ตักบาตร


ตอนตักบาตร เมื่อฝาบาตรเปิด ผู้เขียนจดจ่อกับการตักข้าวและกับใส่บาตรพระสงฆ์ พนมมือไหว้ก่อนและหลัง เป็นอันเสร็จพิธี ไม่สนใจเรื่องอื่นใด ขณะนั้น จะมีแต่ความเงียบ ยกเว้นเสียงภาชนะจากเรา แต่เสียงจากพระสงฆ์ไม่มีเลย

              ย้อนคิด เมื่อยังเล็ก มีพระสงฆ์มาบิณฑบาตที่บ้านสวนแห่งนี้ แม่เป็นผู้สอน ให้ผู้เขียน "เฝ้ารอพระ" คือ นั่งมองจากหน้าต่าง เมื่อเห็นจีวรสีส้มของพระสงฆ์ ให้บอกแม่ ว่า "พระมากี่รูป"   แม่จะได้ตักข้าวสวยร้อนๆใส่ขันทองเหลือง เตรียมกับข้าวห่อใบตอง  แล้วผู้เขียนก็มาช่วยยกถาดภัตตาหาร  มาวางหน้าบ้าน ช่วยแม่ตักบาตร  คือ แม่ตักข้าวสวย และผู้เขียนใส่กับข้าวห่อใบตอง ถ้าเป็นแกงแบบถ้วย ต้องให้ผู้ใหญ่ใส่ปิ่นโตของพระ     เมื่อโตขึ้น ผู้เขียน ก็ช่วยจัดโต๊ะเตรียม และใส่บาตรเองผู้เดียว โดยแม่จะสอนว่า "อย่าตักข้าวมากหรือน้อยเกินไป และไม่หกตกเรี่ยราด ห้ามให้ร่างกายเราไปสัมผัสถูกพระสงฆ์โดยเด็ดขาด เพราะเราเป็นผู้หญิง"

              แม่ฝึกสอน ให้เรารู้จักการให้อย่างมีคุณค่า ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสนักบวชของศาสนาพุทธ ในยุคนั้น นิ่งสงบ ควรค่าการเลื่อมใสศรัทธา  

              เมื่อต้องจากบ้านสวน ไปศึกษาชั้นประถมศึกษา ที่ภูเก็ตซึ่งเป็นชุมชนเมือง ผู้เขียนอยู่บ้านยายซึ่งตักบาตรทุกวัน ตั้งแต่รุ่นทวด  จึงช่วย ยายตักบาตรทุกวันก่อนไปโรงเรียน     มีพระสงฆ์ มาบิณฑบาตที่หน้าบ้าน จำนวนมาก เกิน ๑๐ รูป ต่อวัน จากหลายๆวัด   ช่วงเข้าพรรษา เคยมีถึง ๓๐ รูป เพราะมีธุดงค์มาจากวัดทางภาคอีสาน และพระบวชใหม่     ยายจะมีกับข้าวสำรอง เช่น ไข่เค็ม กรณีกับข้าวใกล้หมด  ต้องรีบบอกยายเตรียมเพิ่ม 

              พระสงฆ์สายธุดงค์ (หลวงปู่มั่น) มารับบิณฑบาต ตั้งแต่เช้ามืด ฟ้ายังไม่สาง ก่อนหกโมงเช้า มาเงียบกริบ ยืนรอ นิ่งสงบ แรกๆ เราเตรียมแทบไม่ทัน  ตอนตักบาตร เมื่อฝาบาตรเปิด ผู้เขียนจดจ่อกับการตักข้าวและกับใส่บาตรพระสงฆ์ พนมมือไหว้ก่อนและหลัง เป็นอันเสร็จพิธี ไม่สนใจเรื่องอื่นใด ขณะนั้น จะมีแต่ความเงียบ ยกเว้นเสียงภาชนะจากเรา แต่เสียงจากพระสงฆ์ไม่มีเลย     

              ยามสาย พระสงฆ์วัดไกลจากบ้านยาย อาจมีอาหารเกือบเต็มบาตร  ต้องระมัดระวัง การตักบาตรไม่ให้ล้น เนื่องจากผู้เขียนเป็นเด็กประถม จึงได้รับขนมจากพระสงฆ์ผู้สูงอายุบ้าง   การตักบาตร ก็ทำให้ผู้เขียนฝึกเป็นผู้รับด้วย  เรื่องราวความประทับใจเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของ แรงศรัทธาในศาสนาพุทธของผู้เขียน  

              เมื่อต้องเข้าเมืองหลวง และย้ายไปต่างจังหวัดเพื่อทำงาน  ผู้เขียน ก็ได้สัมผัส อีกหลายแง่มุม ของการตักบาตร ที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และสังคม  

              ปัจจุบัน ผู้เขียนอยู่ที่บ้านสวนของแม่ ถ้าจะตักบาตร ต้องเดินทางออกไปตรงเส้นทาง ที่พระสงฆ์ผ่าน  ผู้คนนิยมซื้ออาหารใส่บาตรมากกว่าทำเอง  พระสงฆ์ก็ทำอาหารเอง มีไม่น้อย  

              วันหนึ่ง ผู้เขียนหิ้วปิ่นโต ไปถวายอาหารเพลพระสงฆ์  วัดแรก พระสงฆ์บอกว่า ฉันเช้ามื้อเดียว  ผู้เขียน จึงเดินทางไปอีกวัด  หาพระสงฆ์ยากมาก   ต่อมา มีพระสงฆ์ลงมารับปิ่นโต  ท่านบอกผู้เขียนว่า "เป็นพระบวชใหม่ ยังสวดไม่ได้"  ผู้เขียน ตอบว่า "ไม่เป็นไร เพียงรับทานนี้ไว้ ด้วยศีลอันบริสุทธิ์เพียงพอแล้ว "  หลังจากไว้พระพุทธฯแล้ว ท่านจึงรับปิ่นโตทั้งหมด และฉันอาหาร

การทำบุญ บริจาคทาน อันบริสุทธิ์ ในพุทธศาสนา สำหรับผู้เขียน ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงตอนนี้  นับว่า ยากยิ่งขึ้นทุกที แต่ก็ไม่ยากเกินกว่า ความตั้งใจ ...

               ศาสนาพุทธ ที่ระบุไว้ว่า ผู้เขียนนับถือนั้น   เริ่มแรก ได้รับ การสอน จากพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ และนักบวชในศาสนา ให้ฝึกปฏิบัติ  ต่อมา ผู้เขียน ก็ออกเดินทาง ค้นหาผู้รู้ ต่อยอด ฝึกปฏิบัติ อีกหลายๆเรื่อง คล้าย วิชาหนึ่งในระบบการศึกษา เราจึงรู้สึกสัมผัสได้ด้วยตนเองอย่างมีคุณค่า และเป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งพิสูจน์ได้  ศาสนา ที่พึ่งทางจิตใจของผู้เขียน...

หมายเลขบันทึก: 671438เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คิดถึง คุณแม่.. ตอนแกยังมีชีวิตอยู่.. ว่า.. แม้เพียง ไข่เจียวลูกนึงกับข้าวกำมือ.. นั้นถึงบาตรพระ.. ได้ทุกวันเป็นกิจวัตร.. เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่แก่แล้ว.. ไม่เคยทำได้… (ชอบอ้างว่า.. ไม่มีเวลา.. หรือนอนตื่นสาย.. จนเป็นความเคยตัว.. เคยชิน..)… เข้าข้างตน.. อยู่เสมอมา

ขอบคุณค่ะ

ตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว มิใช่เพียง สังคมเรา พุทธศาสนิกชน แม้แต่สังคมนักบวชในศาสนา ก็เปลี่ยนแปลงด้วย ดังนั้น ในโอกาสที่เหมาะสม เราได้มีโอกาส…ทำบุญ …หลากหลาย ก็นับว่า ไม่เลวแล้ว ในขณะที่ยุคเก่าๆ มีความเจริญทางจิตใจมากกว่าวัตถุ จึงมีโอกาสทำบุญสุนทาน และได้อานิสงน์ โดยง่าย

ขอแสดงความนับถือคุณลิขิต

จากผลสถิติ นำเสนอว่า ชาาวพุทธไทย ทำบุญ บริจาคทาน เพื่อ หวังโชคลาภ (หรือ ชดเชยค่านิยมการลักขโมย)

ผู้เขียนมองว่า คนไทยชอบความเสี่ยง ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา การฝึกสติปัญญาเป็นหนทางแห่งพุทธ

การไหว้พระ ทำบุญ โดยสม่ำเสมอ อาจทำให้โชคชะตาปรับเปลี่ยนในทางที่ดี ไม่ต้องรอ จนประสบเหตุแห่งทุกข์ แล้วค่อยไปทำบุญ เนื่องจาก เราต้องประสบ ทุกข์สุข เป็นเรื่องธรรมดา…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท