมาผิดตอนแรก มันสะท้อนปัญหาการขาดความเข้าใจทางภาษา ว่าเราไม่สามารถ "เป็นนาย" ของมันอย่างแท้จริงได้ ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนครั้งหนึ่งใน "ยุคสมัย" ของเรา อย่างคำว่า "โลกาภิวัฒน์" ซึ่งเป็นการถอดคำออกมาจากคำว่า "globalization" ตอนแรกสนธิ และ ชัยอนันต์ ถอดออกมาเป็นคำว่า "โลกานุวัตร" แล้วได้รับความนิยมมากจากหนังสือของเขาที่อธิบายคำนี้ออกมาอย่างเป็นระบบในวงกว้างเป็นคนแรก ๆ แต่ราชบัณฑิตยสถาน "รบ" และแก้มาเป็น "โลกาภิวัฒน์" จึงลงเอยเป็นคำนี้ (ผมมีปัญหากับราชบัณฑิตยสถาน ในการนิยามศัพท์เยอะเหมือนกัน แต่ขอเอาไว้อภิปรายในวันหลังเช่นกัน)

งานเขียนที่อธิบายคำว่า disruption ได้ดีที่สุด และจึงทำให้ผมเห็นว่า คำแปลว่า ปั่นป่วนบ้าง โลกพลิกผัน บ้าง อมความไม่ครบ และไปโฟกัสที่ผลปลายเหตุมากเกินไป -- ใครรู้สึกปั่นป่วน? หลายคนอาจจะรู้สึกดีก็ได้ ; อะไรพลิกผัน? สำหรับคนในวงในที่อยู่กับเทคโนโลยีแบบนั้นมานาน อาจจะเห็นเป็นความต่อเนื่องก็ได้ ฯลฯ ; งานชิ้นนั้นคือ "Disruptive Technologies: Catching the Wave" ของ Joseph L. Bower และ Clayton M. Christensen งานชิ้นนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2538 (ก่อนฟองสบู่แตก) แต่ในไทยตอนนั้นกลับไม่มีใครพูดถึงมันมากนัก เท่าเวลานี้ ซึ่งสะท้อนถึงความล่าช้าของการถ่ายทอดองค์ความรู้ (knowledge diffusion) ในสังคมไทยถึง 23 ปี ผมคำนวณดู ก็เป็นเรื่องปกติที่สังคมไทยจะมีความเนิ่นช้า (lagged time) ต่างจากแนวหน้าทางวิทยาการและองค์ความรู้ประมาณนี้, เราจะช้ากว่ามาเลเซีย 5 ปี; สิงคโปร์ 10 ปี; ญี่ปุ่น 15 ปีขึ้นไป

จุดสำคัญในงานชิ้นนี้ที่อธิบายให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแบบ "disruption" ว่าเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ แต่ยังไม่ถึงระดับที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่บรรษัทที่ยังใช้เทคโนโลยีเดิมพร้อมเปลี่ยนไปรับเทคโนโลยีใหม่นั้นมาใช้ในการผลิตหลัก ต้องรอจนกว่ามีคนมาใช้เทคโนโลยีใหม่มากขึ้น ผู้ผลิตรายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่แต่ทนรับกำไรต่ำไปก่อน ก็สามารถบรรลุถึงกำไรเต็มที่อย่างที่ ผู้ผลิตรายเก่าใช้เทคโนโลยีเก่าเคยครอบครองกำไรเต็มที่นั้นมาได้ และทำให้ตลาดหลักต้องเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ตาม จนทำให้ผู้ผลิตเก่าอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าโดยส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่าผู้ผลิตเก่าจะไม่รู้จักหรือไม่ทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่นั้น เพียงแต่กำไรที่เขาได้รับมันไม่คุ้มพอให้เขาเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ในขณะที่กระบวนการผลิตกับเทคโนโลยีเก่าสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจให้พอ

ผู้เขียนทั้งสองยกตัวอย่างสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้อย่างแจ่มชัดคือเรื่อง ฮาร์ดดิสก์ (ซึ่งเป็นการยกตัวอย่างที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปรียบเทียบในผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน จึงยากจะโต้แย้งว่าเทียบของคนละประเภทอย่างสำนวนฝรั่งว่า เทียบส้มกับแอปเปิล ทำนองนั้น) เทคโนโลยีเก่าผลิตฮาร์ดดิสก์ตัวใหญ่แต่มีความจุสูง เทคโนโลยีใหม่ผลิตฮาร์ดดิสก์ตัวเล็กกว่าแต่มีความจุต่ำกว่า ผู้ผลิตรายเดิมยังใช้เทคโนโลยีเก่าเพื่อป้อนฮาร์ดดิสก์ความจุสูง แต่ตัวใหญ่ให้กับลูกค้าที่ยังมีความต้องการใช้ฮาร์ดดิสก์ความจุสูงนั้น ส่วนผู้ผลิตรายใหม่ผลิตฮาร์ดดิสก์ตัวเล็กแต่ความจุต่ำ บุกเบิกตลาดที่ยอมรับความจุฮาร์ดดิสต์ต่ำกว่าไปก่อนซึ่งมีขนาดตลาดน้อยกว่า จนกระทั่งมีเทคโนโลยีที่สร้างฮาร์ดดิสก์ตัวเล็ก แต่มีความจุสูงกว่าเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมได้ มองจากภายนอกตลาดจึงแลเหมือนมีการเปลี่ยนโดย "ฉับพลัน" แต่ถ้ามองจาก "ภายใน" กระบวนการนี้เป็นความต่อเนื่อง และสำคัญที่ผู้มาใหม่ยอมทนรับการขาดทุน หรือกำไรต่ำไปพลางก่อน รอให้ตลาดพร้อม เทคโนโลยีพร้อม เขาก็จะได้รับส่วนแบ่งขนาดมหาศาลในภายหลัง

ถ้าย้อนไปดู ผู้อยู่ก่อนที่ดูเหมือนไม่สามารถปรับตัวตามได้ทัน ความจริงก็ทดลองเทคโนโลยีใหม่กันมาทั้งนั้น เช่น โกดัก ก็ทดลองกล้องดิจิตัล แต่ขนาดตลาดในตอนแรกยังไม่คุ้ม และโกดักอ่านเกมผิดที่ไปทุ่มพนันกับ "การพิมพ์รูป" ไม่ว่าจากฟิล์มหรือดิจิตัล มาเป็นภาพถ่าย มากเกินไป เพราะในที่สุดคนที่ถ่ายรูปแบบดิจิตัล ไม่พิมพ์ แต่ดูและเก็บภาพนั้นบนพื้นที่เก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต (cloud) ทั้งหลายแทน โนเกียก็เช่นกัน เขาก็ทดลองผลิตโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนมาก่อนใครด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้ลงทุนกับมันให้เป็นการผลิตหลัก ในที่สุดก็เผชิญปัญหาการคุกคามจากผู้ท้าทายรายใหม่แบบเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงแบบ "disruption" จึงมีส่วนที่ทั้งต่อเนื่อง และไม่ต่อเนื่อง อยู่จริง แต่ไม่ถึงขนาดปฏิวัติ (revolution) การเปลี่ยนแปลงแบบ ปฏิวัติ มีการเปลี่ยนแปลงที่วกกลับไปสู่มูลฐาน มีความลึกซึ้งถึงขั้นเปลี่ยนรากถอนโคน หรือเปลี่ยนหลักมูลฐานใหม่แทบทั้งหมด

ผมขอนิยามศัพท์ใช้แทนคำว่า disruption ไปพลางก่อนว่า "อธิวรรต" อธิ = ใหญ่; วรรต = การเปลี่ยนแปลง

วรรต นี้ใช้คำเดียวกับ ปริวรรต , วรรต คำหลังผันมาจาก วตฺต (ภู ธาตุ) = เป็นไป, เป็นอยู่, เลี้ยงชีวิต; หมุนไป; ส่วน ปริ คือ แย้ม ผลิ แตกแต่น้อย คำปริวรรต นี้ใช้กับการแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นหลัก

อีกคำที่น่าสนใจคือ "อธิปริณาม" (ปริณาม มาจากคำสันสกฤตว่า परिणाम แปลว่าเปลี่ยนแปลงเช่นกัน) แต่คำนี้ แปลก เกินความเข้าใจคนทั่วไป ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็เห็นว่าไม่ต้องแปล แต่ทับศัพท์ไปเป็น "ดิสรัปชั่น" เลยก็น่าจะได้ผลไม่ต่างกัน เพียงแต่มีกลิ่นอายเป็นฝรั่งหน่อย ซึ่งก็ไม่แปลกภาษาไทยมีคำยืมมาจาก "ฝรั่ง" เยอะ เช่น ขนม "ปัง" ก็ถอดมาจากศัพท์โปรตุเกสคือ pão

ส่วน "เอกปจิยสภาวะ" (singularity) ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอีกแบบซึ่งต่างไปจากทั้ง revolution, disruption หรือ change ธรรมดา

เอกปจิยสภาวะ นี้ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนไป "ข้างหน้า" เพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจหมายถึงนัยยะที่พูดถึงการย้อนกลับได้ด้วย คือจากสภาพหลากหลายที่ถือกำเนิดจาก เอกปจิยสภาวะนี้ ก็ยุบรวมลงมาเป็น เอกปจิยสภาวะ นี้ได้ อย่างการยุบตัวดาวฤกษ์ทั้งดวงลงมาเป็นหลุมดำ ซึ่งจุดก้นบึ้งปลายสุดของหลุมดำนั้น ก็เรียกว่า singularity หรือ เอกปจิยสภาวะ; สภาพพลังงานรวมศูนย์อย่างยิ่งยวดเพียงจุดเดียว ก่อนระเบิดครั้งใหญ่ (big bang) กลายเป็นจักรวาล ก็เรียกว่า singularity หรือ เอกปจิยสภาวะ.

ทุกสิ่งทุกอย่าง ถือกำเนิดขึ้น หรือ สิ้นสุดลง บนเหตุปัจจัยเพียงประการเดียว คือพลังงาน

คำว่า อธิวรรต (หรือแม้แต่อีกคำ คือ เอกปจิยสภาวะ) นี้ ฟังดูลิเกในทีแรก ผมก็สารภาพว่ารู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน เหมือนกับที่ฟังคำ โลกาภิวัฒน์ หรือ โลกานุวัตร ในทีแรก ผมพยายามถอดคำสันสกฤตหลายคำแล้ว แต่เห็นว่าไม่เหมาะเท่าคำนี้ และเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราคุ้นเคยกับมันแล้ว ผมคิดว่ามันจะทำให้เราเป็น "นาย" ของมัน เหมือนที่คำอย่าง โลกาภิวัฒน์ หรือ โลกานุวัตร เป็น มากกว่า คำว่า โลกพลิกผัน หรือ โลกปั่นป่วน อะไรทำนองนั้น

(ยังมีต่อ)

คำสำคัญ (Tags): #disruption#singularity
หมายเลขบันทึก: 651317เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2018 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2018 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท