สินรินทร์สเตชั่น
อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

เครื่องประดับทองลายโบราณอันล้ำค่า งามสง่าหลายพันปีไม่มีตกยุคสู่การเชิดชูครูช่างผู้สืบสานงานหัตถศิลป์สืบอารยธรรมขอมโบราณของเมืองสุรินทร์


เครื่องประดับทองลายโบราณอันล้ำค่า งามสง่าหลายพันปีไม่มีตกยุคสู่การเชิดชูครูช่างผู้สืบสานงานหัตถศิลป์สืบอารยธรรมขอมโบราณของเมืองสุรินทร์

    วันที่ 15 มีนาคม ๒๕๖๑ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ รายงานว่า ชุมชนเขวาสินรินทร์  จังหวัดสุรินทร์ มีวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายทั้งเครื่องเงิน เครื่องทอง และผ้าไหม  ได้พบกับช่างเครื่องทองที่มีฝีมือปราณีต ที่ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น คือนายสมศักดิ์ มุตะโสภา อายุ ๖๔ ปี บ้านเลขที่ ๒๒ หมู่ ๖ บ้านสดอ  อำเภอเขวาสินรินทร์  จังหวัดสุรินทร์  เป็นทายาทผู้สืบทอด ช่างเงิน ช่างทองโบราณจากรุ่น รุ่นคุณพ่อ รุ่นคุณปู่  โดยล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ได้รับการเชิดชูยกย่องให้เป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี ๒๕๖๑  จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ ๙ ณ หอประชุมแห่งชาติสิริกิตต์  กรุงเทพมหานคร

        นายสมศักดิ์ มุตะโสภา เล่าว่า  “ตนนั้นเรียนเป็นช่างเงิน ช่างทองตั้งแต่เป็นเด็ก โดยการสืบทอดจากบิดา หรือคนทั่วไปรู้จักในนาม "ลุงสวาสเครื่องเงิน" เป็นช่างผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ ซึ่งพ่อได้เรียนรู้จากปู่ซึ่งเป็นช่างรุ่นแรกๆในชุมชน ที่บรรพบุรุษเป็นชาวเขมรได้ถ่ายทอดวิชาช่างทองโบราณให้สืบต่อจนถึงทุกวันนี้ ส่วนเครื่องประดับที่ทำนั้นจะทำเป็น "ตะเกา" ภาษาเขมร ใช้เรียก "ตุ้มหู" เป็นการขึ้นรูปด้วยการดัดเส้นลวดเงินไปมาในระยะความห่างที่เท่าๆกันจนได้รูปทรงที่ต้องการ และนำมาเชื่อมต่อซ้อนกันตามขนาดต่างๆ เป็นขั้นบันไดจากนั้นประดับด้วยเม็ดไข่ปลา เป็นงานที่พิถีพิถันละเอียดเป็นที่สุด ประณีตและใช้ความอดทนสูง ตามโบราณใช้เทคนิคการลนไฟให้เส้นเงินหลอมละลายจนขมวดตัวเป็นเม็ดกลมๆบนรางไม้ไผ่เรียกว่า "ไข่ปลา" ที่อาศัยผิวที่แตกร้าวของไม้ไผ่นั้นเป็นแผงยึดเกาะไม่ให้เม็ดเงินเล็กจิ๋วลื่นไหลหรือปลิวไป  ซึ่งตะเกานั้นสามารถนำไปทำเป็นหัวแหวน  ตุ้มหู สร้อยคอ เข็มขัด ฯลฯ   

หลังจากที่ได้รับรางวัลในการเชิดชูครูช่าง “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี ๒๕๖๑ ตนเองรู้สึกภูมิใจมากได้มีโอกาสไปร่วมงาน ได้พบครูช่างหลายประเภท ทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในส่วนของครูช่างระดับประเทศ  นับว่าเป็นเกียรติกับตนเองมากที่สุดในชีวิต  และวงศ์ตระกูลของช่าง รวมทั้งชุมชนเขวาสินรินทร์  จังหวัดสุรินทร์อีกด้วย

ปัจจุบันนายสมศักดิ์  มุตะโสภา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ยังคงทำอาชีพช่างเครื่องทอง รับออเดอร์จากทุกภาคทั่วประเทศ  หลังจากไปรับรางวัลและจัดนิทรรศการ ทำให้ผลงานเป็นที่รู้จัก เพราะว่าชิ้นงานของนายสมศักดิ์  มุตะโสภา จะมีความประณีต  ละเอียดทุกขั้นตอน จนลูกค้าให้ความไว้วางใจและบอกต่อ รวมทั้งมีคณะมาศึกษาดูงานที่บ้านอย่างต่อเนื่อง  หากท่านใดสนใจมาศึกษาเรียนรู้ หรือสั่งทำเครื่องประดับลายโบราณที่ใช้วัสดุเป็นทอง หรือเงิน สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 086-2443288 ครูช่างสมศักดิ์ มุตะโสภา ทุกวัน

หมายเลขบันทึก: 675927เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2020 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2020 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท