ประวัติการศึกษาไทย : โรงเรียนเชลยศักดิ์/โรงเรียนราษฎร์ (19)


      กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้เมื่อ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
       --------------------------------------

   ในสมัยนั้นคำว่า “โรงเรียนราษฎร์” ยังไม่เกิดขึ้น   ภาษาราชการเรียกโรงเรียนที่เอกชนตั้งขึ้นว่า “โรงเรียนเชลยศักดิ์”  โรงเรียนเชลยศักดิ์มี  2 ประเภทคือ  โรงเรียนที่เอกชนตั้งขึ้น สำหรับสอนภาษาไทย    อย่างที่โรงเรียนรัฐจัดตั้งขึ้นเรียกว่าโรงเรียนเชลยศักดิ์  ส่วนโรงเรียนที่เอกชนจัดตั้งขึ้นสอนภาษาอื่น  เช่นภาษาอังกฤษภาษาจีน  ภาษาแขก  ฯลฯ  เรียกว่า “โรงเรียนวิเศษเชลยศักดิ์”
  โรงเรียนเชลยศักดิ์  หรือโรงเรียนราษฎร์นี้ เกิดขึ้นก่อนโรงเรียนรัฐบาล  พวกสอนศาสนาอเมริกันได้จัดตั้งโรงเรียนราษฎณ์ขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า  ในพ.ศ. 2391 นางแมททูน  ชาวอเมริกัน  รับเด็กชาวมอญที่อยู่ใกล้ๆ บ้านมาสอนหนังสือให้  สอนเป็นภาษาไทย จนมีเด็กมอญมาเรียนกันมากพอสมควร  จึงจัดตั้งเป็นโรงเรียนเช้าไป เย็นกลับขึ้นเป็นครั้งแรก  ในพ.ศ. 2395  ต่อมาพวกสอนศาสนาได้จัดตั้งโรงเรียนกินนอนขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง  ที่ข้างวัดอรุณราชวรารามเป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกในประเทศไทย  รับเด็กจีนมาสอนและสอนด้วยภาษาจีน  นางแมททูนได้นำโรงเรียนไปมาที่ตั้งขึ้นรวมเข้าเป็นโรงเรียนเดียวกัน  ภายหลังได้ย้ายไปตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นที่ตำบลสำเหร่  เมื่อพ.ศ. 2400 คราวนี้รับทั้งเด็กชายและเด็กหญิง  และเปลี่ยนมาใช้ภาษาไทยสอน

    ในพ.ศ. 2431 นายจอห์น  เอ.  เอกิน  ชาวอเมริกันได้ตั้งโรงเรียนรับสอนเด็กผู้ชายขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง  ไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กไทย  มอญ  หรือจีน  โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลกุฎีจีนมีชื่อว่า “โรงเรียนคริสเตียนไฮสกูล”  ต่อมาได้ย้ายไปรวมกิจการกับโรงเรียนที่สำเหร่  และในพ.ศ. 2446 ย้ายจากสำเหร่มาตั้งอยู่ที่ถนนประมวล จังหวัดพระนคร  เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” นับว่าเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  โรงเรียนราษฎร์แห่งอื่นซึ่งตั้งมาแต่ดังเดิมอีกโรงเรียนหนึ่ง และยังคงมีชื่อเสียงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้คือ “โรงเรียนอัสสัมชัญ”  เป็นโรงเรียนที่พวกคาธอลิกตั้งขึ้นเมื่อ  พ.ศ. 2420  เดิมเรียกว่า “โรงเรียนไทย-ฝรั่ง” เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อในภายหลัง

     โรงเรียนราษฎร์สำหรับสตรีโดยเฉพาะนั้น  มีมาตั้งแต่พ.ศ. 2417 ชื่อ “โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง”
นางแฮร์เรียต เอ็ม เฮ้าส์  ภรรยาของหมอเฮ้าส์ นักสอนศาสนาชาวอเมริกัน เป็นผู้ตั้งขึ้น โดยได้ทุนจาก Troy Brance of the Women’s Board  แห่งสหรัฐอเมริกา 3,000 เหรียญ  และทางสหรัฐตั้งชื่อมาให้เสร็จว่า  โรงเรียน  Harriet  M.  House School for Girls  แต่ไม่มีใครเรียก  เรียกกันว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง  เพราะตั้งอยู่  ณ  ที่เคยเป็นที่ตั้งพระราชวังบวรสถานพิมุข  หรือพระราชวังหลังแต่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า  โรงเรียนแหม่มโคล์  ทั้งๆ  ที่นางสาวเอ็ดนา  เอส  โคล์  ไม่ได้เป็นคนผู้ตั้งโรงเรียนเลย  โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำ   เมื่อมีนักเรียนมากขึ้นไม่สามารถจะขยายโรงเรียนอีกได้  จึงต้องย้ายโรงเรียนจากวังหลังไปอยู่ท้องนาติดคลองแสนแสบ  และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย”  ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของโรงเรียนเชลยศักดิ์ซึ่งตั้งมาก่อนสมัยตั้งกระทรวงศึกษาธิการทั้งสิ้นส่วนโรงเรียนเชลยศักดิ์ของไทย หรือโรงเรียนราษฎร์ เพิ่งมาตั้งในภายหลัง
     
     เมื่อระยะเวลาล่วงเลยมา  โรงเรียนเชลยศักดิ์ก็ถูกเรียกกันว่าโรงเรียนราษฎร์ และจำนวนโรงเรียนราษฎร์มีเพิ่มมากขึ้น  ทั้งโรงเรียนราษฎร์ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของและที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ  การจัดสอนวิชาต่างๆต่างก็สอนกันไปตามอำเภอใจของแต่ละโรงเรียนบ้าง    สอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการบ้าง  ยังลักลั่นกันอยู่  รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พุทธศักราช 2461 ขึ้น  มีสาระสำคัญบังคับให้โรงเรียนราษฎร์ทุกโรงเรียนจดทะเบียน  และต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ    ต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่กระทรวงวางเอาไว้ 

      พระราชบัญญัติฉบับนี้แบ่งออกเป็น  5 ลักษณะคือ  1)การตั้งและเปิดโรงเรียนราษฎร์  2)การควบคุมโรงเรียนราษฎร์  3)การปิดโรงเรียน   4)โรงเรียนอนุบาล  5)วิธีพิจารณาและลงโทษ
    เมื่อบังคับให้มีการจดทะเบียนโรงเรียนราษฎร์ขึ้นตามพระราชบัญญัติแล้ว ปรากฏว่าในพ.ศ. 2461 มีโรงเรียนราษฎร์จำนวนรวมทั้งสิ้น 127 โรงเรียน   

หมายเลขบันทึก: 677171เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2020 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2020 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท