ประวัติการศึกษาไทย : การจัดตั้งกรมศึกษาธิการ (15)


    กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม 
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ เมื่อพ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ                

 --------------------------------------
        เมื่อจำนวนโรงเรียนมีมากขึ้น  ความจำเป็นที่จะต้องควบคุมและตรวจตาให้การเรียนการสอนดำเนินไปด้วยดีและอยู่ในแบบแผนเดียวกันก็เกิดขึ้น  แต่เดิมมาโรงเรียนอยู่ในสังกัดกรมทหารมหาดเล็ก  ซึ่งมีหน้าที่ไปทางเรื่องราวของทหารโดยตรง  เป็นการที่ไม่เหมาะสม  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงโปรดให้ตั้งกรมซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาโดยเฉพาะขึ้นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งเมื่อ  พ.ศ.   2430   มีชื่อว่า  กรมศึกษาธิการ  พระองค์เจ้าดิศวรกุมารซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมทรงพระนามว่า  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  เป็นผู้บัญชาการกรมอีกตำแหน่งหนึ่งตามประกาศดังต่อไปนี้       

  “มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้ประกาศจงทราบทั่วกัน  การเล่าเรียนวิชาเป็นการสำคัญของราชการบ้านเมือง  แต่ก่อนมา  ยังหาได้จัดตั้งขึ้นเป็นแบบแผนให้แพร่หลายและยังหาได้มีเจ้าพนักงานสำหรับบังคับบัญชาราชการฝ่ายการเล่าเรียนทั้งปวงไม่  บัดนี้ได้ทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียนให้เป็นแบบอย่างเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้มาก  และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีเจ้าพนักงานรับกระแสพระราชดำริจัดการนั้นตลอดมา  เมื่อการเล่าเรียนเจริญขึ้นผู้ซึ่งรับราชการในการเล่าเรียน  คือ  เจ้าพนักงานสำหรับบังคับจัดการเล่าเรียน  และอาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาเป็นต้นนั้นก็มีมากขึ้นโดยลำดับ ผู้ซึ่งรับราชการในตำแหน่งการทั้งปวงเหล่านี้  ก็เป็นข้าราชการรับราชการแผ่นดินฉลองพระเดชพระคุณในส่วนหนึ่งเหมือนกับข้าราชการกรมหมื่นอื่นแต่ยังหาได้มีตำแหน่งในราชการไม่เพราะราชการฝ่ายการเล่าเรียนยังไม่ได้ตั้งสังกัดขึ้นเป็นกรมหนึ่งเหมือนกับประเทศอื่นๆ  บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้าพนักงานซึ่งสำหรับจัดการเล่าเรียนทั้งปวง รวมเป็นกลุ่มหนึ่งเรียกว่ากรมศึกษาธิการ  ซึ่งผู้ได้รับกระแสพระราชดำริเป็นหัวหน้าพนักงานจัดการเล่าเรียนเป็นตำแหน่งข้าหลวงผู้บัญชาการศึกษา  และให้ผู้ซึ่งได้รับราชการในพนักงานจัดการเล่าเรียนทั้งปวงสังกัดขึ้นอยู่ในกลุ่มศึกษาธิการตามตำแหน่งซึ่งได้รับราชการนั้นทุกคน  ให้กรมศึกษาธิการนี้เป็นกรมหนึ่งในราชการฝ่ายพลเรือนเหมือนกับกลุ่มอื่นๆสืบไปประกาศมา  ณ  วันศุกร์  เดือน  6  ขึ้น 15 ค่ำปีกุน  นพศกจุลศักราช  1219  (พ.ศ. 2430)”  
    ยังมีกรมที่มีชื่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกรมศึกษาธิการอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง  คือ  กรมธรรมการ  และภายหลังเมื่อกรมมีฐานะเป็นกระทรวงขึ้นแล้ว  ก็เปลี่ยนเรียกชื่อระหว่าง  2  ชื่อนี้กลับไปกลับมาหลายครั้ง  บางสมัยเป็นกระทรวงธรรมการ  บางสมัยเป็นกระทรวงศึกษาธิการ  (พ.ศ. 2435 กระทรวงธรรมการ  พ.ศ. 2462 เป็นกระทรวงศึกษาธิการ  พ.ศ. 2469 เป็นกระทรวงธรรมการ  พ.ศ. 2484 เป็นกระทรวงศึกษาธิการ)  ความจริงกรมธรรมการนี้ เดิมเรียกว่ากรมธรรมการสังฆการี  เป็นส่วนราชการที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น หัวหน้ากลุ่มมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพระเสด็จหรือออกญาพระเสด็จเป็นตำแหน่งสูงขนาดรองเสนาบดีจตุสดมภ์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  ทรงมีพระบรมมาราชาธิบายเกี่ยวกับกรมธรรมการสังฆการีไว้ดังนี้                 

    “กรมธรรมสังฆการีนี้  ตามตำแหน่งเดิมเป็นกลุ่มใหญ่ได้ตั้งกลุ่มมาทำการหัวเมืองว่าความพระสงฆ์  ต่อพระสงฆ์ หรือพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ไม่ว่าความอย่างใด  อำนาจของกรมธรรมการที่เป็นอยู่แบบนี้ก็ไม่สู้ผิดกันกับแต่ก่อนมากนัก  เป็นแต่ไม่มีอำนาจที่จะตั้งธรรมการหัวเมือง  ขาดไปพร้อมกับกรมหมื่นอื่นๆ  แต่ธรรมการหัวเมืองก็ยังมีหนังสือบอกข่าวคราวเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างพระสงฆ์หัวเมืองบ้างน้อยๆ  ราย  แต่กรมธรรมการมักจะได้พูดจากับพระสงฆ์เจ้าคณะตามหัวเมืองนั้นเองเสียโดยมาก ถ้าเจ้าเมืองกรมการเมืองใดจะขอตั้งเจ้าคณะหัวเมืองก็ยังมีใบบอกมาที่กรมธรรมการนั้นด้วย  คงอยู่อย่างแต่ก่อน  แต่ตำแหน่งใหญ่คือที่พระยาพระเสด็จนั้นไม่ได้ตั้งมาเสียช้านาน  โดยผู้ซึ่งจะเป็นคนนั่งในตำแหน่งธรรมการนี้  ดูเหมือนจะต้องใช้ผู้สนัดในทางวัดๆ   ผู้ซึ่งสนัดในทางวัดๆ เช่นนั้นก็คงจะต้องใช้คนที่เป็นคนบวชอยู่นาน  เร่อร่า  งุ่มง่ามไปไม่สมควรเป็นขุนนางผู้ใหญ่  จึงได้ลดตำแหน่ง  มีศักดินาน้อยลง  คงใช้เจ้านายไปกำกับอยู่เสมอมา      ส่วนกรมราชบัณฑิตซึ่งดูเหมือนหน้าที่จะรวมอยู่ในกรมธรรมการ  ก็แยกไปเป็นกรมหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวข้องกัน  กรมธรรมการมีแต่จะว่าความพระสงฆ์อย่างเดียว  กรมราชบัณฑิตมีหน้าที่ที่จะบอกหนังสือพระสงฆ์แยกไปส่วนหนึ่ง  มีหน้าที่ร่วมกัน แต่ในเวลาพระสงฆ์มาแปลพระปริยัติ  ต้องเป็นผู้มากำกับตรวจตราด้วยกันทั้งสองกรม  ถ้าจะว่าตามความคิดที่แบ่งตำแหน่งอย่างต่างประเทศ  กรมสังฆการีเป็นกรมธรรมการหรือกรมศาสนา  กรมราชบัณฑิตเป็นกรมศึกษาธิการ  ควรที่จะอยู่รวมอยู่ ด้วยกันแผนกหนึ่งได้  และการสั่งสอนวิชาหนังสือไทยนั้น  ธรรมเนียมในเมืองไทยนี่ก็อาศัยเรียนในวัดเป็นที่ตั้งแต่โบราณมา แต่ผู้ปกครองแผ่นดินหาได้จัดการอุดหนุนอย่างหนึ่งอย่างใดไม่  จนตกมาภายหลังจึงได้เกิดบอกหนังสือโรงทานขึ้น  แต่การที่บอกหนังสือโรงทานเป็นแต่ส่วนพระราชกุศล  ซึ่งจะให้พร้อมบริบูรณ์ในทานเฉพาะพระราชกุศลอย่างเดียว  ไม่ได้เป็นการมุ่งหมายที่จะสั่งสอนคนไทยทั้งปวงทั่วไป...”
   

     เมื่อ  พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ทรงปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการบริหารส่วนกลางเสีย โดยยกเลิกการบริหารราชการแบบจตุสดมภ์ทั้งหมด  ตลอดตำแหน่งสมุหนายกและสมุหกลาโหม  ตั้งขึ้นเป็นตำแหน่งเสนาบดีต่างๆ  รวม 12 ตำแหน่ง  มี  มหาดไทย  กลาโหม  (ทั้งสองนี้ไม่ได้เรียกว่ากรมหรือกระทรวงแต่อย่างใด  เพราะเป็นส่วนราชการที่ยุบเลิกมาจากตำแหน่งสมุหกลาโหม  และสมุหนายกซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์)  กรมท่า  กรมเมือง  กรมวัง  กรมคลัง กรมนา  กรมยุทธนาธิการ  กรมยุติธรรม  กรมธรรมการ  กรมโยธาธิการ  และกรมราชมุรธาธร  ในตอนระยะแรกเริ่มจะแบ่งส่วนราชการใหม่  โปรดให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีอยู่แล้ว  และผู้ที่จะทรงแต่งตั้งขึ้นใหม่เข้าร่วมประชุมกันเป็นประจำสัปดาห์  พระองค์ทรงเป็นประธาน  เรียกว่าที่ประชุมเสนาบดี  
     เมื่อทรงตั้งที่ประชุมเสนาบดีขึ้นแล้ว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งหัวหน้ากรมธรรมการแต่ตำแหน่งเดียว  กรมธรรมการจึงมีลักษณะเป็นกระทรวงมาตั้งแต่พ.ศ.  2432  เว้นแต่ยังไม่ได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นกระทรวงเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 677075เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2020 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2020 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท