เวชกรรมไทย๑๒: เวชกรรมไทยเป็นศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ


เวชกรรมไทย เป็นศาสตร์ไม่ใช่แค่ความเชื่อ
(Thai Traditional Medicine; Sciences, not just a belief)
เวชกรรมไทย คือ แพทย์สาขาหนึ่งที่มีความเป็นศาสตร์ ปรัชญาของเวชกรรมไทย ตั้งบนแนวคิดธรรมชาติว่าด้วยชาติ จลนะ ภินนะ (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) เน้นหาสาเหตุการแปรปรวน(กำเริบ หย่อน พิการ) ของธาตุและตรีธาตุ จากการกระทบของอายุ เวลา ฤดู ที่อยู่และพฤติกรรม โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงเริ่มแรกในระดับตรีธาตุ ที่ควบคุมธาตุไฟ ธาตุลมที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา(จตุกาลเตโชธาตุ และฉกาลวาโยธาตุ) ซึ่งรู้ว่ามีแต่มองไม่เห็น เป็นระดับพลังงาน (Energy change) ก่อนที่จะส่งผลเสียต่ออวัยวะจนเกิดเป็นพยาธิสภาพ (Pathological change) ที่เห็นได้จากธาตุน้ำและธาตุลม ซึ่งเป็นอาการครบ 32 หรืออวัยวะ32 ของคนเรา (วีสติปถวีธาตุ และ ทวาทศอาโปธาตุ) ที่จับต้องได้เห็นชัดจนเกิดอาการ/อาการแสดงของความเจ็บป่วยออกมา การบำบัดโรค/ความเจ็บป่วยต้องวิเคราะห์ว่า ร่างกายร้อนหรือเย็นหรือปรกติ จากความแปรปรวนของธาตไฟ(พลังงานความร้อน) หรือ ธาตุลม (พลังงานจลน์) แล้วร่างกายร้อนเกินและเย็นเกิน พร้อมกระทบอวัยวะ (ธาตุน้ำ/ธาตุดิน)ใดบ้าง เพื่อจะได้ตั้งตำรับยาให้มีรสประธานแก้ตามนั้น (ยารสประธาน 3 รสคือ ร้อน เย็น สุขุม) ที่เลือกสมุนไพรเครื่องยาที่มีรสตามรสยา 9 ที่ให้ฤทธิ์ตรงตามยารสประธาน เช่น รสขมให้ฤทธิ์เย็น หรือรสเผ็ดร้อนให้ฤทธิ์ร้อน และสรรพคุณตามรสยา 9 รสนั้น เช่น รสฝาดสมานแผล รสหอมเย็นบำรุงหัวใจ พร้อมทั้งระวังผลข้างเคียงจากรสยา 9 รส เช่นภาวะแห้งในยารสขม/รสเผ็ดร้อน หลังจากนั้นจึงนำสมุนไพรมาเข้าตำรับปรุงเป็นยาไทย ตามองค์ประกอบ คือ ตัวยาตรง ตัวยาช่วย ตัวยาเสริมฤทธิ์/ลดฤทธิ์ ตัวยาแต่งสีกลิ่นรส และกระสาย (การนำสมุนไพรมาปรุงยาไทยจึงต้องรู้จัก รู้รส รู้ฤทธิ์ รู้สรรพคุณ รู้ปรุง) หากตรวจแล้วพบว่ามีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหลักของลมตามแนวเส้นประธานสิบ ก็ใช้การนวด (หน่วง เน้น นิ่ง) มาบำบัดรักษาตามความเชี่ยวชาญของแพทย์ว่าจะนวดบำบัดแบบราชสำนัก หรือเชลยศักดิ์ มาแก้อาการหรือแก้การติดขัดทางโคจรของลม ซึ่งไม่พาดบนกระดูกหรือกล้ามเนื้อ แต่ทอดไปตามร่องระหว่างกระดูกและกล้ามเนื้อจากกลางท้อง(ใกล้ๆสะดือ/แนวเส้นเลือดใหญ่กลางตัว) แนวร่องดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเส้นเลือดเข้าหัวใจ (Vein) หลอดน้ำเหลือง (Lymphatic vessel) เส้นเลือดออกจากหัวใจ (Artery) เส้นประสาท (Nerve) เรียงจากนอกเข้าใน(ตื้นมาลึกตาม VAN) ชื่อเหมือนกัน เช่น Femeral vein, Femeral artery, Femeral nerve ที่แยกจากกลางตัว (Aorta, Inferior venacava, Spinal cordส่วนเอว) ไปยังขาทั้งสองข้าง หรือ Brachial vein, Brachial artery, Brachial nerve ที่แยกจากกลางตัวส่วนบน(Aorta, Superior venacava, Spinal cordส่วนคอ) ไปยังแขนทั้งสองข้าง ทั้งที่สองแขน/สองขา คือเส้นประธานสิบที่ชื่อ กาลทารี เป็นต้น จึงเข้าใจได้ว่า เส้นประธานสิบ คือแนวการไหลเวียนของเลือดลม ที่เป็นทางเดิน/ทางโคจร(ลม)หลักของกระแสเลือด (ธาตุน้ำ) กระแสประสาท (วาตะ) กระแสความร้อน (ธาตุไฟ) กระแสน้ำเหลือง(ธาตุน้ำ) ไปเลี้ยงอวัยวะที่คงสภาพ (ธาตุดิน)ในตำแหน่งต่างๆของร่างกาย คำว่า “ลม” จึงหมายถึง การไหลเวียน ทางโคจร หรือ ของที่มีคุณสมบัติเคลื่อนที่ได้ค่อนข้างอิสระ (Movement) เช่น ก๊าซ (Gas) ขณะที่ธาตุลมในร่างกายคือ ฉกาลวาโยธาตุ เป็นสิ่งเดียวกันเพียงแต่จำแนกตามทิศทางและที่อยู่ออกเป็น 6 กลุ่ม คือ ลมพัดขึ้น ลมพัดลง ลมพัดทั่วกาย ลมในไส้ ลมนอกไส้ ลมหายใจ
พิเชฐ บัญญัติ, พ.บ., พท.บ.
เลขาธิการสมาคมเวชกรรมไทย
บรรยายปรัชญาการแพทย์แผนไทย 
อนุปริญญาการแพทย์แผนไทย รุ่น 9 วชช.ตาก 
3/11/2561

หมายเลขบันทึก: 659856เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท