ประวัติการศึกษาไทย : การจัดตั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ (18)



     กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้เมื่อ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
          --------------------------------------

   แต่เดิมมาการแพทย์แผนปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมของคนไทย  แม้ว่าในสมัยที่พวกสอนศาสนาชาวอเมริกัน  นำเอาวิธีแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาใช้ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเป็นเวลากว่า 20 ปี  ก็หาได้แพร่หลายเป็นที่นิยมกันไม่  ประชาชนตลอดจนเจ้านายยังคงใช้วิธีแพทย์แผนโบราณกันตลอดมา  โรงหมอที่พวกสอนศาสนาตั้งขึ้นในกรุงและตามหัวเมือง  เช่นที่เพชรบุรี  มักจะมีคนไข้เป็นคนจีนเสียโดยมาก  คนไทยไม่ใคร่ไปรับรักษา  แต่ก็มีโรคบางอย่างที่การป้องกันรักษาตามวิถีแพทย์แผนปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้  เช่นไข้ทรพิษ  อหิวาตกโรค  เป็นต้น  และมักใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น  พอโรคระบาดสงบก็เลิก  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงพระราชดำริที่จะนำวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาใช้ให้เป็นที่แพร่หลาย  โดยจะจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเป็นที่รักษาพยาบาลคนไข้ให้เป็นหลักฐาน  ในขั้นต้นโปรดให้ตั้งโรงพยาบาลทหารขึ้นที่ถนนตรีเพชร ข้างกองกำกับการตำรวจจราจร  เมื่อพ.ศ. 2422  เป็นโรงพยาบาลสำหรับทหารโดยเฉพาะ  แต่แล้วก็ต้องเลิกไปเพราะนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้องไปราชการปราบฮ่อกับกองทัพ  คงมีแต่โรงหมอของพระศาสนาอเมริกันอยู่ตามเดิม   เมื่อพ.ศ. 2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในพระนคร  จึงโปรดให้จัดตั้งสถานรักษาพยาบาลขึ้นตามวังและบ้านข้าราชการ  เป็นการชั่วคราวถึง 48 แห่ง แต่พออหิวาตกโรคสงบลงแล้วสถานพยาบาลเหล่านี้ก็เลิกล้มไป  จนกระทั่งพ.ศ. 2429 จึงทรงตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งพิจารณาหาทางจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเรียกว่า  “คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล”  มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศิริธัชสังกาศเป็นประธาน  ประกอบด้วยกรรมการอื่นๆอีก 8 ท่าน ซึ่งมีนายแพทย์ปีเตอร์เกาเเวน  แพทย์ประจำราชสำนักร่วมอยู่ด้วย

     คณะกรรมการได้เลือกสถานที่สำหรับตั้งโรงพยาบาลขึ้นที่วังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)   และซื้อที่ดินริมน้ำทางด้านเหนือของโรงเรียนวังหลังของพวกสอนศาสนาอเมริกัน เป็นท่าสำหรับขึ้นไปยังโรงพยาบาล  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเก้าฯ  พระราชทานเมรุซึ่งสร้างขึ้นสำหรับปลงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ทั้งหมด  ให้รื้อไปสร้างเป็นอาคารต่างๆ  ภายในโรงพยาบาลแห่งนี้   และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล”  ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น  และได้เปิดรับรักษาพยาบาลคนไข้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 ต่อจากนั้น ก็ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มอีกหลายโรง เช่น โรงบูรพาพยาบาล ตั้งอยู่ที่บ้านนายอากรตา หน้าวังบูรพาภิรมย์  ภายนอกกำแพงเมือง ริมป้อมมหาชัย  โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ อยู่ข้างวัดเทพศิรินทราวาส  โรงพยาบาลคนเสียจริต  ที่ปากคลองสาน  โรงพยาบาลเลี้ยงเด็ก  บางทีก็เรียกว่าโรงพยาบาลเนิสซิ่งโฮม  โรงพยาบาลสามเสน  และโอสถสภา(สุขศาลา)ตามหัวเมืองต่างๆ  เป็นต้น
      
    ในปีนั้นเองได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมพยาบาลขึ้นมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ฯ เป็นอธิบดี  และตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นในพ.ศ. 2432  เรียกว่า โรงพยาบาลแพทยากร อยู่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช  ใช้เป็นที่สอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน  กรมพยาบาลที่ตั้งขึ้นใหม่นี้สังกัดอยู่ในกรมธรรมการ

หมายเลขบันทึก: 677152เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2020 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2020 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใครรู้จักโรงพยาบาลเก่าๆชื่อต่อไปนี้บ้าง เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่รึเปล่า และชื่ิออะไรครับ 1)โรงบูรพาพยาบาล 2)โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ 3)โรงพยาบาลคนเสียจริต 4)โรงพยาบาลเลี้ยงเด็ก 5)โรงพยาบาลสามเสน อยากรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท