สังโยชน์ กระบวนการของนิวรณ์ และโพชฌงค์


สังโยชน์ กระบวนการของนิวรณ์ และโพขฌงค์ ๗

?

สังโยชน์คือการผูก ผูกจิตไว้กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ฯลฯ เพราะสังโยชน์ จึงมีการแสดงออกออกมาเป็นนิวรณ์

สังโยชน์รู้ได้ยากกว่านิวรณ์ เพราะเป็นธรรมที่ละเอียดกว่า จึงได้ตรัสโพชฌงค์ ๗ อันหมายถึงญาณในการรู้เพื่อละสังโยชน์ เพราะการจะรู้สังโยชน์ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาจึงได้ปัญญาที่รู้ยิ่งและรู้วิธีละสังโยชน์ได้

การปฏิบัติโพชฌงค์ตั้งต้นด้วยสติ คือ เท่ากับมีสติเป็นผู้เสนอให้กำหนดพิจารณา อันเป็นเหตุให้ปัญญาได้มีโอกาสพัฒนา

แต่ถ้าสติเสนอบกพร่อง หรือเสนอผิด ก็ไม่เกิดปัญญาในทางที่ถูก เกิดการรู้ผิด เป็นมิจฉาสติ และปัญญาที่รู้ผิดก็เป็นมิจฉาปัญญาตามไปด้วย

ซึ่งองค์ของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประกอบด้วย สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

ตรัสแสดงโพชฌงค์ว่าสามารถใช้ได้เป็น ๒ ฐานะ ฐานะหนึ่งคือการปฏิบัติที่ปฏิบัติต่อจากสติปัฏฐาน อีกฐานะหนึ่งทรงแสดงอย่างจำเพาะที่ใช้ประกอบการทำกรรมฐานทุกประเภท

เช่น เมื่อเจริญพรหมวิหาร ๔ ก็ตรัสว่าอบรมโพชฌงค์แต่ละองค์ (เช่น อบรมสติสัมโพชฌงค์)ประกอบด้วยองค์ธรรมองค์ในองค์หนึ่งในหลักพรหมวิหาร (เช่น เมตตา) เป็นต้น

จึงหมายความว่าในการปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อ ต้องปฏิบัติด้วยกรรมวิธีไปตามองค์ของโพชฌงค์เสมอ จึงจะทำให้เกิดปัญญาพาพ้นทุกข์ในใจ พ้นจากนิวรณ์อันทำให้จิตกระวนกระวาย เป็นทุกข์ได้

ซึ่งการแสดงออกของนิวรณ์นั้น เริ่มจากใจ แล้วจึงแสดงออกทางกายวาจา คือ

เริ่มจากความชอบใจจนยึดถือมั่น (กามฉันท์)

หรือเมื่อไม่ได้อย่างที่ชอบใจ ก็ขัดเคือง (พยาบาท)

แล้วเคลิบเคลิ้ม หลงใหลในอารมณ์ทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจนั้น (ถีนมิทธะ)

จนคิดฟุ้งซ่านไปตามความชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้นๆ (อุทธัจจะ)

ไปในทางคะนอง คือ เห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ เห็นสิ่งที่ควรว่าไม่ควร เห็นสิ่งที่ไม่ควรว่าควร (กุกกุจจะ) จนอาจแสดงออกเป็นการกระทำทางกาย วาจา

เมื่อการกระทำส่งผลที่นำไปสู่ทุกข์ ก็เกิดความลังเลสงสัยไปในทางต่างๆ เช่น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรจึงจะได้อย่างนั้น ทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ควรทำอย่างไรต่อไป เป็นต้น (วิจิกิจฉา)

เมื่อมีการกระทำทั้งทางกาย วาจา ใจ อยู่อย่างนี้ จึงไม่สามารถเป็นสมาธิ คือสงบจากอกุศลธรรมได้

การปฏิบัตตามหลักโพชฌงค์ จึงทำให้ค่อยๆเข้าใจความเป็นไป ค่อยๆแก้ไขโดยอาศัยความเป็นจริงในปัจจุบัน แก้ไขอย่างสอดคล้องกับสภาพเกิดดับ ที่ยึดไว้เป็นตนถาวรไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย

จึงจะค่อยๆคลายความยึดถือมั่น เพียงยึดปัจจัยใดๆเพื่อการกระทำอย่างใดอย่าวหนึ่งเท่านั้น ครั้นสำเร็จ ก็วางการยึดลง เห็นผลที่ตรงกับเหตุ

สมดังที่ตรัสอนุมานว่า เมื่อใช้แพพาตัวข้ามแม่น้ำ พอถึงฝั่ง ขึ้นบกได้แล้ว ก็ควรทิ้งแพไว้ที่ตลิ่ง เดินตัวเปล่าขึ้นบกไป จะแบกแพไปกับตัวให้หนักทำไม

?

ตัวอย่างของปัญญาที่เสนอผิดก็เช่น เห็นว่า เมื่อปฏิบัติธรรม ต้องไม่ใส่ใจร่างกาย เพราะเป็นการหลงรูป

อย่างนี้เรียกเหตุและผลไม่ตรงกัน เพราะเมื่อสร้างเหตุปัจจัยให้ร่างกายแข็งแรง ร่างกายก็แข็งแรง ส่วนการหลงรูปกาย เป็นอีกผลหนึ่ง ที่เกิดจากเหตุคือการยึดมั่นในความงาม ไม่ได้มาจากเหตุคือการสร้างความแข็งแรงแต่อย่างใด

ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นจึงต้องอาศัยสติคว้าสิ่งที่ต้องการพิจารณาไว้(สติสัมโพขฌงค์)

ใช้การพิจารณาแยกแยะ(ธัมวิจยสัมโพชฌงค์)

ทำซ้ำๆจนกว่าจะเข้าใจ (วิริยะสัมโพชฌงค์)

พอเจ้าใจจึงเกิดปีติที่เห็นธรรม(ปีติสัมโพชฌงค์)

จึงสงบ(ปัสสัทธิสัมโพขฌงค์)

จิตจึงเป็นสมาธิ คือเห็นเสมอในที่ทั้งปวง(สมาธิสัมโพชฌงค์)

และปล่อยวางได้ (อุเบกขาสัมโพชฌงค์)ในที่สุด

เมื่อปล่อยวางได้ แม้ไม่หวังว่าจะหลุดพ้น ก็หลุดพ้นไปเอง สมดังที่ตรัสว่า โพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์ วิชชา วิมุตติ ก็สมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 663187เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2019 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2019 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

… ความแจ้งในธรรม.. ที่ละเอียดอ่อน.. ขอบพระคุณ เจ้าค่ะ.. (ยายธี)​

ขอบพระคุณเช่นกันค่ะขอโทษด้วยค่ะมาตอบช้าไปนานมาก?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท