ภาวนา":ตามเส้นทางการปฏิบัติของผม


      ตามที่ผมได้เคยเล่าถึงการปฏิบัติเบื้องต้น เรื่อง "ทาน"และ"ศีล"ไปแล้วนั้น เพื่อให้ครบถ้วนตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์ จึงขอเล่าเรื่อง "ภาวนา" ต่อเป็นเรื่องสุดท้าย ซึ่งเป็นเส้นทางและประสบการณ์ที่ตนเองได้เคยก้าวเดินมาแล้ว แม้จะยังปฏิบัติได้งูๆปลาๆอยู่ก็ตาม แต่ก็อยากนำมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน และไม่ยืนยันว่า ตนเองทำดี ทำถูกหรือผิดแต่อย่างใด โดยผมขอแยกการปฏิบัติเรื่อง"ภาวนา" ออกเป็น 2 ส่วน คือ "สมาธิ" และ "วิปัสสนา(ปัญญา)"

  การฝึกสมาธิและวิปัสสนาของผมนั้น เริ่มอย่างจริงจังเมื่ออายุใกล้เกษียณแล้ว โดยตระเวณไปปฏิบัติกับหลวงพ่อและผู้สอนในแนวทางต่างๆมาหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นการบริกรรมด้วยพุทโธ พองหนอยุบหนอ ท่ามือฝึกสติปัฏฐาน มโนมยิทธิ การเดินจงกรม ฯลฯ ยอมรับว่าทำให้จิตสงบมากขึ้นทีเดียว แต่การปฏิบัติแค่วันสองวัน ก็ยังไม่เหมาะกับจริตของตนที่สะสมกิเลสไว้อย่างหนาเตอะ จึงต้องมาใช้ยาแรงรักษาตามหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน 10 วันที่ สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า แต่ก็ยอมรับว่าทุกสำนักที่ไปปฏิบัติมาล้วนสอนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น จะต่างกันเพียงเทคนิคการสอนเท่านั้น และตนเองก็ได้พื้นฐานจากที่ฝึกปฏิบัติมาจากหลายสำนัก มาใช้ในการปฏิบัติหลักสูตรของท่านอาจารย์โกเอ็นก้านี้ ทำให้สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้ค่อนข้างรวดเร็ว จึงยังซาบซึ้งและสำนึกในพระคุณของอาจารย์แต่ละสำนักที่ผ่านมาอยู่เสมอ

    ขอเล่าหลักสูตรวิปัสสนา 10 วันสอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า โดยย่นย่อคือ สามวันแรกเป็นการปฏิบัติอานาปานสติเพื่อให้มีสติอยู่กับลมหายใจจนเกิดสมาธิที่มีพลังจิตเพิ่มขึ้น พอขึ้นวันที่ 4 จึงต่อด้วยการฝึกวิปัสสนา(ปัญญา)ต่อเนื่องอีก 7 วัน โดยฝึกให้จิตพิจารณาดูกายตั้งแต่ศีรษะลงมาทุกจุดจนถึงปลายเท้า แล้วจากปลายเท้ามาถึงศีรษะ วนเวียนอยู่เช่นนี้ เมื่อเกิดเวทนา(รู้สึก)ตรงจุดใดก็ไม่ปรุงแต่ง(สังขาร)แต่ให้วางอุเบกขา โดยอาจารย์บอกว่าถ้าฝึกบ่อยๆจะลดกิเลสที่เราสะสมไว้ให้ลดน้อยลง แล้วจะค่อยๆเกิดปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริงในไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน

อาจารย์อธิบายในตอนหนึ่งว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของหลักสูตรนี้มิใช่อยู่เพียงการฝึกจิตให้เป็นสมาธิเท่านั้น แม้ว่าการฝึกจิตให้เป็นสมาธิจะเป็นสิ่งที่ดี แต่มันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดเท่านั้น แต่จุดหมายสูงสุดคือการชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการขจัดกิเลสภายในจิต อันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไป

     การเฝ้าสังเกตดูลมหายใจล้วนๆจึงเป็นวิธีการสำรวจความจริงเกี่ยวกับตัวของเราเอง ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ความจริงภายในตัวเราด้วยตัวของเราเอง เพราะธรรมชาติได้ให้เครื่องมือที่วิเศษมากับเราแล้วคือลมหายใจของเราเอง เราจึงใช้เครื่องมือนี้สำรวจความจริงในร่างกายของเรา ความจริงเกี่ยวกับ"รูปหรือกาย" ที่เราสำคัญว่าเป็นตัวเรา ของเรา เฝ้าแต่สร้างความยึดมั่นถือมั่นต่อโครงสร้างของรูปนี้ สร้างแต่ความทุกข์ความเครียดให้แก่ตนเอง ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในรูปของเรา

    อาจารย์บอกต่ออีกว่า นอกจากนี้เรายังจะได้สำรวจความจริงที่เกี่ยวกับ"นามหรือจิต"ด้วย ที่เราถือว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เราสร้างกิเลส สร้างความเครียดและความทุกข์ ความทุกข์ก็เป็นสิ่งสากลเพราะเกิดขึ้นได้กับชนทุกชาติทุกศาสนา ดังนั้นวิธีแก้ความทุกข์จึงต้องเป็นสากลด้วย และลมหายใจก็เป็นสิ่งสากลที่คนทุกชาติทุกศาสนามีเหมือนกัน

    ยอมรับว่ากว่าจะผ่านพ้น 10 วันแรกไปได้ต้องเจอกับทุกขเวทนามากทีเดียว (ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "รักที่หลุดพ้น") แต่เมื่อผ่านครั้งแรก ก็สามารถเดินไปตามเส้นทางนี้ด้วยใจที่สงบสุขมากขึ้น โดยได้ไปอบรมต่อครั้งที่ 2 3 4....9 รวมทั้งหลักสูตรสติปัฏฐานอีกหลักสูตรหนึ่งด้วย แล้วมาปฎิบัติด้วยตนเองที่บ้าน เช้า-เย็น ทุกวัน

    วันเวลาผ่านไป เริ่มเข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนแล้วว่า การปฏิบัติที่เข้มข้น 10 วันเป็นเพียงการฝึกจิตให้เชื่องและเกิดทักษะการปฏิบัติเท่านั้น แต่ชีวิตจริงของเราต้องทำงาน ต้องอยู่กับครอบครัว อยู่ในสังคมที่หลากหลาย จะมานั่งหลับตาตลอดเวลาไม่ได้

     ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้น เราปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเป็นความสงบร่มเย็นของใจ เกิดกำลังใจ และเกิดศักยภาพในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ หรือในส่วนของการละกิเลส เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อมุ่งหวังเรื่องอื่นใด เมื่อจิตใจของเรามีสมดุล มีความสงบเย็นไปเรื่อยๆ ใจของเราก็จะถอยห่างจากกิเลสมากขึ้นเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริงของโลก เกิดคุณค่าต่อตนเองและคนรอบข้าง เป็นศิลปะในการดำเนินชีวิตนั่นเอง

     ผมเชื่อว่า สิ่งชี้วัดของความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งตัวผมเองได้พยายามนำมาใช้ถามตัวเอง เพื่อประเมินตรวจสอบตนเองตลอดเวลาว่า

     "ทุกวันนี้เรายังเสียสละได้มากขึ้นหรือเปล่า เรามีน้ำใจมากขึ้นหรือเปล่า เราทำอะไรให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตา ยาย พี่น้องบ้างหรือเปล่า เราสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นหรือเปล่า เราขี้หงุดหงิดน้อยลงหรือเปล่า เราขยันขันแข็งมากขึ้นหรือเปล่า เรายังนินทาผู้อื่นอยู่หรือเปล่า เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิตเรายังโทษคนอื่น โทษฟ้าโทษดินอยู่หรือเปล่า เรายังเอาแต่ใจตัวเองอยู่หรือเปล่า เรายังเป็นคนขี้บ่น ใช้เงินเปลือง พูดจาแง่ร้าย ชอบพูดชอบวิจารณ์ผู้อื่นอยู่หรือเปล่า สิ่งที่เรารับผิดชอบอยู่เราทำได้ดีขึ้น แย่ลง หรือไม่ค่อยใส่ใจ เราสามารถให้อภัยผู้อื่นได้ไหม โกรธน้อยลงหรือไม่"

     การตรวจสอบประเมินตนเองบ่อยๆก็จะทำให้เราเกิดสติ และหยุดคิดหยุดทำในสิ่งที่ไม่ดี ใจก็คิดจะทำแต่เรื่องดีๆ เราก็ชุ่มชื่นใจที่เรายังไม่ละเลยการปฏิบัติธรรม เพราะเราเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมก็คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 677417เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2020 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2020 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท