ประวัติการศึกษาไทย : แบบเรียนภาษาไทยใหม่ “ชุดมูลบทบรรพกิจ” (12)


   แม้ว่าในสมัยก่อนจะได้มีหนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนอยู่หลายเล่มแล้วก็ตาม  แต่ต่างคนต่างใช้กันตามความสมัครใจของครูผู้สอน  ไม่ลงรูปเดียวกัน  พระยาศรีสุนทรโวหารแต่ครั้งเป็นขุนสารประเสริฐ ปลัดกรมพระอาลักษณ์  ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญทางหนังสือไทยและหนังสือขอม  ได้คิดแต่งแบบสอนหนังสือไทยขึ้นใหม่  1  ชุดรวมหนังสือ  6  เล่มด้วยกันเมื่อ พ.ศ. 2412  คือ  มูลบทบรรพกิจ  วาหนิติ์นิกร  อักษรประโยค  สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์  พิศาลการันต์  หนังสือชุดนี้เป็นแบบเรียนตั้งแต่เริ่มต้นหัดอ่านต่อเนื่องไปจนถึงความรู้ทางไวยากรณ์รวมอยู่ด้วย ซึ่งนับเป็นแบบเรียนที่สมบูรณ์ที่สุดในสมัยนั้น  เมื่อเรียบเรียงเสร็จแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้า ฯ  ถวายทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงสำหรับใช้เป็นแบบเรียนต่อไป  และพระราชทานความชอบเลื่อนขึ้นเป็นหลวงสารประเสริฐและให้เป็นครูสอนหนังสือไทยที่กรมทหารมหาดเล็ก  ครั้น พ.ศ. 2414  จึงได้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนหลวง  นอกจากหนังสือแบบเรียน  6  เล่มที่ได้แต่งขึ้นใช้เป็นแบบเรียนแล้ว ยังได้เรียบเรียงตำราภาษาไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายเล่ม  เป็น ต้นว่า  ไวพจน์ประพันธ์  อนันตวิภาคย์  เขมรากษรมาลา  นิติสารสาธก และประกีรณำพจนาดถ์  เป็นต้น  กรมศิลปากรทำคำนำไว้ในตอนต้นของหนังสือชุดมูลบทบรรพกิจดังนี้
   “...มูลบทบรรพกิจ  วาหนิติ์นิกร  อักษรประโยค  สังโยคพิธาน  ไวพจน์พิจารณ์  และพิศาลการันต์ ทั้งหมดนี้  ว่าด้วยวิธีใช้อักษร  พยัญชนะ  เสียงสูง  เสียงต่ำ  การผัน  การประสมอักษร  และตัวสะกดการันต์เฉพาะมูลบทบรรพกิจสันนิษฐานว่าจะได้เค้ามาจากหนังสือจินดามณี  อันว่าด้วยระเบียบของภาษาซึ่งพระโหราธิบดีแต่งไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่คงจะนำมาดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย  นอกจากนี้ยังแทรกเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา  ซึ่งสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่  3  เข้าไว้ด้วย  ทั้งนี้เข้าใจว่าพระยาศรีสุนทรโวหารคงจะเห็นว่า  กาพย์พระไชยสุริยาเป็นบทประพันธ์ที่ไพเราะ  อ่านเข้าใจง่ายและเป็นคติ   จึงนำมาบรรจุไว้ในมูลบทบรรพกิจเป็นตอน ๆ ไป  ตั้งแต่แม่  ก  กา  จนจบแม่เกย           หนังสือชุดนี้นับว่า  มีบทบาทสำคัญในประวัติการศึกษาของชาติด้วย  เป็นแบบฝึกหัดอ่านเบื้องต้นของกุลบุตรธิดาในสมัย 80 กว่าปีมานี้  เวลาก่อนหน้านี้ขึ้นไปเรายังหาได้มีหนังสือเรียน  ซึ่งทางราชการเรียบเรียงจัดพิมพ์ขึ้นเป็นมาตรฐานเช่นที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าหน้าที่จัดทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ หากแต่ใครมีความรู้มีตำรับตำราอย่างไรก็สอนกันไป...”   หนังสือมูลมูลบทบรรพกิจว่าถึงสระต่าง ๆ  อักษรสามหมู่ที่เรียกว่าไตรยางค์  คือ  สูง  กลาง  ต่ำวรรณยุกต์  เครื่องหมายที่ใช้ในหนังสือไทย  เช่น  อำ  สำหรับใช้เขียนบนสละอา  สระอิ เรียกว่า นิคหิต  หรือหยาดน้ำค้าง  โอ สำหรับเขียนไว้ต้นวรรค  เรียกว่าฟองมัน  การผันอักษรสูง  กลาง  ต่ำ     การใช้ตัวสะกดตามแม่ต่าง ๆ  พอจบแม่หนึ่ง ๆ  ก็นำเอากาพย์พระไชยสุริยาเข้ามาใส่ไว้สำหรับหัดอ่าน  เช่นพอจบแม่  ก  กา  แล้วก็มีกาพย์ดังนี้   "จะร่ำคำต่ไป  ภฬ่ใจกุมารา  ธระณีมีราชา  เจ้าภาราสาวะถี ชื่พระไชยสุริยา  มีสุดามะเหษี  ชื่ว่าสุมาลี อยู่บูรีไม่มีไภย..."   พอจบแม่กน  ก็มีสุรางคนางค์เข้ามาแทรกให้เด็กอ่าน  เช่น   "ขึ้นใหม่ในกน  ก  กาว่าปน  ระคนกันไป  เอ็นดูภูธร มานอนในไพร  มณฑลต้นไทร  แทนไพชยนต์สฐาน  ส่วนสุมาลี  วันทาสามี  เทวีอยู่งาน  เฝ้าอยู่ดูแล  เหมือนแต่ก่อนกาล  ให้พระภูบาล  สำราญวิญญา"     ตอนท้ายเล่มกล่าวถึงวิธีนับ  และมาตรา  ชั่ง  ตวง  วัด  ชื่อปี  ชื่อฤดู  ชื่อเดือน  ชื่อทิศทั้งปวงตลอดจนวิธีนับ  เช่น      "เด็กเอยเจ้าจงศึกษา  ตำรับนับรา  จงรู้กระทู้ที่นับ  ห้าสองหนเป็นสิบสับ  สิบสองหนนับ  ว่ายี่สิบอย่าสงสัย  สิบสามหนเป็นต้นไป  ท่านเรียกชื่อใช้  สามสิบสี่สิบตามกัน.."        วิธีวัดเช่น   "ยอดหนึ่งสี่ร้อยเส้นสามตาม  เส้นหนึ่งโดยความ ยี่สิบวาอย่าสงไสย  วาหนึ่งสี่สอกบอกไว้ สอกหนึ่งที่ใช้  สองคืบไซร้ตามมีมา  คืบหนึ่งสิบสองนิ้วหนา  นิ้วหนึ่งท่านว่า  สี่กระเบียดจงจำเอา"        หนังสือวาหนิติ์นิกร  เป็นเล่มที่  2  ต่อจากมูลบทบรรพกิจ  บรรยายถึงพวกอักษรนำต่าง ๆ  และวิธีอ่านไว้ว่า...“วิธีอักษรไทย  มีอักษรเสียงสูง 11 อักษร ยังหาภอใช้แก่สำเนียงสูงภาษาไทยไม่  ต้องคิดเอาอักษรสูง 11 นั้นนำผสมอักษรต่ำที่ควรจะนำขึ้นอีก  อักษรสูงจูงอักษรต่ำให้มีสำเนียงสูงขึ้นได้ทั้ง 11 อักษร...”  ต่อจากนั้นก็เริ่มให้ศึกษาคำต่าง ๆ  ที่มีอักษรนำตั้งแต่แม่  ก  กา  เป็นต้นไป  ขง  ขงา  ขงิ  ขงี  ขงึ  ขงื  แยกเป็นอักษรนำแต่ละตัว  แต่ละแม่  ไปจน... “ว่าเหวย  หลาว  หวาย  ใจหวิว  ดูแหวว ๆ  ร้องโหวย ๆ ...”  สุดท้ายกล่าวถึงการใช้อักษรกลางนำ  เช่น  "กนก  กนาบ  ต้นโตนด  ปรมาท  รศอร่อย..."   หนังสืออักษรประโยค  ว่าด้วยคำกล้ำทั้งอักษรสูง  กลาง  ต่ำ  เช่น  กร  กรา  กริ  กรี...ตลก  ตลัก ตลาก ตลิก  ตลีก...คำควบ เช่น  ท  กับ  ร  ในคำ  ทราย  ทราม  ทรุด...ตัว  ค  กับ  ว  เช่น  ความ  ควาย  ควัก...กล่าวถึงวิธีใช้กับ  แก่  แต่  ต่อ    หนังสือสังโยคพิธาน  กล่าวถึงตัวสะกดของแม่ต่าง ๆ ว่าในแม่นั้น ๆ  จะใช้ตัวอักษรอะไรได้บ้าง  ได้แต่งเป็นโคลงบอกไว้ต้นเล่มว่า     "กนหกกกหกแจ้ง    จำกัด  กดอัษฎารัศ                 รวบไว้กบเจ็ดหากแจงจัด       จำจด เทอญพ่อสองแม่กงกบไซร้           สะกดใช้งอมอ"     แล้วจึงแยกตัวสอนสะกดออกเป็นแม่ ๆ  เรียงกันไป  แม่กน  มีตัวสะกดได้  6  ตัว  ญ  ณ  น  ร  ล  ฬ  แม่กกมีตัวสะกดได้  6  ตัว  คือ  ก  ข   ฃ  ค  ต  ฆ  แม่กดมีตัวสะกดได้ 18 ตัว  คือ  จ  ฉ  ช  ซ  ฌ  ฎ  ฏ  ฐ  ฑ  ฒ  ด  ต  ถ  ท  ธ  ศ  ษ  ส  ฯลฯ     เล่มต่อไปนี้คือไวพจน์พิจารณ์  เล่มนี้กล่าวถึงคำที่มีเสียงเหมือนกันแต่มีความหมายต่างกัน  อารัมภบทไว้เป็นคำโคลงว่า   "แจกพจน์จดพากย์ถ้วน  ทางแถลงไวพจน์พิจารณ์แจง          จัดพร้องตัวต่างแต่เสียงแฝง          ฝากร่วม กันนากำหนดพวกคำพ้อง          พาดอ้างอิงเสียง"           และบรรยายรายละเอียดต่อไปว่า  “...ลักษณะใช้ถ้อยคำขบวนหนึ่ง  ตัวต่างกัน  แต่อ่านออกเสียงเหมือนกัน  บางทีตัวเดียวกัน  แต่ตัวสะกดต่างกัน  อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน  และต่างแต่สำเนียงสั้นบ้างยาวบ้าง  กุลบุตรควรสังเกตจำไว้เป็นแผนกหนึ่ง  ที่ต่างด้วยตัวสะกดนั้น  ได้จัดแจกไว้ในสังโยคพิธานแล้ว  แต่ยังแยกย้ายเรี่ยรายกันอยู่  จึงคิดคัดจัดคำที่มีสำเนียงเดียวกัน มารวบรวมเข้าไว้เป็นหมวดหมู่กัน...”   เสร็จแล้วมีตัวอย่างคำพ้องต่าง ๆ  ตั้งแต่ตัว  ก  เป็นต้นไป          หนังสือเล่มสุดท้ายคือพิศาลการันต์  ว่าด้วยการใช้การันต์บรรยายรายละเอียดต่อไปว่า  “...วิธีใช้ถ้อยคำขบวนหนึ่งมีอักษรเพิ่มไว้ข้างท้ายคำ  แต่มิใช่ตัวสะกด  แต่เพิ่มลงไว้เพื่อจะให้เต็มคำซึ่งมาแต่ภาษามคธ  และเสียงภาษาอื่นบ้าง  เสียงไทยอ่านไม่ตลอดไปถึงจึงลงไม้ การันต์ ไว้เป็นที่สังเกตว่าไม่อ่าน  ควรเรียกชื่อว่าการันต์  ยักย้ายตามตัวที่เติมท้ายคำ...”  เสร็จแล้วกล่าวถึงการใช้การรันต์กับตัวอักษรเรียงตามลำดับ  เช่น  เขาวงก์  ทุกข์  พระขรรค์  ไปจนถึง  ห  การันต์  เช่น ราชคฤห์ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 676988เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2020 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2020 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท