ถอดรหัส “แนวทางการจัดการเรียนการสอนกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19”


เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกประกาศเรื่อง “แนวทางการจัดการเรียนการสอนกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19”  ครับ เท่าที่ทราบน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีการประกาศปิดเพื่อป้องกันโรคนี้ในประเทศไทย

ในประกาศมีแนวทางการปฏิบัติหลายเรื่องที่น่าสนใจในแง่ของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ มีศัพท์เทคนิคหลายคำที่อยากขยายความและอธิบายให้เข้าใจกันในวงกว้าง โดยผมจะขยายรายละเอียดในข้อ (๒) (๓) (๔) และ (๕) ดังนี้ครับ

(๒) ใช้รูปแบบระบบโมดูล (Modular System)

ระบบโมดูลคือการมองการออกแบบการเรียนรู้แบบเป็นขั้นตอนด้วยสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยมีวัตถุประสงค์การเรียนรู้และการวัดผลที่ชัดเจน (1) จะบอกว่าแต่ละบทในหนังสือเป็นหนึ่งโมดูลก็ได้นะครับ แต่ในการเรียนการสอนออนไลน์นั้น หนึ่งโมดูลอาจจะมาจากหลายบทรวมกัน หรือแตกแยกย่อยมาจากหนึ่งบทก็ได้ ขึ้นอยู่กับ “วัตถุประสงค์การเรียนรู้” เป็นสำคัญ ซึ่งหลายๆ ครั้ง มันไม่ได้ตรงตามบทเรียนในหนังสือ จะว่าไปเวลานักเขียนเขาเขียนหนังสือก็ใช้หลักการคล้ายๆ กับการออกแบบโมดูล คือมองภาพใหญ่ของหนังสือว่าจะตอบโจทย์อะไร และแต่ละบทก็ไล่ไปทีละเรื่อง

มีข้อแนะนำ 3 ข้อสำหรับการออกแบบโมดูลครับ (2)

  1. สร้างโมดูลจากหัวข้อที่ชัดเจน แปลว่าสร้างโมดูลออกมาจากวัตถุประสงค์การเรียนรู้นั่นละครับ เวลาเราเริ่มพัฒนาหรือเลือกสื่อการเรียนในโมดูลของเรา ธงที่ตั้งไว้คือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ไม่ใช่ว่าไปเจอบทความหรือวิดีโออะไร “น่าสนใจ” ก็เอามาใส่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใส่ลงไปในโมดูลต้องผูกกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้เสมอ
    ในแต่ละโมดูลเราก็เอากิจกรรมต่างๆ ใส่ลงไป เหมือนใส่ของแยกเป็นถังไว้ แล้วเอาถังเหล่านั้นมาเรียงกัน ต่อขึ้นไปเป็นนั่งร้านเพื่อจะไปให้ถึงจุดมุ่งหมายด้านบน คือต้องรักษาเอกภาพของแต่ละโมดูลเอาไว้แต่สามารถเชื่อมต่อเรื่องราวเป็นภาพใหญ่ได้

    ภาพที่ 1 โครงสร้างของโมดูลและภาพรวมของวิชา
  2. เนื้อหาและกิจกรรมในโมดูลควรมีโครงสร้างและระยะเวลาที่คล้ายกัน ในที่นี้ หมายถึงระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้รวมทุกกิจกรรมในโมดูล ปริมาณงานที่ต้องทำ และกำหนดวันส่งงาน
    ในแง่ของโครงสร้าง ถ้าเราเริ่มจากบทเรียนให้ผู้เรียนอ่าน มีวิดีโอ ต่อด้วยการทดสอบ และมีกระดานถามตอบในหนึ่งโมดูล ก็ควรจะทำให้ไปในทางเดียวกันทุกโมดูล ไม่ใช่ว่าบางโมดูลมีวิดีโอ แล้วมีกระดานถามตอบ แต่ไม่มีบททดสอบ อีกโมดูลโผล่มามีบททดสอบเลย แบบนี้ผู้เรียนจับทางไม่ถูกครับว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง เรื่องนี้สำคัญมากเมื่อการเรียนรู้เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เพราะทุกคนคาดหวังว่าจะเรียน “ที่ไหนก็ได้” และเรียน “เมื่อไรก็ได้” การจัดรูปแบบที่ชัดเจนต่อเนื่องของแต่ละโมดูล
    รวมถึงการกำหนดวันส่งงานที่มีรูปแบบชัดเจน เช่นทำแบบทดสอบภายในวันพุธ ทำแบบฝึกหัดภายในวันเสาร์ทุกอาทิตย์ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความคาดหวังที่ชัดเจน และสามารถจัดสรรเวลาเรียนได้ดี

    ภาพที่ 2 โครงสร้างกิจกรรมในแต่ละโมดูลควรมีรูปแบบเดียวกัน
  3. ตั้งชื่อและวางเนื้อหาทุกโมดูลให้คงเส้นคงวา เช่นการตั้งชื่อโมดูลด้วยคำถาม ก็ต้องใช้รูปแบบนั้นทุกโมดูล ถ้าใช้คำว่า How to อะไรสักอย่าง ก็ขึ้นต้นชื่อทุกโมดูลแบบนั้นเลยเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย

    ภาพที่ 3 การตั้งชื่อโมดูลให้เป็นรูปแบบเดียวกัน

(๓) จัดทำไฟล์ภาพและเสียงแบบดิจิทัลไว้ล่วงหน้าเพื่อให้นิสิตสามารถศึกษาและทบทวนด้วยตัวเอง

ข้อนี้ชัดเจนนะครับ แต่คำสำคัญคือคำว่า “ล่วงหน้า” มีอาจารย์หลายท่านคิดว่าการเรียกเจ้าหน้าที่มาอัดวิดีโอเวลาเราสอน (lecture capture) แล้วเก็บไว้ให้เด็กดูทบทวนนั้นเป็นวิธีที่เหมาะสม เราต้องลองพิจารณารายละเอียดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเวลาเราสอนในห้องเรียนและสิ่งเหล่านั้นจะสามารถเอามาบันทึกไว้เพื่อใช้ทบทวนได้ไหม? ลองคิดถึงตัวอย่างง่ายๆ นะครับ เวลาเราสอนสด เรามีการถามตอบนักศึกษา มีพักเบรค มีการสลับจากสื่อหนึ่งไปอีกสื่อหนึ่ง หรือสลับวิธีการสอน เช่นสอนจากคอมพิวเตอร์ผ่านโปรเจคเตอร์ แล้วสลับไปเขียนกระดานบ้าง แล้วเริ่มเดินถามเด็กในห้องเรียงคน บางทีให้เด็กทำแบบฝึกหัด สิ่งเหล่านี้พอบันทึกไว้วิดีโอเป็นเวลากว่าชั่วโมง มันไม่ได้เหมาะกับการให้เด็กมาทบทวนเท่าไรครับ

การคิดวางแผนล่วงหน้าก็คือการเอากิจกรรมที่เราจะสอนในห้องมากางดูว่าอะไรควรทำเป็นวิดีโอ อะไรควรย้ายจากกิจกรรมในห้องไปเป็นกิจกรรมออนไลน์แบบอื่น ในตัวอย่างเดิม ผมขอแปลงเป็นหนึ่งโมดูลแบบนี้ครับ

กิจกรรมการเรียน สื่อที่เคยใช้ในห้อง สื่อที่ใช้ในการเรียนออนไลน์
บรรยาย สอนด้วย PowerPoint อัดเสียง (และวิดีโอ) สอนผ่าน PowerPoint (Narrated PowerPoint)
อธิบายโจทย์ เขียนกระดาน ใช้โปรแกรม digital whiteboard app ใน android tablet หรือ iPad (3)
ถามคำถามเพื่อทบทวนความเข้าใจ เรียกชื่อถาม แบบทดสอบออนไลน์ (LMS online quiz, google form)

จะเห็นว่ากิจกรรมที่เหมือนจะถูกควบคุมโดยตัวผู้สอนทั้งหมดในห้องเรียน เมื่อแปลงเป็นการสอนแบบออนไลน์นั้น จะต้องมีการออกแบบใหม่ และเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้นด้วย

(๔) จัดการสอนระบบออนไลน์ เช่น Echo360, MyCourseVille, Microsoft Team, Blackboard Collaborate หรือในรูปแบบผสมผสาน (Blended Learning)

ข้อนี้จริงๆ เป็นชื่อสินค้าที่ใช้ในการทำ Video Conference เกือบทั้งหมดครับ ยกเว้น MyCourseVille ซึ่งเป็นระบบจัดการเรียนการสอน (Learning Management Systems หรือ LMS) ที่ผสมกับสื่อสังคมออนไลน์ เท่าที่ทราบก็เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในเมืองไทยที่พัฒนา LMS ใช้เอง ส่วนศัพท์คำสุดท้ายในข้อนี้คือรูปแบบผสมผสาน (Blended Learning) คำนี้จริงๆ แล้วหมายถึงการ “ผสม” การเรียนแบบเจอกันในห้องและการเรียนออนไลน์ แต่ในกรณีนี้อาจจะหมายถึงการผสมเอาการเรียนแบบต้องเจอกัน (video conference) มาผสมกับระบบ LMS ที่รวบรวมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบโมดูลตามข้อ (๒) – (๓) ข้างต้น คือได้เจอหน้าอาจารย์บ้างแบบ real-time ก็ดี ไม่งั้นเด็กจะคิดถึง

ในทางเทคนิคคือการผสม synchronous และ asynchronous mode เข้าด้วยกันนั่นเอง

สำหรับข้อย่อยสุดท้ายที่น่าสนใจคือ

(๕) ปรับการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบการมอบหมายงาน (Assignment-based) โดยไม่จำเป็นต้องมีการเข้าชั้นเรียน เช่น โครงงาน (Project-based), กรณีศึกษา (Case Study) เป็นต้น และ/หรือใช้ระบบออนไลน์บูรณาการร่วม

ข้อนี้คือการขอร้องให้ผู้สอน “เปลี่ยน” ตัวเองเลยครับ คือใครที่ยังคุ้นกับการบรรยายนี้เสร็จเลย การเปลี่ยนจากการบรรยาย แล้วไปรอสอบกลางภาคกับปลายภาคนี่ พอต้องมาทำเป็นออนไลน์ก็คือจะน่าเบื่อมากๆ (จริงๆ ถ้าสอนกันแบบบรรยายอย่างเดียวก็น่าเบื่อจะแย่อยู่แล้ว ฮา!) แต่การจะขอให้อาจารย์ (ที่ไม่ได้มีการเรียนรู้เรื่องการออกแบบการเรียนรู้) มาออกแบบวิชาให้มีโครงงาน มีกรณีศึกษา นี่ก็ท้าทายเหมือนกันนะครับ อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ถ้ามีอาจารย์ที่ทำได้อย่างนั้นแล้ว แปลว่าบทบาทของเขาหรือเธอจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คือไม่ได้ไปยืนหน้าชั้น (sage on the stage) อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (guide on the side) คือว่าออกแบบกิจกรรมต่างๆ มากมายไว้ให้ผู้เรียนเข้ามาเรียนรู้ ตัวอาจารย์คอยตรวจสอบและประเมินผล

ฟังดูเหมือนง่ายนะครับ คล้ายกับว่านั่งๆ นอนๆ คอยดูว่าเด็กส่งงานไหม บางทีไม่ต้องตรวจด้วยซ้ำ เพราะระบบสอบออนไลน์ก็ตรวจให้เสร็จเลย แต่จริงๆ มันไม่ง่าย (ใครที่เคยสอนออนไลน์ก็จะรู้) เพราะงานหลักคือการให้ feedback ผู้เรียนเลยครับ และการให้ feedback ที่มีคุณภาพทั้งที่ไม่ได้เจอหน้ากันนี่ไม่ง่ายนะครับ เด็กส่ง assignment มาก็ต้องคอยให้คำแนะนำ ถ้ามีการพูดคุยในกระดานสนทนาออนไลน์ก็ต้องคอยติดตามว่าผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเหมาะสมไหม ถ้ากระดานสนทนามันนิ่งๆ ไปก็ต้องคอยกระตุ้น หรือให้คำติชมตามสมควร การทำ live session กับผู้เรียนก็ไม่ได้ง่ายเหมือนมาสอนในห้อง คือต้องเรียนรู้เรื่องอุปกรณ์ที่จะต้องใช้งาน ต้องคอยดูว่าเด็กๆ สนใจฟังเราไหม เข้าใจเนื้อหาหรือไม่ และยังต้องคอยติดตามภาพรวมการเรียนรู้ของทุกคนในชั้น ส่งงานกันครบไหม ใครหายไปก็ต้องติดต่อถามไถ่ว่าเป็นอะไรหรือเปล่า

คนที่อาจจะไม่เข้าใจเรื่องนี้ นอกจากตัวผู้สอนเองแล้ว ผู้บริหารก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถ้าขาดความเข้าใจในภาระงานก็อาจจะมองอาจารย์กลุ่มที่สร้างคอร์สออนไลน์ไว้แล้วว่าเป็นพวกที่สบายแล้ว งานเบา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ

ทีนี้ ถ้าถามต่อว่า “แล้วจะรู้ได้ไงว่างานมันหนัก?” (คนที่ทำคอร์สเสร็จแล้ว ปล่อยเด็กตามยถากรรมเลยก็อาจจะมี จริงไหม?) ถ้าอยากรู้คำตอบให้ไปถามผู้ดูแลระบบการเรียนการสอนได้เลยครับ บอกให้เขาทำรายงานมาดูเลยว่าอาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน จะดูเป็นรายวิชาหรือดูแบบภาพรวมทั้งคณะก็ได้ทั้งนั้นครับ จริงๆ ตรวจได้ง่ายกว่าไปเดินดูว่าใครสอนตรงเวลา ใครปล่อยก่อนเวลาอีกฮะ (ฮา!)

ทั้งหมดที่เล่ามานี่ ผมแอบหวังเล็กๆ ว่า ประกาศนี้ และประกาศต่อๆ ไป จะเป็นแรงผลักให้อาจารย์มหาวิทยาลัยได้ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการปรับตัวเข้าหาผู้เรียนไปโดยปริยาย เพราะเด็กรุ่นนี้เขาเก่งเทคโนโลยีกันมากกว่ารุ่นเราเยอะครับ

อ้างอิง

  1. Learning Modules Overview https://lss.at.ufl.edu/help/Learning_Modules
  2. Modular Course Design by Center for Teaching and Learning https://ctl.learninghouse.com/modular-course-design/
  3. Using an Android Tablet with Active Stylus To Create Screencasts Easily and Inexpensively https://learninginnovation.duke.edu/blog/2014/06/using-android-tablet-active-stylus-create-screencasts-easily-inexpensively/
หมายเลขบันทึก: 675978เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2020 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2020 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท