(185) KM version พระศรีมหาโพธิ์ : ขับเคลื่อนแบบ Top down VS Bottom up


บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเรื่องราวการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารองค์ความรู้ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ (คณะกรรมการ KM) ปี 2563 ที่วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน KM แบบ Bottom up โดยการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากร ให้สามารถใช้แนวคิดการจัดการความรู้ในงานประจำวันได้ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของงาน ไม่รู้สึกเพิ่มภาระ .. ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูง (ผู้อำนวยการ) ก็ขับเคลื่อนอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อนคณะกรรมการฯ โดยไม่เรียกว่า KM .. การดำเนินงานของทั้งสองเส้นทางมาบรรจบกัน เมื่อคณะกรรมการ KM ได้เข้าพบผู้อำนวยการ .. เรื่องราวจึง happy ending ช่วงปลายปีงบประมาณ

สร้างโอกาส ‘บูรณาการ’ งาน KM เข้ากับการวางแผนพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ Smart Hospital

  • ช่วงเวลา 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2563 นี้ ในขณะที่คณะกรรมการบริหารองค์ความรู้ (คณะกรรมการ KM) เริ่มแสดงบทบาทกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ S C ใน SECI Model นั้น .. จังหวะเวลาดีๆ ของ KM ก็เวียนมาโดยไม่ได้ตั้งตัว (ไม่มีในแผนดำเนินงาน KM) เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา จากสัมพันธภาพที่ดีระหว่างดิฉันกับหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ (นายประมอญ พิมพ์หล่อ) ที่เคยปฏิบัติงานร่วมกันมานานหลายปี ทำให้ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผลและวางแผนพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ Smart Hospital ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมริเวอร์ ซิตี้ จังหวัดมุกดาหาร กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คณะกรรมการบริหารของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ 
  • ดิฉันเห็นช่องทางจะเข้าไปทำความเข้าใจเรื่องแนวคิดการจัดการความรู้ในกลุ่มผู้บริหาร จึงให้ข้อมูลนายประมอญ ว่าเทคโนโลยีและสารสนเทศ และ KM เป็นเรื่องเดียวกัน แต่คณะกรรมการบริหารหลายท่านยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ‘คลังความรู้’ ของโรงพยาบาล เป็นบทบาทหน้าที่ของฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ หากดิฉันมีโอกาสเข้าไปให้ข้อมูลในการประชุมครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจคณะกรรมการบริหารว่า ‘คลังความรู้’ มีองค์ประกอบคร่าวๆ สองส่วน ได้แก่ (1) ‘องค์ความรู้’ ที่เป็นสารสนเทศพร้อมใช้งาน ผ่านการจัดระบบแล้วอย่างดี เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้นั้นๆ และ (2) ‘เทคโนโลยี’ เป็นเรื่องของอุปกรณ์ ระบบ วิธีการนำความรู้เข้าไปเก็บ บำรุงรักษา ดึงมาใช้งาน ฯลฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ก็จะช่วยให้คณะกรรมการบริหารเคลื่อนย้ายความคาดหวังส่วนแรกไปที่ผู้เกี่ยวข้อง  ฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศมีหน้าที่รอคำสั่งแต่งตั้งเป็นทีมออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการเท่านั้น ท่านรู้สึกยินดี และช่วยนำข้อคิดเห็นนี้ไปเสนอผู้อำนวยการ เป็นคำตอบสำหรับคำถามว่าคณะกรรมการ KM เกี่ยวข้องอย่างไรกับการประชุมครั้งนี้

ความคาดหวังของคน KM: ‘แผนการสร้างและแสวงหาความรู้ของหน่วยงาน’ ในเวลา 1 ชั่วโมง

  • การประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผลและวางแผนพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ Smart Hospital ครั้งนี้ใช้เวลา 2 วันเต็ม ดิฉันขอเวลาสำหรับการปูพื้นฐานเรื่องคลังข้อมูลและแสดงตัวอย่างทำสำเร็จ 1.30 ชั่วโมง แต่ได้รับแจ้งว่าจัดสรรให้ได้เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น (เมื่อวางแผนนำเสนอแล้วให้เข้าพบผู้อำนวยการด้วย) ดิฉันกับประธานคณะกรรมการ KM เป็นตัวแทนวางแผนนำเสนอใน 2 ส่วน คือ (1) การสร้างความเข้าใจเรื่องคลังความรู้องค์กร และ (2) การจัดทำรายการความรู้ และทำแผนการสร้างและแสวงหาความรู้ของหน่วยงาน พร้อมตัวอย่างที่จัดทำเสร็จแล้ว หลังจากนี้ มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ กลับไปทำต่อ นัดวันรวบรวมส่งในภายหลัง ซึ่งคณะกรรมการ KM จะทำหน้าที่วิเคราะห์เชื่อมโยงเป็นแผนระดับโรงพยาบาล นำเสนอผู้อำนวยการพร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อรองรับการจัดทำระบบการจัดการความรู้ รวมถึงคลังความรู้ของโรงพยาบาลในระยะต่อไป

ความคาดหวังของผู้บริหารระดับสูง: ให้แนวคิดการจัดการความรู้ในบรรยากาศสบายๆ

  • การเข้าพบผู้อำนวยการ (เพื่อเชื่อมโยงแนวคิดในการนำเสนอของคณะกรรมการ KM กับเนื้อหาช่วงก่อนหน้าและหลังชั่วโมง KM) ‘เรา’ (นางชมพูนุช วีระวัธนชัย ประธานคณะกรรมการ KM และดิฉันเป็นวิทยากร) ได้นำเสนอแผนการสอนตามที่วางไว้ ท่านให้ข้อคิดว่า KM นำเสนอต่อจากกิจกรรมการเจริญสติร่วมกัน ผู้เข้าร่วมประชุมมีอารมณ์สงบ นิ่ง สบาย หากนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวซึ่ง ‘หนัก’ เกินไป จะไม่เหมาะสม ขอให้ปรับการนำเสนอในบรรยาการเบาสบาย โดยไม่ต้องกังวลถึงสิ่งที่คณะกรรมการ KM ต้องการ (ผู้อำนวยการมีแผนจะช่วยวางแผนบูรณาการงานการจัดการความรู้เข้ากับยุทธศาสตร์ขององค์กรในปีหน้า)
  • เรากลับมาช่วยกันปรับแผนการสอนใหม่ เป็น 2 ช่วง ดังนี้ (1) ประธานคณะกรรมการ KM นำเสนอภาพความสำเร็จขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใช้การจัดการความรู้ในการขับเคลื่อนองค์กร จำนวน 3 หน่วยงาน (2) ดิฉันนำเสนอผลงานการจัดการความรู้ของหน่วยงานภายในโรงพยาบาล ซึ่งส่งมาคัดเลือกเพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการ: ตลาดนัด KM ประจำปี 2563 ในหัวข้อ ‘อวดด้วย อวดดี พระศรีสร้างสรรค์’ ในวันที่ 4, 6 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุม 50 ปี โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ดิฉันคัดเลือกงาน KM โดดเด่นจำนวน 3 เรื่อง 
    • เรื่องแรก เป็นการใช้แนวคิด Triage คัดกรองเพิ่มเติมในภาวะเร่งด่วน ซ้อนทับการคัดกรองในระบบปกติ คุณค่าเรื่องนี้อยู่ที่ความใส่ใจต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยระหว่างการส่งต่อผู้ป่วยที่หน้างาน 
    • เรื่องที่สอง เป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากงานรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นเอกสารแสดงค่า EKG ในรูปแบบต่างๆ แขวนกับอุปกรณ์เพื่อช่วยให้แพทย์ตัดสินใจว่าจะทำการปั๊มหัวใจผู้ป่วยหรือไม่ เมื่อใด คุณค่าของเรื่องนี้อยู่ที่ความใส่ใจของพยาบาลจิตเวช (เป็นพยาบาลดมยา) ซึ่งมีความชำนาญในการอ่านค่า EKG แต่มักไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น 
    • เรื่องที่สาม เป็นผลจากการสุนทรียสนทนา ทำให้ทราบว่าบุคลากรระดับผู้ช่วยเหลือคนไข้มีวิธีสร้างการยอมรับจากผู้ป่วยเด็กจิตเวชอย่างไร คุณค่าของเรื่องนี้อยู่ที่ความรักความใส่ใจ การยอมรับเด็กๆ ที่มีปัญหาได้โดยไม่มีเงื่อนไข การนำเสนอครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าสามารถพัฒนาต่อยอด-ขยายผลเรื่องราวเหล่านี้ด้วยแนวคิดการจัดการความรู้ได้อย่างไร

การเดินตามผู้บริหารระดับสูง บนเส้นทางธรรมชาติ

  • ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจที่จะนำเสนอว่า นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการท่านปัจจุบัน ท่านมักพูดย้ำ ประมาณว่า “ผมไม่บังคับใครนะ อยากให้ตัดสินใจทำด้วยตนเอง เพราะการทำสิ่งใดโดยถูกบังคับ มันไม่ยั่งยืน”  และแนะนำเราว่า “เดี๋ยวเราค่อยหาวิธีบูรณาการให้มันง่าย ทำแล้วไม่เป็นภาระ เช่น เริ่มจาก ‘อัญมณี’ ของแต่ละหน่วยงาน เน้นการบูรณาการ KM เข้ากับระบบงานปกติ ทำเป็นธรรมดาหรือบนเส้นทางธรรมชาติ” (ภาษาของดิฉันค่ะ) 
  • ดิฉันขอขยายความคำว่า ‘อัญมณี’ ของหน่วยงาน สักเล็กน้อยนะคะ เมื่อเดือนมกราคม 2563 ผู้อำนวยการชักชวนคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลไปเดินตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรในพื้นที่หน้างาน ท่านแบ่งการเดินเป็นหลายครั้ง เพื่อให้โอกาสหน่วยงานต่างๆ นำเสนอผลงานที่ภาคภูมิใจ ซึ่งท่านเรียกว่า ‘อัญมณี’ การตรวจเยี่ยมครั้งนี้ทุกหน่วยงานมีผลงานนำเสนอ โดยบางหน่วยงานมีมากกว่า 1 เรื่อง ท่านได้แสดงความชื่นชมและให้ข้อเสนอแนะมากมาย .. ดิฉันถือว่าการตรวจเยี่ยมครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนในบทบาทผู้บริหารระดับสูง (Top down) และเริ่มขับเคลื่อนก่อนการขยับตัวของคณะกรรมการ KM อีกด้วย เนื่องจากช่วงเวลานั้นคณะกรรมการ KM ยังอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลต่อการดำเนินงาน KM ที่ผ่านมาและความคาดหวังในอนาคต 



    ารนำเสนอของคณะกรรมการ KM ในการประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผลและวางแผนพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ Smart Hospital ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมริเวอร์ ซิตี้ จังหวัดมุกดาหารนั้น ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการบริหารเป็นอย่างมาก โดยท่านผู้อำนวยการแสดงบทบาทพิธีกรช่วยกระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง และเชื่อมโยง KM เข้ากับงานประจำให้ด้วย

    .. การที่ผู้บริหารระดับสูงลงมาคลุกคลีกับงาน KM นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี ดิฉันกับนางชมพูนุช ประธาน KM ลงจากเวทีด้วยความปิติ และนอนหลับฝันดีตลอดคืน

    บทความต่อไป ดิฉันจะนำเสนอบรรยากาศการประชุมวิชาการ: ตลาดนัด KM ประจำปี 2563 ในหัวข้อ ‘อวดด้วย อวดดี พระศรีสร้างสรรค์’ ในวันที่ 4, 6 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากการนำเสนอในครั้งนี้

    ขอบคุณค่ะ

      หมายเลขบันทึก: 681212เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2020 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2020 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


      ความเห็น (0)

      ไม่มีความเห็น

      พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
      ClassStart
      ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
      ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
      ClassStart Books
      โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท