ประวัติการศึกษาไทย : การจัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรทั่วไป (14)


     กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม 
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ          

     --------------------------------------
       เท่าที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาโดยตรงในสมัยรัชกาลที่ 5   เป็นเพียงแต่การจัดทดลองอยู่ในวงแคบสำหรับลูกหลานเจ้านายและข้าราชการเท่านั้น  สายงานการบังคับบัญชายังขึ้นอยู่กับฝ่ายทหาร  เว้นแต่โรงเรียนภาษาอังกฤษสวนนันทอุทยานโรงเรียนเดียวเท่านั้นที่ไม่มีขึ้นกับทหาร  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  จึงทรงพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาให้กว้างขวางออกไปในหมู่ราษฎรสามัญ  โดยใช้วิธีสอนแบบหลวงที่ใช้อยู่ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในขณะนั้นแทนที่จะให้การศึกษาเป็นไปอย่างไม่มีแบบแผนเช่นเดิม  ความจริงได้ทรงตั้งพระทัยที่จะให้การสอนของพระภิกษุสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ  ที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนอยู่ในสมัยนั้นดำเนินไปตามแบบหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2418 ได้เคยทรงขอไว้ให้วัดวาอารามต่าง ๆ เปลี่ยนแบบเรียนและวิธีการแล้ว  แต่ไม่สำเร็จ  เพราะพระผู้สอนมีความรู้ยิ่งหย่อนไม่เท่ากันบ้าง  ไม่เข้าใจวิธีสอนแบบหลวงว่าสอนกันอย่างไรบ้าง  ครั้นจะส่งคนไปแนะนำตรวจตราก็มีจำนวนวัดมากมายเหลือเกินทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามเดิม  จนกว่าจะได้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นภายนอกพระบรมมหาราชวังให้เป็นตัวอย่างสักแห่งหรือสองแห่งก่อนในตอนที่จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรทั่วไปนั้นมีปัญหาใหญ่ที่จะต้องพิจารณาว่า  ควรจะตั้งโรงเรียนไว้ตามวัดดีหรือจะหาที่ตั้งเสียใหม่นอกบริเวณวัดเป็นเอกเทศดี  ในที่สุดก็ทรงเห็นว่าควรจะตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด  เพราะ

(1)  วัดเป็นศูนย์สังคมมาตั้งแต่โบราณ  เป็นที่รวมของประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียง  สะดวกแก่การไปมา  มีบริเวณกว้างขวาง  มีศาลา  และอาคารพอที่จะใช้เป็นสถานที่เรียนบริบูรณ์อยู่แล้ว  ถ้าหากไปหาที่สร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ข้างนอกจะต้องลงทุนก่อสร้างแห่งละไม่ใช่น้อย  จะทำให้สร้างโรงเรียนได้น้อยแห่ง  การศึกษาก็จะไม่แพร่หลายออกไปได้รวดเร็วตามความต้องการของชาติบ้านเมือง

(2)  ขนบธรรมเนียมของไทยเราแต่เดิมมา  ประชาชนกับวัดมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างสนิทแน่น  ยากที่จะแยกออกจากกันได้  ราษฎรนิยมส่งบุตรหลานไปอยู่วัดเพื่อให้ศึกษาเล่าเรียน    พระก็ได้ใช้ศิษย์วัดปรนนิบัติเป็นการอุปการะและปฏิการะแก่กันและกันตลอดมา  หากจะแยกเด็กไปเรียนหนังสือในโรงเรียนที่ตั้งอยู่นอกวัดจะทำให้ขัดต่อจิตใจของพระและของประชาชน  หากประชาชนยังเลื่อมใสในประเพณีเดิมอยู่  อาจจะไม่นิยมส่งบุตรหลานของตนไปเข้าโรงเรียน  จะทำให้การศึกษาไม่แพร่หลายรวดเร็วตามความต้องการ  และทางวัดก็จะขาดประโยชน์ที่เคยได้รับอยู่ด้วย

(3)  การตั้งโรงเรียนอยู่ในวัด  ทำให้นักเรียนได้ใกล้ชิดอยู่กับพระ  จะได้ประโยชน์ในเรื่องศีลธรรมจรรยา  ความประพฤติ  เป็นการฝึกให้มีนิสัยศีลธรรมอันดีงามมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยจากเหตุผลดังกล่าวมานี้  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงตกลงพระทัยจัดตั้งโรงเรียน สำหรับราษฎรขึ้นตามวัด  และได้ตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม  เมื่อพ.ศ. 2428        แต่อย่างไรก็ดี  การตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรในตอนแรกกลับไม่ได้ผลสมตามความมุ่งหมาย  เพราะราษฎรไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียน  โดยเข้าใจว่าถ้าให้มาเข้าโรงเรียนแล้ว  จะต้องไปเป็นทหาร  ตามความรู้สึกของคนในสมัยนั้นกลัวการเป็นทหารมาก  เพราะจะต้องไปตรากตรำทำงานหนักพลัดพรากจากที่อยู่ที่กิน  ไปรวมอยู่ในกรมกองทหาร  จึงไม่มีใครอยากจะให้ลูกหลานของตัวเองลำบาก  เมื่อความทราบถึงพระกรรณ  จึงได้โปรดให้มีหมายประกาศที่แจ้งความมุ่งหมายของการตั้งโรงเรียน  การชักชวนให้ประชาชนนิยมการเรียนหนังสือดังต่อไปนี้“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้ประกาศแก่พระราชวงศานุวงศ์  แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  ในพระบรมมหาราชวัง  และพระราชวังบวรกับทวยราษฎรทั้งปวงให้ทราบทั่วกันว่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชดำริเห็นว่า การวิชาหนังสือเป็นต้นทางของวิชาความรู้ทั้งปวง  สมควรที่จะทะนุถนอมให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป  เพราะคนในพื้นบ้านเมืองสยามเหล่านี้ที่จนโตใหญ่ไม่รู้หนังสือไทยก็มีโดยมาก  ที่รู้เพราะอ่านได้เขียนได้ แต่ไม่ถูกถ้วนนั้นก็มีโดยมาก  เพราะโรงเรียนที่สอนวิชาตามแบบหลวงยังมีน้อยไม่พอกับผู้ที่จะเล่าเรียน  มีพระราชประสงค์จะให้พระราชวงศานุวงศ์  แลบุตรหลานข้าราชการและราษฎรทั้งปวง  ได้เล่าเรียนศึกษาหนังสือไทยให้รู้โดยละเอียดตามแบบที่ถูกต้อง  จึงทรงเสียสละพระราชทรัพย์ออกตั้งโรงเรียนแลจ้างครูสอนบำรุงการเล่าเรียน  สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก  โรงเรียนซึ่งได้ โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งขึ้นแล้วตามพระอารามหลวงเป็นหลายแห่ง  แลยังทรงพระราชดำริจะให้ตั้งโรงเรียนให้มีสำหรับพระอารามหลวงทุกๆพระอาราม  เพื่อจะให้บุตรหลานของไพร่ฟ้าค่าแผ่นดินได้เล่าเรียนโดยสะดวก  ไม่ต้องเสียเงินทองอะไรเลย  แลโรงเรียนสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ก็โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งขึ้นแล้วที่พระตำหนักสวนกุหลาบแห่งหนึ่ง  ยังจะตั้งโรงเรียนสำหรับข้าราชการอีกแห่งหนึ่ง  พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดการโรงเรียนทั้งปวงนี้  ก็เพราะ ทรงพระมหากรุณาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน  แลมีพระประสงค์จะให้วิชาหนังสือไทยรุ่งเรืองแพร่หลายเป็นคุณแก่ราชการ  แลเป็นความเจริญแก่บ้านเมืองยิ่งขึ้นไปบัดนี้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า  ราษฎรตื่นเล่าลือกันว่า  ซึ่งโปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งโรงเรียนนั้น  พระราชประสงค์จะเก็บเด็กนักเรียนเป็นทหาร  ผู้ที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนหนังสือก็มักจะพากันหวาดหวั่นครั่นคร้ามว่า  บุตรหลานจะต้องเป็นทหารเป็นอันมาก  ที่พูดเล่าลืออย่างนี้เป็นการไม่จริง  ห้ามอย่าให้ผู้อื่นพลอยตื่นเต้นเชื่อฟังคำเล่าลือนี้เป็นอันขาด  คนที่ควรจะชักเป็นทหารก็มีอยู่พวกหนึ่งต่างหากไม่ต้องตั้งโรงเรียนเกลี่ยกล่อมเด็กมาเป็นทหารเลย  อนึ่งเด็กทั้งปวงนี้ก็ล้วนแต่เป็นบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งสิ้นด้วยกัน  ถ้าจะเก็บเอามาเป็นทหารเสียตรงๆ  นั้นจะไม่ได้หรือจะต้องตั้งโรงเรียนเกลี่ยกล่อมให้ลำบากและเปลืองพระราชทรัพย์ด้วยเหตุใด  ผู้ที่เล่าลือกันอย่างนั้น  เหมือนเป็นคนไม่มีกตัญญู  ไม่รู้พระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   อันทรงพระมหากรุณา  ทรงพระราชดำริจัดการจะให้เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ประชาราษฎร์ทั่วไปในพระราชอาณาจักรถ้อยคำของคนเช่นนั้นใครๆ  ไม่ควรจะเชื่อเอาเป็นประมาณ  ถ้าใครมีบุตรหลานอยากให้ได้เล่าเรียนให้มีวิชาความรู้สำหรับตัวก็ส่งเข้ามาเรียนในโรงเรียนสอนที่ใกล้เคียงเขตบ้านที่อยู่นั้นๆเถิดอย่าคิดหวาดหวั่นครั่นคร้ามด้วยข้อที่บุตรหลานจะต้องติดเป็นทหารนั้นเลยประกาศมา  ณ  วันศุกร์  เดือนหก  แรม  3  ค่ำปีระกา  สัปตศก  1247  (พ.ศ. 2428)   เป็นปีที่  18  ฤาวันที่ 6016 ในรัชกาลปรัตยุบันนี้”
      เมื่อประกาศให้ประชาชนเข้าใจถึงความมุ่งหมาย  และเจตนาอันดีของรัฐบาลแล้ว  การเข้าใจผิดผิดดังกล่าวก็หมดไปราษฎรได้ให้ความร่วมมือเป็นอันดี  พากันส่งบุตรหลานเข้ามาโรงเรียนเป็นอันมาก  จนต้องเปิดโรงเรียนตามวัดแห่งอื่นทั้งในกรุงและตามหัวเมืองเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เป็นอันว่าการศึกษาที่มีระเบียบแบบแผนได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ในเดือนพฤษภาคม  พ.ศ.  2430  มีโรงเรียน 35 โรง  ครู   81   คนและนักเรียน 1,994 คน     นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่สอนตามหลักสูตรพิเศษตั้งอยู่ในกรุงเทพ  4  โรง ซึ่งเรียกว่า "โรงเรียนชั้นสูง"ได้แก่
(1)  โรงเรียนตำหนักสวนกุหลาบ  ฝึกสอนวิชาความรู้สำหรับเป็นข้าราชการโดยเฉพาะ

(2)  โรงเรียนสราญรมย์  คือโรงเรียนหลวงเดิม  ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นอาจารย์ใหญ่  ได้ย้ายจากข้างโรงละครเก่าในพระบรมมหาราชวัง  เพราะสถานที่ตั้งเดิมคับแคบ  มาตั้งอยู่ที่หอบิลเลียดข้างวังสราญรมย์  และเรียกชื่อว่าโรงเรียนสราญรมย์

(3)  โรงเรียนสุนันทาลัย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  โปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  เมื่อ  พ.ศ. 2423  และได้ย้ายโรงเรียนนันทอุทยาน  ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษมาตั้งอยู่  ณ  ที่แห่งนี้โรงเรียนตั้งอยู่ที่โรงเรียนราชินีในปัจจุบัน  (ตรงปากคลองตลาด)

(4)  โรงเรียนมหาธาตุวิทยาลัย  ตั้งขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  2430  ที่วัดมหาธาตุเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม  โดยย้ายโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมจากเก๋ง  4  เก๋ง  หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพราะสถานที่เดิมคับแค  ให้มาเรียนรวมกันเสียที่โรงเรียนมหาธาตุวิทยาลัยทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 677049เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2020 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2020 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะที่เขียนเรื่องประวัติความเป็นมาของ กศ.ไทยอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้ดีมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท