ประวัติการศึกษาไทย : การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน (17)


       กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้เมื่อ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
         --------------------------------------

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  เสด็จกลับจากประพาสชวา  พ.ศ.  2413  ได้โปรดให้ช่างสร้างตึกขึ้นหลังหนึ่งที่ศาลาสหทัย  ข้างประตูพิมานชัยศรี  ถ่ายแบบมาจากสโมสร นายทหารที่เมืองปัตตาเวีย  ซึ่งมีชื่อว่าคองคอเดีย  เลยเรียกชื่อว่าหอคองคอเดียด้วยเหมือนกัน  ใช้เป็นที่สำหรับประชุมเป็นครั้งคราว  ณ  ที่นี้  ต่อมาภายหลังได้จัดให้มีการตั้งแสดงสิ่งของโบราณหรือของที่หาดูได้ยาก  เช่น  เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และของที่แปลกประหลาดอื่นๆ  เปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นเวลานานถึง 3 เดือน  เสร็จแล้วก็ให้นำไปเก็บไว้  ณ  ที่เดิม  การแสดงแบบนี้ปรากฏว่าประชาชนสนใจเข้าชมกันมาก  จึงโปรดให้จัด ขึ้นเป็นประจำเมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี  นอกจากนั้นยังได้ประกาศให้พระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชการพ่อค้าประชาชน  ร่วมมือจัดนำวัสดุสิ่งของที่ประหลาดเช่นศิลปะวัตถุหรือสิ่งของที่งดงามอื่นๆมาร่วมการแสดง  และพระราชทานรางวัลให้เจ้าของที่มีศิลปะวัตถุที่มีความงามความแปลกประหลาด  หรือมีคุณค่าเป็นเยี่ยมอีกด้วย  ดังจะเห็นได้จากบางตอนของพระบรมราชโองการ  ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันดังนี้

“…ของที่ควรจะมาตั้งนั้น  คือเครื่องทองรูปพรรณเก่าใหม่ต่างๆ  ซึ่งเป็นฝีมือช่างอย่างดีในเขต แคว้นพระราชอาณาจักรกรุงสยาม  กับผ้านุ่งห่มต่างๆ  ที่เป็นฝีมือช่างชาวสยามทำขึ้น แลผ้าที่ส่งตัวอย่างออกไปให้ทำเข้ามาแต่ประเทศอินเดียคือ  ผ้ายกไหม  ผ้ายกทอง  แลแพร  แลผ้าไหมสี  ผ้าลายสีแลดอกดวงต่างๆ  ซึ่งเป็นชั้นเก่า  กับเครื่องหล่อ  เครื่องปั้น  และเครื่องกลึง  แกะสลัก  และรูปเขียนซึ่งเป็นฝีมือช่างที่ดีในประเทศสยาม ก็ควรจะเอามาตั้งได้ และเครื่องพลอยหัวแหวนต่างๆที่เกิดในประเทศเขตเมืองไทย กับเครื่องที่ประดับมุก เป็นรูปพรรณต่างๆ  ให้คัดเลือกเอามาแต่ที่มีฝีมือช่างอย่างเอก  แลกะละปังหาสีขาว  แดง   ดำ  ที่เกิดในอ่าวสยามทั้งต้น  แลทำเป็นรูปพรรณต่างๆ  แลเครื่องอาวุธ  หอก ดาบ  มีรูปต่างๆ  ที่เป็นฝีมือช่างเมืองไทยทำเรียบร้อยสนิทดี  ก็ควรจะเอามาตั้งในที่ประชุม  ผู้หนึ่งผู้ใดมีของตลาดที่จะเอามาตั้งในหอ มิวเซียมนี้ ขอให้เอามา  ณ  วันพุธ  เดือนสิบ  แรมสามค่ำ...”
     
       จนถึงพ.ศ. 2423 โปรดให้นายอาลบาสเตอร์  ชาวอังกฤษ  ซึ่งรับราชการเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้จัดตั้ง มิวเซียมขึ้นที่หอคองคอเดียเป็นมิวเซียมถาวร   เปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันเฉลิมพระชนมพรรษา  พิพิธภัณฑสถานยังคงขึ้นอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กเรื่อยมาจนถึงพ.ศ. 2430  ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคตแล้ว  ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  จึงโปรดให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดียมาตั้งในพระราชวังบวรฯ  ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน  พระที่นั่งพุทไธสวรรค์  และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย  แล้วแยกออกเป็นองค์กรอิสระ  โอนมาสังกัดกรมศึกษาธิการใน  พ.ศ. 2432

หมายเลขบันทึก: 677120เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2020 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2020 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท