เวชกรรมไทย ๕: เบญจขันธ์


เบญจขันธ์ หรือขันธ์ ๕ (The Five Aggregates)
แพทย์เวชกรรมไทย (Thai traditional physician) ต้องเรียนรู้ร่างกายมนุษย์ให้รู้จักโครงสร้าง ลักษณะรูปร่าง คุณสมบัติของอวัยวะต่างๆ คือ “เบญจมหาภูตรูป” เป็นการเรียนรู้กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) พร้อมทั้งเรียนรู้การทำงานของเบญจมหาภูตรูป (Body) ที่ต้องอาศัยและเกี่ยวข้องกับนามหรือ Mind (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) คือ “เบญจขันธ์ “ เป็นการเรียนรู้วิชาสรีรวิทยา (Physiology) แล้วจึงเรียนรู้กลไกการควบคุมกำกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ คือ “ตรีธาตุ” ซึ่งเปรียบได้กับการเรียนวิชาชีวเคมี (Biochemistry) ของแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้ง ๓ ส่วนนี้เมื่อเข้าใจอย่างแท้จริงจะทำให้ทราบสภาวะปกติของมนุษย์ เมื่อต้องไปตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยก็จะแยกปกติกับผิดปกติได้ง่ายขึ้น 
ขันธ์ (Group) แปลว่า กอง หมวด หมู่ หรือส่วน ในทางพุทธศาสนา หมายถึง ร่างกายมนุษย์ ที่แบ่งร่างกายออกเป็นส่วนๆ ตามสภาพได้ 5 ส่วน หรือ 5 กอง คือ
.รูป (body)ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ที่มีการสลายแปรปรวนไปเป็นปกติ เป็นสิ่งที่รับรู้อารมณ์ใดๆไม่ได้ มีทั้งหมด ๒๘ รูป เกิดจากกรรม จิต อุตุและอาหาร แบ่งเป็นมหาภูตรูป ๔ เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานและเป็นที่อาศัยแก่รูปอื่นๆที่เหลือ คือ อุปาทายรูป ๒๔ ดังนั้น เวลาพูดถึงรูปจึงเน้นที่ส่วนผสมกันของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟซึ่งเป็นมหาภูตรูป และมักจะรวมช่องว่างต่างๆในร่างกายหรืออากาศธาตุด้วย รวมเรียกว่า เบญจมหาภูตรูป ซึ่งเป็นสหชาตธรรมคือ การร่วมกันเสมอทั้ง ๔ ธาตุ
๒.เวทนา (Feeling)
ได้แก่ ระบบประมวลความรู้สึกว่า ชอบหรือไม่ชอบ และ เฉยๆ เป็นความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ทุกข์ทางกาย โสมนัส(สุขทางใจ) โทมนัส(ทุกข์ทางใจ) อุเบกขาหรือ อทุกขเวทนา อสุขเวทนา เป็นกลางๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์ )
๓.สัญญา (Memory, Perception)
ได้แก่ จำสิ่งที่ได้รับและรู้สึกนั้นๆ เป็นส่วนของความทรงจำแห่งใจ หรือความจำหมาย
๔.สังขาร (Thoughts)
ได้แก่ ระบบคิดปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รับรู้สึกและจำได้ เป็นส่วนที่ปรุงแต่งจิต คือสภาพที่ปรากฏของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทาน(สภาพของจิตที่สละสิ่งต่างๆ ออกไป) ความเมตตา กรุณา มุทิตา สมาธิ ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ท้อถอย ความง่วง ความละอาย ความเกรงกลัว ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว เจตนาในการทำสิ่งต่าง ๆ ความลังเลสงสัย ความมั่นใจ ความเย่อหยิ่งถือตัว ความเพียร ความยินดี ความพอใจ ความอิจฉา ความตระหนี่ ศรัทธา สติ ปัญญา การคิด การตรึกตรอง
๕.วิญญาณ (Consciousness)
ได้แก่ ระบบรู้สิ่งนั้นๆ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือ ปสาทรูป ๕ (จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย) เป็นการรับรู้อายตนะภายนอก (sense objects) คือ รูป (forms) เสียง (sounds) กลิ่น (smells) รส (tastes) โผฏฐัพพะ (tactile sensations) และธรรมารมณ์ แบ่งเป็น ๖ กลุ่ม คือ
- จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา คือรู้รูปด้วยตา หรือการเห็น
- โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู คือรู้เสียงด้วยหู หรือการได้ยิน
- ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่นด้วยจมูก หรือการได้กลิ่น
- ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น คือรู้รสด้วยลิ้น หรือการรู้รส
- กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย คือรู้โผฏฐัพพะด้วยกาย หรือ การรู้สึกกายสัมผัส
- มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ คือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ หรือการนึกคิด
เมื่อจัดกลุ่มขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ จะได้ ๓ กลุ่ม คือ
๑)วิญญาณขันธ์ จัดเป็น “จิต
๒)เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ จัดเป็น“เจตสิก” (คำว่า “เจตสิก แปลว่าเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเสมอ จิตและเจตสิกจะเกิดและดับพร้อมกันเสมอ จะแยกกันเกิดไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่)
๓)รูปขันธ์ จัดเป็น “รูป
เมื่อเรียนรู้ร่างกายมนุษย์ที่ปกติ (สถานัม) แล้วก็จะต้องเรียนรู้อาการ (Symptom)และอาการแสดง (Sign) ที่ผิดปกติ เรียกว่าวิชาอาการวิทยา (Symptomatology) ให้ทราบว่า อาการ/อาการแสดงที่เกิดกับผู้ป่วยมาจากความผิดปกติหรือวิปลาส (กำเริบ หย่อน พิการ) ของธาตุใด เกิดพยาธิสภาพที่ใด และมาจากกลไกกำกับการทำงานใดที่ผิดปกติหรือตรีธาตุวิปริต (กำเริบ หย่อน พิการ) หรือ ตรีโทษ
พิเชฐ บัญญัติ, พ.บ., พท.บ., ส.บ.
เลขาธิการสมาคมเวชกรรมไทย

หมายเลขบันทึก: 659753เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท