สรุปสัมมนาทางวิชาการ จับตานโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : อยากเห็นอะไรใน 4 ปีข้างหน้า


สวัสดีครับ ชาว Blog,

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ผมได้รับเกียรติจากสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายแลกเปลี่ยนมุมมองทางวิชาการ ในการจัดสัมนาทางวิชาการ หัวข้อ "จับตานโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : อยากเห็นอะไรใน 4 ปีข้างหน้า  ณ ห้องประชุมประกอบ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีตัวแทนจากภาควิชาการในหลายด้านมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็น ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คุณมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านแรงงานและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ คุณชินชัย ชี้เจริญ อดีตที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายครับ

ทั้งนี้ ผมได้ให้ทีมงานวิชาการสรุปเนื้อหาการบรรยายมาฝากท่านผู้อ่านใน Blog นี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันครับ


ขอบคุณครับ

จีระ หงส์ลดารมภ์

.................................................................

สรุปสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ จับตานโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : อยากเห็นอะไรใน 4 ปีข้างหน้า

จัดโดย สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 23 มกราคม 2562

ณ ห้องประชุมประกอบ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

(สรุปและเรียบเรียงบันทึกโดย เขมิกา ถึงแก้วธนกุล ทีมงานวิชาการ Chira Academy)

………………………………………………………

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาทางวิชาการจับตานโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : อยากเห็นอะไรใน 4 ปีข้างหน้า ครั้งนี้ว่า

1. เป็นช่องทางในการสะท้อนปัญหา สถานการณ์ปัจจุบัน

2. รับฟังแนวคิด และมุมมองจากนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หลากหลายวิชาชีพที่สำคัญต่อประเทศออกมาบอกต่อถึงการตระหนักถึงความสำคัญต่อการรับมืออยากเห็นอะไรใน 4 ปีข้างหน้าของประเทศไทย  อาทิ  ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และประธาน Chira Academy ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คุณมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านแรงงานและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ คุณชินชัย ชี้เจริญ อดีตที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   

3. เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

  ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดสัมมนาวิชาการ ท่านได้กล่าวถึง

การมองอนาคตของประเทศไทย

การมองอนาคตของประเทศไทย ไม่ได้มองแค่ 4 ปีข้างหน้า แต่มองไปถึง 20 ปีข้างหน้า ว่าจะเป็นอย่างไร? เริ่มจากการวิเคราะห์ SWOT Analysis สถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า

          1. ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัย - ปัจจุบันมีประชากรประมาณร้อยละ 20 ซึ่งหมายถึงว่ามีประชากรอย่างน้อย 20 ล้านคนอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้

2. ประเทศไทยเปลี่ยนจาก Capital Intensive (เครื่องจักรเป็นหลัก) Shift สู่การเป็น Labor Intensive (แรงงานเป็นหลัก) และครั้งสุดท้ายปัจจุบันกำลัง Shift สู่การเป็น Technology Intensive (เทคโนโลยีเป็นหลัก) ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ซึ่งปัจจุบันจีนได้ปรับนโยบายเป็น Technology Intensive เหมือนกัน ดังนั้น ต้องจับตาว่าประเทศไทยจะไปทางไหน และที่สำคัญคือ

การสร้างความสมดุลในการตัดสินใจซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สสส. คือ

1. ทางเลือกว่าจะเป็น Capitalism หรือ Happiness

2. เรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ประเทศไทยอยู่บน Capitalism จนลืมเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง

ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ทำคือเรื่องพระสงฆ์ พบว่าพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากกว่าประชาชนทั่วไป ทั้ง ๆ ที่พระสงฆ์ฉันเพียงวันละ 2 มื้อ แต่ในมื้อนั้นได้รับอาหารที่ประชาชนไปถวายเป็นของหวานอย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง น้ำปานะ เรื่องกรณีศึกษานี้ สสส. ทราบดี และกำลังตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร

3. EI – Emotional Intelligence  - พบว่าประเทศไทยยังขาด EI หรือ Emotional Intelligence ซึ่งยังเป็นการมองด้านมืดไม่ใช่ด้านสว่าง

สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้ใหม่เพราะ EI คือ Key of Success ของผู้นำทั่วโลก ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาบุคลากรให้มี EI ได้จะเป็นปัญหา

4. Human Security – ถ้าเราปลอดภัยใน 8-9 เรื่องตามแนวทางของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เราจะปลอดภัยในการใช้ชีวิตในโลกนี้ สิ่งนี้ครอบคลุมตั้งแต่สุขภาพและทุกอย่าง ได้แก่

- นโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนทั้งมวล

- นโยบายป้องกัน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

- นโยบายการบูรณาการรองรับสังคมผู้สูงอายุ

- นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

- นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน

- นโยบายการสร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัว

- นโยบายการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและจิตอาสาเพื่อสังคม

- นโยบายยกระดับงานต่างประเทศ อาเซียน

- นโยบายการส่งเสริมพลังประชารัฐ

สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ยกตัวอย่างคือเรื่องการเลือกตั้ง – ความแตกต่าง ที่ฝากไว้คือ มุมมองต่าง ๆ เริ่มจาก Core Value ซึ่งมีหลายคนยังไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร

Core Valueคือ

สิ่งที่อยากทำให้เกิด Culture ที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมด ยกตัวอย่างเรื่อง HR ไม่ใช่เรื่องเดียวแต่เป็นจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ สังเกตได้ว่าหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จจะเน้นเรื่อง Human Capital ก่อนเรื่องอื่น

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติได้กล่าวสรุปเรื่อง HR ว่า HR ไม่ใช่เรื่องการบริหารจัดการส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการทั้งระบบ ภาครัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องและดูแลด้วย อย่างเรื่องโครงสร้างประชากรคือการเกิดน้อย ตายยาก (ดัชนีทั้งอัตราการเกิดและอัตราการตายลดลง) คนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ มะเร็งมากขึ้น  ด้านแรงงาน วัยแรงงานต้องทำงานหนักขึ้น เด็กก็ต้องเตรียมพร้อมพัฒนาศักยภาพให้เร็วขึ้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องศักยภาพการแข่งขันในวัยทำงาน  ดังนั้นจะพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยคนอย่างไร ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งกระบวนการจะทำอย่างไร นักวิชาการต้องมีส่วนในการให้องค์ความรู้ ให้ Input ทั้งภาครัฐบาลและนักการเมืองให้เห็นความสำคัญของการออกแบบประเทศไทยด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยยังอยู่ในภาพที่ยังไม่ค่อยน่าประทับใจ คนไทยยังมีชั่วโมงการทำงานมาก แต่สิ่งที่พบคือภาคที่มี Productivity สูง คนไทยยังทำงานน้อย แต่ไปอยู่ในโครงสร้างที่มี Productivity น้อย แสดงถึงความไม่สมดุลของกำลังแรงงาน แต่ตัวเลขสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          การประชุมครั้งนี้จึงตอบโจทย์ที่ท้าทาย 2 เรื่อง คือ

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ทั้งอุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมรอง เราจะพัฒนาอย่างไร เป็นการพัฒนาคนทั้งกระบวนการอย่างไร

2.  4 ปีข้างหน้า นโยบายของนักการเมืองเป็นอย่างไร ในวันนี้เป็นส่วนของการทำหน้าที่นักวิชาการที่จะให้องค์ความรู้ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสิ่งที่ประเทศไทยควรจะเป็น และเดินไป

มุมมองจากนักวิชาการ : ด้านทรัพยากรมนุษย์

ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และประธาน Chira Academy

          ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ กูรูด้านทรัพยากรมนุษย์ และอดีตผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ยาวนานที่สุดกว่า 15 ปี กล่าวถึงข้อสังเกต 2-3 ข้อของการสัมมนาครั้งนี้คือ

1. การสอดคล้องกับนโยบายในอนาคต

เพราะในอดีตนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอดีตเน้นเรื่อง 300 บาท หรือเงินเดือน 15,000 บาท เป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้นการมองไปใน 4 ปีข้างหน้าและนึกถึงว่าจะไปอย่างไร เป็นเรื่องที่ดี

ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาและการเก็บเกี่ยวผลคือ ปลูกแตงกว่าต้องใช้ระยะเวลา 3 เดือน ปลูกมะม่วงต้องใช้ระยะเวลา 3 ปี แต่พัฒนาคนต้องใช้เวลาทั้งชีวิต

เรื่องคนน่าสนใจที่ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วให้นำสิ่งเหล่านี้ให้ทุกคนได้รับทราบ 

- นโยบายต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักการเมือง

- นโยบายไม่ใช่ How to แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง   

- ชนะเล็ก ๆ และเอาชนะอุปสรรคให้ได้

ยกตัวอย่าง ความน่าภูมิใจในสิ่งที่ทำคือเรื่องกฎหมายประกันสังคม ที่เป็นส่วนผสมที่ดีคือท่านอาจารย์นิคมมองด้านแรงงาน และอาจารย์จีระ มองทั้งคนและเศรษฐกิจโลกร่วมด้วย เน้น Human Resource Execution

การมอง 2 R’s คือ

          1. Reality คือมองความจริงว่าคืออะไร

          2. Relevance คือจะจัดการอย่างไร

          ให้นำความจริงของโลกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

2. สิ่งที่อยากเห็นคือ

1.พรรคการเมืองมองเรื่องคนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ

          ยกตัวอย่าง Gary Becker นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญเรื่อง Human Resource การพัฒนาคนต้องมีทั้ง Invest + How to do it successfully

2. พรรคการเมืองมองเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม

3. นโยบาย Macro (ภาพใหญ่ระดับประเทศ) ไปสู่ Micro (ภาพเล็กระดับองค์กร/ชุมชน)

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญคือเรื่อง Disruptive Technology + โครงสร้างประชากร เพราะการเปลี่ยนแปลงในอนาคตรวดเร็ว ไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดเดาได้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารคุณภาพของทุนมนุษย์ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลง

1. Macro-Micro

2. ปลูก-พัฒนา

3. เก็บเกี่ยว-บริหาร

4. ทำให้เกิดผลสำเร็จ/สร้างคุณค่า (Execution) ทำอย่างต่อเนื่อง ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

HR Architecture

         

เริ่มตั้งแต่ประชากรเกิด ต้องมีการลงทุนด้านครอบครัว โภชนาการ สุขภาพ ศาสนา การศึกษา และสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในช่วงอายุ 0-8 ปีแรกสำคัญมาก  จะเน้นการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ภาวะผู้นำ จิตสาธารณะ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น คิดแบบวิทยาศาสตร์ Creativity  Innovation มีสังคมการเรียนรู้ เพื่อให้เขาเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต สามารถทำงานอย่างประสบความสำเร็จ ภายใต้การแข่งขัน มีประชาธิปไตย ไม่มีความยากจน  มีความสันติสุข อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  สามารถจัดการโลกาภิวัตน์ มีคุณธรรม และไม่คอรัปชั่น ได้ ซึ่งถ้าเดินไปด้วยกันอย่างนี้จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น

4. ศรัทธาในเรื่องคนมากกว่าเรื่องเงินหรือเทคโนโลยี

6 คุณสมบัติของคนที่มีเหนือปัญญาประดิษฐ์ AI

1) Inspiration หรือแรงบันดาลใจ

2) Imagination ต้องมีจินตนาการ

3) Happiness ความสุข

4) คุณธรรม จริยธรรม

5) ความกตัญญู

6) ทุนทางอารมณ์

6. นโยบายเรื่องคนแบบ “Inclusive” คือมองทุกส่วนของสังคมโดยเฉพาะสังคมระดับล่าง เรียกว่าพลิกปิรามิด

7. นโยบายที่ดึงตัวละครหลายด้านมาแก้ป้ญหาไม่ใช่รัฐอย่างเดียว  คือมีภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐ

8. ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง มาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

          ต้องมีนวัตกรรมที่คนเป็นศูนย์กลางและเอาจริงกับเรื่องนี้ และ Inclusive คือให้โอกาสคนเสียเปรียบในสังคมมาขึ้น

9. นโยบายต่อไปข้างหน้าไม่ได้มองแค่ 4 ปี เพราะเรื่องคนต้องใช้เวลาดังสุภาษิตจีนที่ว่า

ปลูกพืชล้มลุก..  3-4 เดือน

ปลูกพืชยืนต้น..  3-4 ปี

พัฒนาคน..  ทั้งชีวิต                                                                          

                      สุภาษิตจีน

10. Trend เรื่องคน Move จาก Tangible สู่ Intangible  ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่อยากเห็นคนมีความสุข สมดุลในชีวิต เน้นความพอเพียง และความยั่งยืน เน้นคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไปกับความเก่ง

11. การพึ่งตนเอง ใช้เทคโนโลยีของเราเองแต่เกิดจากการร่วมมือกับต่างประเทศ อย่าง EEC ที่เน้นเรื่อง Transfer Technology จากต่างประเทศ มาช่วยพัฒนาคน ซึ่งร่างแผนไม่พอต้องทำให้สำเร็จด้วย

12. นโยบาย “หลุดกฎระเบียบของรัฐบาล” เพื่อทำให้การทำงานง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

           

มุมมองจากนักวิชาการ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          นโยบายเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดเพราะการทำงานของ สสส. ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย ต้องคำนึงถึงกติกาสังคม และการพัฒนาการศึกษาด้วย หัวใจสำคัญตอนนี้คือประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้น  ดังนั้นผู้ใช้แรงงานจึงต้องเป็นผู้แบกภาระสำคัญ ประเด็นคือ ถ้าคนไม่เก่งจะไม่สามารถแบกรับภาระได้ ซึ่งทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พูดถึงการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นของแรงงานไว้

          ด้านมิติสังคม เป็นเรื่องของวัยต่าง ๆ นับตั้งแต่การพัฒนาในช่วงแรกเกิด การให้การศึกษา และการพัฒนาวัยทำงาน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือใน 4 ปีข้างหน้ารัฐบาลควรมีนโยบายอะไร  การมีนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในช่วงวัยต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

          ปัญหาที่พบด้านโครงสร้างประชากรคือ อัตราการเกิดน้อยลง คนมีภาวะเจริญพันธุ์ไม่เต็มที่ มีวัยรุ่นเป็นแม่ตอนยังไม่พร้อมและเกิดลูกคนที่สองอีก ปัญหาเหล่านี้มีจำนวนสูงมากเมื่อปีพ.ศ.2555  ทำให้เด็กที่เกิดมาด้อยคุณภาพเนื่องจากไม่มีศักยภาพในการเลี้ยงดูที่ดี  ดังนั้นการพัฒนาให้คนมีคุณภาพควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ

ช่วงแรกเกิด มี พ.ร.บ.ป้องกันการตั้งครรภ์ เกิดกระบวนการให้ความรู้สำหรับผู้ตั้งครรภ์ และมีการนำมาตรการไปใช้ได้เกิดผลจริง  ทางแก้ปัญหาอีกเรื่องคือ การเติมสารอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่แรกเกิด ให้เริ่มตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ และการเป็นแม่  เช่น สารไอโอดีน การให้นมแม่แก่บุตรตลอด 6 เดือน (มีเทคโนโลยีในการช่วยให้แม่ปั๊มนมได้ มี พ.ร.บ.ตลาดนมผงให้ใช้ได้จริง มี Milk Code

          ช่วงปฐมวัย/เด็กเล็กพบว่ายังมีเด็กยากจนอยู่มากที่ขาดการดูแลด้านโภชนาการที่ดี จึงควรเน้นด้านการเสริมภาวะโภชนาการ สนับสนุนให้เป็นแม่ที่ดี เพราะการพัฒนาเด็กเล็กเป็นหัวใจสำคัญ ควรมีการพัฒนาระบบข้อมูลในการตรวจสอบการดำเนินการที่เห็นผล (Effective Function) มีการทำ Children Passport มีต้นแบบศูนย์เรียนรู้ 20 จังหวัด เพื่อพัฒนาเด็กอย่างทั่วถึง

          ช่วงวัยเรียน ปัญหาที่พบคือ เด็กมีพฤติกรรมการออกกำลังกายต่ำมาก  ควรมีการลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลาเล่นมากขึ้น  ด้านโภชนาการในส่วนอาหารกลางวันควรมีการคิดเมนูที่เป็นประโยชน์เสริมโภชนาการสำหรับเด็กให้มีเมนูแบบไม่ซ้ำกัน 

          ช่วงวัยรุ่น   พบว่ามีแม่วัยรุ่นควรมีการจัดระบบหลายอย่าง อาทิ การให้ความรู้ในวัยเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน การรองรับการมีบุตร การทำแท้งที่ปลอดภัย การป้องกันโรคติดต่อเรื้อรัง (ข้อมูลพบว่า 3 ใน 4 ตายเพราะโรคติดต่อเรื้อรัง บุหรี่ เหล้า ขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีโรคหลักและเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก) และมลพิษในอากาศ

          ช่วงวัยสูงอายุ ควรมีนโยบายที่คำนึงถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ เช่น การออมแห่งชาติ การออมทรัพย์ ประกันสังคม  มีหลักสูตรที่มีการสังเคราะห์จาก Best Practice เพื่อช่วยให้คนมีความพร้อมทางสังคม

          นโยบายใหม่ที่น่าสนใจคือ ธนาคารเวลา เป็นธนาคารที่ผูกพันกับท้องถิ่น คือรับฝากเวลาแทนเงิน หมายถึงเมื่อเรายังแข็งแรงอยู่ เราทำงานช่วยเหลือผู้อื่นแทนที่จะฝากเป็นเงิน ก็ฝากเป็นเวลา พอเราสูงอายุ หรือต้องการถอนก็ไปเบิกธนาคาร แล้วธนาคารก็จะส่งคนมาช่วยเหลือเราดูแลผู้สูงอายุ เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุอีกทางเลือกหนึ่ง

          สุดท้าย การตายอย่างมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างเป็นต้นแบบให้กับอนุชนรุ่นหลัง

          สรุปคือ การพัฒนาในยุคต่อไปต้องสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านแนวทางของ Sustainable Development Goal (SDG) ของ UN และให้ทำอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

          ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติได้กล่าวสรุปถึง นโยบายต่าง ๆ ถ้ามีการวางแผนไว้แล้วอย่านิ่ง แต่ให้ทำให้เกิดผลต่อการปฏิบัติให้ได้ (Execute)  และควรเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลในส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันจะทำให้นโยบายที่ขึ้นเกิดผลที่เป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้ดีขึ้น

มุมมองจากนักวิชาการ : ภาคการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท
รองผู้จัดการและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นโยบายด้านการศึกษาข้างหน้าอยากเห็นอะไร

เป้าหมายด้านการศึกษาคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อความเสมอภาค งานด้านทรัพยากรมนุษย์จึงเสมือนเป็นงานที่ดีที่สุดที่ทำให้กับประชาชนได้

ได้มีการจัดทำวิจัยงานด้านทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการศึกษาและเพื่อความเสมอภาค มีการเก็บข้อมูลประมาณ 2 ปี ได้มีการตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคว่ามีอะไรบ้าง มีเป้าหมายอะไรที่ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1. ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์

2. ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ

3. ช่วยเหลือพัฒนาเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของครู

กลุ่มเป้าหมาย : เรื่องตั้งแต่ครรภ์มารดา – เชิงตะกอน

          1. เกิด – เข้าสู่วัยแรงงาน

          มีกระบวนการดูแลในรูปมิติของการพัฒนา ไม่ใช่การทำงานแบบราชการแต่เป็นการทำอย่างองค์กรอิสระที่มีรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้นวัตกรรม งานวิจัย และใช้ข้อมูลต่าง ๆ ในการทำงาน ไม่ใช่กองทุนทำเอง แต่เป็นการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมที่ช่วยดูแลประชาชนกว่า 4,000,000 คน โดยได้ยกตัวอย่างปฏิญญาสากลที่ทำร่วมกับนานาชาติ ดังนี้

          1. ปฏิญญาจอมเทียน ที่ประเทศไทยแสดงความเป็นผู้นำในการเป็นบ้านเกิดของปฏิญญาสากลระดับนานาชาติของสหประชาชาติ ที่ถือเป็นอันแรกที่กล้าประกาศได้ว่าการศึกษาฟรีไม่เก็บค่าใช้จ่ายสำหรับทุกคน Education for all สำหรับประถมศึกษา เป็นสิ่งที่ประเทศทั่วโลกควรได้รับ ต่อมาเป็นการเกิดเป้าหมาย Millennium Development Goals และ Sustainable Development Goals ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับประเทศไทยไปสู่เวทีการศึกษานานาชาติ ที่หลายประเทศในโลกได้พูดถึงประเทศไทยอยู่

          2. ปฏิญญาสากลอาเซียนว่าด้วย 4 เยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มให้อาเซียนทั้ง 4 ประเทศลงมติร่วมกันเพื่อขจัดปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา

          สังเกตได้ว่าประเทศไทยได้เป็นผู้นำเยาวชนในพัฒนาความสำเร็จทางการศึกษาระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้มีการประกาศกองทุนด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาค แสดงถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่นำไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

กลุ่มประชากรวัยแรกเกิด – วัยเด็กเล็ก

กลุ่มเป้าหมายที่ควรส่งเสริม

1. กลุ่มประชากร Bottom 40% คือกลุ่มที่ประชากรมีรายได้น้อยที่สุด 40 %

2. กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนที่ยังเข้าไม่ถึง (ก่อน 5 ขวบปีแรก) จำเป็นต้องค้นหา และแก้ปัญหานำพาเข้าศูนย์เด็กเล็ก หรืออนุบาลให้ทันเวลา เพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้น

3. กลุ่มยากจนในเด็กอนุบาลและในศูนย์เด็กเล็กประมาณ 600,000 คน โดยควรให้ช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการไม่ให้ออกจากเรดาร์ โดยจัดการข้อมูลที่สามารถส่งไม้ต่อเชื่อมข้อมูลได้

4. กลุ่มเด็กเยาวชนประมาณ 6-14 ปี (ภาคการศึกษาบังคับ) 7,000,000 คนที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา โดยมีทั้งกลุ่มที่เข้าเรียนช้า และกลุ่มที่เข้าเรียนแล้วและหลุดออกมาอีกประมาณ 200,000 คน เราต้องหาค้นหาให้เจอว่าอยู่ที่ไหน ปัญหาเพิ่มเติมคืออะไร รวมถึงวิธีการเข้าสู่ระบบการศึกษา ความมีเส้นทางเลือก อาทิ การเป็นผู้ประกอบการ มีทักษะอาชีพ และมีงานทำ เป็นกลุ่มที่ต้องดึงเขากลับมาในเส้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

          โดยเฉพาะในยุคที่ที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย เราต้องไม่ควรละเลยหรือปล่อยให้สังคมมนุษย์แม้แต่คนเดียวหลุดจากการดูแลและการพัฒนาแล้ว เพราะแต่ละคนมีภาระที่ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน

5. กลุ่มเด็กเยาวชนในวัยเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาแต่อยู่ในภาวะที่ยากจน หรือยากจนพิเศษ

          การแก้ไขไม่ให้เขาหลุดมา คือมีกลุ่มคน 1.8 ล้านคนที่เป็นคนยากจน ต้องมีมาตรการทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่มาตรการระยะสั้น แต่ต้องมีมาตรการระยะยาวดูแลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือหลักสูตรมากกว่านั้นตามแต่ศักยภาพที่เป็นได้

6. กลุ่มเยาวชนวัยหลักในภาคการศึกษาบังคับ

          พบว่ามีเด็กจำนวนมากมีศักยภาพ สามารถเรียนได้สูง และประสบความสำเร็จได้แต่จบได้เพียงแค่ม.3 เท่านั้น เพราะไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ ไม่มีรายได้ที่ดูแลเขาไปไกลกว่านั้น  ถ้ามีการปลดล็อกได้ว่า มีการสนับสนุนที่ดีและมีทรัพยากรที่เพียงพอ ช้างเผือกเหล่านี้จะไปได้ไกลกว่านี้

6. กลุ่มนอกวัยเรียนไปแล้ว  ต้องมีมาตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการตลาดแรงงานเปลี่ยนทุกวัน

จาก World Economic Forum ทำนายไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า 65% ของงานที่มีปัจจุบันจะหายไป ทดแทนด้วยงานที่เข้ามาใหม่ ดังนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กที่จบ ป.1 ควรมีทักษะอะไร

เป้าหมาย 4 ปีข้างหน้าคือเป้าหมายที่มองไปถึง 25 ปี เราต้องมองให้เป็นพลวัตรตลอดเวลาและให้มีเป้าหมายที่ยั่งยืนมากกว่า 4 ปี

สิ่งที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้จากข้อมูลที่มีอยู่คือ

1. การพัฒนาเด็กเล็กมีข้อมูลที่ดีขึ้นมากทำให้คุณภาพการดูแลดีขึ้น

2. เด็กนอกระบบการศึกษาจะมีข้อมูลที่ดีขึ้น สามารถใช้มาตรการ หน่วยงาน และกลไกที่มีอยู่บรรลุกฎกติกาจอมเทียนได้ และไม่มีเด็กคนไหนที่หลุดจากวงการศึกษาอีกแล้ว

ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยป้องกันแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้เด็กหลุดจากการศึกษาอย่างไร และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่การศึกษาระดับสูง

ช่องว่าง 20 ปีสามารถปิดได้ ถ้ามีการดูแลตั้งแต่ปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง ดูว่ามีความขาดเหลืออะไร สามารถทำให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมหรือ Social Mobility

ความเสมอภาคทางการศึกษา

คือเด็กคนไหนสามารถไปได้สูงสุดเพียงใด ภาครัฐต้องสามารถสนับสนุนได้ตามความพร้อม ความถนัด และความสามารถของเขา เราต้องไม่พลาดช้างเผือกแม้แต่เชือกเดียว เราต้องมีระบบสนับสนุนที่ดีเพื่อสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ให้ได้

ด้านเศรษฐศาสตร์อยากได้อะไร

          ประเทศไทยใช้งบการศึกษาสูงถึง 800,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ต่อปี เทียบกับ OECD 5,500,000 บาท เป็นงบประมาณที่เกือบจะชนเพดานอยู่แล้ว ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาประชากร 4-5 ล้านคน แต่ทรัพยากรจะชนเพดาน เราจะทำอย่างไรที่อยู่ตรงนี้ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีฐานภาษีกว้าง มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง เราจะทำอย่างไรภายใต้ความจำกัด

การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ

          ยกตัวอย่าง มีเงิน 3 บาท ไม่ได้ให้เท่ากันทุกคน เพราะจะมีความเหลื่อมล้ำเหลืออยู่ แต่ถ้าให้ตามความต้องการ รู้ว่าใครต้องการเท่าไหร่ ให้ได้ตามสิ่งที่เขาต้องการจะทำให้มีความเสมอภาคทางการศึกษาสูงขึ้น โรงเรียนที่อยู่ไกลจะเสมือนอยู่ใกล้ เรียกว่าการจัดการทรัพยากรทางการศึกษาที่ดี 

          การใช้เทคโนโลยีการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงนโยบายต่าง ๆ ได้มีการจัดเชื่อมโยงข้อมูลจากเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เช่นการแจ้งเกิด เชื่อมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ จะทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลที่ดี นำสู่การพัฒนาโครงการในอนาคต สามารถคิด วางแผนการคลัง และกำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดการสนับสนุนทางด้านการศึกษาดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ครู และสถานศึกษาก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนสำคัญ เนื่องจากภาพแผนที่ GIS ทำให้ทราบว่าข้อมูลเด็กยากจนอยู่ที่ใดบ้าง ระดับรายได้ต่อคน ต่อเดือนเป็นอย่างไร การดูจากแผนที่จะทำให้ทราบว่าเด็กอยู่ที่ไหน มีประชากรยากจนที่ไหน งบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ไหน(งบประมาณลงที่ไหนมากหรือน้อย) งบประมาณทางการศึกษา 70 % เป็นเงินเดือนครู ถ้าครูไม่บรรจุโรงเรียนจะเป็นโรงเรียนไม่มีครู ไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ งบประมาณที่เด็กเหล่านี้ได้จะไม่มี ทำให้เด็กต้องไปเรียนโรงเรียนข้างเคียง โรงเรียนประจำจังหวัด ประจำอำเภอ

          ถ้ามีการเชื่อมโยงปัญหาให้ทุกคนเท่ากัน รายหัวเท่ากันจะเชื่อมโยงปัญหาหรือไม่  ถ้าเราสามารถทำ Demand side ได้ดีขึ้น การแก้ไขความเหลื่อมล้ำจะดีขึ้นเช่นกัน

          ในระดับจังหวัดถ้ามีพิกัด GIS ดีขึ้น จะสามารถทำ School Mapping และ School Business ได้ พื้นที่ทางระดับภูมิสังคม สารสนเทศได้ เราจะสามารถคำนวณการเดินทางได้ บวกค่า K บวกค่างบประมาณได้ คิดสูตรจัดสรรงบประมาณ คิดการจัดสรรแรงจูงใจการปฏิบัติงานของครูและ ผอ.โรงเรียน จะช่วยให้นโยบายช่วยจัดการให้การศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เงินน้อยกว่าและมีผลมากขึ้น

          ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ทำสามารถคัดกรองได้มากขึ้น ได้มีการร่วมงานกับกระทรวงศึกษาธิการด้าน

          1. การพัฒนา Application ใน Smart Phone สำหรับครูทุกคนเก็บข้อมูลที่บ้านได้ ครูสามารถถ่ายรูปสภาพบ้านเด็กที่ยากจน บ้านเด็กที่มีปัญหา ทำให้มีหลักฐาน และเขียนพิกัด GIS ว่ารูปนั้นถ่ายขึ้นจริง ถ่ายที่ไหน เวลาใด ครูจะสามารถบอกได้ว่าใช้ระยะการเดินทางกี่กิโลเมตรจะทำให้จัดสรรงบประมาณที่เกิดขึ้นได้จริง

          2. การอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข คือการติดตามการประเมินผลว่าเงินที่ให้ไปเกิดผลตอบแทนอย่างไร ใน Application นี้สามารถเช็คชื่อได้ไม่เฉพาะวันที่มา-ขาดเรียน ส่วนสูง น้ำหนัก ค่า BMI ซึ่งจะทำให้สามารถรู้ถึงระยะเวลาการมาเรียนเพื่อมีสิทธิสอบ และรู้พัฒนาการของแต่ละช่วงวัย และสามารถบอกสังคมได้ว่าเงินแต่ละบาทที่เด็กและผู้ปกครองได้มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างไร สามารถตามได้ถึงการเสียภาษีบาทแรกว่า มีเงินตอบแทนกลับคืนมาเท่าไหร่ และสามารถคำนวณมาเป็นรายได้

ถ้าทำได้จริงจะช่วยให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องที่ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสู่ระดับนานาชาติในอนาคต

ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ กล่าวสรุปถึงเทคโนโลยีที่ถูกลงสามารถทำอะไรได้มากขึ้น และเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลสามารถเห็นกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นว่ากลุ่มไหนควรได้อะไร ควรมีนโยบายอะไร

มุมมองจากนักวิชาการ : ภาคแรงงาน

คุณมนัส โกศล

ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านแรงงานและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คนเกิดง่ายมากแต่จะทำอย่างไรให้คนที่เกิดมาแล้วมีปัญญา มีทักษะ การพัฒนาคนจึงเป็นปัจจัยหลัก เพราะถ้าคนมีคุณภาพประเทศจะมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งควรมีการพัฒนานักการเมืองเช่นกัน

ในส่วนการเลือกตั้ง สิ่งที่พบคือส่วนมากเป็นเรื่องประชานิยม และมีแต่ให้กับให้ บางพรรคบอกถึงนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ 100,000 บาทต่อปี ปัจจุบันนี้ค่าจ้างขึ้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 316 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 300 บาท ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 308 – 330 บาท   คนทำงานทำ 26วัน * ค่าจ้าง 300 บาท จะได้เงินเดือนประมาณเดือนละ 8,000 บาท การเมืองนำเสนอว่าการันตีค่าจ้างมาตรฐานไว้ (แม้ไม่ทำงาน) จะทำอย่างไร ?

คนมี 2 มิติ

1. มิติ Micro คนที่อยู่ในวัยแรงงานมี 38 ล้านคน แต่ฐานข้อมูลสำนักสถิติแห่งชาติ การจดทะเบียนนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ มีกว่า 500,000 โครงการ คนที่จบปริญญาตรี ข้อมูล สพฐ.บอกว่าคนจบปริญญาตรีประมาณแปดแสนคน แต่ปัจจุบัน คนจบปริญญาตรีล้านกว่าคน บางคนประกันสังคมได้ มีทั้งหมด 500,000 คน ค่าเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรีใช้จ่ายเงินประมาณ ล้านกว่าบาท แต่เข้าในระบบราชการได้เงินเดือนประมาณ 15,000 บาท ต่อปีประมาณ 180,000 บาท แต่ถ้าเด็กคนนี้ไม่มีการผูกงานกับภาครัฐ เด็กจะหายไปหมด เรามีแรงงานอยู่นอกระบบ 38 ล้านคน ในระบบมี 26 กว่าล้านคน รวมส่วนราชการจะประมาณ 1ล้านแปดแสนคน

ประเทศไทยมีกองทุนใดก็ตาม 3 กองทุนใหญ่

- กองทุนที่ 1 กองทุนสุขภาพ ปีนี้มีกองทุนในกทม. 70,000 กว่าล้านบาท ให้กองทุนราชการดูแลด้านสุขภาพ ดูแลงบประมาณ 4 ล้านคนฟรี

- กองทุนที่ 2 กองทุนประกันสังคม เกิดปีพ.ศ. 2533 ประเทศไทยมีกองทุนอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท

- กองทุนที่ 3 กองทุนบัตรทองคำ เกิดปี พ.ศ. 2545

- กองทุนที่ 4 ใช้ภาษีส่วนรวมทั้งหมด

การมองเรื่องแรงงานกับสุขภาพโดยภาพรวมแตกต่างกัน การพัฒนาเรื่องคนต้องดูถึงมาตรฐานการจ้างงาน การมีความสุขที่เท่าเทียมกัน เพราะถ้าไม่มีแล้ว โอกาสไปถึงสุขภาพจะลำบาก ระบบการศึกษายังไม่เปิดกว้าง เราจะทำอย่างไรให้ขยายการศึกษาเพื่ออาชีพ

เรื่องแรงงานจะทำอย่างไรให้แรงงานในอนาคตใน 4 ปีข้างหน้า มีตัวเลขการว่างงาน 400,000 คน กำลังแรงงาน 38 ล้านคนมีรายได้จาก 56 ล้านคน กลายเป็นงานที่ประกอบอาชีพอิสระ Freelance ข้อเสียคือไม่ได้สวัสดิการสังคม ประกันสังคมไม่มี เราจะทำอย่างไรให้มีการปฏิรูปประกันสังคม คือคนที่ทำงาน 15 ปี สามารถเข้าสู่ส่วนประกันสังคม จะช่วยในเรื่องงบประมาณของรัฐบาลงบประมาณบัตรทองจะไม่มากเนื่องจากเข้าที่ประกันสังคม เราจะสามารถทำอย่างไรให้คนสูงอายุอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และตายอย่างมีศักดิ์ศรีได้  แต่ปัญหาคือคนที่ไม่มีรายได้เข้ายาก มาตรา 39 การจ่าย 492 บาท ประกันได้ถึง 6 กรณี ทุกคนมีสวัสดิการเท่ากันหมด ไม่ต้องหักภาษีส่วนกลาง คนจะเข้าได้มาก ซึ่งจะช่วยพัฒนาภาษีตรงนี้ได้

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเรื่องคน เคยสำรวจ ตอนนั้น Big Data ยังไม่ได้เชื่อมโยงทั้งหมดจากเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เราจะทำอย่างไรให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลจากรัฐทั้งหมด

การจ้างที่เป็นธรรม หน่วยงานรัฐจ้างงานล้านคน พอเกษียณ 60 ปี ได้คืนบำนาญไม่ได้ แต่ดีที่ได้เงินประกันสังคม และได้เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยระหว่างการทำงาน แต่ถ้าไม่จ้างงานปีต่อปีอาจเป็นปัญหาได้

สรุปคือ การจ้างงานต้องเป็นธรรม  ส่วนภาค Macro ที่เป็นนโยบาย ภาษีรัฐมี 7 ด้าน เก็บจากภาษีบุคคล (มนุษย์เงินเดือน) นิติบุคคล ภาษี Vat ภาษีปิโตรเลียม และภาษีอื่น ๆ รัฐบาลมีงบประมาณจำกัดการเก็บภาษีประจำปีอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ไม่นำสิ่งที่มีมูลค่าในประเทศไทยแปลงเป็นเงินเข้ารัฐ เช่นที่ดินว่างเปล่า พัสดุ สามารถบูรณาการเป็นอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้

การพัฒนาคนในช่วงเปลี่ยนถ่าย 4.0 มีมานานแล้ว ไม่ใช่ปีสองปีนี้ ในกรณี AI เข้ามา ต้องลดงบประมาณลงในการจ้าง ในช่วงเปลี่ยนผ่านมีการปิดข่าวคนตกงานเยอะมาก แต่ไม่ได้แสดงในตัวเลขการว่างงาน สรุปคือเราจะทำอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านคนไป Robot เราควรมีศูนย์พักรอ คือพัฒนาคนเตรียมความพร้อมไว้ก่อน ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอที่มีที่พัสดุ เอาคนที่ออกจากงานแบบ Early ทำอย่างไรให้การศึกษาเป็นการศึกษาเพื่ออาชีพ พัฒนาทักษะ เพิ่มSkill ให้เพิ่มความสามารถกำลังแรงงานได้ แล้วการพัฒนาสวัสดิการสังคมจะตามมา

ในช่วง 400 วัน โจทย์แรกคือต้องเปลี่ยนบางเรื่อง

1. ทรัพยากรมนุษย์ไม่ต้องพึ่ง HR ต้องมีการรู้ศาสตร์อื่น ทำร่วมกันเป็นภาคี เป็นแนวร่วมที่ทำงานไปพร้อมกันได้

2. การศึกษาเป็นสนามเพื่ออาชีพ สามารถเรียนได้ตลอดชีวิต เพื่อต่อยอดการทำงานได้

3. มหาวิทยาลัยอาจเปิดในเรื่องของอาชีวะในมหาวิทยาลัยด้วย แต่ควรมีการต่อท่อการศึกษากับอุตสาหกรรมด้วย

อาชีพที่เกิดใหม่คือ นักศึกษาต่อปริญญาโท และปริญญาเอก แต่ถ้าไม่มีงานทำก็จะวนหลูบอีก ค่าจ้างขั้นต่ำจ่ายให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าเท่านั้น เพราะต่อมาจะมีทักษะในการทำงานเพิ่มเติมที่ต้องมีการประเมิน ดังนั้นถ้าเขียนแผนการศึกษาที่เชื่อมโยงการทำงานที่ดี จะทำให้การจ้างงานเป็นธรรม

ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ กล่าวสรุปการบรรยายของคุณมนัส โกศล ว่าด้วยเรื่องงาน เรื่องเงินและสวัสดิการที่ต้องมีความสอดคล้องกัน

มุมมองจากนักวิชาการ : ภาครัฐด้านสวัสดิการสังคม

คุณชินชัย ชี้เจริญ
อดีตที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

หัวข้อในวันนี้สามารถให้พรรคการเมืองเก็บเกี่ยวไปกำหนดนโยบาย 4 ปีข้างหน้าได้ว่าจะเป็นอย่างไร ประเด็นด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) เป็นเรื่องที่เราพูดถึงกันมาก แสดงถึงการมองที่กว้างมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Manpower หรือการพัฒนาในหน่วยงาน สิ่งที่น่าสนใจคือประเด็นด้านการปฏิรูปพูดเฉพาะเรื่องอาชีวะ และอุดมศึกษา แต่ที่อยากเน้นคือใน 4 ปีข้างหน้าคือรัฐธรรมนูญมาตรา 71 วรรค 2 เรื่องการส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ใน 3 ประเด็นคือ

1. พลเมืองที่ดี

2. มีคุณภาพ

3. มีความสามารถสูง

แต่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เรื่องสวัสดิการสังคมเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะในเรื่องการเมืองและสวัสดิการเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มองไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างกรณีการเลือกตั้งครั้งหนึ่งมีพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมสำเร็จ และหลังจากนั้นได้มีการวิเคราะห์ว่าทำไมชูนโยบายด้านประชานิยมสำเร็จ ต่อมาเกิดพรรคที่ชูนโยบายสวัสดิการสังคม แต่ถ้าทำให้ดีต้องเป็นระบบสวัสดิการ มีการเสนอแนวคิดสวัสดิการนิยม แต่ไม่สำเร็จ  มาในช่วงที่ 3 เกิดพรรคการเมืองพรรคใหม่ชูนโยบายรัฐสวัสดิการ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน

หลายพรรคการเมืองในวันนี้พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ และความเหลื่อมล้ำกันมาก อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีการวิเคราะห์ว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านไหนบ้าง

1. ด้านความเหลื่อมล้ำ

2. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำคืออะไร รัฐสวัสดิการคือการลดความเหลื่อมล้ำ แต่รัฐสวัสดิการนำมาซึ่งระบบภาษี ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องคู่กัน มีคำ 2 คำเกิดขึ้นมาคือ Welfare State และ State Welfare

Welfare State คือการที่ประชาชนเห็นชอบกับนโยบายรัฐเก็บภาษีแล้วมากระจายให้ประชาชน

State Welfare คือสิ่งที่รัฐมองสวัสดิการว่าประชาชนควรได้อะไร แต่ขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะให้อะไร ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของรัฐ

ดังนั้นจึงความความแตกต่างกันของสวัสดิการของรัฐ และรัฐสวัสดิการ คือระบบที่มองในภาพรวม

          Welfare คือ Well being ทำให้ประชาชนมี Well being ที่ดี สิ่งที่น่าสนใจคือประเทศไทยค่อนข้างเกือบสมบูรณ์คือมีระบบสวัสดิการแล้ว การที่ประเทศไทยไป 4.0 ได้นั้น ระบบสวัสดิการต้องสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

          ประเด็นที่น่าสนใจคือสวัสดิการที่เราบอกเป็นอย่างไร

          1. ไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คนที่ได้รับการพัฒนาไม่เหมือนกัน เพราะคนเราต่างกัน เพราะคนได้รับโอกาสไม่เท่ากัน การให้แต้มต่อเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องให้ Input ที่เหมาะสม

          2. งานสวัสดิการสังคม – มีคนมองว่าถ้าทำแล้วรัฐสูญเสียงบประมาณ ถ้าทำจริงต้องมองใน 3 ประเด็นคือ 1) ไม่มีปลากิน ก็ให้ปลา  2)มีเงื่อนไขพัฒนาตนเองได้คือสอนตกปลา และ 3) เป็นพลเมืองที่ดี แต่ส่วนใหญ่มองแค่ประเด็นที่สองคือจะเป็นพลเมืองที่ดีและช่วยสังคมหรือไม่

          เราจะจัดสรรอย่างไรในเรื่องสวัสดิการ ที่ผ่านมามี 2 คำคือ 1) Universal 2) Target  ประเทศไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการพูดถึงเรื่องรายได้ของทุกคน หมายถึงทุกคนอยู่ได้ต้องมีรายได้ และการมีรายได้ต้องมีงานทำ แต่การมองแบบนั้นมองว่าเป็นสังคมนิยมรับไม่ได้

          สังคมนิยม+ประชาธิปไตยจึงเกิด สังคมนิยมประชาธิปไตย เกิด Welfare State คือรัฐสวัสดิการ แต่ล่าสุด ทิศทางจึงน่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ แต่เป็นรัฐสวัสดิการภายใต้ระบบเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ในอดีตพยายามมองถ้วนหน้า แต่ไม่สามารถทานกระแสสังคมนิยม ประชาธิปไตยได้จึงกลายเป็นกรมสังคมสงเคราะห์มองแบบ Target และขอชื่นชมกรมสวัสดิการแห่งรัฐที่มีมติมองสวัสดิการแห่งรัฐปี พ.ศ. 2495 ที่มองคนเป็นสองกลุ่ม

          1. กลุ่มคนมีรายได้แต่เสี่ยงได้ เช่นเสี่ยงพิการ เสี่ยงตกงาน อย่างในต่างประเทศใช้คำว่าประกันสังคม ดังนั้น ประกันสังคมของไทยเกิดปี พ.ศ. 2495

          2. กลุ่มคนจนที่ไม่มีรายได้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะเป็นภาระ ดังนั้นการตรวจสอบคือจนแล้วซิกแซก  เราเกิดกฎหมายประกันสังคมในปี พ.ศ. 2497 แล้วจอมพลสฤษดิ์ ก็มายกเลิกกฎหมายโดยตรง แล้วใช้เวลาอีก 33 ปี ในปี พ.ศ. 2533 เกิดกฎหมายประกันสังคม

          ประกันสังคมในประเทศไทยจึงต่างจากประชาสังคมในต่างประเทศ มีเพียง 10 ประเทศที่เหมือนกับประเทศไทยคือรัฐจ่าย ซึ่งประวัติศาสตร์อาจารย์นิคม และคนสมัย พ.ศ.2533 รัฐไม่สนใจสวัสดิการ ถ้าคนไม่สนใจกลัวจะถูกเบี้ยว เลยถูกจ่าย 3 ส่วน

          ระบบ Assistance เป็นการช่วยแบบเฉพาะด้าน มีการมองว่าคนจนช่วยทำไมกลัวขึ้เกียจ

          ระบบสวัสดิการในช่วงนั้นค่อนข้างประสบความสำเร็จในระบบ Universal สปสช. มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และตอนหลังประเด็น Target ทั้งหลายเช่นการจ่ายเงินผู้สูงอายุ และคนพิการ ถูกเปลี่ยนเป็นระบบ Universal ทั้งหมด สมัยนั้นนายกฯอภิสิทธิ์ บอกว่าการพิจารณาใครจนเป็นเรื่องยาก การจ่ายแบบ Universal ในสมัยนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องคิดคู่กับการพัฒนาระบบสวัสดิการที่สมบูรณ์ว่าเป็นอย่างไร แต่ทำไปทำมาจะเกิดความกลัวเรื่องประชานิยม เข้ามาสู่ที่ระบบ Target

          ระบบสวัสดิการที่สมบูรณ์ต้องมี 4 เสา

          เสาที่ 1 เป็นระบบ Social Service คือประชาชนได้รับสิทธิพื้นฐาน ฐานการคุ้มครองมี 2 ตัวที่ UNกำหนดคือ 1) การคุ้มครองทางสังคมถ้วนหน้า คือคนจะอยู่ได้ต้องมีหลักประกันเรื่องรายได้ 2) สวัสดิการของรัฐด้านการบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

          บริการทางสังคม ประเทศไทยเริ่มเกือบสมบูรณ์แล้ว เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขาดหลักประกันรายได้กับคนที่ต่ำกว่า Property Line

          เสาที่ 2  ตัวประกันค่อนข้างสมบูรณ์ คือมีทั้งในระบบ นอกระบบ และระบบฉุกเฉิน มีกองทุนช่วยด้านสุขภาพอนามัย มีการแพทย์ฉุกเฉิน และประกันสังคมก็ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่มีการเลี่ยงการเข้าระบบประกันสังคมที่นายจ้างเลี่ยงไม่ยอมเข้าอีกเป็นล้านคน กอช.กับประกันสังคมคือระบบสมัครใจ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา อย่างกอช.ช่วยเรื่องบำนาญในอนาคต แต่คน 60 ล้านคน ทำแค่ 6 แสนคนก็เป็นปัญหา ตอนหลังประกันสังคมได้น้อย ตอนนี้ออกกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เป็นภาคบังคับ ชาวบ้านกำลังทำระบบสวัสดิการชุมชน แต่ถ้าจะทำแบบประกันสังคม รัฐต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจะทำเป็นแบบประกันสังคมอย่างไร

          เสาที่ 3  ใครจนถึงช่วย (ระบบนี้ค่อนข้างอ่อน รัฐบาลได้มีการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ อุดช่องโหว่ Assistance คนรับผิดชอบคือกระทรวงการคลัง

          สมัยก่อนการเป็น Universal ต้อง Universal ใน Target  ต้องได้สิทธิได้บัตร คนที่ลงทะเบียนมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ต้องพัฒนาศักยภาพคน

          เสาที่ 4 คือ หุ้นส่วนการมีส่วนร่วม เกิดสังคมสวัสดิการ และสวัสดิการถ้วนหน้า หมายถึงทุกคนต้องช่วยกันจึงเกิดระบบประชารัฐ

          ประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อใน 4 ปีข้างหน้าถ้าจะทำเรื่อง Target

          ประเด็นที่ 1 ถ้าไม่เรียก Universal กับ Target นั้น คำว่า Universal เลิกไม่ได้ ต้องเคลียร์ให้ได้ว่าอะไรเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับในลักษณะสิทธิ อะไรที่เป็น Universal ก็เป็น Universal อะไรเป็น Target ก็เป็น Target

การทำประเทศไทยเป็นระบบสวัสดิการสมบูรณ์ต้องใช้เงิน 125,000 – 250,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันรัฐบาลนี้ทำเรื่องชุมชนเศรษฐกิจฐานราก 600,000 ล้านบาท ช่วยคนจนใช้ 120,000 ล้านบาท สิ่งที่ยังขาดอยู่คือแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน ถ้าไม่พัฒนาจะถูกปรับ ถ้าพัฒนาจะได้ส่วนลดภาษี คนที่อยู่ในระบบรัฐต้องจัดการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เข้า

ประเด็นที่ 2 แรงงานในระบบหาเช้ากินค่ำ เมื่อคลอดลูก มีเงินรายได้ ระบบประกันสังคมยังไม่ Cover ให้คนมีรายได้

ประเด็นที่ 3 การรู้ข้อมูล อย่างบัตรประชาชน 13 หลัก การทำรัฐสวัสดิการต่อเนื่องต้องมีการผูกกับ13 หลัก  ผูกกับการปกครอง สามารถดูได้ว่าคนได้สวัสดิการเท่าไหร่ ผูกกับระบบภาษี ประเทศไทยเคยเสนอแนวคิด Negative Income Tax คือมีรายได้แล้วไม่ไปบอกว่าอยู่ในช่วงทำงานแล้วไม่มีรายได้ สรรพากรจะไม่เก็บภาษี และให้เงิน ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะดูแลคนในสังคมอย่างไร

ประเด็นที่ 4  ต้องลงทุนด้านบุคลากรที่ไปดู คนทั้ง 14.5 ล้านคนต้องทำแบบโมเดลจีน ได้กลุ่มมาแล้วรู้ว่าต้องการอะไร ต้องนำทรัพยากรไปตอบโจทย์ความต้องการ

ประเด็นที่ 5 การจัดสรรงบประมาณใหม่ เพราะงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมประมาณ 40 % ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด  ทำเหมือน สปสช. แล้วเติมอีก5,000 บาท รัฐบาลจัดสรรรายจ่ายให้ประชาชน 8,000 บาทต่อหัว ซึ่งถ้าอยากได้มากกว่านั้นต้องจ่ายเงินเพิ่มโดยเข้าระบบประกันสังคม

สุดท้ายถ้าจะทำระบบสวัสดิการสังคม หรือทุนนิยมใหม่ สมัยก่อนเน้นคำว่า Welfare แต่ก็มีกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มคนไม่ทำงานก็ได้สวัสดิการ ปัจจุบันมี Productive Welfare คือการให้สวัสดิการที่สามารถตอบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เป็นการสร้าง Condition Transfer โดยสรุปคือในอนาคตเราหนีไม่พ้นกับระบบ Target เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเทียบกับฉบับก่อนเน้น Target มากกว่าฉบับก่อนที่เน้นสิทธิ์ อย่างกองทุนประกันสุขภาพ กองทุนการศึกษาฟรี 12 ปี ที่ให้สำหรับคนที่จนจริง และท้ายสุดต้องมาผูกกับระบบภาษีคือ คนไทยยอมเสียภาษีหรือไม่ และคนไทยเป็นอย่างไร การพัฒนาทุนมนุษย์เราผลิตคนเป็นอย่างไร เรารอแต่รับ หรือรอแต่ไฟไหม้ฟาง ทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์ของคนไทยจะเป็นอย่างไร

การร่วมแสดงความคิดเห็น

1. นางสาวเสน่ห์ หงส์ทอง นายทะเบียนพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

          เรื่องคุณภาพคน แต่ละท่านพูดถึงหลักการในสิ่งที่ทำการวิจัยและมีข้อมูลระดับหนึ่ง ส่วนตัวนั้นมาจากพรรคที่มีหัวหน้าพรรคเป็นประธานสหภาพแรงงาน เป็นอดีตกรรมกร คือคุณสมศักดิ์ โกศัยสุข มี 3 ประเด็นหลักที่จะพูดถึงคือ

          1. คุณภาพของคน จากการดูยุทธศาสตร์ที่วางไว้ มีสิ่งที่น่าแปลกใจคือ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลมากมาย มีกฎหมายหลายฉบับ มีอาจารย์ที่มีความรู้มากมาย มีงบประมาณสมควร แต่ประเทศไทยยังถูกตั้งคำถามว่ามีความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุกจนกระจาย  มีการลงทุนจำนวนมาก มีรถเต็มถนน มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก อยากถามว่าจากการวิจัยหรือข้อมูลจำนวนมากในประเทศไทย จะมีแนวทางการพัฒนากลุ่มนักการเมืองหรือกลุ่มทุนที่มีที่คนเดียวเป็นแสนไร่ มีการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่มีกฎหมายไปควบคุม และยังออกกฎหมายที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่

          2. กำลังแรงงานหรือกำลังการผลิตในส่วนกำลังแรงงาน ในประกันสังคมโดยสัดส่วนการจ่ายเงินประกันสังคม ยังมีส่วนที่รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นจำนวนแสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาล คนที่จ่ายมีเพียงนายจ้างและลูกจ้าง เงินที่รัฐบาลติดค้างคือที่มาจากภาษีประชาชน

          3. คนที่เสียภาษี รวมโดยคนเล็กคนน้อยที่ผ่านการจับจ่ายใช้สอย มีจำนวนคนทั้งประเทศรวมกันที่น่าจัดสวัสดิการให้คนในประเทศพอสมควร แต่มีเรื่องการแจ้งความเป็นคนจนพบว่ามีคนที่มีการศึกษาสูงไปแจ้งว่าเป็นคนจนด้วย อยากให้แยกได้ว่าคำจำกัดความของความเป็นคนจนอยู่ตรงไหนจะได้แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด

2. นายจารึก โรจนวงศ์ ประกอบอาชีพอิสระ

          สิ่งที่อยากเห็นคือ

1. อยากเห็นช่องว่างระหว่างคนลดน้อยลง ทำอย่างไรให้ช่องว่างลดน้อยลง ให้คนจนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีชนชั้นกลางมากขึ้น

2. อยากให้คนไทยประกอบกิจการมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเป็นลูกจ้าง และกลุ่มโชว์ห่วย หรือกิจการรายเล็กหายไป แต่ไปอยู่ในกลุ่มเจ้าของทุนรายใหญ่แทนที่โชว์ห่วย อยากเห็นความพยายามในการพัฒนาให้คนจบการศึกษาออกมาเป็นเจ้าของกิจการเล็กน้อยมากขึ้น

          3. อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงหรือดีขึ้น คือมีโรคน้อยลง สอนให้คนป้องกันมากขึ้น

          4. อยากเห็นคนเป็นคนดี มีคุณธรรม รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง

          5. ด้านคุณภาพ ให้มีการพัฒนาด้านฝีมือเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา เน้นการพัฒนาคนให้มี Skill ประกอบอาชีพได้ ที่สำคัญคืออยากสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ให้ชุมชนมีอำนาจต่อรอง ทำชุมชนให้เป็นปึกแผ่น รวมตัวพัฒนาประเทศชาติให้ดีขึ้น

3. นายภาคภูมิ สุกใส จากสหภาพแรงงาน

          จากที่ฟังเป็นแนวคิดที่ทางมหาวิทยาลัย และการเมืองต่าง ๆ มองทำทุกอย่างตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน มีการส่งเสริมการศึกษาอย่างดี แต่ตอนทำงาน ลืมว่าคนที่ทำงานมีรายได้ เงินเดือนจะกิน เที่ยว สนุกสาน สิ่งที่รัฐบาลหลายยุคไม่เคยทำงานวิจัย โรคที่ร้ายแรงที่สุดคือโรคเส้นเลือดในสมองแตก ตีบ ตัน พอเกิดโรคจะทำให้เกิดคนไข้โรคติดเตียงเพราะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องมีคนเฝ้าทำให้ไม่ได้ทำงาน รัฐควรทำนโยบาย คือทำอย่างไรไม่ให้เสียทรัพยากรที่ส่งให้เรียน จบการศึกษาออกมาแล้วทำงานเป็นทรัพยากรที่มีรายแล้ว ควรใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้คุ้มค่า แต่ปัญหาคือคนอายุไม่ถึง 40 ปีกลายเป็นโรคเหล่านี้จำนวนมาก

          เราน่าจะมีนโยบายเชิงรัฐบาลให้คนดูแลสุขภาพปลอดจากโรคเหล่านี้ได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก

4. จากสถาบันทรัพยากรมนุษย์

          1. จากการศึกษาผู้ใหญ่ในวัยแรงงานไปอ่านเจอในต่างประเทศ เรียกว่า การฝึกวิชาชีพโดยการอบรมกับบริษัทก่อนสัก 2-3 ปีแล้วไปทำงานจริง ควรมีการเปิดโอกาสเปลี่ยนอาชีพมากขึ้นเพื่อช่วยลดอัตราการว่างงานได้

          2. รัฐสวัสดิการ ถ้าเป็นอย่างประเทศอื่นเช่นเก็บภาษี 30-50 % ยังพอมีความเป็นไปได้ แต่สำหรับประเทศไทยเก็บอัตราสูงสุดแค่ 35%  และฐานภาษีจาก 60 ล้านคน มีฐานภาษีอยู่แค่ 4 ล้านคน ประเด็นคือการแจกสวัสดิการจำนวนมากจะไม่ยุติธรรมกับคนฐานะปานกลาง ที่ไม่ได้อะไร เพราะเงินไปลงที่คนจนหมด แต่ไม่ได้อะไรคืนมา โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้คนที่จ่ายภาษีเหมือนโดนโหลดภาระจากแนวทางของรัฐสวัสดิการ จึงอยากให้มองว่าสวัสดิการเป็นจริงสำหรับประเทศไทยหรือไม่ในแง่ของภาระผู้เยาว์วัย

5. คุณประไพแก้ว เจ้าของกิจการ

          ทำไมเราไม่ทำงานเชิงรุกคือใครก็ตามมีงานทำมีบัตร ก็แสดงให้เห็นว่าคนนี้มีงานทำ มีบัตรแล้วโชว์บัตรเสียภาษีได้ เมื่อเวลามีเรื่องกับคนทำงาน สวัสดิการจะดีกว่า คนเสียภาษีน่าจะได้รับการเชิดชู และทำอย่างไรให้คนทำดีไม่ได้แค่กล่อง แต่มีสิทธิพิเศษให้เช่น โชว์บัตรแล้วขึ้น BTS ฟรีทั้งชีวิต สิ่งนี้น่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดคนดีในสังคม เพื่อสร้างคนให้มากขึ้นเรื่อย ๆ

6. คุณพิชญ์ภูรี จันทรกมล จากมูลนิธิพัฒนทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

          ในวันนี้เห็นนวัตกรรมหลายอย่าง เช่น กองทุนการศึกษา และทุกท่านที่มาทุกท่านพูดกรณีศึกษาทั้งหมดนับเป็นเรื่องดีมาก มีอาจารย์จีระพูดเรื่องชุมชน อยากได้กรณีศึกษาว่าชุมชนมองเรื่อง World Class และรายได้ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมอย่างเดียว ใช้วิธีไหน เพราะเชื่อมโยงเรื่องรายได้  ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องข้อมูลที่ไม่เชื่อมโยงกัน เราจะเริ่มกันอย่างไร สถาบันเสริมศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเริ่มอย่างไร

การตอบคำถาม

1 .ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ตอบเรื่องการทำ Data ตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ที่สำคัญที่สุดตอนทำครั้งแรกเป็นกรณีศึกษา จปฐ. สมัยก่อนไม่ได้เก็บเลข 13 หลัก  แต่ธรรมศาสตร์เข้าไปเปลี่ยน จปฐ.ให้มีเลข 13 หลักในการออกแบบ และทำการออกแบบซึ่งเห็นผลต่อมา จปฐ. กลายเป็นแกนกลางเชื่อมข้อมูลเลข 13 หลักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนที่ความยากจน มีการลงทะเบียนแห่งรัฐแล้วชน 13 หลักกับประกันสังคม กระทรวง พม.มี Social Map. ในการดูคนที่ขอความช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้เริ่ม Version 2 สิ่งที่พบคือมีคนที่ไม่ได้จนจริงแต่อยากจน ก็ไปอยู่ในฐานข้อมูล สามารถคัดกรองคนเหล่านั้นจากฐานข้อมูลที่มี ที่เชื่อม แต่กรองไม่ได้หมด เช่น พ่อแม่ไม่ได้ทำงาน แต่ตัวเองรวย ดังนั้นพ่อแม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ใน Version 3 จะเริ่มเป็นครอบครัว และมีการเชื่อมโยง Transaction ต่าง ๆ เข้าด้วยกันจะสามารถระบุตัวตน ระบุพฤติกรรม สามารถกำหนดจุดร้านธงฟ้า คำนวณว่าคนใช้ยอดเท่าไหร่ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือข้อมูลเหล่านี้สามารถพลิกประเทศไทย อย่างฮิลลารี่แพ้ทรัมป์ก็ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้นถ้าข้อมูลอยู่ในมือคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมหาศาล แต่ถ้าข้อมูลไปตกกับคนไม่รู้วิธีใช้จะทำให้ประเทศติดหล่ม สรุปคือรัฐบาลทำเรื่องเหล่านี้มาก และสถาบันเสริมฯ ก็ทำเช่นกัน เช่นการฝึกอาชีพคนยากจนกับธนาคารออมสิน แต่ยังไม่ถึงการเป็นศูนย์กลางในการทำ Big Data

2. คุณชินชัย ชี้เจริญ กล่าวว่าจากการมีข้อมูล 13 หลัก จะส่งให้กรมการปกครอง และกรมการปกครองจะเช็คว่าคนนี้อยู่หรือไม่ ได้รับสวัสดิการหรือไม่ ระบบข้อมูลจะเชื่อมโยงหมด รวมถึงเรื่องภาษีด้วย 

ส่วนระบบภาษีที่จ่ายสวัสดิการไม่ใช่ภาษีทางตรง เพราะมีภาษีทางอ้อมเช่นการเสีย Vat % การเพิ่ม Vat จะมีรายได้มาก และได้รับค่าลดหย่อน ตรงส่วนนี้สามารถนำมาแปลงเป็นสวัสดิการได้ นอกจากนี้ยังมีภาษีอื่นเช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีหุ้น ฯลฯ จะทำอย่างไรที่นำภาษีมากระจายในส่วนเหล่านั้น

3. คุณมนัส โกศล กล่าวถึง สมัยฟองสบู่แตกรัฐบาลได้งบจากไจก้า ทำอย่างไรให้การศึกษาเพื่ออาชีพมีทักษะไปทำงานได้ตรงกับสิ่งที่บริษัทต้องการ มีกรมส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน การบูรณาการ กระทรวงแรงงานมี 7 กองทุนใหญ่ ต้องมี พรบ.กลางในการเกลี่ยงบประมาณไปลง อย่างกระทรวงออกประกาศ 100 คน มีคนกำกับ ทุกอย่างต้องบูรณาการหมด แต่ละกระทรวงมีงบประมาณหมด รัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุล แต่ถ้ารัฐบาลไม่มีเงิน ก็มีการเมืองเสนอรัฐสวัสดิการ มีการวกกลับเรื่องภาษี ถ้าเพิ่ม Vat ทุกคนเข้าระบบหมดแต่ไม่มีใครกล้าเสนอ พรรคการเมืองถ้าจะเสนอนโยบายรัฐบาลจะทำให้รัฐเก็บรายได้เพื่อกระจายให้กับประชาชนล่วงหน้า

4. ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ตอบจากคำถามคุณพิชญ์ภูรี สอบถามเรื่องทำชุมชนให้เป็น World Class อย่างไร คือ การใช้ปัญญาสอนให้คนคิด วิเคราะห์เป็น แต่อดีตสอนให้คนจำไม่สอนให้คนคิด คนในชุมชน แปลก ถ้ากระตุ้นให้คิด ให้มีศักดิ์ศรีในการแสดงความคิดเห็น เป็นสังคมการเรียนรู้ในชุมชน ได้ยกตัวอย่างชุมชนท่องเที่ยวในฝรั่งเศสเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชน เปิดโอกาสให้คนมีการปะทะกันทางปัญญา และให้ทำต่อเนื่อง  ประเทศไทย ไม่ขาดข้อมูล ไอเดีย คนเก่ง แต่ขาดการเมือง ขาดวัฒนธรรมที่รวมพลังกัน สิ่งสำคัญที่คนไทยควรมี 3 อย่างคือ 1. ทุนทางจริยธรรม 2.เป็นมืออาชีพ 3 คิดถึงคนอื่น  ก่อนจบในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สอนไว้เรื่องการพึ่งตัวเอง สอนให้มีความพอเพียง พอประมาณ

          สุดท้าย จริยธรรมกับความเป็นมืออาชีพควรเป็นคุณสมบัติของคน ถ้าคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองประเทศจะรอด ยินดีที่รับฟังความคิดเห็นของหลายท่าน และต้องดูว่าใน 4 ปีข้างหน้า จะมีพรรคการเมืองไหนที่หยิบยกนโยบายไปและทำต่อเนื่อง ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง อย่างราชการขึ้นตำแหน่งไปเพื่ออะไร อยากให้ดูที่ผลงาน ท้ายที่สุดอยากให้แต่ละท่านออกความเห็นอย่างเต็มที่และมาสรุปกันอีกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 659611เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2019 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2019 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท