ความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ยุคเอเธนส์


ระบอบประชาธิปไตยสุดท้ายไม่ใช่ระบบอัตโนมัติที่จะรักษาตัวมันเอง แต่อยู่ที่การถกเถียงแลกเปลี่ยนต่อข้อดีข้อเสียต่าง ๆ ในระบอบการปกครองโดยผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่และเอาจริงเอาจัง

“นกเค้าแมวแห่งเทพีมิเนอร์วาก็เพียงสะบัดปีกของมันหลังรัตติกาลแผ่ปกคลุมลงมา” – เฮเกล

อิทธิพลของไอเดียแบบมาร์กซิสต์/เหมาอิสม์ ที่มีต่อปัญญาชนเดือนตุลา ทำให้ความคิดของปัญญาชนเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่ถือไอเดีย “ประชาธิปไตย” ในฐานคิดทางศาสนา และพยายามเทียบกับชาติตะวันตก (ไม่ว่าจะเป็นค่ายเสรีหรือค่ายคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น) ที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมสูงกว่าบ้านเรา อย่างแข็งทื่อตายตัว

ภาพที่  1:  สามเสาหลักระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์
ภาพที่ 1: สามเสาหลักระบอบประชาธิปไตยเอเธนส์

แต่ต้นกำเนิดของประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ซึ่งเป็นแม่แบบประชาธิปไตยในตะวันตก มีฐานกำเนิดมาจาก การแบ่งปัน "ผลประโยชน์" และการพยายามลดปัญหาความขัดแย้งที่กำลังก่อรูปไปเป็นสงครามกลางเมือง คนที่พยายามวางรากฐานการปฏิรูปคนแรกคือโซลอน เป็นที่มาของคำว่า "isonomia" หรือ "ความเสมอภาคบนฐานทางกฎหมาย" ต่อมาก็เป็นคริสเตนิส เขาเป็นคนที่เรียกได้ว่าพัฒนาไอเดียการปฏิรูปของโซลอนต่อไปอีกอย่างมากอย่างเป็นระบบถือได้ว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือเพริคลิส การยึดหลักประชาธิปไตยต่อมาอย่างมั่นคง รวมทั้งเล็งเห็นปัญหาความไม่รอบคอบของเสียงส่วนใหญ่ เขามักจะออกเสียงทัดทานและโน้มน้าวเสียงส่วนใหญ่ให้คอยไตร่ตรองให้รอบคอบอยู่เสมอ ธูซีดีเดสนักการทหารประวัติศาสตร์จึงเรียกเพริคริสว่า "พลเมืองคนที่หนึ่ง" ความเป็นที่นิยมของระบอบประชาธิปไตยของเอเธนส์เป็นเพราะขณะนั้นเอเธนส์กำลังอยู่ในช่วง "ขาขึ้น" หรือ "ยุคทอง" ก่อนสงครามเพโลพอนนีเซียนกับพวกสปาร์ตาในเวลาต่อมา หลังจากนั้นเอเธนส์จะอยู่ในช่วงขาลง รวมทั้งการมาถึงของมาซีโดเนียนและพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงสามารถสั่นคลอนได้ อ่อนแอได้ขึ้นกับสถานภาพและสภาพแวดล้อมของนครรัฐในขณะนั้น

ปัญหาความไม่รอบคอบของเสียงส่วนใหญ่แสดงให้เห็นชัดอย่างสะเทือนใจในคำพิพากษาต่อคดีของโสเครตีส เมื่อให้เลือกระหว่างการหลบหนีกฎหมาย และการยืนยันในหลักการ เขาเลือกทางที่สองและนำไปสู่การถูกประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษเฮมล็อคที่เราทราบกันดี คำพูดของเขาซึ่งถูกเล่าใน Apology ("คำแก้คดี") ของเพลโตถือเป็นอมตะ แม้จะไม่ได้ใช้วิธีโน้มน้าวแบบพวกโซฟิสต์เลย โสเครตีสเพียงแต่พูดในสิ่ง "ที่เป็นจริง" เห็นได้ด้วย "ปรัชญา" ทั้งยังปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนเชื่อและพูดเอาไว้ และแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยเพื่อเตือนให้พลเมืองได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่ต้องครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง ระบอบประชาธิปไตยสุดท้ายไม่ใช่ระบบอัตโนมัติที่จะรักษาตัวมันเอง แต่อยู่ที่การถกเถียงแลกเปลี่ยนต่อข้อดีข้อเสียต่าง ๆ ในระบอบการปกครองโดยผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่และเอาจริงเอาจัง

ภาพที่  2: โสเครติสดื่มยาพิษเฮมล็อกตามคำพิพากษาของชาวเอเธนส์
ภาพที่ 2: โสเครตีสดื่มยาพิษเฮมล็อกตามคำพิพากษาของชาวเอเธนส์

ถึงแม้ว่าทั้งเพลโต และอริสโตเติลพยายามจะคิดถึงศาสนา (ผ่านไอเดียเรื่อง "God") อย่างเป็นระบบ สาเหตุส่วนหนึ่งที่เพลโตพยายามคิดถึงเรื่องนี้ ก็อาจเป็นเพราะระบบเทววิทยาของกรีกเมื่อเทียบกับศาสนาสมัยใหม่อย่างศาสนาคริสต์ยังไม่สมบูรณ์มากนักดังจะพูดถึงข้างล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของเพลโตใน Republic และ Temaeus ผ่านข้อเสนอเรื่อง "ทฤษฎีของแบบ" และว่าด้วยลักษณะแท้จริงของสรรพสิ่งและความสามารถในการเข้าถึงลักษณะแท้จริงเหล่านั้นผ่านการแลกเปลี่ยนแบบ "วิภาษวิธี"* หลายคนอาจจะมองว่าอริสโตเติลเสนอด้านตรงข้ามคือมองว่าลักษณะที่ปรากฎต่างหากคือลักษณะที่แท้จริงของสรรพสิ่ง แต่งานของกลุ่มทูบิงเงินที่ศึกษางานเพลโตที่ไม่ได้บันทึกไว้ (Plato's unwritten doctrines) ได้พยายามชี้ให้เห็นร่องรอยที่เพลโตบันทึกไว้ในงานชิ้นต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเฟรดัส, 275a-277c ว่า ข้อถกเถียงถึงความจริงสูงสุด (ultimate truth) ไม่สามารถทำผ่านงานเขียน เพราะถึงที่สุดงานเขียนไม่สามารถตอบโต้ (ไม่สามารถสร้างวิภาษวิธี -- จึงไม่สามารถสร้างความกระจ่างแจ้งต่อผู้ร่วมสนทนาให้เข้าถึงความจริงในระดับที่สูงขึ้นไปได้) และเป็นเพียงเครื่องระลึกเตือนความทรงจำ นอกจากนี้ปัญหาอื่นคือความรู้ประเภทนี้ไม่เหมาะสมกับการเผยแพร่ให้แก่คนทั่วไปที่ยังไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้มีการไตร่ตรองศึกษาอย่างจริงจังในลักษณะนักปรัชญา (esoteric doctrine) เรื่องที่ต้องพิจารณาคือ งานนิพนธ์ของเพลโตล้วนมีลักษณะเป็นบทสนทนาที่เต็มไปด้วยชั้นเชิง คือต้องการจำลองให้คนอ่านได้ตระหนักถึงการแลกเปลี่ยนความคิดแบบ "วิภาษวิธี" มากกว่าการเขียนแบบบรรยายโดยทั่วไป ในขณะที่อริสโตเติลก็พูดถึงปัญหาของงานเขียนเช่นเดียวกับเพลโต (สำหรับงานของอริสโตเติลให้ดูใน Aristotle's Metaphysics books Α, Μ, N และ Physics book Δ; ส่วนงานของเพลโตอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ ให้ดูจดหมายฉบับที่เจ็ดหรือ Seventh Letter ซึ่งเขาพูดถึงกิจกรรมทางการเมืองที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องใน Syracuse อนึ่ง ในบรรดาจดหมายทั้งหมดของเพลโตที่เผยแพร่กันอยู่ เข้าใจว่าเฉพาะฉบับที่ 7-8 เท่านั้นที่ได้รับการรับรองว่าเป็นของแท้ นอกจากนี้งานของเพลโต ก่อนและหลัง Syracuse ก็มีความต่างกันมาก) กลุ่มทูบิงเงินถึงกับมีข้อเสนอค้านความเห็นคนส่วนใหญ่ว่าเอาเข้าจริงแล้วเพลโตและอริสโตเติลมิได้มีความเห็นขัดแย้งกัน

แต่งานทางศาสนาที่ส่งผลสะเทือนต่อโลกอย่างลึกซึ้งที่สุด กลับเป็นงานบันทึกที่ส่งผ่านมาทางประวัติศาสตร์จากศาสนายูดายโบราณที่มีที่มาจากชาวคานาอาน แม้ตำรา "อพยพ" (Exodus) จะพูดถึงการอพยพของชาวยิวจากอียิปต์ แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีหลักฐานโบราณคดีพิสูจน์เรื่องการอพยพนี้ จากการตรวจสอบหลักฐานดีเอ็นเอ ชาวคานาอานกึ่งหนึ่งเป็นคนพื้นที่ในบริเวณที่เป็นประเทศอิสราเอล ปาเลสไตน์ จอร์แดน ฯลฯ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอพยพมาจากดินแดนบริเวณเมโสโปเตเมีย ดินแดนบริเวณนี้เป็นที่ตั้งนครโบราณเก่าแก่ที่สุดของโลกเท่าที่พบในขณะนี้ ซึ่งเป็นของชาวสุเมเรียนที่ชื่อ "Eridu" เมื่อราว 7,000 ปีก่อน บันทึกของพวกสุเมเรียนจารึกเอาไว้ว่า "When kingship from heaven was lowered, the kingship was in Eridu" อันที่จริง การปรากฎตัวขึ้นของ "นครรัฐ" เป็นผลมาจากการปฏิวัติกสิกรรม (Neolithic revolution) ซึ่งเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการรอนแรมล่าสัตว์มาเป็นการตั้งถิ่นฐานสะสมอาหารและแรงงานแน่นอนเริ่มมีการก่อรูปโครงสร้างทางสังคมที่สลับซับซ้อนขึ้น จนสามารถก่อร่างแปลงเมืองขึ้นเมื่อสมัยหนึ่งหมื่นปีก่อน

ความ "เที่ยงตรง" ของการบันทึกคัมภีร์เหล่านี้ของชาวคานาอาน ดูได้จากคัมภีร์ "ปฐมกาล" (ดูในภาพข้างล่าง) ที่เรียกกันว่าคัมภีร์ทะเลสาปแห่งความตาย (The Dead Sea Scroll) ที่เพิ่งค้นพบเมื่อราว 1950 ผมถอดตัวอักษรฮิบรูพูดถึงท่อนแรกสุดของคัมภีร์ปรากฎว่าตรงกันทุกตัวอักษร แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำ เที่ยงตรงอย่างเหลือเชื่อในกระบวนการถ่ายทอดตัวบททางศาสนาผ่านคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า เป็นเวลาถึงสองพันปี น่าสังเกตว่าคำศัพท์ที่เอ่ยถึงพระผู้เป็นเจ้าในท่อนนี้จะใช้คำว่า אֱלֹהִ֑ים หรือ "อีโลฮิม" (’ĕ-lō-hîm) ซึ่งมีความใกล้เคียงกับคำ "อัลเลาะห์" ของอิสลาม คัมภีร์ทะเลสาปแห่งความตายนี้ถูกขนมาเก็บไว้ในถ้ำหลายแห่งใกล้กับทะเลสาปมรณะเมื่อราวปี ค.ศ. 70 เพราะเป็นปีที่ชาวยิวในดินแดนยูเดียใต้การยึดครองของโรมันก่อการปฏิวัติครั้งใหญ่ขึ้น (ตัวคัมภีร์เองเมื่อตรวจอายุคาร์บอนพบว่าถูกเขียนขึ้นราว 200 ปีก่อนคริสตกาล)

ภาพที่ 3: ม้วนตำราปฐมกาล ฉบับทะเลสาปมรณะ
ภาพที่ 3: ม้วนตำราปฐมกาล ฉบับทะเลสาปมรณะ

ไอเดียหนึ่งของศาสนายูดายจะมีคำว่า "messiah" คือ "พระผู้ช่วยให้รอด" แต่ความหมายดั้งเดิมของยิวจะหมายถึง "กษัตริย์" ในแง่หนึ่ง ศาสนายูดายก็แทบไม่ต่างจากขบวนปฏิวัติ ซึ่งผู้นำพร้อมจะเป็นกษัตริย์นำชาวยิวไปสู่อาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ตามองค์ความรู้การปกครองของกรีกที่ส่งผ่านมายังโรมันมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง การปฏิวัติ และการต้านปฏิวัติอยู่แล้ว เช่น อยู่ในบทที่ห้าของหนังสือ Politics ของอริสโตเติล (Book V§1301a) การปฏิวัติครั้งใหญ่ของชาวยิวจึงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ วิหารศักดิ์สิทธิ์ของยิวถูกทำลาย (นี่เป็นวิหารหลังที่สองที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยเปอร์เซียนับจากวิหารหลังแรกที่ถูกออกแบบโดยฮิราม อะบิฟ หรือบุตรแม่หม้าย ในสมัยกษัตริย์โซโลมอน ในคัมภีร์จึงพูดถึงการสร้างวิหารหลังใหม่ ซึ่งจะมาพร้อมกับ "กษัตริย์" องค์ใหม่และวันพิพากษา) ผู้คนชาวยิวถูกสังหารไปนับล้านคน ต่อมาจะมีการปฏิวัติตามมาอีกสองครั้ง ซึ่งก็ล้วนลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของยิว นอกจากนี้ผลของ "สงคราม" ยังก่อให้เกิดการแยกตัวของคริสต์ศาสนา และ ยูดายซึ่งก็มีการพัฒนาไปจากศาสนายูดายดั้งเดิม อย่างค่อยเป็นค่อยไปและชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ศาสนายูดายในยุคหลังจะศึกษาคัมภีร์ทัลมุตและกฎเจ็ดข้อของโนอาห์นอกเหนือจากคัมภีร์โทราห์ดั้งเดิมและมีการทำศาสนพิธีในพื้นที่ส่วนตัวเนื่องจากวิหารหลังที่สองถูกทำลาย ส่วนคริสต์ศาสนาถูกขัดเกลาให้มีความอ่อนโยนมากขึ้น เปิดกว้างต่อคนทุกประเภท ไม่เหมือนยูดายที่ยังจำกัดเฉพาะยิว ในที่สุดศาสนาคริสต์จะถูกรับเข้าเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมันในสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน พระองค์รับ "เข้ารีต" ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ต่อมาคริสต์ศาสนาจะเริ่มมีอำนาจเหนืออาณาจักรมากขึ้นทุกที และยิ่งมากขึ้นมากหลังการสังฆเภทระหว่างคอธอลิค และออร์โธดอกซ์

ภาพที่ 4: รูปแรกการแยกตัวของคริสตศาสนาและยูดาย รูปที่สองแผ่นจารึกเป็นที่ระลึกที่กองทัพโรมันเอาชนะสงครามกับพวกยิว
ภาพที่ 4: รูปแรกการแยกตัวของคริสต์ศาสนาและยูดาย รูปที่สองแผ่นจารึกเป็นที่ระลึกที่กองทัพโรมันเอาชนะสงครามกับพวกยิว

นักคิดยุโรปในสมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา พยายามแก้ปัญหาการกดขี่ของศาสนจักร ส่วนพวกขุนนางและกษัตริย์หนุนความพยายามเหล่านี้เพื่อปลดเปลื้องอำนาจศาสนจักรลง ความพยายามนักคิดยุโรปเหล่านี้ได้รับแรงหนุนเมื่อมีการเผยแพร่ความรู้ในตำรากรีกโบราณที่หลุดออกมาในยุโรปจำนวนมากเมื่ออาณาจักรไบแซนไทน์ถูกพวกมุสลิมตีแตก เทคโนโลยีการพิมพ์ยิ่งช่วยเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ไปสู่สามัญชนจำนวนกว้างขวาง การต่อสู้นี้ไม่ใช่จะทำได้ง่าย เพราะนักคิดฝ่ายศาสนจักร พวกนักบวชบาทหลวงก็เก็บงำความรู้นี้มาจากสมัยกรีกอย่างอริสโตเติลมาอ้างสนับสนุนพวกตนเช่นกัน พวกฝ่าย "ก้าวหน้า" ต้องอาศัยคนอย่าง เรอเน เดการ์ต หรือ ฟรานซิส เบคอน ที่ต้องคิดกลับหัวกลับหางเอาชนะ "ความคิดอริสโตเติล" ให้ได้ นวัตกรรมสี่ชนิดคือดินปืน เข็มทิศ กระดาษ และเทคโนโลยีการพิมพ์ ถือเป็นปัจจัยการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ช่วยดึงยุโรปออกจากยุคมืดในทรรศนะของเบคอน เขาถึงกับเขียนตำราที่ชื่อว่า novum organum (new instrument of science) เพื่อมาเปรียบกับ organon ของอริสโตเติลเลยทีเดียว แม้ไอเดียแบบอุปนัย (inductive method) ใน novum organum ของเบคอน ซึ่งเป็นรากฐานของวิธีวิทยาของกระบวนการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ จะต่างจากไอเดียแบบนิรนัย (deductive method) ของเดการ์ต แต่ทั้งคู่ต่างก็ปฏิเสธการอ้างถึงข้อสรุปปฐมฐานที่โต้แย้งไม่ได้ (axiom) ของอริสโตเติล ในเวลาต่อมาทั้งไอเดียแบบอุปนัยและนิรนัยต่างล้วนจะเป็นรากฐานของวิธีวิทยาของความคิดสมัยใหม่ งานสำคัญอย่างหนึ่งของเดการ์ตคือการคิดค้นจตุรัสและพิกัดแบบคาร์ทีเชียน ซึ่งจะนำมาใช้ทาบกับพีชคณิต และเรขาคณิตของยูคลิดได้ (ชื่อคาร์ทีเชียนเป็นชื่อละตินของเดการ์ต)

ความจริงที่คนไม่ค่อยพูดถึงกันคือ ส่วนใหญ่คนอย่างฟรานซิส เบคอน หรือ ไอแซค นิวตัน เป็นพวกโรสิครูเซี่ยน (Rosicrucians) หรือพวกกางเขนกุหลาบซึ่งพยายามสืบความรู้ย้อนไปถึงสมัยอียิปต์ ไอเดียแบบนี้เองต่อมาจึงมีการสืบหาความรู้และแปลตำหรับตำราจากทางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะตำราพุทธศาสนาและฮินดูมากขึ้นด้วย พวกนี้ศาสนจักรจะถือว่าเป็นพวกนอกรีต เพราะสนใจการเล่นแร่แปรธาตุ โหราศาสตร์ ความรู้ที่ไม่เปิดเผย (occult) งานเขียนในลักษณะนี้ของนิวตันมีเป็นจำนวนมาก จึงมีคนเรียกนิวตันว่า "นักเวทย์คนสุดท้าย" มากกว่า "นักวิทยาศาสตร์คนแรก"
แต่พลังที่ไปลดทอนอำนาจของวาติกันมากที่สุดกลับเป็นการเคลื่อนไหวของมาร์ติน ลูเธอร์ ต่อมาจะกลายเป็นขบวนการโปรแตสแตนท์ และต่อด้วยสงครามศาสนากินเวลาสามสิบปี ก่อนจะลงเอยด้วยสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย ใจความสำคัญคือการเลิกอำนาจศาสนจักรเหนืออาณาจักร (มาร์ติน ลูเธอร์ ยังคงกรำงานหนักจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต งานสำคัญของเขาคือการแปลคัมภีร์คริสต์ศาสนาจากภาษาละตินเป็นภาษาเยอรมัน ทำให้สามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างกว้างขวาง เทคโนโลยีการพิมพ์ยิ่งช่วยเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก เขารำพึงก่อนสิ้นใจว่า "ข้าพเจ้าจะตายอย่างคนยากจน")

แม้จะผ่านการต่อสู้กันมาขนาดนี้แล้ว แต่อิทธิพลของคริสต์ศาสนาต่อความคิดผู้คนไม่ได้ลดลงไปเลย นักคิดในภาคพื้นยุโรปที่เคลื่อนไหวต่อจากพวกฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งต่อมาจะเรียกว่า "ยุคภูมิธรรม" หรือ "ยุครู้แจ้ง" จะยิ่งพากันครุ่นคิดและศึกษาเพื่อเอาชนะอิทธิพลของศาสนจักรให้ได้ต่อไปอีก เฮเกลศึกษาย้อนหลังไปถึงอดีตว่าทำไมศาสนาคริสต์ที่ถูกกดขี่ ต่อมาถูกปฏิเสธกลับกลายมากดขี่ผู้คนในภายหลัง จนต่อมากลายเป็นงานคลี่คลายเรื่องจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยของเขา เฮเกลจะใช้ยุทธวิธีแบบวิภาษวิธีที่ปรับปรุงกระบวนการ (non-arbitrariness dialectical method) ความคิดบทเสนอจะถูกปฏิเสธ แล้วจะถูกปฏิเสธซ้ำไปจนถึงบทสรุป (negation of negation) ที่นำไปสู่สภาวะเสมอภาคต่อเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งในที่สุดจะปรากฎออกมาในรูประบบการปกครองหรือรัฐ ผลงานของเฮเกลในเรื่องนี้ที่ถือว่า "มีวุฒิภาวะ" ทางปัญญาอย่างยิ่ง ถือเป็นงานชั้นเลิศ (magnum opus) คือ "Elements of the Philosophy of Right"

ไฮเด็กเกอร์จะโจมตีไอเดีย negation of negation เรื่องนี้ของเฮเกลว่ายังคงวางอยู่บนฐานคิดเรื่อง "เวลา" ซึ่งอริสโตเติลมองเวลาว่าเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงจาก ศักยภาพ (potentiality) เป็น สภาวะที่เป็นจริง (actuality) หรือ "actus et potentia" ดังนั้นสิ่งที่เฮเกลพยายามจะเสนอว่า "จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย" ไม่ใช่ "อันติมสัจจะ" เพราะดังเช่นพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์จะอยู่พ้นไปจากความเปลี่ยนแปลงใด ๆ (actus purus) พระองค์จึงปราศจากซึ่ง เบื้องต้น ท่ามกลาง และ บั้นปลาย ("The universe is conceived of as a series of things arranged in an ascending order, or potency and act at once crowned and created by God, who alone is pure act. God is changeless because change means passage from potency to act, and so he is without beginning and end, since these demand change.") ต่างจากมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เป็นเพียง "ศักยภาพ" ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาทำให้ประจักษ์ (realize) แล้วจึงเปลี่ยนแปลงไปสู่ "สภาวะที่เป็นจริง" ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ และมนุษย์จึงไม่มีความสมบูรณ์มีข้อบกพร่องแต่ต้น (in actu) พระผู้เป็นเจ้านั้นทรงมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ในพระคัมภีร์ฉบับปฐมกาลพระองค์จึงตอบคำถามต่อโมเสสว่า "พระองค์ก็คือพระองค์เอง" ("I am what I am" หรือ "אֶהְיֶה אֲשֶׁר אֶהְיֶה") เพราะเหตุนั้นตัวพระองค์เองจึงเป็นเหตุต่อตนเอง (ens causa sui)

ต่อมาไฮเด็กเกอร์จะเพ่งความสนใจของเขาไปแก้ปัญหาเรื่อง "Being" มากขึ้น และมองว่าไม่เคยมีนักคิดคนใดนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคิดถึงเรื่อง "Being" นี้อย่างจริงจังมาก่อน ทุกคนถือเรื่องนี้ "โดยปริยาย" ราวกับว่าเข้าใจกันดีอยู่แล้ว เขายืมคำเก่ามาประดิษฐ์คำว่า dasein (being there) ขึ้นมา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักรู้ของ Being ถึงสภาพในตัวเองที่มีลักษณะชั่วคราว จู่ ๆ ก็ถูกโยนลงมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวในโลกและสภาพแวดล้อมและการมุ่งหน้าไปสู่ความตายหรือวาระสิ้นสุด มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งยวดต่อสภาวะที่ต้องไปถึงจุดสิ้นสุดนี้ (Angst) เฉพาะ "Being" ที่มีลักษณะความเข้าใจแบบนี้ และหลุดพ้นจากภาวะนี้เท่านั้นจึงจะถือว่ามีความจริงแท้ (authentic) ต่างจากการดำรงอยู่ทั่วไปที่แปรเปลี่ยนไปมาตามกระแสที่สาดซัดไปมา อาจกล่าวได้ว่า "ภววิทยา" (Ontology) หรือความรู้ของการศึกษาว่าด้วย "Being" ("ความเป็น" หรือศัพท์ภาษาไทยจะใช้คำว่า "สัตตะ" ซึ่งผมยังมีปัญหากับการแปลคำนี้อยู่) ของไฮเด็กเกอร์มีลักษณะเชิงปรากฎการณ์วิทยา (Phenomenology)

จะเห็นได้ว่าทั้งเฮเกลและไฮเด็กเกอร์ก็ยังถกเถียงบนฐานของภาษา (หรือปม) ที่ได้รับอิทธิพลคริสต์ศาสนาอยู่ดี และในที่สุดก็ยังแก้ปัญหาที่ศาสนากลับให้ความกระจ่างเพราะอ้างถึงความจริงสูงสุดเอาไว้เรียบร้อยแล้วไม่ได้ (เช่น ปัญหาเชิงเมตาฟิสิกส์ ปัญหาชีวิตหลังความตาย ฯลฯ หรือเรียกว่าปัญหาแบบ "ineffable") ความ "หนักหน่วง" ของอิทธิพลของศาสนาที่มีต่อนักคิดเหล่านี้ เพราะย้อนกลับไปที่ของม้วนคัมภีร์ทะเลสาปมรณะที่รักษาความเที่ยงตรงมาได้ถึงสองพันปี ถ้าจะอนุมานต่อไปอีกว่าพวกคานาอานคงสืบทอดความรู้และคัมภีร์ทางศาสนามาก่อนหน้านั้นอีกสองพันปีหรือนานกว่านั้นก็คงจะไม่แปลกอะไรนัก เมื่อเทียบกับความรู้ปรัชญาสมัยเอเธนส์อันเป็นผลผลิตจาก "ยุคแห่งแก่นแกน" (Axial Age) ซึ่งมี "ความสมัยใหม่" กว่าโดยเปรียบเทียบกับศาสนายูดาย หรือคริสต์ศาสนาที่พัฒนาต่อไปหลังจากนั้น จึงยังต้องปรับปรุง ทดลองทางความคิดไปอีกมาก การปฏิเสธความเชื่อจารีตที่ยึดถือกันมานานนับพันปีไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าตรวจย้อนกลับไปเป็นพัน ๆ ปี ยิ่งมีความถูกต้องเที่ยงตรงแบบนี้กลับจะอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่มันยังคงรักษาความเป็นต้นฉบับมานานขนาดนี้ ความคิดใหม่ต่างหากที่อาจจะเป็นความคิดที่ผิดพลาดนอกลู่นอกทางชั่วครั้งชั่วคราว ไมใช่สัจจธรรมที่อาจสืบทอดย้อนกลับไปถึงพระวรสารของพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงก็เป็นไปได้ นอกจากนี้ลักษณะที่เป็นเอกเทวนิยม (Monotheism) ของยูดาย หรือคริสต์ศาสนา ก็ถือว่ามีพัฒนาการสมบูรณ์กว่าเทพปกรณัมกรีกโบราณที่มีลักษณะพหุเทวนิยม (Polytheism)† ที่มีการพัฒนามาจากเทพหรือผีประจำชนเผ่าอย่างมาก

ปัญหาคือเมืองไทยไม่เคยผ่านการต่อสู้ทางความคิด "ถึงขนาดนี้" มาก่อน รากฐานทางศาสนาของเราก็ไม่ใช่คริสต์ศาสนา คนส่วนใหญ่ของประเทศมีคอนเซปต์เป็นศูนย์เกี่ยวกับ ไอเดียแบบศาสนาที่เรียกว่าศาสนาอับราฮัม (ยูดาย คริสต์ อิสลาม, โปรดดูแผนที่ของอาณาบริเวณศาสนาอับราฮัมประกอบ) การนำเข้าทางความคิดจากต่างประเทศจึงมีลักษณะอิหลักอิเหลื่อ ไม่เข้าใจทั้งรากฐานของตัวเอง หรือแม้แต่รากฐานที่นำเข้ามาก็ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ยังไม่นับถึงความเข้าใจปัญหาเรื่อง "modernity/modernization" ที่ต่อให้เราไม่สนใจคอนเซ็ปต์เหล่านี้ แต่จะถูกจัดวางอยู่ตลอดเวลาจากการวางมาตรฐานจากมหาอำนาจในระดับโลก ทำให้สังคมไทยต้องพยายามปรับตัวเข้าหามาตรฐานและการบังคับทางความคิดเหล่านี้ ทั้งที่ก็ไม่ได้เข้าใจถึงรากฐานที่แท้จริง

เรื่องพวกนี้ถามตัวเราเองง่าย ๆ ก็ได้ว่า ที่รัฐบาลชุดนี้พูดว่า Thailand 4.0 (ก็อปปี้แบบเสิ่นเจิ้นมาจาก Industry 4.0), Big Data, AI, Block Chain, ฯลฯ มีกี่คนที่พูดออกมาจากความเข้าใจจริง ๆ เคยผ่านการทดสอบ ทำงานจริง วางระบบจริง แข่งขันกับความคิดโครงการชิ้นงานที่เป็นนานาชาติจริง หรือพูดตามกระแสแฟชั่น เกาะกระแสเพื่อให้ดูดี

ย้อนกลับมาปัญหาเรื่องประชาธิปไตย หลักปรัชญา ศาสนา ฯลฯ ก็ล้วนเต็มไปด้วยความตื้นเขินทำนองเดียวกัน แม้จะมีน้อยคนที่ศึกษาและคิดถึงปัญหาพวกนี้อย่างเอาจริงเอาจัง (คำว่า "passion" ความจริงมีความหมายในทำนองความทนทุกข์ทรมาน เทียบได้กับพระเยซูตอนก่อนและช่วงถูกตรึงกางเขน แต่พระองค์ก็ยังยินดีเพราะทราบว่านี่คือการไถ่บาปให้กับมนุษย์ทุกคน)

ผมเขียนบทความชิ้นนี้เพื่อเป็นปฏิกิริยาถึงข้อเสนอของธีรยุทธ บุญมี ในวันรัฐธรรมนูญ.

เชิงอรรถ

* โปรดดูมรรควิธีโสเครตีสได้จาก "ยูไธโฟร" ซึ่งเป็นศิลปการสนทนาที่จะข้ามความเห็นที่ขัดแย้งกันไปสู่ความเห็นที่ยอมรับได้ของผู้ร่วมสนทนา นอกจากนี้วิธีการของโสเครตีสยังรวมถึง "การอำพรางปัญญา" ของโสเครตีส (Socratic Docta Ignorantia) และ "การแสร้งถ่อมตน" (Socratic Irony) รู้ว่าควรจะใช้ถ้อยคำอย่างไรในการสนทนา รู้ว่าควรจะสนทนากับใครในเวลาใด รู้แม้ควรจะนิ่งเงียบในจังหวะใดในการสนทนา ฯลฯ นอกเหนือจากตัวบทของเพลโตที่พูดถึงการดำเนินคดีของโสเครตีสที่เกี่ยวข้องสี่เรื่อง (เรียงตามการพิมพ์ของสำนักพิมพ์ตามแบบแบ่งชุดสี่) อันได้แก่ ยูไธโฟร อโพโลจี ไครโต และ เฟโด (สำหรับผู้อ่านที่ต้องการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังควรพิจารณาลำดับตัวบทการสนทนาที่สมบูรณ์ซึ่งไม่ได้เรียงตามลำดับเวลาในการเขียนตัวบทของเพลโต แต่เป็นการเรียงจากความเกี่ยวพันของท้องเรื่องในตัวบท ควรจะเป็นดังต่อไปนี้: เธเอเตตัส ยูไธโฟร โซฟิสต์ สเตทส์แมน อโพโลจี ไครโต และ เฟโด) เพื่อให้สมบูรณ์ขึ้นควรอ่านตัวบทเพิ่มเติมของเซโนฟอน และบทละคร "เดอะคลาวด์" ของแอรีสโตเฟนีส เปรียบเทียบไปด้วย ซึ่งตัวบททั้งสองนี้จะให้ภาพโสเครตีสที่ต่างออกไปจากตัวบทของเพลโต โดยเฉพาะตัวบทชิ้นหลังนอกจากจะกล่าวถึงโสเครตีสในวัยฉกรรจ์แล้วยังเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงในกรุงเอเธนส์ที่มองโสเครตีสเป็นตัวก่อปัญหาไม่ต่างไปจากพวกโซฟิสต์คนหนึ่ง

† เรื่องนี้ยังมีการโต้เถียงกันอยู่ว่าพัฒนาการที่ก้าวหน้าในลักษณะเอกเทวนิยมนี้เกิดขึ้นภายในของศาสนายูดายเอง ที่มีการพัฒนามาจากคัมภีร์ยูการิติคที่มีความเก่าแก่กว่าเมื่อราว 1,300 - 1,200 ก่อน ค.ศ. หรือไม่ โปรดอ่านเนื้อหาอย่างละเอียดในหนังสือ "The Origins of Biblical Monotheism: Israel's Polytheistic Background and the Ugaritic Texts" ของ มาร์ค สมิธ หากเป็นเช่นนั้นการตีความว่าศาสนายูดายเป็นพัฒนาการทางความคิดอีกกรณีหนึ่งของ "ยุคแห่งแก่นแกน" มากกว่าการสืบทอดพระวรสารของเทพเจ้ามาจากโบราณอันไกลโพ้น ดูจะมีความเป็นไปได้จริงมากกว่า เรื่องนี้จะสอดคล้องกับที่โรมันสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินภายในยุคหลัง เมื่อรับคริสต์ศาสนาเข้ามาในพระราชูปถัมภ์แล้วจะมีการกวาดล้างลัทธิความเชื่อศาสนาดั้งเดิมของกรีก-โรมัน ลงไป (The persecution of pagans in the late Roman Empire) เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะเมื่อพระองค์ได้ทำสงครามที่สะพานมิลเวียนกับจักรพรรดิแม็กเซ็นติอุสซึ่งเป็นทายาทโดยตรงของจักรพรรดิแม็กซิเมียน พระองค์เกิดนิมิตในความฝันว่าเทพเจ้าได้สั่งให้พระองค์ประดับสัญลักษณ์ "ไค-โร" อันเป็นตัวอักษรย่อของพระคริสต์ในภาษากรีกแล้วจะมีชัยแก่การศึก (ในภาษากรีก "Εν Τούτῳ Νίκα" หรือในภาษาละติน "In Hoc Signo Vinces" คำแปลคือ "in this (sign), conquer" หรือ "ด้วยสัญลักษณ์นี้จะมีชัย") ในช่วงแรกใช้เป็นสัญลักษณ์กางเขนที่มีหัวม้วนเหมือนตัว P ต่อมาใช้เป็นตัวอักษร P ทับกากบาท (⳩) การกวาดล้างลัทธิดั้งเดิมหรือ Pagan นั้นมีหลักฐานเช่นการทุบทำลายวิหารของเทพีอะธีนาที่พัลไมรา (temple of Athena at Palmyra) โดยปกติการขึ้นเป็นจักรพรรดิเพื่อปกครองจักรวรรดิอันกว้างใหญ่นั้นจะมีพิธีกรรมทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยก่อนหน้าจักรพรรดิคอนสแตนตินจะใช้การสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์จากความเชื่อเทพปกรณัมกรีก-โรมันแบบจารีต (Imperial cult of ancient Rome) ซึ่งต่างไปจากตอนเริ่มสถาปนาจักรพรรดิเอากุสตุส ในช่วงปี 27 ก่อน ค.ศ. ใหม่ ๆ ที่ยังถือคติ "สาธารณรัฐ" ที่ยึดในหลักการ "วุฒิสภาและประชาชนโรมัน" หรือ “Senatus Populusque Romanus, SPQR" อยู่ แต่ก็ค่อย ๆ รับพิธีกรรมการทำให้ศักดิ์สิทธิ์มาหลังจากนั้น การกวาดล้างความเชื่อเก่าของจักรพรรดิคอนสแตนตินแล้วสถาปนาให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิขึ้นทดแทนจึงเป็นเหตุผลอันจำเป็นในการรักษาความชอบธรรมของพระองค์และราชสกุลของพระองค์ที่สืบเชื้อสายต่อมาให้เหนือกว่าชอบธรรมจากยุคสมัยเก่า ในสมัยจักรพรรดิธีโอโดซิอุสก็ยิ่งเสริมการกวาดล้างความเชื่อเดิมนี้ยิ่งขึ้นไปอีก (นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ศาสนจักรดำเนินนโยบายกวาดล้างลัทธิความเชื่อที่เห็นว่านอกรีตอย่าง Pagan นี้ตลอดมาจนถึงยุคกลาง) แต่ในรัชสมัยนี้มิได้พึ่งการใช้อำนาจปราบปรามเพียงอย่างเดียว การแต่งหนังสือ "คำสารภาพ" (The Confession) ที่เชื่อมโยงคำสอนคริสต์ศาสนากับหลักปรัชญาของเพลโตอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการร่างหลักการอย่างเช่น สงครามอันเป็นธรรม (just war) และหลักการเจตจำนงเสรี (free will) ของนักบุญออกัสติน ก็ถือเป็นการเสริมสร้างอำนาจละมุนอันก้าวหน้าของคริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้นด้วย

แม้จะมีการยืมคริสต์ศาสนามาสถาปนาความชอบธรรมให้กับจักรพรรดิโรมัน และในทางตรงข้ามศาสนาคริสต์เองก็ฉวยสถานะการเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมันในการสร้างอำนาจของตนเอง ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปสำคัญโดยเฉพาะจากนักบุญออกัสตินไปด้วยนั้น แต่การไม่เกิดกระบวนการย้อนกลับไปหยิบยืมความชอบธรรมจากคติเทพปกรณัมกรีก-โรมันดั้งเดิม แม้เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ในทางที่เป็นจริงถึงความก้าวหน้ากว่าของศาสนาแบบเอกเทวนิยมนี้ นอกจากนี้ศาสนาในยุคหลัง ๆ หากไม่รวมเทพหลายองค์ให้มีลักษณะเป็นเอกเทวนิยม (อย่างศาสนาฮินดู) ก็เป็นศาสนาที่มีการนับถือแบบเอกเทวนิยมนี้แทบทั้งหมด

อันที่จริงจุดอ่อนของศาสนาแบบพหุเทวนิยมที่มีพื้นฐานมาจากเทพปกรณัมกรีกโบราณได้ถูกชี้ให้เห็นตั้งแต่สมัยโสเครตีสแล้ว ในยูไธโฟร เพลโตได้เขียนตัวบทถึงข้อถกเถียงเรื่องศาสนธรรม (peity) โดยโสเครตีสขอให้ยูไธโฟรได้ "ให้คำจำกัดความ" เรื่องศาสนธรรม แต่จากบทสนทนาจะเห็นว่ายูไธโฟร ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง "ธรรมชาติ" หรือ Physis (φύσις) และ "กฎหมาย/จารีต" หรือ Nomos (νόμος) เพราะในขณะที่สิ่งแรกจะบอกถึงคุณลักษณะร่วมที่เป็นสากลของสิ่งที่เราสนใจ แต่เรื่องหลังจะเปลี่ยนแปลงไปตามศาสนาหรือความเชื่อที่ถือกันมาของแต่ละท้องถิ่นเสียมากกว่า นอกจากปัญหาเรื่องนี้ การที่ยูไธโฟรไปนิยามว่าศาสนธรรมหมายถึงสิ่งที่เทพเจ้าพอใจ ก็มีปัญหาพื้นฐานบนลักษณะการที่กรีกมีเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งอาจมีความเห็นที่ขัดกันโดยเฉพาะเรื่องนามธรรม เช่น ความถูกต้อง ความดี ความยุติธรรม ฯลฯ ดังนั้นแล้วจะถือว่าศาสนธรรมใดไปขึ้นอยู่กับเทพเจ้าแต่ละองค์จะเป็นเรื่องยาก การที่ยูไธโฟรพยายามจะชี้ว่าสิ่งที่เทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุด คือซูส พอใจ ก็ยังตกอยู่ในปัญหาลักษณะเดียวกัน เพราะในที่สุดก็ย่อมมีเทพเจ้าองค์อื่นไม่พอใจอยู่ดี ความไม่พอใจนี้อาจขยายตัวจนเป็นการกระทำที่ดูเหมือนขาดความชอบธรรมในสายตามนุษย์ต่อไปได้อีก เช่นการวิวาทต่อกัน โกหกต่อมนุษย์ หรือ โกหกกันเอง ดังที่ระบุในบทกวีอีเลียดของโฮเมอร์ว่าแม้แต่ซุสก็ยังไม่สามารถเชื่อได้ว่าราชินีเฮราได้โกหกพระองค์หรือไม่ "Of these things will I mind thee yet again, that thou mayest cease from thy beguilings, to the end that thou mayest see whether they anywise avail thee, the dalliance and the couch, wherein thou didst lie with me when thou hadst come forth from among the gods, and didst beguile me." (โปรดดู Illiad Book10.33 และ The Apologos of Odysseus: Lies, All Lies?) นั่นหมายถึงการอ้างศาสนธรรมที่ขึ้นกับพระเจ้าหลายองค์นี้มีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ อย่างน้อยการแก้ให้ศาสนามีลักษณะเอกเทวนิยมก็จะแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ตกไปได้ เมื่อนั้นการกำหนดหลักนามธรรมที่ขึ้นกับพระวจนะของพระเจ้าจึงจะมีความสมบูรณ์แบบขึ้น ถูกโต้แย้งได้ยากขึ้น การที่คริสต์ศาสนามีพระเยซูที่เป็น messiah ซึ่งก็ถือว่ามีสถานะพระเจ้าขึ้นมาอีก ก็ต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการทำให้ไม่แยกขาดจากกันแต่มีลักษณะเป็น "ตรีเอกภาพ" ของ พระบิดา พระบุตร และ พระจิต ส่วนศาสนายูดายไม่ได้มีปัญหาเรื่องตรีเอกภาพแบบเดียวกับคริสต์ศาสนา และในความเป็นจริงการตัดสินของคณะลูกขุนจำนวน 501 คน ต่อคดีหมิ่นเทพเจ้าของโสเครตีสในอโพโลจี ก็ปรากฎว่าขาดอีกเพียงสามสิบคนก็จะเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะลูกขุนที่สนับสนุนการแก้คดีของโสเครตีส ทั้งที่เขาแสดงให้ศาลได้เห็นอย่างชัดเจนว่าความหมายเทพเจ้าของเขา ต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่ในเอเธนส์ที่ยังนับถือเทพปกรณัมของกรีกซึ่งเป็นพหุเทวนิยม (ในตอนนั้นยังไม่มีความเชื่อจากศาสนายูดาย หรือคริสต์ศาสนาเกิดขึ้น) นั่นคือคนเกือบครึ่งหนึ่งแม้อาจจะไม่เห็นด้วยกับโสเครตีสแต่ก็มิได้ปฏิเสธ อันแสดงให้เห็นว่าแม้ในช่วงเวลาของโสเครตีสความเชื่อในพหุเทวนิยมก็เริ่มเสื่อมถอยลงแล้ว 

ข้อวิเคราะห์ของ พอล คาร์ทลีดจ์ ถึงการไต่สวนคดีโสเครตีสก็ยืนยันเรื่อง "ความพยายามแทนที่ระบบคิดใหม่เรื่องเทพเจ้า" ของโสเครตีส ทั้งจากคำฟ้องของเมเลตัสเองว่า 1.1) ไม่ยอมรับเทพเจ้าที่ชาวนครให้การนับถือ 1.2) มีการสอนถึงเรื่องเทพเจ้าใหม่ และดังนั้นจึงกระทำผิดกฎหมายว่าด้วย 2) การทำให้คนหนุ่มเกิดความคิดที่ฉ้อฉล เมื่อพิจารณาจากบริบทแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นจารีตของเอเธนส์ที่ถือว่าเทพเจ้ากับนครรัฐผูกพันกัน และยากจะแบ่งแยกการเมืองกับศาสนากิจออกจากกันได้ นอกจากนี้เอเธนส์เองประสบความปราชัยจากสงครามอันยาวนานกับสปาร์ตา (ที่ได้รับการหนุนหลังจากเปอร์เซีย) โรคระบาด และสงครามกลางเมือง ความคิดของชาวเอเธนส์ย่อมแตกออกเป็นสองส่วน คือทั้งคิดว่าตนประพฤติผิดต่อเทพเจ้าจึงประสบเคราะห์กรรมหายนภัย และอีกส่วนที่มีหัวก้าวหน้ากว่าย่อมคิดว่าวิธีคิดเดิมเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนอาจไม่ถูกต้อง จึงควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง อันที่จริงการเปลี่ยนแปลงการบันทึกประวัติศาสตร์โดยธูซิดีดีสในสงครามเพโลปอนเนเชียนที่ไม่ได้เอ่ยถึงบทบาทของเทพเจ้าในสงครามอย่างบทกวีอีเลียดของโฮเมอร์เลย ก็น่าคิดว่าการมองโลกของชาวเอเธนส์เองก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การแบ่งขั้วนี้แสดงออกให้เห็นถึงอย่างแจ่มชัดในการแบ่งซีกของการลงคะแนนตัดสินจากคณะลูกขุนเลยทีเดียว การแบ่งขั้วของฝ่ายที่ยอมรับหรืออย่างน้อยแสดงออกว่าอดทนได้ต่อความคิดอันเป็นหน่ออ่อนเรื่องเทพเจ้าแบบใหม่นั้นยังไม่หนักแน่นมั่นคงเพียงพอ เมื่อมีการตัดสินโทษหลังคณะลูกขุนวินิจฉัยความผิดไปแล้ว คณะลูกขุนที่เคยวินิจฉัยให้โสเครตีสพ้นผิดจำนวนถึง 80 คนจะย้ายข้างกลับไปตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิตเมื่อถูกโสเครตีสแสร้งยั่วยุ

ผลการวินิจฉัยของคณะลูกขุนก่อนหน้านี้ทำให้โสเครตีสแปลกใจเพราะมีจำนวนลูกขุนที่สนับสนุนเขาเกินคาดหมาย ทำให้เขาจำเป็นต้องทดสอบซ้ำอีกครั้ง ว่าเขาไม่ได้ประเมินผิดไปหรือเกิดจากเหตุผลอื่น อาทิ ความเห็นอกเห็นใจ โปรดย้อนกลับไปดู "การอำพรางปัญญา" และ "การแสร้งถ่อมตน" ในเชิงอรรถก่อนหน้านี้ข้างบน นี่เป็นการประยุกต์ "มรรควิธีโสเครตีส" กับชนชาวเอเธนส์ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างถึงที่สุด ในหัวข้อที่อุกฤษฎ์ที่สุด และโดยกาลเทศะอันฉกาจฉกรรจ์ที่สุด; เพราะเหตุใดโสเครตีสจึงต้องผลักให้ตนเองจนมุม (หรือเดิมพัน?) ขนาดนี้ ต่อคำถามนี้จะขอยกถ้อยแถลงของโสเครตีสขึ้นมาว่า "ชีวิตที่ปราศจากการสำรวจตรวจตราตนเอง หามีค่าที่จะดำรงอยู่" คำกล่าวนี้ก็ยกมาจากหลักคำสอนเดลไฟ "จงรู้จักตนเอง" (γνῶθι σεαυτόν) นั่นเอง เพราะการบรรจบกันของ "การถึงรากลึกทั้งสาม" โสเครตีสคงสัมผัสได้ถึงห้วงเวลาขณะการเปลี่ยนแปลง (Kairos หรือ καιρός) หากมิใช่เวลานี้แล้วจะเป็นเมื่อใด? ("If I am not for myself, who is for me? And being for my own self, what am ‘I’? And if not now, when?") การไต่สวนคดีโสเครตีสคงเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในเวลานั้น แม้แต่เซโนฟอนก็ยังเขียนถึงแม้เขามิได้ปรากฎอยู่ในที่นั้นด้วยตนเอง เพลโตศิษย์ผู้คนรุ่นหลังคงจะเห็นว่าเขามีปัญญาเทียบเท่าหรือหากจะห่างก็เพียงเล็กน้อยจากอาจารย์ของเขา แต่ยังต้องรอเวลาให้เขาแปรจากศักยภาพที่มีให้กลายเป็นความเป็นจริง ในตอนนั้นเพลโตก็เพียงแต่นั่งชมการตัดสินคดีนี้อยู่เงียบ ๆ เท่านั้นเอง และก็เป็นเพียงครั้งเดียวที่เพลโตอนุญาตให้ตัวเขาเองปรากฎตัวอยู่ในตัวบทที่เขาแต่งขึ้นเมื่อนับจากผลงานทั้งหมด ดังนั้นหากมิใช่เขาแล้วจะเป็นใคร? อาจมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่เป็นบุคลิกอันหลงตนเอง แต่หากผู้มีดวงจิตอันยิ่งใหญ่และมีความกล้าหาญอยู่ในกาลเทศะอันสำคัญ และเพราะเป็นกาลเทศะอันสำคัญต่อให้เขาขัดสน ทรัพยากรอันจำเป็นก็จะมาชุมนุมเข้าด้วยกันเอง สิ่งที่เขามีนั้นไม่มากไม่น้อยไปกว่าเครื่องมือสำคัญ (techne) และวิจารณญาณของตนเอง และการตัดสินใจลงมือกระทำโดยมิอาจให้เวลาผ่านเลยไปนั้นสำคัญกว่าทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ และแม้ชีวิตของตนเอง ดังที่โสเครตีสได้กล่าวไว้แก่ไครโต “And will life be worth having, if that higher part of man be destroyed, which is improved by justice and depraved by injustice?” และเฟโด “Those who practice philosophy in the right way are in training for dying and they fear death least of all men.” นี่เป็นจุดวิกฤตที่มีเพียงผู้มีประสบการณ์อันตราตรึงจึงจะเข้าใจการตัดสินใจนี้ของโสเครตีส นี่คือเอกสิทธิ์ของฟิโลโซเฟอร์ที่มีเหนือกว่าโซฟิสต์ในทัศนะของเพลโต โปรดพิจารณาย้อนดูข้อเสนอของไฮเดกเกอร์เรื่อง dasein ประกอบ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาดูให้ถ่องแท้แล้ว โสเครตีสแม้จะอ้างเทพเจ้าทั้งในยูไธโฟรและอโพโลจี แต่ก็ไม่ใช่ความหมายที่ทั้งยูไธโฟรและชาวเอเธนส์จำนวนมากเข้าใจในสามัญสำนึกของพวกตน ระบบคิดเรื่องเทพเจ้าแบบใหม่นี้จะมาตกผลึกใน "ทฤษฎีของแบบ" ที่เพลโตนำเสนอไว้ในงานนิพนธ์ของเขาเอาไว้หลายต่อหลายแห่งในเวลาต่อมา การแยกตัวของคริสต์ศาสนาออกจากยูดายที่สืบทอดลักษณะเอกเทวนิยมมาและถูกแก้ให้มีการเปิดกว้างมีความเป็นสากล แล้วถูกรับเข้าในพระบรมราชูปถัมภ์ของจักรพรรดิคอนสแตนตินซึ่งพระองค์กำลังต้องการอ้างความชอบธรรมเพื่อให้มีเหนือกว่าความชอบธรรมเดิมจากระบบเทพปกรณัมกรีก-โรมันโบราณพอดี การสงครามที่สะพานมิลเวียนอันเป็นเหตุการณ์ชี้ขาดในการเอาชนะระบบความคิดเก่าอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นจุดกำเนิด (cradle) รองรับเหตุการณ์ที่ไม่ปะติดปะต่อเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายเหล่านี้เพื่อให้สวมรับกันทางประวัติศาสตร์อย่างคล้องจองเหมาะเจาะกันพอดิบพอดี นี่ก็คืออีกชั่วขณะการเปลี่ยนแปลง (Kairos หรือ καιρός) ซึ่งทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงย้อนกลับมาอีก แม้จะมีความพยายามย้อนกลับนี้จากลีซีนีอุสซึ่งเป็นจักรพรรดิอีกองค์หนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นผลเมื่อลีซีนีอุสพ่ายแพ้จนถูกแขวนคอ นอกจากจะทำให้เป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองของ "ระบอบจตุจักรพรรดิ" (ที่ก่อตั้งโดยจักรพรรดิดิออเกลติอานุสเมื่อทรงยุติวิกฤติการณ์ศตวรรษที่ 3 ของโรมันเอาไว้ได้ ในรัชสมัยของพระองค์มีการกดขี่ปราบปรามคริสต์ศาสนาอย่างหนัก) ทั้งยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่จักรพรรดิคอนสแตนตินและสถาปนาความมั่นคงให้ทั้งจักรวรรดิโรมันและคริสต์ศาสนาไปพร้อมกัน

ภาพพระบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่เจ็ดแห่งฝรั่งเศส หลังโจนส์ออฟอาร์คกู้ออร์เลอ็องคืนได้ในสงครามร้อยปี
ภาพที่ 5: ภาพพระบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่เจ็ดแห่งฝรั่งเศส หลังโจนส์ออฟอาร์คกู้ออร์เลอ็องคืนได้ในสงครามร้อยปี

ภาพพระบรมราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในภาพร่างจะเป็นภาพที่พระองค์ฉวยมงกุฎมาสวมเอง แต่ช่างแก้ไขให้เป็นพระองค์สวมมงกุฎแก่พระราชินีโจเซฟิน
ภาพที่ 6: ภาพพระบรมราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในภาพร่างจะเป็นภาพที่พระองค์ฉวยมงกุฎมาสวมเอง แต่ช่างแก้ไขให้เป็นพระองค์สวมมงกุฎแก่พระจักรพรรดินีโจเซฟิน

อนึ่ง กระบวนการ "ทำให้ศักดิ์สิทธิ์" เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่พระจักรพรรดิในการปกครองจักรวรรดินั้น ในทางหนึ่งเป็นคติการสถาปนาให้มนุษย์กลับเป็นพระผู้เป็นเจ้า ศัพท์ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า apotheosis หรือ divinization/deification ส่วนศัพท์สันสกฤตจะใช้คำว่า "ปรชฺญาชฺญานาภิเษก" ซึ่งในธรรมเนียมพราหมณ์โบราณจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการ "รดน้ำ" จากหอยสังข์ ในพิธีการแต่งงานก็ยังคงธรรมเนียมการรดน้ำเช่นนี้อยู่ แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวิตคู่เป็นพิธีการที่ศักดิ์สิทธิ์ นี่เป็นการกลับคืนจากพื้นล่างสู่เบื้องบน (ascending) ซึ่งนับว่าตรงข้ามกับการที่พระเป็นเจ้าลงมาจากสวรรค์สู่โลกมนุษย์ (descending) ในศัพท์สันสกฤตก็คงเทียบได้กับ "จุติ" (การสิ้นชีวิตของเทวดาบนสวรรค์ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์) หรือ "อวตาร" (ศัพท์ที่ใช้เฉพาะกับพระวิษณุ) แต่ทั้งคู่ต่างก็แสดงถึงการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า (as above so below) ถัดจากนั้นมาอาจจะมีพิธีกรรมทำให้ศักดิ์สิทธิ์แก่พระจักรพรรดิที่สืบทอดต่อจากพระองค์มาอีกมาก แต่ไม่มีพระองค์ใดเทียบได้ดังจักรพรรดิคอนสแตนตินได้อีกเลย เพราะในห้วงเวลาขณะแห่งการมีชัยในสงครามที่สะพานมิลเวียน พระองค์ก็ให้กำเนิดศาสนาใหม่ นั่นคือการเปลี่ยนจากศักยภาพให้เป็นสภาวะที่เป็นจริงได้เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นอันที่จริงพิธีกรรมทำให้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระองค์จึงไม่จำเป็น เพราะในห้วงขณะเวลาอันแสนพิเศษนั้นพระองค์เป็นผู้เป็นเหตุแก่ตนเอง และเป็นเหตุในการเปลี่ยนสิ่งอื่น (ศาสนาใหม่ หรือระบบเทพเจ้าแบบใหม่) และจากนั้นผู้รู้ก็ทำได้แต่เพียงตีความหรืออรรถาธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไล่ตามมาภายหลัง แต่ก็น่าคิดว่าอาจเป็นโสเครตีสก็ได้ที่เป็นต้นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด และนี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ย้อนกลับมาถึงหัวข้อที่โสเครตีสแสวงหาตั้งแต่เริ่มแรก ดังที่มันควรจะเป็น --Know thyself.


หมายเลขบันทึก: 658729เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2018 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2018 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท