คำปราศรัยของอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น 28 มิถุนายน 2509



มีโอกาสเปิดไปเจอไฟล์งานที่เคยร่วมเป็นกองบรรณาธิการวารสารศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น “มอดินแดงสัมพันธ์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – มิถุนายน  2556 เป็นผู้รับผิดชอบคอลัมน์มอดินแดงแห่งความหลัง จึงได้ไปค้นคว้าหาข้อมูลเก่าที่หอจดหมายเหตุ มข. เพื่อมาเผยแพร่เรื่องราวดี ๆ จึงได้ค้นพบคำปราศรัยที่ ฯพณฯ พจน์ สารสิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนแรก ได้ปราศรัยออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน  ๒๕๐๙ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และพัฒนาการของมหาวิทยาลัยในระยะเริ่มแรก

จึงถือโอกาสนี้บันทึกลง gotoknow เพื่อเป็นจดหมายเหตุ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกทางหนึ่งที่เผยแพร่เรื่องราวในอดีต


“เพื่อนชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมากที่ได้รับโอกาสอันมีเกียรติจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ ให้มาปราศรัยกับท่านในวันนี้ ...ในฐานะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉะนั้น หัวข้อที่ข้าพเจ้าจะกล่าวปราศรัยในวันนี้ก็คือเรื่องมหาวิทยาลัยขอนแก่น”

“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพลเมือง 1 ใน 3 ของประเทศ ภูมิภาคนี้มีความสำคัญมากในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลพยายามจะได้พัฒนาเพื่อยกฐานะการครองชีพของประชาชนให้มีระดับสูงขึ้น ...มีความจริงอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า ความเจริญของประเทศใดๆก็ตามย่อมขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาของพลเมืองในประเทศนั้น ประเทศใด แม้ว่ามีทรัพยากรมากแต่ระดับการศึกษาของประชาชนต่ำ รายได้ของประเทศนั้น เมื่อคิดถัวเฉลี่ยเป็นรายได้ประชาชน 1 คน ต่อ 1 ปีก็ต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันแก้ไขให้เพิ่มขึ้นให้จงได้ ในส่วนของรัฐบาลก็พยายามช่วยพัฒนาการศึกษาของชาติโดยรีบด่วน  โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยยังไม่มี รัฐบาลจึงจัดตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้มีการสอนและการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย ทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูง”

“การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคต่างๆ มีความจำเป็นเท่ากับในกรุงเทพมหานคร เหตุผลประการแรกก็คือ เมื่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ก็จะมีการสอนหลักสูตรขั้นมหาวิทยาลัยในภาคนี้ โรงเรียนมัธยมที่มีอยู่ก็จะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น คุณภาพการศึกษาขั้นมัธยมก็สูงขึ้น ผลการสอบไล่ก็จะดีกว่าเวลานี้ เมื่อถึงเวลานั้นพ่อแม่ก็คงนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในภาคนี้ ก็เป็นโอกาสการศึกษาโดยทั่วถึงกัน  การมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็นับเป็นศรีสง่าและเป็นเกียรติแก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนที่มีบางท่านวิตกว่าจะไม่มีใครมาเรียนนั้น จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า นักศึกษาที่มาเรียน ส่วนมากสอบเข้าได้ที่มหาวิทยาลัยต่างๆในกรุงเทพฯ แต่ยอมสละสิทธิ์เพื่อมาเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ก็มีเหตุผลหลายประการ แต่ก็มีประการหนึ่งที่สำคัญคือมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคนี้”

“เหตุผลอีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตเท่าที่เป็นมาแล้ว นักศึกษาจากต่างจังหวัดต่างพากันไปศึกษาในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ส่วนมากไม่มีญาติพี่น้องให้อาศัย ก็ไปพักพิงอาศัยวัดบ้าง อยู่หอพักเอกชนบ้าง รวมกันเช้าบานพักอยู่บ้าง ทางวัดและเจ้าของหอพักไม่อาจดูแลเยาวชนเหล่านั้นได้ นักศึกษาก็มักพบปะเคยชินกับความสนุกสบาย มีดรงภาพยนตร์ โรงละคร สถานที่เย้ายวน เปิดช่องให้เยาวชนประพฤติปฏิบัติไปในทางที่เสื่อมเสียได้ง่าย เมื่อนักศึกษาเหล่านี้ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยแทนที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อไปสร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่น ก็ยังคงอยู่ในพระนคร เพื่อหางานทำหรือยังไม่ได้งานทำก็ยอมมีชีวิตอยู่ในพระนครอย่างไร้งานทำ ทำให้เกิดปัญหาสังคมโดยใช่เหตุ”

“การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่แบบประจำ มีครูบาอาจารย์อยู่เป็นประจำ เพื่อดูแลอบรมนักศึกษา ต้องการให้นักศึกษาได้รู้จักและคุ้นเคยกับบรรยากาศของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่จะมาแต่ศึกษาวิชาการอย่างเดียว ยังจะต้องมีสิ่งที่ได้ปฏิบัตินอกเหนือไปอีกที่เรียกว่ากิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาได้มาอยู่ร่วมกัน รู้จักกันเห็นอกเห็นใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เกิดมีใจรัก คิดถึงประโยชน์ของสถาบันที่ตัวเป็นสมาชิก”

“อันดับสุดท้ายก็คือเรื่องเงินที่นำมาจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งส่วนใหญ่อาศัยเงินงบประมาณแผ่นดิน...ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรา นักเรียนที่มีสิตปัญญาและความสามารถที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องล้มเลิกความคิดที่จะเข้าศึกษาต่อในชั้นมหาวิทยาลัย เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ อันเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ซึ่งเราจะแก้ไขได้ด้วยการตั้งทุนมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือให้นักศึกษาจำนวนนี้ได้เข้าศึกษา...การให้ทุนนักศึกษาเป็นการช่วยให้คนที่มีสติปัญญาแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เข้าเรียน เป็นการสร้างสมองเยาวชนของชาติ เป็นความมั่นคงของประเทศชาติ”

“สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกดีใจที่งานการสร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นอันเป็นของขวัญที่รัฐบาลได้มอบให้แก่พี่น้องชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดำเนินมาเรียบร้อย มหาวิทยาลัยนี้เป็นของท่านทุกคนไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่งหรือคณะบุคลคลใดบุคคลหนึ่ง ...ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นศูนย์การศึกษาค้นคว้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในอนาคต ซึ่งก็จะนำความเจริญมั่งคั่งมาสู่พี่น้องชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหลาย”

หมายเลขบันทึก: 655858เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2018 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2018 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท