ประวัติการศึกษาไทย : การฝึกหัดครู 2 (22)


      กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้เมื่อ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
         --------------------------------------

       อย่างไรก็ตามรัฐยังมีอุปสรรคในการจัดการศึกษาฝ่ายสตรี   เพื่อแก้ไขอุปสรรคนี้  ต่อมากระทรวงศึกษาธิการจึงได้สั่งให้มณฑลต่างๆ คัดเลือกนักเรียนสตรีที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสม  ส่งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯปีละ 5 คน  และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีขึ้นที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย  อาศัยวังเก่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ เป็นที่ตั้งโรงเรียน  เด็กหญิงที่ได้รับการคัดเลือกมาเข้าเรียนนั้น  คัดเลือกจากผู้ที่มีอายุระหว่าง 11-16 ปี  ที่มีความรู้อ่านออกเขียนได้  คิดเลขได้  ถ้ายิ่งได้ชั้นประถมศึกษามาแล้วยิ่งดี  มาศึกษาเล่าเรียนอีก 3-5 ปี  พวกนี้เป็นนักเรียนหลวงได้ค่าอุดหนุนเดือนละ 15บาท  ส่วนนักเรียนสตรีอื่นๆที่มาสมัครเรียนด้วย  ก็รับเข้าเรียนโดยเสียค่ากินอยู่เดือนละ 15 บาท เช่นกัน  ถ้าสำเร็จสอบได้ประกาศนียบัตรครูมูล ก็ได้เงินเดือนๆละ 30 บาท  ถ้าได้ประกาศนียบัตรครูประถม ได้เดือนละ 45 บาท

          ส่วนเรื่องโรงเรียนฝึกหัดครูอื่นๆซึ่งได้กล่าวมาแต่ต้น  ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงผิดไปจากเดิมบ้าง  แผนกฝึกหัดครูที่ย้ายจากโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ไปรวมที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  ได้โอนสังกัดมาขึ้นกรมศึกษาธิการตามเดิมเมื่อพ.ศ. 2461 และไปเปิดทำการสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศ เป็นแผนกฝึกหัดครูอีกแผนกหนึ่ง  โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศในสมัยนั้นจึงมีสองแผนกคือ  แผนกสามัญและแผนกฝึกหัดครู  จนถึงพ.ศ. 2475 แผนกฝึกหัดครูได้ย้ายไปตั้งที่พระราชวังสนามจันทร์จังหวัดนครปฐมอยู่ได้ 2 ปีจนพ.ศ. 2477 ก็ย้ายโรงเรียนมาอยู่ในจังหวัดพระนครที่กองพันทหารราบที่6  ถนนศรีอยุธยาและย้ายข้ามฟากถนนมาอยู่ในบริเวณหลังกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการคุรุสภาเดี๋ยวนี้  และครั้งสุดท้ายย้ายไปอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอบางเขน เมื่อพ.ศ. 2499

การฝึกหัดครูในเวลานั้นมีอยู่หลายระดับด้วยกันพอจะสรุปรวมได้ดังนี้

1. ระดับครูมัธยม(ชาย)  เปิดเรียนครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2446 ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  (ตึกแม้นนฤมิตรโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์แล้วย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก)  ผู้ที่เป็นครูอยู่แล้วและสอบได้ประกาศนียบัตรครูมัธยมจะได้รับเงินเดือน  เดือนละ 80 บาท  ส่วนนักเรียนฝึกหัดครูที่สอบได้ประกาศนียบัตรจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเพียง 30 บาทเป็นเวลาหนึ่งปี  ในขณะที่เป็นครูฝึกหัดหาความชำนาญ   เรียกว่าเบี้ยเลี้ยงไม่เรียกเงินเดือน  เมื่อพ้นหนึ่งปี  จึงจะได้เงินเดือนตามวุฒิ  นอกจากจะเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครูแล้ว  กระทรวงศึกษาธิการยังได้เปิดการสอนวิชาครูมัธยมเคลื่อนที่สามัคยาจารย์สมาคมในเวลาเย็น  โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการศึกษาและวิชาแขนงอื่นมาทำการสอน  เพื่อช่วยเหลือให้ครูได้เลื่อนวิทยฐานะของตน  โดยวิธีสอบชุด  ต่อมาในพ.ศ. 2471 ได้วางระเบียบ การฝึกหัดครูมัธยมขึ้นใหม่โดยรับเอาชั้นประกาศนียบัตรในแผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย(2 ปี)ประกอบด้วยประกาศนียบัตรวิชาครู(อีก1ปี)  ของมหาวิทยาลัยเป็นเกณฑ์สำหรับวุฒิครูมัธยม

2.ระดับครูประถม (ชายและหญิง)  กระทรวงศึกษาธิการได้วางระเบียบการฝึกหัดครูประถมชายขึ้นใหม่  ภายหลังที่โอนกลับมาอยู่ในสังกัดกรมศึกษาธิการแล้ว  โดยขยับวุฒิของผู้ที่สมัครเข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดครูประถมชายให้สูงขึ้น คือต้องสำเร็จประโยคครูมูล  หรือสำเร็จวิชาสามัญชั้นมัธยมปีที่6 แล้วมาศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครูอีก 2 ปี

3. ระดับครูมูล (ชายและหญิง)   ครูในระดับนี้เปิดสอนตามมณฑลต่างๆ  เพื่อผลิตครูสอนในส่วนภูมิภาค  ในขณะที่การศึกษาตามหัวเมืองยังไม่แพร่หลาย โรงเรียนประจำจังหวัดมีชั้นเรียนอย่างสูงเพียงแค่ชั้นมัธยมปีที่3  จึงต้องรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่3  ไปศึกษาวิชาครูต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอีก 2 ปี  สำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตรครูมูล  ต่อมาภายหลังจึงได้มีการตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นตามมณฑลต่างๆที่มีกำลังเงินและกำลังคนพอจะจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูมูลขึ้น  ได้ดำเนินการตามระเบียบการและหลักสูตร  ว่าด้วยประโยคครูมูลของกระทรวง

4. ระดับครูประกาศนียบัตรมณฑล (ชาย)  ครูในระดับนี้ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนประจำมณฑล  ที่มีความอัตคัดขาดแคลนในทางการเงิน  หรือทางกำลังคน  ยังไม่สามารถจะจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูมูลขึ้นได้  ก็จัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมณฑล ใช้ระเบียบการและหลักสูตรตามความเหมาะสมและความต้องการของมณฑลนั้นๆไปพลางก่อน  จนกว่าจะสามารถเปิดโรงเรียนฝึกหัดครูมูลขึ้นได้  จึงเรียกครูประเภทนี้ว่าครูประกาศนียบัตรมณฑล

5. ครูกสิกรรม (ชาย)

6. ครูหัตถกรรม (ชาย)

7. ครูวาดเขียน (ชาย)

8. ครูฝึกหัดต่างประเทศ (ชาย)

       ครูกสิกรรม  ครูหัตถกรรม  และครูวาดเขียนเหล่านี้ มีวุฒิต่ำกว่าครูมูล  ต่อมาภายหลังมีการยกระดับครูกสิกรรม ให้สูงขึ้นเทียบระดับครูประถม  เพราะทางราชการเล็งเห็นว่าการกสิกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย  ควรจะยกระดับความรู้ของประชาชนในด้านกสิกรรมให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นมา  จึงได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมชั้นประถมขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2460  โดยขอให้สมุหเทศาภิบาลคัดเลือกนักเรียนจากมณฑลต่างๆส่งเข้ามาเรียนอย่างมากปีละ 2 คน   


หมายเลขบันทึก: 677219เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2020 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2020 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท