เล่าเรื่องย้อนหลังของ "โจวเอินไหล" รัฐบุรุษจีนยุคใหม่


อ่านประวัติโจวเอินไหล ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม บางส่วนอ่านผ่านหนังสือเรื่อง "มุกมังกร" ของสิรินทร์ พัฒโนทัย ผมคิดว่าเทียบได้กับ ปรีดี ในช่วงกรณีสวรรคตได้หลายอย่าง

โจวเอินไหล แน่นอนว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการกวาดล้างของเหมาเจ๋อตงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ด้านหนึ่งเป็นเพราะเหมาเห็นว่า ครุสชอฟขึ้นมามีอำนาจแล้วจัดการขั้วอำนาจเก่าของสตาลิน กับจัดการกับสตาลินอย่างไร) เหมาระแวงอยู่แล้วว่าเมื่อแผนก้าวกระโดดใหญ่สามปีของเขาไม่ได้ผลกลับทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน อาจส่งผลต่ออิทธิพลทางการเมืองของเขาในพรรคและอาจถึงกับมีการรัฐประหารเกิดขึ้น เขาก็อาศัยจังหวะแบบเดียวกันนั้น โดยการหนุนหลินเปียวขึ้นมา แล้วจัดการกับหลิวเส้าฉี และเติ้งเสี่ยวผิง ที่สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ภายหลังหลินเปียวก็หักหลังเหมา แล้วก็ถูกเก็บเสียเองเมื่อเขาเก็บเหมาไม่สำเร็จและขึ้นเครื่องบินหนีไปโซเวียต

ผมคิดว่าเป้าหมายการปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ยังมุ่งหมายมาจัดการ โจวเอินไหล ซึ่งถือว่าเป็นเบอร์สองรองจากเหมาอีกด้วย แต่โจวก็อาศัยผ่อนหนักผ่อนเบา ด้านหนึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับเหมา และพยายามแอบช่วยเหลือผู้สนับสนุนเขา แม้ว่าจะทำไม่ได้มาก เบื้องหน้าเขาก็ต้องทำตัวสนับสนุนแก๊งค์สี่คน รักษากำลังของตัวเองไปก่อน ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายไปมากแล้ว (นี่กินเวลาเป็นสิบปี) โจวจึงเสนอให้เติ้งเสี่ยวผิงกลับมาดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรค และเป็นเติ้งเสี่ยวผิงนี่เองที่ร่วมมือกับ หัวกั๊วเฟิง โค่นอำนาจแก๊งค์สี่คนหลังเหมาเสียชีวิต ภายหลังเติ้งก็เก็บหัวกั๊วเฟิงเสียอีกคน แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคและประเทศ จากนั้นก็ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยใช้แม่แบบจากสิงคโปร์และการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ริมฝั่งทะเล

เวลาสถานการณ์แปรเปลี่ยนสุดขั้วให้ดำเนินการการเมืองอย่างระมัดระวัง ถ้าคิดหรือรับการเมืองแบบ machiavellian ไม่ได้ก็อย่าริอ่านเป็นนักการเมือง ให้เป็นนักปรัชญาเพราะนักปรัชญามองสภาพความจริงสมบูรณ์ในโลก noumena ต่างกับนักการเมือง*ที่ต้องจัดการความจริงที่เป็นสภาพสัมพัทธ์ในโลก phenomena บทบาทนักปรัชญากับนักการเมืองจึงขัดกันเสมอ นี่เป็นข้อถกเถียงในชีวิตจริงด้วยระหว่าง Leo Strauss (เขายืนยันบทบาทนักปรัชญา) กับ Alexandre Kojeve (เขายืนยันบทบาทนักการเมือง หรือนักปรัชญาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง)

ปรีดีไม่เข้าใจในความจริงในข้อนี้ ผมคิดว่าข้อผิดพลาดในทางประวัติศาสตร์ของเขามีอยู่ครั้งเดียวคือครั้งกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 แต่แค่นั้นก็มีความเสียหายต่อการเมืองไทยและประวัติศาสตร์หนักหนาพอ ความอ่อนแอในแง่คิดเรื่องปรัชญาการเมืองของเขายังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในแง่คิดทางการเมืองของเขา ที่ออกไปทางซ้ายเมื่อต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีนอีกด้วย

(*ต้นฉบับของ Henrry Kissinger อ้างไอเดียความขัดแย้งระหว่าง Noumena และ Phenomena จาก Kant อีกทีใช้คำว่า "รัฐบุรุษ" แต่ผมไม่คิดว่าคำนี้แปลได้ถูก (stateman) ผมขอใช้คำว่า "นักการเมือง" ไปพลางก่อน แม้ว่าคำนี้จะมีปัญหาเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าแทนตัวความหมายได้ตรงกว่า)

====

(1)

โจวเอินไหล เป็นนักปฏิบัติเพียงพอที่จะรู้ว่า เมื่อใดควรประนีประนอม ยอมอ่อนข้อ ยอมแพ้ในเรื่องเล็กเพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ (แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง) เหมือนที่ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ นักการทูตชาวอเมริกันคนสำคัญร่วมสมัยกับโจวเอินไหล กล่าวว่า 'โจว มีภูมิปัญญาความรู้ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่ควรหยัดยืนปักหลัก กับขอบเขตที่สามารถก้าวข้ามเพื่อการสร้างสรรค์'

(2)

จอห์น กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านการทูตของโจวเอินไหล คือหัวใจสำคัญ โจวเอินไหลสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญมากมาย อาทิ สร้างดุลยภาพอำนาจป้องกันประเทศจากการคุกคามของโซเวียต อีกทั้งยังสร้างเสถียรภาพพอที่จะไม่กระทบกระเทือนจากการจับมือกันของโซเวียตกับสหรัฐฯ ด้วย

นโยบายการทูตของโจวเอินไหล ทำให้จีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแห่งศตวรรษใหม่ของชาติตะวันตก เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศจีน อันเป็นการปูแนวทางพื้นฐานสำหรับนโยบายสำคัญ นั่นคือ 'นโยบายสี่ทันสมัย'

(3)

อย่างไรก็ตาม โรนัลด์ ซี.คีธ (Ronald C. Keith) ผู้เขียนหนังสือ The Diplomacy of Zhou Enlai แสดงความเห็นว่า การเปิดสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นั้น โจวเอินไหล ไม่ได้ต้องการสร้างดุลยภาพโดยเอาหลังพิงมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ เพื่อคานกับโซเวียต แต่ต้องการดำเนินการตามวิถีที่ดำรงความเป็นตัวตนแห่งชาติจีนคอมมิวนิสต์ด้วย แรงขับเคลื่อนของโจวเอินไหล มีความซับซ้อนล้ำลึกไปกว่าการสร้างสมดุลมหาอำนาจ ซึ่งนั่นเป็นเพียงเป้าหมายระยะสั้นมากกว่า ทว่าเป้าหมายระยะยาวของเขากลับอยู่ที่การเปลี่ยนระบบขั้วอำนาจการเมืองโลก ที่แบ่งออกเป็น ระบบสองขั้วอำนาจ (Bipolar system) โดยมีสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ไปสู่ 'โลกหลายขั้ว' (Multi-polar World) ที่บทบาทอำนาจทางการเมือง การกำหนดชะตากรรม ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการค้า จะไม่ตกอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว หรือสองประเทศอีกต่อไป

แม้ว่าภูมิรัฐศาสตร์โลกในเวลานั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ต้องกังวล แต่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของจีนที่โจวเอินไหลวางไว้ ก็ยังมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างเศรษฐกิจของตนเองด้วย โดยเขาได้กล่าวสุนทรพจน์ในปี ค.ศ.1975 (ก่อนเสียชีวิต 1 ปี) เน้นย้ำให้ความสำคัญกับแผน 'นโยบายสี่ทันสมัย' พร้อมทั้งวางตัวบุคคลที่จะมารับสานต่อนโยบายนี้ คือ เติ้้งเสี่ยวผิง ผู้ซึ่งเขาเชื่อมั่น-เชื่อใจว่าเป็นบุคคลเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนี้แทนเขาได้ในอนาคต


ดูเพิ่มเติม: รำลึก 39 ปี อสัญกรรมโจวเอินไหล : รัฐบุรุษผู้มุ่งหวังสันติภาพแห่งโลกหลายขั้วอำนาจ https://mgronline.com/china/de...


หมายเลขบันทึก: 688010เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2020 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2020 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท