ขอโทษแล้วทำไมไม่หายโกรธ?


เคยไหมที่เราขอโทษแล้ว แต่เขายังโกรธเราอยู่?

การขอโทษที่เหมาะสมควรทำอย่างไร?

ที่จริงมีหลายประเด็นที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนเอ่ยคำขอโทษ

ข้อแรกคือ “ขอโทษทำไม?” ถ้าเราจะขอโทษเพื่อให้ “ตัวเอง” รู้สึกดี หรือขอโทษเพราะเสียใจและสำนึกผิด สองด้านนี้ไม่เคยมาพร้อมกันครับ ถ้าเราจะขอโทษเพียงเพื่อให้ตัวเอง อันนี้ไม่ต้องทำก็ได้ครับเพราะมันไม่มีราคา เสียเวลาทั้งสองฝ่าย

ข้อต่อมาคือ “ขอโทษที่ไหน?” (อันนี้ไม่มีในบทความไหน แต่จากประสบการณ์ตัวเองและคนรอบข้าง) การขอโทษไม่เลือกที่ มีแต่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม เคยเห็นคนขอโทษผ่านการส่งข้อความทางโทรศัพท์ ทางโซเชียลมีเดีย อะไรแบบนี้ ถ้าจำเป็นจะต้องขอโทษทางไกลจริงๆ ใช้ app ที่มันเห็นหน้าเถอะครับ เพราะสีหน้าในการขอโทษสำคัญพอๆ กับถ้อยคำน้ำเสียง

ที่เคยเห็นอีกคือการ “ฝากขอโทษ” ซึ่งไม่ได้เข้าเกณฑ์ว่าเป็นการขอโทษด้วยซ้ำ นับเป็นการกระทำของคนไร้มารยาท ขาดความเคารพผู้ถูกกระทำ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเราควรพยายามอย่างที่สุดที่จะขอโทษในสถานที่ที่มีความเป็นส่วนตัว และมีเพียงสองฝ่ายคือ “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” เท่านั้น*

ข้อสุดท้ายคือ “ขอโทษยังไง?” ข้อนี้คือการเตรียมคำขอโทษ วิธีการขอโทษ แม้จะสำนึกผิด ถ้าพูดไม่ดีก็ไม่มีความหมาย ดังนั้น คำพูดที่ส่งให้ผู้ถูกกระทำต้องไม่ฟังแล้วเหมือน “คำแก้ตัว” ถ้าเราพูดว่า

“ขอโทษเพราะเธอมาทำแบบนี้ก่อน”
“ขอโทษที่เธอรู้สึกแบบนี้”

มันเป็นการผลักความผิดไปให้ผู้รับ เพราะการอ้างว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำก่อนหรืออ้างว่าเขารู้สึกไม่ดีด้วยตัวเองก็เท่ากับเราไม่ได้รู้สึกผิด นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังอาจเพิ่มความโกรธ กลายเป็นความแค้นฝังหุ่นไปเลย

คำขอโทษที่ดี ต้องระบุว่า “เรา” คือต้นเหตุ และ “เขา” คือเหยื่อจากการกระทำของเรา เราไม่สามารถจะอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้เลยถ้าเราไม่เข้าใจว่าเหยื่อของเรารู้สึกอย่างไร เราต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าใจเหยื่อและอธิบายความรู้สึกของเขา เช่น

“ที่เราว่าเธอต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ทำให้เธออายและโกรธ”

“ที่เราตะโกนว่าให้ไปโทษผู้จัดการคนก่อนต่อหน้าการแถลงข่าว ทำให้พนักงานผิดหวัง หมดความเชื่อมั่นในตัวผู้บริหาร”

แบบนี้คือการระบุว่าเราทำผิดและเขารู้สึกอย่างไร เมื่อทำสองสิ่งนี้แล้วให้หยุดแค่นั้น อย่าพยายามอธิบายต่อว่า “ทำไม” ถึงทำไป คือไม่ควรจะบอกว่า

“เพราะเธอทำงานพลาดซ้ำๆ หลายหน”
“เพราะผมทำงานหลายอย่าง มีเครียดบ้าง มีพลาดบ้าง เลยหลุดปาก”

อธิบายแบบนี้มันเหมือนลูบหลังแล้วมาตบหัวครับ ไม่ได้ช่วยรักษาความรู้สึกที่มันเสียไปแล้วได้เลย

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่การขอโทษ หรือขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นเลย เมื่อขอโทษแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำคือให้คำมั่นสัญญาว่า “ต่อไปจะทำอย่างไร?” เพราะการกระทำนั้นมีน้ำหนักกว่าคำพูดมาก คิดมาเลยว่าจะแก้ไขและเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร ถ้าไม่มีการระบุเรื่องนี้ คำขอโทษของคุณก็เป็นเพียงลมปาก ให้พูดเลยว่า

“ต่อไปชั้นจะระวังคำพูดมากกว่านี้ จะไม่ว่าเธอด้วยถ้อยคำรุนแรง และจะตักเตือนเป็นการส่วนตัวเท่านั้น”
“ต่อไปผมจะชี้แจงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมารับฟัง และพร้อมที่จะรับผิดชอบการกระทำ โดยจะไม่โทษทีมผู้บริหารในอดีตอย่างเด็ดขาด”

แบบนี้คือการให้คำสัญญา และยากกว่านั้นคือการ “ทำตามสัญญา”

ดังนั้น ถ้าอยากรักษาสายสัมพันธ์ มิตรภาพที่สำคัญในชีวิต คิดไว้เสมอว่ามันไม่ได้ง่าย ไม่ใช่สักแต่พูดขอโทษ เพราะมันมีภาระความรับผิดชอบที่ตามมากับคำพูดเสมอ

หมายเหตุ

* ขนาดเรื่องระดับชาติอย่างการขอโทษต่อเชลยสงครามเขายังทำในที่ลับ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนและรัฐบาลญี่ปุ่นพยายาม “ขอโทษ” เหยื่อความโหดร้ายในช่วงสงครามโลกหลายต่อหลายครั้ง และมันไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร มีการขอโทษครั้งเดียวที่ถือว่า “ผ่าน” คือการขอโทษของ Mitsubishi Corporation ต่อการกระทำเชลยสงครามที่ทำงานในเหมืองของบริษัท (ซึ่งถูกทำทารุณสาหัส) การขอโทษครั้งนี้ทำขึ้นในห้องเล็กๆ ระหว่างผู้บริหารระดับสูง และกลุ่มนักโทษที่รอดชีวิตและญาติ กับล่ามอีกหนึ่งคนแค่นั้นครับ ไม่มีนักข่าว ไม่มีกล้องทีวี ผู้บริหารกล่าวขอโทษด้วยถ้อยคำที่เลือกมาอย่างระมัดระวัง และจบด้วยการโค้งลงถึงระดับเอวเป็นเวลา 14 วินาที เสร็จแล้วถึงออกมาแถลงข่าวกันข้างนอก

อ้างอิง

คำสำคัญ (Tags): #ขอโทษ#Mitsubishi
หมายเลขบันทึก: 662073เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2019 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2019 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท