#คนแต้จิ๋ว​ คนจีนโพ้นทะเล​ (ตอนที่13)


ไข่เค็มกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่

          -----------------------

เฮียกวย​  ร้านปึงฮั่วกี่​ เล่าให้ฟังว่่า

เตี๋ยและแม่เป็นคนโผวเล้ง​  แซ่ปึง​ เดินทางมาจากเมืองจีนด้วยกัน​  ตั้งใจจะมาอยู่กับพี่ชาย​(อาแป๊ะ)​ ที่ค้าขายอยู่ที่ลพบุรี​ 

ร้านอาแป๊ะอยู่ใก้ลศาลพระกาฬ​  มีลิงเยอะมาก   อาแป๊ะมีภรรยาเป็นคนไทย​  ทำให้อาแป๊ะได้รับสัญชาติเป็นไทย​  ไม่มีบุตรด้วยกัน​  ตอนหลังภรรยาอาแป๊ะได้บวชเป็นแม่ชี

เตี่ยและแม่อยู่กับอาแป๊ะจนมีลูก​ 4  คน​ เฮียกวยเป็นลูกคนที่​ 3  พอเฮียกวยอายุได้​ 2 ขวบ​ครอบครัวก็ย้ายจากลพบุรีมาอยู่ที่ิอยุธยาตามคำประกาศของ​  จอมพล​  ป.​พิบูลย์สงคราม​  ที่ต้องการให้คนจีนย้ายออกจากบริเวณเขตทหาร

เตี่ยต้องพาครอบครัวออกจากลพบุรี​ นั่งเรือมาที่อยุธยา​  เช่าบ้านอยู่ริมคลองใหญ่​  จำได้แต่ว่ามีการแข่งเรือบนคลองนี้​

เตี่ยกับแม่ยึดอาชีพควั้นเชือกขาย​ เพื่อเลี้ยงครอบครัว​ ชีวิตตอนนั้นลำบากมาก​  อยู่ที่นี่ได้ลูกชายเพิ่มอีกคน

มีญาติที่ทำการค้าอยู่ที่แก่งคอย​ คือเจ้าของร้านเซียะกี่​ ชวนให้มาอยู่ด้วย​  เลยย้ายครอบครัวมา​อยู่ที่ร้านเซียะกี่​  ช่วยงานอยู่ที่ร้านได้​ 1 ปี​  ก็แยกตัวมาเปิดร้านค้าที่หัวมุมตลาด​  เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว​  ขายของกิน​  ข้าวสาร​  ไข่​  ไข่เค็ม​  ปลาร้า​ ​ เกลือ​  หม้อดิน​ กระเทียม​ ฯลฯ​ ร้านอยู่ติดกับโรงฆ่าหมู

สินค้าส่วนใหญ่ส่งมาทางเรือ​  ข้าวสาร ปลาร้า​  เกลือ​ จะมีเรือกระแชงมาส่ง​ที่ท่าน้ำแก่งคอย  เจ้เจ็งพี่สาวคนโตจะไปรับจ้างขนเกลือขึ้นจากเรือ​  มาส่งให้ร้านค้าในตลาด​ ทุกคนต้องทำงานหนักมาก​ นอกจากขายของแล้วยังต้องขนส่งสินค้าไปส่งลูกค้าที่ท่าน้ำ​  ที่สถานีรถไฟ​ หรือที่บ้านลูกค้า

แม่จะดองไข่กับน้ำเกลือไว้ในไหดินแล้วต้มขายเป็นไข่เค็ม​ 

น้ำปลาแต่ก่อนไม่ได้ขายเป็นขวดแบบปัจจุบัน​ ขายกันเป็นไห​ มีทั้งขนาดไหเล็ก​ กลาง​  และใหญ่​  แต่ละไหของน้ำปลาจะหนักมาก  ไหน้ำปลานี้มีประโยชน์​มาก​ นำมาใช้ดองผัก​ ผลไม้​ มะม่วงดอง​ มะนาวดอง​ ปลาร้า​ ปลาส้ม​ และไข่ดองเค็ม​ ฯลฯ

วันที่​ 2 เมษายน​ 2488​ ระเบิดจากพันธมิตรลงทิ้ง​ที่แก่งคอย​ เผาผลาญ​ ตลาดวอดวายหมด​ เล่ากันว่าไฟไห้มอยู่​ 3 วัน​ 3 คืนไม่มีดับ​ ไม่มีรถดับเพลิงช่วยดับไฟเหมือนสมัยนี้

หลังไฟสงบ​ ทุกคนต่างเข้าไปค้นหาสมบัติที่พอจะเหลือ​เก็บไว้ได้

โชคดีมากที่ไข่เค็มในไหจำนวนมากไม่เสียหาย​ และถูกไฟต้มจนสุกพอดี​ กลายเป็นอาหารในช่วงขาดแคลนและเป็น​สินค้าขายที่ทำเงินให้จำนวนหนึ่งในเวลานั้น

โชคดีอีกอย่าง​คือเรือส่งข้าวสาร   มาถึงท่าน้ำตอนเย็น​   เลยบอกให้รอขึ้นข้าวสารในวันรุ่งขึ้น​  ข้าวสารจึงไม่เสียหายในวันนั้น

เป็นความโชคดีที่มีไข่เค็มไว้ขาย​และทำรายได้ได้ดีมาก​  แล้วยังเหลือข้าวสารจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ในเรือ​  จึงมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งในยามที่ขัดสนและใช้เป็นต้นทุนใหม่

โชคลาภที่ได้มาเป็นเพียงความพร้อมของการเริ่มต้นที่ดีเท่านั้น​  ความขยัน​  ความอดทน​  ความประหยัดมัธยัสถ์​  และพลังแห่งความเชื่อมั่น  คือความสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จเท่านั้น

สุนีย์​  สุวรรณตระกูล​ เขียนบันทึก

เฮียกวย​  เจ้เจ็ง  ผู้ให้ข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 672392เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท