เรื่องเล่าจากพี่เอี้ยง 2: จากจีนแผ่นดินใหญ่ สู่ แผ่นดินสยามเมืองยิ้ม




เรื่องเล่าจากแม่กิมฮวย  แซ่เฮง

ทศวรรษที่ 3-4  (ช่วงอายุ 40 – 60 ปี)

ตอนเตี่ยเสีย(อายุ 50 ปี) แม่อายุ 40 ปี แม่ทำอะไรไม่เป็น ภาษาไทยอ่านไม่ออก พูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ ฟังไม่เป็น พวกเรา 6 คนพี่น้องก็ยังเด็ก อายุ 12  9  8  7  4 และ 45 วัน ตามลำดับ แต่รู้ได้ว่ามีคนเข้ามาช่วยเหลือเยอะ จากประสบการณ์ตรงนี้ เราก็ได้เรียนรู้น้ำใจคนหลายอย่างเหมือนกัน บางคนดีมากดีจริง ๆ  บางคนเข้ามาทำดีและแนะนำเพื่อกอบโกยจากแม่ บางคนจะทำอะไรให้ เงินต้องมาก่อน ด้วยความกลัวของแม่ กลัวว่าจะไม่มีคนช่วยงานศพ กลัวว่าทำไม่เป็น ทำเองไม่ได้ ทำไม่ถูก ทุกอย่างจึงมีทะแนะเยอะมาก ทะแนะแต่ละคนก็หวังผลไม่เหมือนกัน  มิหนำซ้ำ มีผู้ใหญ่ ที่เคยนับหน้าถือตากันมาตั้งแต่สมัยเตี่ยยังมีชีวิต เขาทำแพปลา(พวกเราเรียกเขาว่า แปล้-แด-ฉอม) เตี่ยให้ความช่วยเหลือลุงคนนี้มาตลอด ซึ่งไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ หลังจากเสร็จสิ้นงานศพ ทั้งลุงและป้าคู่นี้ก็เทียวไปเทียวมาตลอด มาสอบถามถึงเงินสดที่ยังเหลืออยู่ (ดูเสมือนเป็นห่วงแม่ว่าจะบริหารจัดการไม่เป็น) และแนะนำว่าอย่าเก็บเงินสดไว้ที่บ้านนะ เพราะผู้หญิงกับเด็ก ๆ จะไม่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยให้ไปฝากธนาคาร ด้วยความหวังดีจากที่เขาแนะนำมา แม่ก็เชื่อ โดยเขาบอกว่าพี่สาวเพิ่งอายุ 12 ปี ยังไม่สามารถเปิดบัญชีเองได้ ก็ให้ใช้ชื่อลุงบวกกับชื่อพี่สาวไปก่อน ซึ่งแม่ก็ไม่เข้าใจและคิดว่ามี 2 ชื่อก็ดีน่าจะปลอดภัย ปรากฏว่าเอาไปฝากหลักแสนในสมัยนั้น อีก 2 วันต่อมาเงินถูกถ่ายโอนไปไหนไม่ทราบ พี่สาวบอกแม่ว่าในบัญชีเหลือแค่หลักหมื่นต้น ๆ แม่ก็ตกใจและไปถาม ปรากฏว่าคำตอบที่ได้กลับมาคือ ขอยืมไปลงทุนก่อน เดี๋ยวค่อยคืนให้ สุดท้ายก็ไม่ได้คืน วันดีคืนดีพอลุงคนนี้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ก็มาขอยืมเงินจากแม่หน้าตาเฉยทำเสมือนเป็นหน้าที่ของแม่ที่จะต้องจุนเจือเขา บอกว่าต้องเอามานะ ไม่งั้นหมอรักษาไม่ได้ (มันอะไรกันนี่) แม่ฉันเป็น ATM ของคุณหรืออย่างไร (อันนี้พูดได้ เพราะเราโตแล้ว แต่ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลยเพราะพวกเรายังเด็กมาก มีแต่แม่กับพี่สาวคนโตเท่านั้นที่รู้เรื่อง) แต่ก็ช่างมันเถอะมันผ่านมาแล้วเป็นสิบ ๆ ปี ถือว่านั้นเป็นเงินทำบุญที่แม่ต่อสะพานบุญไว้ก่อนสิ้นลม 

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เราไม่เข้าใจว่า ทำไมคนจีนด้วยกัน ซึ่งต่างก็มาจากแผ่นดินใหญ่ และเคยรู้ถึงความลำบากมาด้วยกัน ทำไมไม่ช่วยเหลือกัน แต่กลับมาเหยียดกันเอง แม่ถูกเพื่อนบ้านคนจีนด้วยกันโดยเฉพาะผู้หญิง (กลุ่มหนึ่ง) ดูถูกเหยียดหยามว่า เป็นแม่หม้าย ส่วนใหญ่ชอบพูดกันว่า ไม่นานก็ได้ผัวใหม่ ไม่มีปัญญาหรอก ไม่เข้าใจว่าทำไมการเป็นแม่หม้ายสามีตาย ถึงถูกรังเกียจได้ขนาดนี้ คำเหล่านี้แม่บอกว่าก้องหูแม่มานานมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่เห็นอกเห็นใจกัน รู้สึก “งง”  กับวิธีคิดของคนพวกนี้มาก 

ตอนเตี่ยเสีย  เนื่องจากเมืองสงขลาในอดีตเป็นเมืองเล็ก ๆ เพราะฉะนั้นคนจะรู้จักกันหมด เตี่ยเป็นคนไข้ของคุณหมอท่านหนึ่ง(ขออนุญาตไม่เอ่ยนามนะค่ะ เพราะยังไม่ได้ขออนุญาตจากเครือญาติท่าน)  คุณหมอรู้ถึงความลำบากของแม่ว่าในอนาคตคงนำพาลูกเล็ก ๆ อย่างยากลำบาก เพราะทำอะไรไม่เป็น (เนื่องจากมีลูกหัวปีท้ายปี  และเตี่ยก็ให้แม่เลี้ยงลูกอย่างเดียวไม่ต้องช่วยงานทำขนม เนื่องจากลูกอ่อน แม่จึงทำไม่เป็น) ฟังภาษาไทยไม่เป็น พูดภาษาไทยไม่ได้ก็เลยปรารภกันว่า น่าจะต้องส่งแม่ลูกทั้ง 7 ชีวิตกลับไปเมืองจีน น่าจะดีกว่าปล่อยให้เผชิญชีวิตที่ลำบากในเมืองไทย แต่ปรากฏว่าคุณหมอซึ่งเป็นภรรยาท่านคัดค้านว่า ไม่ควรส่งกลับไป  เนื่องจากจีนในสมัยนั้นยังเป็นคอมมิวนิสต์ ยังไงอยู่เมืองไทยก็คงจะดีกว่าอย่างน้อยก็สัญชาติไทย  (นี่คือเหตุผลที่พวกเราทุกคนยังได้อยู่เมืองไทย ซึ่งนับเป็นพระคุณอย่างใหญ่หลวงที่ได้มีโอกาสอาศัยอยู่ภายใต้ร่มโพธิ์ร่มไทรของแผ่นดินสยามมาจนทุกวันนี้)

หลังจากนั้น ชีวิตพวกเราก็ดำเนินมาเรื่อย ๆ โดยมีแม่กิมฮวยเป็นหัวเรือใหญ่ แม่คิดอย่างเดียวว่าปล่อยให้ลูกกระจัดกระจายไม่ได้ เดี๋ยวกลัวจะไปเป็นขอทาน แม่ก็ลุกขึ้นสู้โดยหัดทำขนมปังกับขนมเค้กอาขีพของเตี่ยจาก “โกดาว” ซึ่งเป็นลูกจ้างที่เก่าแก่ของเตี่ย จำได้ว่าแม่ทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง  บางวันที่ไม่สำเร็จแม่ก็นั่งร้องบ้าง คงท้อ แต่สุดท้ายแม่ก็ทำสำเร็จ และเลี้ยงลูกมาจนได้ดิบได้ดีทุกคน(ตามบริบทของเรา) และยังจำได้ว่าแม่เป็นคนกลัวผี  กลัวทุกอย่างเพราะเสมือนถูกโดดเดี่ยว  เวลานอน  แม่เอามุ้งสายบัวหลังใหญ่ 2 หลังมากางติดกัน  และเปิดตรงกลางให้ทะลุถึงกันได้  โดยมีแม่นอนตรงกลาง และลูก ๆ นอนขนาบข้าง ๆ ละ 3 คน  พอตอนเช้า แม่ก็จะมาเรียกลูก ๆ ตื่นอาบน้ำไปโรงเรียน พอเรียกลูกฝั่งทางซ้ายลุกขึ้นมานั่ง และหันกลับไปเรียกลูกฝั่งทางขวาตื่น พอหันกลับมาทางซ้ายอีกทีลูก ๆ ก็ล้มตัวนอนต่อ พอเรียกใหม่ และกลับไปทางขวาลูก ๆ ก็ล้มตัวหลับต่อ เป็นเช่นนี้ทุกวัน บางวันเราตื่นมา เห็นแม่นั่งร้องไห้ด้วยความเหนื่อย แต่พวกเราก็ไม่นำพาด้วยความเป็นเด็ก  พอเริ่มโตขึ้น ก็เริ่มระลึกถึงอดีตของแม่ ที่มีต่อลูก ๆ รู้ได้ถึงความรู้สึกเลยว่าแม่เหนื่อยกับพวกเรามาก แม่เจอกับศึก 2 ด้านมาตลอดคือ ด้านในบ้านคือลูก ๆ ทำยังไงก็ได้ให้ลูกมีการศึกษามีอนาคตที่ดี  ส่วนศึกด้านนอกก็ถูกเพื่อนบ้านดูถูกเหยียดหยามถึงความเป็นหม้าย เราจำได้มีครั้งหนึ่ง  เพื่อนบ้านคนดังกล่าวที่ชอบกระแนะกระแหนแม่ ไม่พอใจแม่ เนื่องจากแม่ให้ความช่วยเหลือลูกเลี้ยงของเขา (พวกเราเรียกเขาว่าโกภู่) ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เขาไม่พอใจ และชอบแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นว่าเขาเก่ง มายืนด่าแม่หน้าบ้าน  พวกเราลูก ๆ ก็กลัว ก็รีบปิดประตู (แต่เนื่องจากประตูสมัยก่อนเป็นไม้บานพับใหญ๋ ๆ ด้วยความเป็นเด็กกว่าจะดึงประตูมาปิดได้ก็หนักและนาน) ขณะกำลังปิดประตูเขาก็มาผลักไม่ให้ปิด พร้อมกับตะโกนด่าแม่เรา ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดเราน่าจะอยู่ชั้นประถม ตอนนั้นแม่อยู่ข้างใน  แม่ก็ตะโกนบอกให้เราไปแจ้งตำรวจ (สมัยก่อนก็กลัวตำรวจมาก) ด้วยความเป็นเด็กเราก็ทำอะไรไม่ถูก แต่สิ่งที่คิดได้อย่างเดียวคือ กลัวแม่ถูกทำร้าย ก็ปั่นจักรยานไปที่ตลาด เห็นป้อมจราจร  แต่ไม่กล้า ด้วยความเป็นเด็ก (กลัวตำรวจอยู่เป็นทุนเดิม) ก็วนอยู่ 2-3 รอบ ไม่กล้าเข้าไปบอก  แต่พอนึกถึงว่าเดี๋ยวแม่เราถูกทำร้าย ก็ตัดสินใจเข้าไปบอกตำรวจว่า ตำรวจ ๆ มีคนทะเลาะที่ตรงนั้น  ตำรวจก็ตามมาที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นสงบแล้ว  แต่ตำรวจก็ให้ไปโรงพักทั้ง 2 ฝ่าย และปรับฝ่ายละ 50 บาท การเสียเงิน 50 บาท ก็ถือเป็นคุณูปการกับครอบครัวเราเป็นอย่างสูง (สำหรับสถานการณ์วันนั้น)  เพราะหลังจากนั้นคนนั้นก็ไม่กล้ามาแสดงอิทธิฤทธิ์กับแม่เราอีกเลย

เหตุการณ์ดำเนินไปสักพัก  ทางคณะกรรมการสมาคมจีนไหหลำซึ่งรับรู้เรื่องทรัพย์สมบัติที่เตี่ยกับลุงร่วมกันสร้างมาตลอด จึงเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ได้เปิดโต๊ะเจรจาให้ถึงทรัพย์สินของลุงกับเตี่ย เพื่อแบ่งปันให้ลูกหลานด้วยความเป็นธรรม  แต่ป้าสะใภ้บอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสมาคม ไม่ขอเจรจา  พอนานวันเข้าแม่ก็ไปอ้อนวอนขอจากพี่สะใภ้ว่าอย่างน้อยขอ 2 ห้องได้ไหม เพื่อไว้ให้ลูก ๆ ทำทุนค้าขาย ป้าบอกว่า ได้ แต่ ต้องเป็น 2 ห้องที่ให้คนเช่าแล้วมีปัญหาไม่จ่ายค่าเช่า และไม่ยอมย้ายออก  ถ้าแม่จัดการได้ก็เอาไปเลย แต่แม่ไม่มีประสบการณ์และลืมคิดไปว่าบ้าน 2 หลังดังกล่าวยังเป็นชี่อป้า แต่แม่ก็คิดว่าป้าคงไม่บิดพลิ้ว  ก็มีคนที่บอกว่าเป็นญาติของพ่ออีกแหละ (เป็นนก 2 หัว) พวกเราเรียกเขาว่า....(ขอสงวนชื่อ) ก็แนะนำว่าให้ไปปรึกษาทนายความ โดยหาทนายความให้เสร็จ จำได้ว่าบ้านทนายอยู่ถนนพัทลุง ทุกครั้งที่ไปหาทนายความ ญาติคนนี้จะไปด้วยทุกครั้ง และเป็นคนเจรจา และมาเบิกค่าใช้จ่ายจากแม่  ซึ่งกว่ากระบวนการนี้จะเสร็จสิ้นแม่ก็หมดไปหลาย  จนกระทั่ง (อันนี้แม่บอก) วันหนึ่งทนายท่านนี้ บังเอิญเจอแม่ และพูดกับแม่ว่าเห็นใจแม่มาก ถ้าจะดำเนินการอะไรต่อ ให้แม่หยุดเถอะ อย่าต้องไปเสียเงินเสียทองมากขนาดนี้อีกต่อไปเลย ตอนนั้นแม่ไม่เข้าใจ สุดท้ายเมื่อกระบวนการสิ้นสุด ขับไล่คนเช่าเสร็จเรียบร้อย แต่เห็นฝ่ายป้าสะใภ้ยังเงียบถึงกระบวนการว่าจะโอนให้ลูกของแม่ แม่ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นขายทิ้งน่าจะดีกว่า  อย่างน้อยก็ได้เงินมาก่อน แม่ก็ปรารภกับป้าสะใภ้ว่าอยากขายบ้าน 2 หลังนี้ เพื่อจะได้เอาเงินมาทำประโยชน์  ป้าสะใภ้ก็ตกลง  และขาย วันที่โอนขายบ้านกันป้าไม่ได้บอกแม่  แต่พอโอนเสร็จป้าเอาเงินมาให้แม่เท่าจำนวนที่แม่จ่ายให้กับทนายความเท่านั้น (พระเจ้า อะไรกันนี่) แม่ก็ขอเจรจา  แต่ป้ากลับส่งลูกชายคนโต ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งทางหน้าที่การงานสูงพอสมควร (ไม่อยากเอ่ยชื่อ) มาบอกว่า จะเอาอะไรล่ะในเมื่อชื่อก็ไม่ใช่ของตัวเอง ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว หลังจากนั้น ป้าสะใภ้กับลูก ๆ ของป้า ก็ปิดการเจรจาทุกอย่างเสมือนตัดญาติขาดมิตร

แม่ก็เสียใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่แม่เป็นคนแข็งแกร่ง เครียดบ้างจากเหตุการณ์ในระยะแรก  แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป  จำได้ว่าแม่พูดคำเดียวว่า “ทรัพย์สมบัตินี้มันคงไม่ใช่ของเรา”ถึงได้มาจริง ก็คงมีปัญหาไม่จบ (คำพูดนี้เป็นคำพูดที่สอนใจเรามาตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้) “อะไรที่มันไม่ใช่ของเรา มันก็คือไม่ใช่”

ทศวรรษที่ 5 (ช่วงอายุแม่ 61 -70 ปี)

ชีวิตของครอบครัวเราเสมือนมีกันแค่ 7 คน ไม่มีญาติมิตรที่ไหน บ้านที่อยู่ก็อยู่ในชุมชนคนไทยทั้งหมด  เราจำความได้ว่า ตอนเด็ก ๆ เราเป็นคนจีนที่มีความรู้สึกว่าหัวเดียวกระเทียมลีบในกลุ่มชาวไทย ถูกเหยียดมากกับความเป็นคนจีน  มีเพื่อนบ้านบางคนถึงขนาดไปพ่นสีที่ฝาบ้านเราว่า “จีน” แต่พวกเรา 6 คนพี่น้องก็ไม่สนใจ โชคดีที่แม่อ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องแบบนี้  แต่เรารับรู้ได้ เพราะเราเริ่มโตแล้ว เราก็ยังคงดำเนินชีวิตไปตามที่แม่มอบให้และดีที่สุดจนกระทั่งเติบโต ทุกคนมีงานการทำ มีอาชีพ ลูก ๆ เริ่มทยอยมีครอบครัว และในช่วงทศวรรษนี้ แม่ก็บอกให้เราพาแม่ไปซื้อชุดใส่ตอนตาย(คล้ายชุดแมนจู หลายชิ้น) เราไม่ยอมพาไป เพราะคิดมาก ที่สำคัญเรามีแม่คนเดียว ทำไมแม่ถึงอยากไปซื้อชุดนี้ (เราคิดมาก) ทำให้แม่ไม่พอใจ ช่วงนั้นแม่กับเรามีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้อยู่พักใหญ่  จนสุดท้ายมีคนใกล้ตัวแนะนำว่าต้องซื้อให้ เพราะเป็นธรรมเนียมของคนจีน  เราจึงตัดสินใจพาแม่ไปซื้อเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว (ก่อนปี พ.ศ. 2523) ในราคาชุดละ 3,000 บาท  ทำให้แม่มีความสุขและสบายใจ และชุดนี้เอง ที่แม่ใส่กระเป๋าเดินทางไว้ และมีการนำออกมาตากแดดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งมีวันของเขาตามสาร์ทของจีน

โปรดติดตามตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 686737เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2020 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2020 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท