วอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย : ไม่มีสิ่งใดไม่เปลี่ยนแปลง


..

๑.

ผลการแข่งขันวอลเล่ย์บอลรายการ Nations League 2019 นัดที่ ๘ สนามที่ ๓

ไทย แพ้ โดมินิกัน ๒ : ๓ เซต คือ ๒๙ - ๓๑, ๒๕ - ๑๓, ๒๘ - ๓๐, ๒๕ - ๒๐ และ ๑๔ - ๑๖

การแข่งขันโดยรวม ไทยสู้สุดใจเท่าที่ศักยภาพของทีมจะมีแล้ว เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

..

..

๒.

กีฬาหลัก ๆ ที่ผมจะติดตามดูตั้งแต่เด็ก ๆ มี ฟุตบอล, มวยไทยสากล และวอลเล่ย์บอล โดยเฉพาะทีมหญิง
จำได้ว่า วอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย เริ่มดูตั้งแต่รุ่นของปริม อินทวงศ์ มือเซตสิงห์อีซ้ายอัจฉริยะของไทย
จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ก็พอจะดูเป็นบ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งเหมือนคนที่เรียนและข้องเกี่ยวกันโดยตรงหรอก

ดังนั้น อยากจะลองเขียนคำวิเคราะห์ของตัวเองลงไปในบันทึกนี้ เพื่อทดสอบสมองของตัวเองดู

..

..

๓.

เมื่อปีที่แล้ว ไทยประสบปัญหานักกีฬาบาดเจ็บในการแข่งขันในทุก ๆ เกม ทำให้มีนักกีฬาหลายคนต้องแบกทีมทีละคน ๆ จนหมดศักยภาพในท้ายที่สุด จนถึงตอนนี้นักกีฬาที่เป็นตัวหลักของทีมชาติไทยของเราก็ยังเจ็บและพักรักษาตัวอยู่ เช่น ทัดดาว, น้องบีม พิมพิชญา, ชมพู่ พรพรรณ, น้องเตย หัทยา ฯลฯ

พอเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ในปีนี้ โค้ชจึงพยายามเซฟตัวนักกีฬาให้มากที่สุด โดยเฉพาะต้องให้ไปถึงทัวร์นาเม้นท์สำคัญ คือ การคัดไปเล่นโอลิมปิค ซึ่งเป็นความฝันของนักกีฬารุ่นพี่หลายคนที่กำลังจะรีไทร์ในเร็ว ๆ นี้ อยากไปโอลิมปิคสักครั้ง

เรียกตัวนักกีฬาใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาดูฟอร์มและให้มาทำความเข้าใจระบบที่โค้ชเขาจะวางเอาไว้เล่นตอนโอลิมปิค ดังนั้นจึงมีนักกีฬาหน้าใหม่ ๆ เข้ามาติดเพิ่มอีกหลายคน หลายคนฟอร์มดี แต่หลายคนยังต้องพัฒนาอีกเยอะ

ปีนี้เราแข่งขันทัวร์นาเม้นท์มองเทอร์ฯ ที่สวิสเซอร์แลนด์ แล้วตามด้วย Nations League 2019 เข้ามาสู่เกมที่ ๘ สนามที่ ๓ แล้ว

..

..

๔.

ลองวิเคราะห์ฟอร์มของคนที่พอจะจำได้ ดังนี้

คนที่เล่นได้มาตรฐานและคงเส้นคงวามากที่สุด คือ ซาร่า นุศรา และหน่อง ปลื้มจิต เป็นรุ่นพี่หลักที่ทำหน้าที่ประคองทีม ประคองน้อง ๆ ในทุก ๆ เกม ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีที่สุด มีความผิดพลาดในการเล่นน้อยที่สุดในทุก ๆ เกมที่ลงเล่น จะเรียกว่า แบกทีมก็พอได้

..

ซาร่า นุศรา ต้อมคำ

ซึ่งโค้ชคงกำลังจะหาตัวแทนของมือเซต อย่างนุศรา ให้ได้ เช่น กุลภา ได้รับโอกาสในปีนี้ หรือ มีชมพู่ พรพรรณ ที่ยังเจ็บอยู่ หรือผมคิดว่า โสรยา ผมคิดว่า โสรยา มีการเซตที่คล้ายนุศรามากที่สุด แต่น่าจะเจ็บ ฟอร์มยังไม่ดี เพราะไม่เห็นโค้ชเรียกเลยปีนี้

แต่ก็ยังไม่มีถึงนุศราสักคน ก็ไม่แปลกที่นุศรายังต้องแบกทีมต่อไป

..

หน่อง ปลื้มจิต ถินขาว

ตำแหน่ง Middle Blocker คนสูงที่สุด คอยป้องกันการรุกของคู่ต่อสู้โดยการบล็อก และโจมตีด้วยลูกเร็ว มีหลายคนที่น่าจะช่วยหน่องได้ แค่ปีนี้เจ็บหมด เช่น ทัดดาว หรือ เตย หัตยา ทำให้โค้ชต้องลงเรียกคนใหม่มาแทน ได้แก่ ทิชากร, อัมพร (๑ ใน ๗ เซียนที่อำลาทีมชาติไปแล้ว), ชิตพร, วัชรียา เป็นต้น

..

โดยโค้ชกำลังทดลองทิชากร ซึ่งน้องยังอายุแค่ ๑๗ ปี ยังเด็กมากที่จะควบคุมสติและอารมณ์ให้ได้ดี รูปร่างดีมาก แต่ก็ยังช้าในหลายจังหวะ บล็อกได้น้อย และตบลูกเร็วก็น้อย ไม่เฉียบขาด โค้ชมักจะให้ลงเซตแรกเสมอ เพื่อสร้างประสบการณ์

..

ส่วนอัมพร หญ้าผา ๑ ใน ๗ เซียน ที่มีอาการบาดเจ็บจนต้องอำลาทีมชาติ แต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่ก็มีแฟน ๆ คิดถึงกันมากมายจนต้องกลับมาเล่นทีมชาติอีกครั้งหนึ่ง เข้ามาช่วยหน่องอีกคน ด้วยประสบการณ์ต้องยอมรับเลยว่า นิ่ง สงบ กว่าผู้เล่นอายุน้อย ๆ มาก แต่ด้วยความเรื้อการเล่นระดับชาติมานาน ทำให้จังหวะหลาย ๆ จังหวะดูช้า เงอะงะ ไม่ทันเกม การเสริฟก็จะมาเสียในจังหวะสำคัญอยู่บ่อย ๆ ลูกที่เก่งมากเมื่อเข้าจังหวะ คือ ลูกไหลหลัง แต่ Passion หรือความมุ่งมั่นในการเล่นถือว่า ยังน้อย แต่นั่นก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ เพราะความรู้สึกนั้นมันหมดตั้งแต่ตัดสินใจเลิกเล่นทีมชาติ เขาตัดสินใจไม่เล่นไปตั้งนานแล้ว จะให้กลับมาด้วยความรู้สึกเต็มเปี่ยม ก็น่าจะไม่เหมือนเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่กลับมาน่าจะมาช่วยประคองน้อง ๆ รุ่นใหม่ให้ก้าวต่อไปนั่นแหละ

..

ส่วน ชิตพร และ วัชรียา ยังต้องพัฒนาต่อไป และยังได้รับโอกาสในการลงสนามค่อนข้างน้อย

..

มือตบที่ต้องแบกทีมในปีนี้ มี บุ๋มบิ๋ม ชัชชุอร โมกศรี และเพียว อัจฉราพร คงยศ

๒ คนนี้ คือ มือตบที่จะมาทดแทนรุ่นพี่ บุ๋มบิ๋ม ได้ไปเล่นอาชีพที่ญี่ปุ่น เพียว ได้เป็นเล่นอาชีพที่อินโดนีเซีย

บุ๋มบิ๋มติดทีมชาติตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ปัจจุบันอายุ ๑๙ ปีแล้ว โค้ชอ๊อดเป็นคนเรียกมาติดทีมชาติ
เรียกว่า ด้วยประสบการณ์ ๕ ปี กับทีมชาติ บุ๋มบิ๋มนี่แหละ พัฒนาการเร็วที่สุด

บุ๋มบิ่ม คือ คนที่คู่ต่อสู้จะเสริฟใส่มากที่สุด เมื่อหลายปีก่อนรับเสริฟแรกหลุดเยอะ แต่ปีนี้พลาดนับครั้งได้
นั่นแปลว่า มีพัฒนาการมากขึ้น แล้วเวลาทำแต้มก็ค่อนข้างคม หลากหลาย แต่ก็มีบ้างที่เจอบล็อกใหญ่แล้วติดทุกทีก็มี
ส่วนการเสริฟ ถือว่า พัฒนามาอีกระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อ เพราะบางนัดก็หลุดไปเหมือนกัน
เวลาเล่นไม่ได้ โค้ชมักจะเปลี่ยนออกเพื่อเอาบุ๋มบิ๋มมาพักก่อน มีสติแล้วค่อยลุยใหม่ รอน้องพัฒนาต่อไป

เพียว คือ คนทำ Tops Score มาหลายปีของทีมชาติไทย ตบคม ตบฉลาด แต่ก็มีสติหลุดบ้าง ตบไม่ได้จนต้องเปลี่ยนออกมาก็มีเหมือนกัน การบล็อกปีนี้ก็พัฒนาขึ้นมาก แต่การเสริฟ ชอบเสริฟลูกวิถีโค้ง คู่ต่อสู้มักรับง่ายกว่าลูกเลียดเน็ต แต่ก็คงเป็นสไตล์กระมัง

เพียว เป็น The แบก เสมอ แบกจนผมสงสารมาก ใครจะไปตบกันตลอดทุกวันขนาดนั้น มันต้องมีคนเปลี่ยนบ้าง

..

ใครล่ะที่เหลืออยู่ตอนนี้ รุ่นพี่ไง อรอุมา กับ มลิกา

มลิกา เป็นมือตบที่น่าจะฉลาดที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย มีผ่อนหนัก ผ่อนเบา ตีแก้มักจะได้แต้มเสมอ ลูกเสริฟที่ต้องเป่ามนต์ก่อนเสริฟ ซึ่งบางเกม เสริฟดีเอามาก ๆ แต่บางเกมก็หลุดกระจุยกระจาย คือ เสริฟออกไปซะอย่างนั้นก็บ่อย และด้วยโรคประจำตัวของมลิกาเป็นไทรอยด์ มลิกาจะเหนื่อยง่าย คือ เห็นใจมาก ๆ บางทีบางลูกที่ Rally กันนาน ๆ มลิกาหอบมากกว่าคนอื่น

โค้ชต้องเลือกให้มลิกาเป็นช่วง ๆ ไป ถ้าให้เล่นไปทุกเซตจะไม่ไหว มลิกา คือ คีย์แมนสำคัญของการเปลี่ยนเกม

อรอุมา คือ มือตบอันดับหนึ่งในตำนาน ก่อนอรอุมา คือ ๑ ใน ๗ เซียนที่ทุกคนฝากผีฝากไข้ได้เสมอ ด้วยประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำมาตลอดชีวิต แต่หลังจากที่อรอุมาเจ็บพักไปเป็นปี ฟอร์มเดิม ๆ มันก็ไม่ได้กลับมาด้วย เหมือนนักฟุตบอลที่ก่อนเจ็บเล่นดีมาก ๆ แต่พอเจ็บ แล้วหายกลับมามันมีอาการแหยง ๆ จนเล่นได้ไม่ดี

จำได้ว่า ปีที่แล้วบางนัด อรอุมา แบกทีมเลย แต่ปีนี้ยังไม่มา การตบหนัก ๆ ระดับโลก การตบที่เฉียบขาด มีให้เห็นน้อยมาก ส่วนใหญ่เหมือนเคาะให้คู่ต่อสู้กับมาตบเราคืน หรือก็โชคร้ายที่มักจะรับบอลเสียทำให้ทีมแพ้ไปเลยก็มีหลายนัด

ผมเชื่อว่า ในใจลึก ๆ อรอุมาอยากทำให้มันเหมือนเดิม เหมือนที่ใจคิด แต่ร่างกายที่ถดถอยกลับไม่ตอบสนองความคิดนั้น ๆ ทำให้ฟอร์มเป็นอย่างที่เราเห็นกัน

โค้ชเองคงต้องการใช้ประสบการณ์ของอรอุมามาช่วยทีม แต่บางทีโอกาสนั้นมันก็ไม่ได้แสดงให้เห็น อีกอย่างมันเป็นการตอบแทนการรับใช้ทีมชาติของอรอุมาด้วย อยากให้อรอุมาไปโอลิมปิกด้วยกัน

ดังนั้น ทั้งมลิกา ทั้งอรอุมา น่าจะสามารถประคองน้อง ๆ ในทีมได้ แต่โค้ชต้องเลือกจังหวะในการเปลี่ยนลงไปให้ดีเท่านั้นเอง

ถ้าจังหวะสำคัญมาก ๆ ต้องคิดให้ดีก่อน เพราะหลัง ๆ เสียมากกว่าได้

..

ส่วน ลิโบโร่ หรือ ตัวรับอิสระ

มือหนึ่งที่โค้ชเชื่อมั่น คือ ปิยะนุช แป้นน้อย และในช่วงมองเทอร์ฯ โค้ชเลือก ฑิฆัมพร ไปด้วย

ปิยะนุช คือ ตัวตายตัวแทนของวรรณา บัวแก้ว ๑ ใน ๗ เซียน ที่รีไทร์ออกมาเป็นโค้ชแล้ว

ปีที่แล้วเล่นดีมาก รับบอลแรกดี ทำให้ทีมสามารถรุกต่อได้ อีกทั้งยังรับลูกตบหนักได้ดีอีก
บางเกมสามารถทำแต้มได้ด้วย

ปีนี้ มีแฟนวอลเล่ย์บอลหลายคนบอกว่า ปิยะนุช ช้าลง ไม่ค่อยทุ่มเท แต่ผมก็รู้สึกเฉย ๆ
ผมว่า ปิยะนุช เล่นดีอยู่

ส่วน ฑิฆัมพร ผมว่า เธอยังขาดประสบการณ์ระดับชาติ ทำให้การรับลูก การคาดการณ์มักจะช้ากว่าคู่ต่อสู้อยู่บ่อยครั้ง
ต้องเพิ่มประสบการณ์เข้าไปอีก

แต่ที่ผมชอบอีกคนที่โค้ชเรียกมา คือ สุพัตรา ไพโรจน์ ตัวเล็ก น่ารัก ทุ่มเท วิ่งทุกลูก
แต่หลายเกมที่สุพัตราช่วยขุดลูกยาก ๆ ขึ้นมาได้

บางเกม สุพัตรา เล่นดีกว่า ปิยะนุช ก็มี

อีกคนที่หลายคนอยากให้มาเป็นลิโบโร่ คือ บะหมี่ ฐาปไพพรรณ อดีตเคยเป็นมือตบตัวเล็ก เคยเล่นลิโบ่โร่ เสริฟดี รับเหนียว
แต่โค้ชยังไม่ได้เรียกในปีนี้

..

คนสุดท้ายที่คิดถึงเลย กัปตันกิ๊ฟ วิลาวัลย์ ที่โค้ชให้พักไป ๓ สนาม เพิ่งเรียกมาเล่นในสนามในบ้านเราเอง

ได้ลงมาตอนทีมมีปัญหา และตอนที่ Passion มันกำลังเสีย เป็นคนที่ทำให้ทุกคนในทีมรวมใจกันมาก ๆ

เนื่องจากปีนี้ไม่ค่อยได้ลง ทำให้มีจังหวะที่เสียบ้าง หรือตบทำคะแนนน้อยบ้าง แต่สิ่งที่กัปตันกิ๊ฟ คือ ขวัญใจคนไทย

คือ ความทุ่มเท อันนี้ยอมใจได้เลย

กัปตันกิ๊ฟยังคงสามารถมาประคองน้อง ๆ ต่อไปได้

..

..

๕.

สำหรับโค้ชด่วน โค้ชคงมีแท็กติกเป็นของตัวเองมากมาย และเป้าหมายปีนี้คือ โอลิมปิกที่ญี่ปุ่น
โอลิมปิกที่ไทยเกือบจะได้ไป แล้วก็เกิดกรณีฮั้วกันก่อน

ดังนั้น การถนอมตัวนักกีฬา การพยายามปรับวิธีการเล่น เป็นปรัชญาของโค้ชด่วนในปีนี้

ช่วง มองเทอร์ฯ พยายามใช้บอลโครงสร้าง คือ ตีหัวเสา ไม่ยอมแสดงบอลสูตรออกไป
เพราะกลัวว่า โปแลนด์จับได้ เนื่องจากจะอยู่สายเดียวในการคัดโอลิมปิก

อีกอย่าง คือ การต้องให้ผู้เล่นทำความเข้าใจในบอลโครงสร้างใหม่ ๆ ก่อน

นั่นเป็นเหตุผลว่า แพ้ แต่ได้ลองทีม ลองผู้เล่นใหม่ ๆ โค้ชเขาว่างั้นนะ

พอเข้าสู่ Nations League 2019 เราก็มีปรัชญาใหม่ คือ

"ชนะให้ได้ ๑ เกม ต่อ ๑ สนาม" 

ซึ่งหมายถึง แพ้ได้ ๒ เกม ใน ๓ เกม

ผมคิดว่า ข้อดีของปรัชญานี้คือ เราจะได้ถนอมตัวนักกีฬา ไม่ให้เจ็บก่อนคัดโอลิมปิก
สามารถลองสูตรบอล สามารถลองผู้เล่นใหม่ได้

แต่ข้อบกพร่อง คือ เราจะเล่นจริงจัง ๑ นัด และไม่จริงจัง ๒ นัด

บางทีก็รู้สึกว่า ธงไตรรงค์อยู่ที่อกเสื้อ แต่เล่นแบบนั้น มันก็ยังไง ๆ อยู่
อีกทั้งศรัทธาแฟนวอลเล่ย์บอลอีกล่ะ

ไปเห็นทีมอื่นเล่น เช่น ญี่ปุ่น บอกเลยว่า ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น จริงจังทุกนัด
ช่วยกันเล่น เหนียว สู้ ไม่กลัว แพ้ก็แพ้ ชนะก็ชนะ เพราะเล่นเต็มที่แล้ว

ปรัชญามันเหมือนดาบสองคม

อีกประเด็น จังหวะการเปลี่ยนตัว 

อันนี้เป็นเรื่องที่พูดกันเยอะ บางทีก็ถูกจังหวะ บางทีก็พลาดกันบ้าง

นักกีฬาที่เล่นผิดพลาดเกิน ๒ ครั้ง ยังไม่ให้ออกมาพักก่อน
แล้วมันก็มีผลกับการเสียแต้ม เสียเซตก็มี

หรือนักกีฬาสำรองที่ขนไปทดสอบ ก็ไม่ได้ลง
ก็ไม่เปลี่ยนเขาไปลองดูสักแต้มบ้าง

อย่าให้เขาเสียกำลังใจเลย

..

..

๖.

ไม่ว่าจะอย่างไร เชื่อเถอะ คนไทยก็คือคนไทย

ยังไงก็ยังรักวอลเล่ย์บอลหญิงไทยเสมอ

บางคนอาจจะบ่นบ้าง บางคนอาจจะไม่พอใจ

แต่ ...

เขาก็ยังรักทีมชาติของเขาเหมือนกัน

บทวิเคราะห์นี้ คือ หลังเกมกับโดมิกัน

แต่ต่อไปหลังจากนี้ ก็ยังคงมีพัฒนาการกันต่อไป

ถึงตรงนั้น บทวิเคราะห์นี้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

ไม่มีสิ่งใด ไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่เว้นแม้แต่ทีมชาติไทย

..

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...

..

หมายเลขบันทึก: 661930เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2019 01:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2019 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แฟนพันธ์แท้ วอลเล่ย์บอลทีมชาติไทยตัวจริงเสียงจริง

วันนี้แพ้ตุรกีด้วยควาามเหนื่อยล้าจากเมื่อวานครับ

เศร้าเลย เล่นไม่สนุก ;)…

แวะไปดู จีน เล่นกับ อิตาลี

จีน สู้ยิบตามาก ตามอยู่ ๒ เซต แต่กลับพลิกกลับมาชนะ ๓ - ๒ เซต

แบบน่านับถือหัวใจมาก ๆ ;)…

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท